พระครูปทุมสรคุณ (นารถ ปรกฺกโม) พ่อท่านนารถ วัดควนสระบัว อ.ทุ่งใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช ศิษย์เอกของพ่อท่านแดง วัดภูเขาหลัก อ.ทุ่งใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช
พระครูปทุมสรคุณ มีนามเดิมว่า นารถ ตันอุ๋ย เกิดเมื่อ วันพฤหัสบดี แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีชวด ตรงกับวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๗ ณ บ้านโคกมัน หมู่ ๒ ตำบลท่ายาง อำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นบุตรของคุณพ่อนุช ตันอุ๋ย และ คุณแม่ริน ตันอุ๋ย(จันสีนาค)
เป็นบุตรคนแรกในจำนวนพี่น้อง ๙ คน ดังนี้
๑. พระครูปทุมสรคุณ [นารถ ปรกฺกโม (ตันอุ๋ย)]
๒. นายนิ่ม ตันอุ๋ย
๓. นายนุ่น ตันอุ๋ย
๔. นายสังข์ ตันอุ๋ย
๕. นายประสงค์ ตันอุ๋ย
๖. นายส่อง ตันอุ๋ย
๗. นายมนัส ตันอุ๋ย
๘. นางจุรี ตันอุ๋ย
๙. นางยอง ตันอุ๋ย
ในวัยเด็กท่านได้ศึกษาจนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ จากโรงเรียนประชาบาลตำบลท่ายาง เมื่ออายุได้ ๘ ปีก็ได้ไปอยู่และศึกษาเล่าเรียนกับหลวงพ่อแดง วัดภูเขาหลัก
บรรพชาอุปสมบท
บรรพชา เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ ณ วัดภูเขาหลัก ตำบลทุ่งสัง อำเภอท่ายาง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมี พระครูถาวรบุญรัตน์ (บุญคง พุทฺธรกฺขิโต) วัดท่ายาง เป็นพระอุปัชฌาย์สามเณร และได้จำพรรษาอยู่ในอันเตวาสิกของพ่อท่านแดง ณ วัดภูเขาหลัก
อุปสมบท
เมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๗ เวลา ๑๖.๓๐ น. ณ วัดท่ายาง ตำบลท่ายาง อำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมี พระครูรังสรรค์อธิมุตต์ วัดไม้เรียง เป็นพระอุปัชฌาย์ พระปลัดแดง อิสฺสโร (พระครูธรรมิสรานุวัตร) วัดภูเขาหลัก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายาทางธรรมว่า “ปรกฺกโม” แปลว่า ผู้ดำรงไว้ซึ่งความเพียร
และได้จำพรรษาอยู่ในอันเตวาสิกของพ่อท่านแดง ณ วัดภูเขาหลัก ศึกษาพระธรรมและสรรพวิชาต่างๆกับพ่อท่านแดง จนมีความรู้ชำนาญมากพอ และเป็นที่ไว้ใจของพระอาจารย์ ก่อนที่พ่อท่านแดงจะส่งตัวท่านไปครองวัดควนสระบัวในปี พ.ศ. ๒๔๙๒
เรื่องราวเล่าขาน/วิชาอาคม
พ่อท่านนารถ เมื่อครั้งท่านบรรพชาเป็นสามเณร ท่านได้อยู่ในอันเตวาสิกของพ่อท่านแดง หรือ พระครูธรรมิสรานุวัตร วัดภูเขาหลักพระเกจิผู้มากด้วยวิชาอาคม เจ้าตำรับตะกรุดคู่ชีวิตอันโด่งดัง พ่อท่านนารถ อยู่ดูแลปรนนิบัติหลวงพ่อแดงอย่างใกล้ชิด เป็นที่รักของพ่อท่านแดง เป็นศิษย์ตั้งแต่สามเณร จนเป็นพระภิกษุ ก็ได้จำพรรษากับหลวงพ่อแดงอย่างใกล้ชิด วิชาที่พ่อท่านนารถสืบทอดมาจากพ่อท่านแดงโดยตรง คือ วิชาการทำตะกรุดคู่ชีวิต ที่กล่าวได้ว่า เมื่อสิ้นยุคหลวงพ่อแดงแล้ว พระสงฆ์ที่สามารถทำตะกรุดได้ขลัง ก็คือ พ่อท่านนารถองค์นี้เอง ที่ได้รับการครอบครูสืบทอดวิชามาจากพ่อท่านแดงโดยตรง อีกทั้งประสบการณ์ของผู้ใช้เป็นที่กล่าวขานกันมากในหมู่ศิษย์ นอกจากนี้ ยังมีวิชาต่อกระดูก หรือ การเสกประสานกระดูกรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาหรือประสบเหตุทำให้กระดูกหักหรือแตก ท่านสามารถรักษาให้หายได้อย่างน่าอัศจรรย์ รวมทั้งศาสตร์ต่างๆ เช่น การดูฤกษ์ยาม ตักบาตรพระเคราะห์ ต่างๆ เป็นต้น สำหรับพ่อท่านนารถ นั้นนับว่าเป็นศิษย์เอกของพ่อท่านแดงวัดภูเขาหลัก และวาระสุดท้ายปั้นปลายชีวิตพ่อท่านแดง ท่านได้มาอยู่จำพรรษา ที่วัดควนสระบัวจนถึงกาลมรณภาพ
พ่อท่านนารถเป็นพระอริยสงฆ์รูปหนึ่งที่มีเมตตาสูงแกชนชั้นทั้งหลาย และยังเป็นที่เคารพนับถือของคนทั่วไป ท่านเป็นแบบอย่างพระสงฆ์ผู้เคร่งครัดพระวินัย และยังเป็นที่ยำเกรงของศิษย์
การศึกษา
พ.ศ. ๒๔๙๓ สอบได้ นักธรรมชั้นตรี สำนักเรียนวัดภูเขาหลัก
พ.ศ. ๒๔๙๗ สอบได้ นักธรรมชั้นโท สำนักเรียนวัดควนสระบัว
พ.ศ. ๒๔๙๙ สอบได้ นักธรรมชั้นเอก สำนักเรียนวัดควนสระบัว
ตำแหน่ง
ฝ่ายปกครอง
พ.ศ. ๒๔๙๒ เป็น เจ้าอาวาสวัดควนสระบัว
พ.ศ. ๒๕๐๘ เป็น เจ้าคณะตำบลท่ายาง
พ.ศ. ๒๕๒๕ เป็น เจ้าคณะตำบลกุแหระ
พ.ศ. ๒๕๓๗ เป็น เจ้าคณะตำบลกุแหระ กิตติมศักดิ์
งานด้านสาธารณูปการ
พ.ศ. ๒๕๐๐ สร้างศาลาการเปรียญ
พ.ศ. ๒๕๑๗ สร้างอนุสรณ์ยอดกตัญญูพระครูธรรมิสรานุวัตร
พ.ศ. ๒๕๒๒ สร้างกุฏิเจ้าอาวาส ๒ ชั้น
พ.ศ. ๒๕๓๗ สร้างอุโบสถ / เมรุ / ศาลาบำเพ็ญกุศลศพ
พ.ศ. ๒๕๔๒ สร้างกุฎิแถว ๑๐ ห้อง
พ.ศ. ๒๕๔๓ สร้างหอฉัน / หอระฆัง
พ.ศ. ๒๕๔๔ สร้างถนนคอนกรีตภายในวัด / กำแพงวัด
พ.ศ. ๒๕๔๕ สร้างบันไดนาค / ศาลาพักร้อน
นอกจากนี้ท่านยังส่งเสริมการศึกษาโดยเป็นครูสอนปริยัติธรรม เทศนาสั่งสอนทำแก่ประชาชนคนทั่วไป
มรณกาล
พระครูปทุมสรคุณ (นารถ ปรกฺกโม) ได้อาพาธมานานแรมปีเข้าออกโรงพยาบาลอยู่บ่อยครั้ง จนกระทั่งเวลา เวลา ๒๐.๓๕ น. ของวันศุกร์ที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ ท่านได้ละสังขารอย่างสงบ ณ ตึกสงฆ์อาพาธ โรงพยาบาลมหาราช จังหวัดนครศรีธรรมราช สิริอายุ ๘๑ ปี พรรษา ๖๑
พระราชทานเพลิงศพ
วันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ เวลา ๑๕.๐๐ น. ณ วัดควนสระบัว
สมณศักดิ์
พ.ศ. ๒๕๑๗ เป็น พระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะตำบล ชั้นตรี ที่ พระครูปทุมสรคุณ
พ.ศ. ๒๕๒๙ เป็น พระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะตำบล ชั้นโท ในราชทินนามเดิม
ขอบคุณข้อมูล : พระสังฆาธิการ : sangkhatikan.com
ขอบคุณภาพจาก : ชมรมหลวงพ่อนารถ วัดควนสระบัว อ.ทุ่งใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช
สายลุยเตรียมพร้อมก่อนไป “เดินป่า” อ่านจบรู้เรื่อง