นักลงทุนพร้อมยื่นชิง “โรงไฟฟ้าชุมชน” กลุ่ม Quick Win ในเดือนเม.ย. นี้ ประสานเสียงสู้โควิด-19 มั่นใจช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และสร้างรายได้เกษตรกร แถมยังส่งเสริม EV ช่วยลดปริมาณสำรองไฟฟ้า ส่วนกลุ่มทั่วไปฟิตจัดยื่นตรวจสอบฟีดเดอร์ ตั้งแท่นขอหนังสือรับรองจาก กฟภ. และผังเมืองรอยื่นประมูลต่อไป
จากนโยบายของนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เร่งรัดการขับเคลื่อนโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากให้เร็วที่สุด เพื่ออัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ และช่วยเหลือชุมชนให้มีรายได้จากการจำหน่ายเชื้อเพลิงชนิดต่างๆ กระจายสู่ระบบเศรษฐกิจฐานรากเพิ่มขึ้น โดยกำหนดเปิดยื่นข้อเสนอจากผู้สนใจกลุ่ม Quick Win จำนวน 100 เมกะวัตต์ ในเดือนเมษายน 2563 หลังจากนั้นถึงจะเป็นคิวของกลุ่มทั่วไป จำนวน 600 เมกะวัตต์ ซึ่งทางการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้เปิดให้นักลงทุนผู้สนใจโครงการยื่นขอตรวจสอบจุดเชื่อมต่อระบบไฟฟ้า ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา
นายผจญ ศรีบุญเรือง นายกสมาคมการค้าก๊าซชีวภาพไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้สมาชิกแต่ละบริษัทมีความพร้อมในการเตรียมยื่นเสนอโรงไฟฟ้าชุมชนกลุ่ม Quick Win เช่นเดียวกับทางกลุ่มของตนก็พร้อมจะยื่นข้อเสนอครั้งนี้เช่นกัน ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าชุมชนอยู่ในพื้นที่ อ.ชุมพวง จ.นครราชสีมา ขนาด 6 เมกะวัตต์ ใช้วัตถุดิบจากหญ้าเนเปียร์ ซึ่งได้วิสาหกิจชุมชนเข้ามาร่วมถือหุ้นตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด รวมถึงมีเกษตรกรที่ปลูกหญ้าเนเปียร์สนใจเข้ามาร่วมจำนวนมาก
ทั้งนี้ การเปิดให้ยื่นโรงไฟฟ้าชุมชนครั้งนี้เป็นการนำเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก และสร้างรายได้ สร้างอาชีพให้กับชุมชนจากการขายวัตถุดิบหญ้าเนเปียร์ในช่วงที่ได้รับความเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ขณะเดียวกันช่วงนี้มีการใช้ไฟฟ้าลดลงมากทำให้มีปริมาณสำรองไฟฟ้าเหลือขึ้นเยอะถึง 40% ซึ่งทางกระทรวงพลังงานกำลังเตรียมจะมีการทบทวนแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2561-2580 หรือ PDP 2018 อีกครั้ง ซึ่งส่วนตัวมองว่า รัฐบาลควรมีนโยบายชะลอแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่โรงใหม่ๆ ออกไปก่อน แล้วให้โรงไฟฟ้าที่จะหมดอายุปรับปรุงเครื่องจักรใหม่เพื่อขยายเวลาการผลิตไฟฟ้าออกไปอีกสักระยะหนึ่ง
ประการสำคัญควรส่งเสริมการลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชนให้กระจายไปตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศเข้ามาแทน เพื่อรองรับการเติบโตของยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ซึ่งต่อไปจะมีสถานีชาร์จไฟฟ้าตามจุดต่างๆ มากขึ้น โดยโรงไฟฟ้าชุมชนสามารถจ่ายไฟซัพพอร์ตตรงนี้ได้แทนที่จะส่งจากโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่จะมีความสูญเสียจากระบบส่งจำนวนมากในแต่ละปี
นายผจญ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม หลักเกณฑ์การการคัดเลือกโรงไฟฟ้าชุมชนครั้งนี้เข้มข้นมาก ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดใบอนุญาตตั้งโรงงาน หรือด้านผังเมือง ทำให้หลายโครงการไม่สามารถจะยื่นข้อเสนอครั้งนี้ได้ อย่างเช่นโครงการที่จังหวัดสุราษฏร์ธานี ก็ติดปัญหาผังเมืองเช่นกัน
ด้านนายกิตติ ชีวะเกตุ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) หรือ UAC บริษัทเจ้าของต้นแบบโรงไฟฟ้าชุมชน กำลังผลิต 1.5 เมกะวัตต์ ที่ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ใช้วัตถุดิบจากหญ้าเนเปียร์ กล่าวว่า ในตอนนี้ทางยูเอซีสนใจยื่นเสนอโรงไฟฟ้าชุมชนที่ อ.ภูผาม่าน จ.ขอนแก่น อย่างแน่นอน ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ 2 โรง กำลังการผลิตรวม 3 เมกะวัตต์ ใช้วัตถุดิบจากหญ้าเนเปียร์
ขณะที่นายนฤพล วันทูล ผู้จัดการเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนธนาคารต้นไม้ เผยว่า ขณะนี้ทางสมาชิกเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนธนาคารต้นไม้ทั่วประเทศมีความพร้อมที่จะยื่นเสนอโรงไฟฟ้าชุมชนกลุ่มทั่วไปทันทีเมื่อกระทรวงพลังงานได้กำหนดวันเปิดยื่นที่ชัดเจน โดยได้ตั้งเป้าหมายไว้ 133 โรง จำนวน 499 เมกะวัตต์ ล่าสุดได้ยื่นขอตรวจสอบจุดเชื่อมต่อระบบไฟฟ้ากับทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ กฟภ. ไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งได้ขอหนังสือรับรองต่อไป เช่นเดียวกับหนังสือรับรองจากผังเมืองด้วย
“ตอนนี้มีวิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศเข้ามาร่วมและมีความพร้อมพื้นที่เพาะปลูกหญ้าเนเปียร์ส่งให้กับโรงไฟฟ้าชุมชน และมีความหวังโรงไฟฟ้าชุมชนจะมาสร้างรายได้ช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 แต่ก็เป็นห่วงอยู่บ้างตรงที่ถ้าเปิดยื่นข้อเสนอกลุ่มทั่วไปล่าช้าเป็นหลังเดือนพฤษภาคม นี้ จะทำให้กลุ่มเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้แล้วไม่มั่นใจอาจจะเปลี่ยนใจนำพื้นที่ไปปลูกอ้อย มันสำปะหลังแทนหญ้าเนเปียร์ก็เป็นได้ เพราะเข้าสู่ฤดูกาลเพาะปลูกแล้ว”
ทางด้าน ผศ.ดร.ไกรเลิศ ทวีกุล อาจารย์ประจำคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะที่ปรึกษาโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน กล่าวว่า วิสาหกิจุชมชนในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นเตรียมยื่นเสนอโรงไฟฟ้าชุมชนกลุ่มทั่วไปในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น จำนวน 6 โรง ในพื้นที่ อ.หนองสองห้อง อ.ชนบท อ.บ้านฝาง อ.หนองนาคำ อ.ศรีชมพู และ อ.หนองเรือ โดยการร่วมมือกับ บมจ. บี.กริม เพาเวอร์ ส่วนใหญ่จะใช้วัตถุดิบจากไม้ไผ่สายพันธุ์เกาหลี เพราะศักยภาพพื้นที่การเพาะปลูก 1 ไร่ สามารถปลูกได้ถึง 63 ตัน ซึ่งนอกจากจะได้ไผ่เป็นวัตถุดิบป้อนโรงไฟฟ้าแล้วยังได้ป่าเกิดขึ้นในชุมชนด้วย
#น้าสนจัดให้
สายลุยเตรียมพร้อมก่อนไป “เดินป่า” อ่านจบรู้เรื่อง