มาฆบูชา แห่ผ้าขึ้นธาตุ Hae Pha Khuen That Festival

6066
views
มาฆบูชา แห่ผ้าขึ้นธาตุ Hae Pha Khuen That Festival

ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ จัดขึ้นในวันฆบูชา และ วันวิสาขบูชา โดยชาวพุทธนำผ้าผืนยาวซึ่งเรียกว่า ผ้าพระบฎ บูชาห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์

มาฆบูชาแห่ผ้าขึ้นธาตุ

ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ หมายถึง การนำผ้าผืนยาวขึ้นไปห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์ในวันสำคัญทางศาสนา ชาวนครได้ร่วมมือร่วมใจกันบริจาคเงินตามกำลังศรัทธานำเงินที่ได้ไปซื้อผ้ามาเย็บต่อกันเป็นแถวยาวนับพันหลา แล้วจัดเป็นขบวนแห่ผ้าขึ้นห่มพระบรมธาตุเจดีย์ ผ้าที่ขึ้นไปห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์เรียกว่า “ผ้าพระบฎ” (หรือ พระบต) นิยมใช้สีขาว สีเหลือง สีแดง

สำหรับผ้าสีขาวนิยมเขียนภาพเนื้อหาเกี่ยวกับพุทธประวัติตั้งแต่ประสูติ เสด็จออกบรรพชา ตรัสรู้ ปฐมเทศนา และปรินิพพาน ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุเป็นเอกลักษณ์ประจำเมืองนครศรีธรรมราช แก่นแท้อยู่ที่การบูชาพระพุทธเจ้าอย่างใกล้ชิด โดยใช้องค์พระบรมธาตุเจดีย์เป็นตัวแทน

มาฆบูชา แห่ผ้าขึ้นธาตุ

ตามตำนานประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุมีว่า ในสมัยที่พระเจ้าสามพี่น้อง คือ พระเจ้าศรีธรรมโศกราช พระเจ้าจันทรภาณุ และพระเจ้าพงษาสุระ กำลังดำเนินการสมโภชพระบรมธาตุอยู่นั้น คลื่นได้ซัดผ้าแถบยาวชิ้นหนึ่ง ซึ่งมีลายเขียนเรื่องราวพุทธประวัติ (เรียกว่า พระบฎ หรือ พระบต) ขึ้นที่ชายหาดปากพนัง จึงนำผ้าผืนนั้นไปถวายพระเจ้าศรีธรรมโศกราช พระองค์จึงรับสั่งให้ซักจนสะอาด แต่ลายเขียนพุทธประวัติก็ไม่ลบเลือนยังคงสมบูรณ์ดีทุกประการ

จึงรับสั่งให้ประกาศหาเจ้าของ ได้ความว่าชาวพุทธกลุ่มหนึ่ง จะเดินทางไปลังกา เพื่อนำพระบฎไปถวายเป็นพุทธบูชาพระทันตธาตุ คือ พระเขี้ยวแก้ว แต่เรือถูกมรสุมซัดแตกที่ชายฝั่งเมืองนครมีรอดชีวิต 10 คน ส่วนพระบฏถูกคลื่นซัดขึ้นฝั่งปากพนัง

พระเจ้าศรีธรรมโศกราชทรงพิจารณาเห็นว่าควรจะนำขึ้นไปห่มพระบรมธาตุเจดีย์เนื่องในโอกาสสมโภชพระบรมธาตุ เจ้าของพระบฎที่รอดชีวิตก็ยินดีด้วย จึงโปรดให้ชาวเมืองนครจัดเครื่องประโคมแห่แหนผ้าห่มโอบฐานพระบรมธาตุเจดีย์ จึงเป็นประเพณีประจำเมืองนครสืบมาจนทุกวันนี้

มาฆบูชา แห่ผ้าขึ้นธาตุ

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้มีการแห่ผ้าขึ้นธาตุในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 คือ วันวิสาขบูชา เรียกว่า “แห่พระบฎขึ้นธาตุ” มีการเวียนเทียนรอบองค์พระบรมธาตุ

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้มีการแห่ผ้าขึ้นธาตุ ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 คือ วันมาฆบูชา เพื่อให้พุทธศาสนิกชนที่อยู่ห่างไกลหรือไม่มีโอกาสกระทำพุทธบูชาในวันวิสาขบูชาได้มีโอกาสแห่ผ้าขึ้นธาตุในวันมาฆบูชาตามศรัทธาด้วย

ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุของเมืองนคร จึงมีปีละ 2 ครั้ง คือ ในวันเพ็ญเดือน 3 (วันมาฆบูชา) และในวันเพ็ญเดือน 6 (วันวิสาขบูชา) สืบมาจนทุกวันนี้

มาฆบูชา แห่ผ้าขึ้นธาตุ

เดิมการแห่ผ้าขึ้นธาตุกระทำกันโดยพร้อมเพรียงเป็นขบวนที่เอิกเกริกเพียงขบวนเดียว ต่อมา ประชาชนมาจากหลายทิศหลายทาง แต่ละคนต่างเตรียมผ้ามาเองทำให้การแห่ผ้าขึ้นธาตุไม่พร้อมเพรียงเป็นขบวนเดียวกัน เพราะใครจะแห่ผ้าขึ้นธาตุในเวลาใดก็ได้ตามสะดวกตลอดทั้งวัน

เมื่อขบวนแห่มาถึงวัดพระบรมธาตุวรมหาวิหาร ก็แห่ทักษิณาวัตรรอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์ 3 รอบ แล้วนำผ้าเข้าสู่วิหารม้า ซึ่งมีบันไดขึ้นสู่ลานภายในกำแพงแก้วล้อมฐานพระบรมธาตุเจดีย์ เพื่อนำผ้าขึ้นห่มโอบฐานพระบรมธาตุเจดีย์ซึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ถือว่าเป็นการบูชาพระพุทธเจ้าอย่างใกล้ชิด

มาฆบูชา แห่ผ้าขึ้นธาตุ

Hae Pha Khuen That Festival is celebrated at Phra Borom That Chedi. The pagoda is considered to be the representative of Lord Buddha and is believed by locals to possess unsurpassed might of righteousness as it contains holy relics. Every year Buddhists pay homage to the pagoda by organizing a procession bearing a religiouscloth to wrap around the pagoda to bring good fortune and success.

ที่มา – https://th.wikipedia.org

 
ถมนคร : คุณค่าที่คู่ควร ถมนคร เครื่องถมเมืองนครศรีธรรมราช
 
SHARE