ภาพในวิหารทรงม้านี้มีเรื่องราวเป็นมาอย่างไร ?
นี้คือหนึ่งในภาพปูนปั้นนูนต่ำ (Bas Relief) ชิ้นสำคัญในระดับที่เรียกกันว่าเป็นมรดกวัฒนธรรมชั้นเยี่ยมของชาติ หรือ National Treasure & Master piece ที่ประกอบด้วยทั้งความงามประณีต ความมีขนาดใหญ่ และ สมบูรณ์ด้วยเนื้อหา ไม่มีชิ้นอื่นใดในชาติเทียบเท่า เรียกกันว่าภาพปูนปั้นภาพพระมหาภิเนษกรม์ แสดงครั้งพระพุทธองค์ทรงเสด็จออกมหาภิเนษกรม์ คือ ออกทรงผนวชเป็นที่มาของชื่อพระวิหารมหาภิเนษกรม์ หรือ พระทรงม้าหรือที่กร่อนลงมาเหลือเพียงวิหารพระม้า
เป็นภาพปูนปั้นนูนต่ำติดไว้ที่ผนังบันไดทางขึ้นลานประทักษิณทั้ง ๒ ด้าน โดยภายในสุดที่ฐานองค์พระบรมธาตุ มีซุ้มพระพุทธรูปอย่างที่ฐานทักษิณด้านนอก
ภาพปูนปั้นนูนต่ำนี้บอกเรื่องราวครั้งเจ้าชายสิทธัตถะทรงออกผนวชตามลำดับ จากด้านในออกมาที่แสดงเป็นภาพเหล่าเทวดานางฟ้ามาเฝ้าอยู่ เทวดาองค์บนอาจจะเป็นพระพรหม
ถัดมาแสดงพระวิมานที่พระนางยโสธราพิมพากำลังบรรทมหลับ มีพระราหุลกุมารอยู่ในอ้อมพระอุระ เห็นพระถรรเต็มตึง
ต่ำลงมาเป็นเหล่าสนมนางในที่หลับไหลอยู่ท่ามกลางช่างประโคมและรำฟ้อน
ภาพบุรุษทรงพระภูษา ชฎา และพระขรรค์ในหัตถ์ขวา
คือเจ้าชายสิทธัตถะกำลังผันพระพักตร์กึ่งทางไปยังพระชายาและกุมาร
ยกพระขรรค์เสมือนหมายว่าจะทรงตัดเสียจากโลกียวิสัยที่ทรงมีอยู่อย่างพร้อมสรรพ ทั้งปราสาทราชวังนางในและทรัพย์สมบัติแม้จะเต็มไปด้วยความอาลัยขณะที่พระบาทนั้นหันออกนอกเพื่อพระดำเนินออกไปแสวงหาความหมายแห่งชีวิตที่มากกว่าการเสาะแสวงหาและเสพสุขอยู่เยี่ยงนี้ ดังที่ทรงมีนิมิตว่าด้วยความแก่ ความเจ็บ ความตาย และ การออกบำเพ็ญเพียรภาวนามาก่อน พระบาทของพระองค์มีดอกบัวบานรับ แสดงถึงเส้นทางนี้เป็นมงคลควรดำเนิน
ภาพใหญ่แสดงขณะเจ้าชายสิทธัตถะทรงม้ากัณฐกะลอยเด่น มีเหล่าเทวดาจำนวนมากมาร่วมแห่แหนพาเหาะมุ่งไปข้างหน้า
ที่พอจะระบุได้มีพระพรหมกำลังถวายฉัตร ๓ ชั้นอยู่ด้านหลัง ในขณะที่นายฉันนะนั้นกำลังเกาะพู่พวงหางของม้ากัณฑกะไว้
ขอให้ดูเครื่องประดับทรงของม้าต้นที่งดงามอย่างยิ่ง
ณ สุดขอบกรอบของภาพนี้ ท่านทำเป็นภาพบุคคลถือกระบองยืนโบกมือห้ามอยู่
ด้านตะวันตกทำให้เห็นชัดว่าคือยักษ์มารร้าย หมายถึงพญามารที่มาคอยสกัดห้ามการเสด็จออกผนวช
แถมยืนอยู่บนพญาราหูน้อย หนึ่งในหมู่แห่งพญามารเช่นกัน
โดยรวมแล้วภาพนี้นอกจากจะเป็นภาพพุทธประวัติตอนสำคัญแล้วยังสามารถอุปมาอุปไมยให้คติแก่ชีวิตอย่างสำคัญหลายชั้น ดังนี้
๑) ระลึกถึงประวัติและคุณขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงรู้แล้วมุ่งมั่นศึกษาปฏิบัติจริงจังจนตรัสรู้แล้วเมตตาสั่งสอนสืบมาจนถึงพวกเรา
๒) ระลึกถึงแบบอย่างการสละความสุขของชีวิตทางโลกออกผนวชเพื่อเสาะแสวงหาทางธรรมครั้งยิ่งใหญ่ที่เรียกว่า มหาภิเนษกรม์ เพราะหากไม่มีครั้งนี้ก็ไม่มีพระพุทธเจ้าและพระพุทธศาสนา
๓) ระลึกถึงตนเอง แม้ไม่ถึงกับการสละทางโลกออกบวชอย่างพระพุทธองค์ ก็ขอให้คิดถึงกุศลกรรมอีกมากมายที่พึงกระทำซึ่งจะได้รับการสรรเสริญจากเหล่าเทวดาคนดี โดยมักจะมีฝ่ายอกุศลเสมือนมารร้ายมาคอยสกัดยับยั้งชักชวนให้เสียอยู่เสมอ ๆ ซึ่งต้องอาศัยการประกอบไปด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจจริงไม่ให้แพ้เมื่อครั้งเจ้าชายสิทธัตถะตัดพระทัยออกมาจากสุขและสมบัติอันเย้ายวนอย่างยิ่ง
ตามตำนาน กล่าวว่าภาพปูนปั้นนี้ ๒ เศรษฐีชาวมอญและลังกาชื่อพลิติพลิมุ่ย ผู้มาอยู่ร่วมซ่อมสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ให้ทำขึ้นจากอัฐิอังคารของลูกของทั้ง ๒ คนที่ทะเลาะแล้วฆ่ากันตายขณะที่พ่อมาทำกิจกุศล
แต่ตามประวัติศาสตร์ศิลปกล่าวกันว่าเป็นงานศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลายเชื่อว่าซ่อมสร้างครั้งใหญ่สมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ผู้บูรณะปฏิสังขรณ์องค์พระบรมธาตุเจดีย์ครั้งใหญ่หลังจากร้างอยู่นาน พร้อมกับการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในกรุงศรีอยุธยา และส่งสมณทูตไปสถาปนาสยามวงศ์ในกรุงลังกาหลังจากนั้นมีการบูรณะอีกหลายครั้งยังอยู่อย่างสมบูรณ์ถึงทุกวันนี้ ต่างจากที่อื่น ๆ ซึ่งปรักหักพังร้างราลงเหลือแต่เพียงเศษเสี้ยวเป็นส่วน ๆ แทบทั้งนั้น.
ที่พระธาตุทุกวันนี้นั้น มี ๒ ภาพใหญ่เท่า ๆ กัน ด้านตะวันออกของบันไดกล่าวกันว่าเป็นของเก่าก่อน ด้านตะวันตกที่มีฝีมือด้อยกว่า กล่าวกันว่าเป็นของทำตามขึ้นภายหลัง มีรายละเอียดแตกต่างกันไม่มากนัก.
บัญชา พงษ์พานิช
เพลินสถาน สวนสร้างสรรค์ นาคร-บวรรัตน์ / สุธีรัตนามูลนิธิ
๑๒ กรกฎาคม ๒๕๕๖
ที่มา – http://plearnstan.blogspot.com/2013/07/blog-post_12.html
สายลุยเตรียมพร้อมก่อนไป “เดินป่า” อ่านจบรู้เรื่อง