หลายคนไม่รู้! 6 อาการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต 72 ชม.แรก รักษาฟรีทุกโรงพยาบาล

1864
views
6 อาการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต

ในการเข้ารับบริการรักษาพยาบาลในกรณีฉุกเฉิน สถานพยาบาลไม่มีสิทธิที่จะปฏิเสธการให้การดูแลรักษาผู้ป่วย อย่างน้อย “ช่วยเหลือเยียวยาผู้ป่วย ซึ่งอยู่ในสภาพอันตรายและจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลโดยฉุกเฉิน เพื่อให้ผู้ป่วยพ้นจากอันตรายตามมาตรฐานวิชาชีพ”

นโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP) ของรัฐบาล ต้องการให้ผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะฉุกเฉินวิกฤตทุกคน ไม่ว่าสิทธิใดก็ตาม ได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลรัฐหรือเอกชนที่อยู่ใกล้ที่สุด เพื่อเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตและลดความพิการให้น้อยที่สุด โดยไม่ต้องสำรองเงินค่ารักษาพยาบาลในระยะเบื้องต้น 72 ชั่วโมงแรก ผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์ตามโครงการนี้ หมายถึงผู้ได้รับบาดเจ็บ หรือมีอาการป่วยกะทันหัน ซึ่งมีภาวะ คุกคามต่อชีวิต ซึ่งหากไม่ได้รับปฏิบัติการแพทย์ทันที เพื่อแก้ไขระบบการหายใจ ระบบไหลเวียนเลือด หรือระบบประสาทแล้ว ผู้ป่วยจะมีโอกาสเสียชีวิตได้สูง หรือทําให้การบาดเจ็บหรืออาการป่วยของผู้ป่วยฉุกเฉินนั้น รุนแรงขึ้นหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้อย่างฉับไว

6 อาการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต 72 ชม.แรก รักษาฟรีทุกโรงพยาบาล

ในการรับบริการตามนโยบายนี้ กรณีที่เจ็บป่วยฉุกเฉินสีแดง คือ ระดับวิกฤติ ใน 72 ชม.แรกให้กองทุนเป็นผู้จ่าย หลังจาก 72 ชม.หากผู้ป่วยสามารถย้ายกลับสถานพยาบาลตามสิทธิ์ได้ให้ย้ายกลับ เว้นกรณีที่ไม่สามารถย้ายกลับได้ทั้งในกรณีที่สถานพยาบาลต้นสังกัดไม่มีเตียงรองรับหรือ/และอาการผู้ป่วยยังไม่ดีขึ้น กองทุนจะจ่าย แต่หากย้ายได้แต่ผู้ป่วยไม่ต้องการย้ายเองนั้น ผู้ป่วยจะต้องเป็นผู้จ่ายค่ารักษาพยาบาลในส่วนหลัง 72 ชม.เอง

กรณีผู้ป่วยฉุกเฉินระดับสีเหลืองหรือฉุกเฉินเร่งด่วน และสีเขียวคือฉุกเฉินไม่เร่งด่วน หากผู้ป่วยตัดสินใจรักษาที่โรงพยาบาลนอกสิทธิ์ กองทุนจะจ่ายให้ตามข้อกำหนดแต่ละกองทุน ไม่ครอบคลุมทั้งหมด ส่วนที่เหลือผู้ป่วยจะต้องจ่ายเอง

หากเป็นการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติคนไทยทุกคนไม่ต้องกังวลกับค่าใช้จ่ายในการรักษา สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลได้ในโรงพยาบาลใกล้ที่สุดทั้งรัฐและเอกชน โดยรัฐจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นใน 72 ชั่วโมงแรก

6 อาการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต 72 ชม.แรก รักษาฟรีทุกโรงพยาบาล

6 อาการที่เข้าข่ายภาวะฉุกเฉินวิกฤติ
1. หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ / 2. หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง
3. ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น / 4. เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง
5. แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วน หรือชักต่อเนื่องไม่หยุด
6. อาการอื่นที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิตและระบบสมองที่เป็นอันตรายต่อชีวิต

เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต

“ประชาชนที่มีอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตดังกล่าว สามารถเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลรัฐหรือเอกชนที่อยู่ใกล้ที่สุดหรือไปถึงเร็วที่สุด เพื่อให้ได้รับการดูแลรักษาจากแพทย์อย่างรวดเร็ว อย่าให้เสียโอกาสในช่วงนาทีวิกฤตของชีวิต หากเจ็บป่วยฉุกเฉินโทรขอความช่วยเหลือที่สายด่วน 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง และหากประชาชนหรือสถานพยาบาลมีข้อสงสัยสอบถามได้ที่ โทร 02-8721669 หรือ [email protected] ตลอด 24 ชั่วโมง”

 รักษาฟรีทุกโรงพยาบาล

นิยามผู้ป่วยฉุกเฉิน

ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) ได้แก่ บุคคลซึ่งได้รับบาดเจ็บหรือมีอาการป่วยกะทันหันซึ่งมีภาวะคุกคามต่อชีวิต ซึ่งหากไม่ได้รับปฏิบัติการแพทย์ทันทีเพื่อแก้ไขระบบการหายใจ ระบบไหลเวียนเลือด หรือระบบประสาทแล้ว ผู้ป่วยจะมีโอกาสเสียชีวิตได้สูง หรือทำให้การบาดเจ็บหรืออาการป่วยของผู้ป่วยฉุกเฉินนั้นรุนแรงขึ้นหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้อย่างฉับไว

ผู้ป่วยฉุกเฉินเร่งด่วน (สีเหลือง) ได้แก่ บุคคลที่ได้รับบาดเจ็บหรือมีอาการป่วยซึ่งมีภาวะเฉียบพลันมาก หรือเจ็บปวดรุนแรง อันอาจจำเป็นต้องได้รับปฏิบัติการแพทย์อย่างรีบด่วน มิฉะนั้นจะทำให้การบาดเจ็บหรืออาการป่วย ของผู้ป่วยฉุกเฉินนั้นรุนแรงขึ้นหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้น ซึ่งส่งผลให้เสียชีวิต หรือพิการในระยะต่อมาได้

ผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรง (สีเขียว) ได้แก่ บุคคลซึ่งได้รับบาดเจ็บหรือมีอาการป่วยซึ่งมีภาวะเฉียบพลันไม่รุนแรง อาจรอรับปฏิบัติการแพทย์ได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่งหรือเดินทางไปรับบริการสาธารณสุขด้วยตนเองได้ แต่จำ เป็น ต้องใช้ทรัพยากรและหากปล่อยไว้เกินเวลาอันสมควรแล้วจะทำ ให้การบาดเจ็บหรืออาการป่วยของผู้ป่วยฉุกเฉินนั้น รุนแรงขึ้นหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้

ขอบคุณข้อมูลจาก : กระทรวงสาธารณสุข / สำนักสารนิเทศ

 
ถมนคร : คุณค่าที่คู่ควร ถมนคร เครื่องถมเมืองนครศรีธรรมราช
 
SHARE