หาชมที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว!! ททท.จัดฟื้นฟูประเพณีเก่าแก่ “แห่นางดาน” เมืองนครฯสงกรานต์นี้ หวังนักท่องเที่ยวทั่วมุมโลกได้ศึกษา
ประเพณีการ “โล้ชิงช้า” เป็นพิธีกรรมและประเพณีที่มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โดยมูลเหตุของการสร้างเสาชิงช้านั้น จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์โบราณคดี ทั้งในสมัยกรุงศรีอยุธยาและรัตนโกสินทร์ ปรากฏชัดเจนว่า เมืองนครศรีธรรมราชเป็นเมืองสำคัญของศาสนาพราหมณ์มาไม่น้อยกว่าพุทธศตวรรษที่ 10 ความสำคัญของพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราชปรากฏเห็นเป็นเด่นชัด โดยในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่1) โปรดเกล้าฯให้อัญเชิญชีพ่อพราหมณ์มาจากเมืองนครศรีธรรมราช เพื่อประกอบพิธีกรรมหลวงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ และมีพราหมณ์ผู้หนึ่งได้กราบบังคมทูลต่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชว่า ตามธรรมเนียมของการประกอบ “พิธีตรียัมปวาย” นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้อง “โล้ชิงช้า” ด้วย แต่ในขณะนั้นเป็นช่วงเวลาที่เพิ่งจะสร้างกรุงเทพฯ เสร็จใหม่ ๆ ยังไม่มี “เสาชิงช้า” เพื่อใช้ประกอบพิธีตรียัมปวาย พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเสาชิงช้าขึ้นในบริเวณที่ดินหน้าวัดสุทัศน์เทพวรารามในปัจจุบัน เมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2327 ดังที่เห็น “เสาชิงช้า” มาจนถึงทุกวันนี้ การโล้ชิงช้า เป็นการจำลองตำนานการสร้างโลกตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ว่า เมื่อพระพรหมได้สร้างโลกขึ้นมาเสร็จแล้วได้ทูลเชิญ พระศิวะ ให้ยืนขาเดียวบนภูเขาลูกหนึ่ง โดยที่พญานาคทั้งหลายร่วมแรงกันกวนน้ำในมหาสมุทรและหากพระศิวะไม่อาจยืนได้ด้วยขาเดียวก็แสดงว่าโลกที่พระพรหมสร้างขึ้นนั้นไม่แข็งแรงพอ แต่ปรากฏว่าพระศิวะยังคงประทับยืนขาเดียวอยู่ได้ตลอดเวลา พระพรหมจึงเห็นว่าแผ่นดินที่สร้างขึ้นมานั้นมั่นคงเพียงพอแล้ว จึงได้ดำเนินการเนรมิตมนุษย์และเหล่าสรรพสัตว์ทั้งหลายในโลก ซึ่งประเพณีแห่นางดานจึงเป็นประเพณีที่จัดขึ้นเพื่อต้อนรับพระศิวะหรือพระอิศวรที่จะเสด็จลงมายังโลกมนุษย์เพื่อประทานพรให้โลกมนุษย์อยู่กันด้วยความร่มเย็นเป็นสุขเป็นระยะเวลา 10ราตรี โดยพระอิศวรจะบันดาลให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ในทุกๆด้าน ดังนั้นบรรดามนุษย์และเทพชั้นรองจึงจัดพิธีต้อนรับด้วยการแห่ไม้กระดาน 3 แผ่น ที่แกะสลักเป็นรูปเทพชั้นรอง 4 องค์ ประกอบด้วยแผ่นที่ 1 รูปพระอาทิตย์ พระจันทร์ แผ่นที่ 2 รูปพระแม่คงคา และแผ่นที่ 3 รูปพระแม่ธรณี (ชาวนครศรีธรรมราชเรียกไม้กระดานที่แกะสลักว่า นางดานหรือนางกระดาน) เพื่อไปต้อนรับพระอิศวรที่เชื่อกันว่าจะเสด็จลงมาทางเสาชิงช้า จากนั้นจะมีพิธี “ตรียัมปวาย” และ “โล้ชิงช้า”
ซึ่งประเพณีแห่นางดานมีการสืบทอดกันมาในหมู่พราหมณ์ โดยเฉพาะจังหวัดนครศรีธรรมราช เรียกพิธีกรรมทั้งหมดว่า “ประเพณีแห่นางดาน” เป็นประเพณีที่นำความมั่งคั่งและมั่นคงแข็งแรงมาสู่บ้านเมือง และยังมีการประกอบพิธีในการขึ้นครองราชย์ของพระมหากษัตริย์รัชกาลต่าง ๆของกรุงรัตนโกสินทร์ตลอดมา เพิ่งมายกเลิกไปเมื่อปี พ.ศ. 2476 ในสมัยรัชกาลที่ 7 เนื่องจากมีคนขึ้นโล้ชิงช้าตกลงมาเสียชีวิต จนกระทั้ง พ.ศ. 2544 นางสาวกิตติกา ลิขิตวศินกุล ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ เขต 2 ในขณะนั้นได้สืบค้นในส่วนของจังหวัดนครศรีธรรมราช พบว่าการโล้ชิงช้าหรือตรียัมปวายจะรวมอยู่ในประเพณี “แห่นางกระดาน” และเล็งเห็นว่าประเพณีดังกล่าวเป็นประเพณีเก่าแก่ ที่ควรค่าแก่การศึกษาและมีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ และคงจะหาดูชมประเพณีแห่นางกระดานที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว อีกทั้งยังเป็นการประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดนครศรีธรรมราชอีกทางหนึ่งด้วย “ดังนั้นการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ เขต 2 จึงร่วมกับเทศบาลนครนครศรีธรรมราช มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ชมรมรักษ์บ้านเกิด วิทยาลัยนาฏศิลป์นครศรีธรรมราช และองค์กรภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องฟื้นฟูประเพณี “แห่นางกระดาน” ขึ้นใหม่เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2544 นอกจากจะเป็นการบูชาเทพยดาตามความเชื่อของพราหมณ์แล้วยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวอีกทางหนึ่งด้วย โดยเชื่อว่าประเพณีนี้จะเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทุกมุมโลกให้เข้ามาศึกษาและสัมผัสประเพณีอันหาดูได้ยากในโลกปัจจุบัน”
นางสาวลดาวัลย์ ช่วยชาติ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานนครศรีธรรมราช กล่าวว่าจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นศูนย์กลางทางการท่องเที่ยวเชิงศาสนาและวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่ ทั้งทางศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์ ซึ่งมีหลักฐานชี้ชัดถึงความยิ่งใหญ่ในอดีต โดยเฉพาะพระบรมธาตุเจดีย์ ซึ่งเป็นปูชนียสถานที่สำคัญ คู่บ้านคู่เมือง มีพระบรมธาตุเจดีย์ และพระพุทธสิหิงค์ประดิษฐานเป็นมิ่งขวัญเมือง ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นหนึ่งในสามองค์ของประเทศไทย ส่วนทางด้านศาสนาพราหมณ์นั้นมี หอพระอิศวร เสาชิงช้า / หอพระนารายณ์ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นทิพย์วิมานของพระอิศวร เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้มีสีสันมากยิ่งขึ้นทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมกับเทศบาลนครนครศรีธรรมราชและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ผนวกเอางานแห่นางดานซึ่งเป็นหนึ่งเดียวของประเทศไทยมาร่วมอยู่ในงานเทศกาลสงกรานต์ด้วย และกำหนดให้จังหวัดนครศรีธรรมราชเป็น 1 ใน 13 เมืองศูนย์กลางการจัดงานเทศกาลมหาสงกรานต์ มาตั้งแต่ปี 2544 สำหรับกิจกรรมระหว่างวันที่ วันที่ 11 – 14 เมษายน 2560 เวลา ในวันที่ 11 เมษายน 2560 เวลา 07.00น. พิธีถวายเครื่องสักการะพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช ณ สวนสาธารณะศรีธรรมาโศกราช และเวลา 17.00 -21.00 น. กิจกรรมมหกรรมขนมพื้นบ้านอาหารพื้นเมือง ชมนิทรรศการ การแสดงศิลปวัฒนธรรม และดนตรีในสวน ณ ตลาดริมน้ำเมืองลิกอร์ ในวันที่ 12 เมษายน 2560 เวลา 17.00 น.ประกอบพิธีพิธีมหาพุทธาภิเษกน้ำศักดิ์สิทธิ์ 6 แห่ง และแจกน้ำศักดิ์สิทธิ์ ณ สนามหน้าเมืองนครศรีธรรมราช และในวันที่ 13 เมษายน 2560 วันมหาสงกรานต์ อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ อันเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง หนึ่งในสามองค์ของประเทศไทย ไปประดิษฐานที่สนามหน้าเมือง เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้สักการบูชาและสรงน้ำ เพื่อเป็นสิริมงคล ในวันเดียวกันองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช จะปิดถนนประตูลอด จัดกิจกรรมการเล่นน้ำและบันเทิง “เที่ยงวันยันเที่ยงคืน” เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้ร่วมเล่นสาดน้ำสงกรานต์ และสนุกสานกับการแสดงดนตรีคณะดังหลายคณะอย่างเต็มที่ ส่วนการแห่นางดาน 1 เดียวในเมืองไทย กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 14 เมษายน 2560 เริ่มในเวลา 17.00 น. ชมการแสดง Light And Sound แสง เสียง สื่อผสม “แห่นางดานอลังการตำนานเมืองนครฯ” ณ สวนสาธารณะศรีธรรมาโศกราช โดยเริ่มพิธีบวงสรวง ณ ฐานพระสยมภูวนาถ บริเวณตลาดท่าชี ถนนหลังวัดพระวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช และก่อนเคลื่อนขบวนสู่สวนสาธารณะศรีธรรมาโศกราชเพื่อประกอบพิธีตามลำดับขั้นตอน
ภาพ/ข่าว นวรัตน์ อินทศิลา ผู้สื่อข่าวภูมิภาค สำนักข่าวทีนิวส์ จ.นครศรีธรรมราช
สายลุยเตรียมพร้อมก่อนไป “เดินป่า” อ่านจบรู้เรื่อง