นายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนด ตามมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ให้ยังคง ไม่ว่าจะเป็นการห้าม การให้กระทำการ หรือการผ่อนคลายใด ๆ มีผลบังคับใช้ต่อไปเช่นเดิม จนกว่าจะได้มีข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2563 เป็นต้นไป
วันนี้ (29 เม.ย.2563) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 4) โดยมีรายละเอียดดังนี้
ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.2563 และประกาศ เรื่อง การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 1) ลงวันที่ 28 เม.ย.2563 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2563 จนถึงวันที่ 31 พ.ค.2563 แล้วนั้น
โดยที่รัฐบาลได้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทั้งในประเทศและต่างประเทศมาเป็นลำดับอย่างต่อเนื่อง และมอบหมายให้ฝ่ายสาธารณสุข ฝ่ายเศรษฐกิจ ฝ่ายปกครอง และฝ่ายความมั่นคง ร่วมกันประเมินสถานการณ์เพื่อพิจารณาผ่อนคลาย หรือเพิ่มความเข้มงวดการบังคับใช้บางมาตรการ โดยมุ่งจะให้การควบคุมและการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินสามารถยุติลงได้โดยเร็วและไม่ย้อนกลับมาอีก
ขณะเดียวกันประชาชนสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข ภายใต้มาตรการป้องกันโรคและคำแนะนำของทางราชการ โดยจะพิจารณาผ่อนคลายเป็นลำดับขั้นตอนตามหลักเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนด และคำนึงถึงประเภทของกิจการ หรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยงน้อย สถานที่ซึ่งสามารถจัดระบบควบคุมดูแลได้ และผู้เกี่ยวข้องซึ่งสามารถนำมาตรการป้องกันโรคมาบังคับใช้ได้เป็นลำดับแรก โดยใช้ช่วงเวลาระยะแรกนี้ เตรียมการเพื่อรองรับการจัดระบบตามมาตรการและคำแนะนำของทางราชการไปพลางก่อน
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลาย ดังนี้
ให้บรรดาประกาศหรือคำสั่งของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัด เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อที่ออกตามกฎหมาย ว่าด้วยโรคติดต่อ ผู้มีอำนาจตามกฎหมาย ว่าด้วยการเดินอากาศ และกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองที่ได้ประกาศ หรือสั่งไว้ก่อนวันที่ข้อกำหนดนี้ใช้บังคับ
ไม่ว่าจะเป็นการห้าม การให้กระทำการ หรือการผ่อนคลายใด ๆ ซึ่งถือว่าเป็นประกาศหรือสั่งตามข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไปเช่นเดิม จนกว่าจะได้มีข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2563 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 29 เม.ย.2563 / พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
สำหรับมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ที่รัฐบาลประกาศเมื่อวันที่ 26 มี.ค.2563 ที่ผ่านมานั้น ระบุดังนี้
มาตรา 9 ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติลงได้โดยเร็วหรือป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้น ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจออกข้อกำหนดดังต่อไปนี้
1.ห้ามมิให้บุคคลใดออกนอกเคหสถานภายในระยะเวลาที่กำหนด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นบุคคลซึ่งได้รับยกเว้น
2.ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย
3.ห้ามการเสนอข่าว การจำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งในเขตพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือทั่วราชอาณาจักร
4.ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ หรือกำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ
5.ห้ามการใช้อาคาร หรือเข้าไปหรืออยู่ในสถานที่ใด ๆ
6.ให้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่ที่กำหนดเพื่อความปลอดภัยของประชาชนดังกล่าว หรือห้ามผู้ใดเข้าไปในพื้นที่ที่กำหนด ข้อกำหนดตามวรรคหนึ่งจะกำหนดเงื่อนเวลาในการปฏิบัติตามข้อกำหนด หรือเงื่อนไขในการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดพื้นที่และรายละเอียดอื่นเพิ่มเติม เพื่อมิให้มีการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุก็ได้
สายลุยเตรียมพร้อมก่อนไป “เดินป่า” อ่านจบรู้เรื่อง