ชวนไหว้ 4 พระธาตุศักดิ์สิทธิ์แดนใต้ฝั่งอ่าวไทย ใน 4 จังหวัด

7675
views

พระธาตุเก่าแก่ศักดิ์สิทธิ์ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า คู่บ้านคู่เมืองของแต่ละจังหวัดฝั่งทะเลอ่าวไทย ท่องเที่ยวธรรมะ กราบ ๔ พระธาตุแดนใต้

คำว่า “พระธาตุ” ในที่นี้หมายถึง “พระธาตุเจดีย์” เจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ในภาคใต้ของไทยพบหลักฐานการสร้างพระธาตุเจดีย์เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุหลายองค์ โดยเรียกว่า “พระธาตุ” “พระธาตุเจดีย์” “พระบรมธาตุ” หรือ “พระมหาธาตุ” สำหรับพระธาตุ ๔ องค์ ที่จะกล่าวถึงนี้ ถือเป็นโบราณสถานสำคัญของภาคใต้ เป็นหลักฐานสะท้อนความเจริญรุ่งเรืองของพุทธศาสนาในสมัยโบราณ และยังเป็นศาสนสถานที่มีบทบาทสำคัญต่อผู้คนในภาคใต้มาตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน

พระธาตุเก่าแก่ศักดิ์สิทธิ์ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า คู่บ้านคู่เมืองของแต่ละจังหวัดฝั่งทะเลอ่าวไทย ท่องเที่ยวธรรมะ กราบ ๔ พระธาตุแดนใต้ กุศลยิ่งใหญ่ให้กับชีวิต จารึกกราบบูชาให้ได้ครบทั้งสี่องค์ ได้แก่

“พระบรมธาตุสวี” วัดพระธาตุสวี อ.สวี จ.ชุมพร
“พระบรมธาตุไชยา” วัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี
“พระบรมธาตุเมืองนคร” วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช
“พระมหาธาตุเจดีย์บางแก้ว” วัดเขียนบางแก้ว อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง

“พระบรมธาตุสวี”

พระบรมธาตุสวี วัดพระธาตุสวี ตำบลสวี อำเภอสวี จังหวัดชุมพร มีตำนานเล่าว่าครั้งหนึ่ง พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช เสด็จยกทัพมาถึงเขตอำเภอสวี ได้พบเหตุการณ์ประหลาด มีกาฝูงหนึ่งบินมาจับอยู่บนกองอิฐพากันส่งเสียงร้องและกระพือปีกอื้ออึง เมื่อรื้อกองอิฐออกก็พบฐานเจดีย์และพระบรมสารีริกธาตุ จึงโปรดให้ปฏิสังขรณ์พระเจดีย์และสมโภช ๗ วัน ๗ คืน แล้วขนานนามพระเจดีย์องค์นี้ว่า “พระธาตุกาวีปีก” (วีปีก เป็นภาษาปักษ์ใต้ หมายถึง กระพือปีก) ต่อมาจึงเรียกเพี้ยนสั้นลงว่า พระธาตุสวี

นอกจากนั้น ตำนานยังเล่าอีกว่า ก่อนที่พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชจะเสด็จยกทัพกลับ ทรงเรียกหานายทหารที่สมัครใจจะอยู่ดูแลรักษาองค์พระธาตุ เผอิญมีทหารนายหนึ่งชื่อ “นายเมือง” รับอาสา พระองค์จึงรับสั่งให้ตัดศีรษะนายเมืองเพื่อเซ่นสรวงเป็นดวงวิญญาณรักษาพระธาตุสืบไป โดยตั้งศาลไว้เรียกว่า “ศาลพระเสื้อเมือง” สำหรับวัดสวี มีประวัติว่าตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๕ ต่อมาในสมัยต้นรัชกาลที่ ๖ ยอดพระธาตุได้หักพังลง จึงมีการบูรณะครั้งใหญ่ และมีการทำนุบำรุงรักษาสืบมา

องค์พระธาตุเจดีย์ ได้รับอิทธิพลด้านรูปแบบจากพระมหาธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช จึงสันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา ได้รับการบูรณะมาแล้วหลายครั้ง เป็นเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้างด้านละ ๘.๕๐ เมตร องค์เจดีย์สูง ๑๔.๒๕ เมตร มีซุ้มช้างและยักษ์ยืน มีบันไดทางขึ้นทางทิศตะวันออก ชั้นบนทำเป็นซุ้มพระล้อมรอบ ต่อด้วยเจดีย์ทรงระฆังประดับกระเบื้องโมเสกสีทอง และมีเจดีย์ขนาดเล็กประจำมุมทั้งสี่ นอกจากนี้ ภายในบริเวณวัดพระธาตุสวียังมีสิ่งสำคัญอื่น ๆ เช่น ศาลพระเสื้อเมือง ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของพระบรมธาตุสวี

“พระบรมธาตุไชยา”

พระบรมธาตุไชยา วัดพระบรมธาตุไชยา ราชวรวิหาร ตำบลเวียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี (ปัจจุบันเป็นพระอารามหลวงชั้นเอกชนิดราชวรวิหาร) พระบรมธาตุไชยา เป็นโบราณสถานสำคัญของภาคใต้ ตั้งอยู่ในเมืองโบราณไชยา สร้างขึ้นในเนื่องในศาสนาพุทธนิกายมหายาน

องค์พระบรมธาตุ เป็นเจดีย์ทรงปราสาทยอด ศิลปะศรีวิชัย สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ – ๑๕ ลักษณะเป็นเจดีย์ก่ออิฐไม่สอปูน เรือนธาตุมีผังเป็นรูปกากบาท มีมุขทั้ง ๔ ด้าน ความสูงจากฐานถึงยอดประมาณ ๒๔ เมตร พระบรมธาตุเจดีย์ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์หลายครั้ง จึงมีลวดลายเครื่องประดับเป็นลวดลายเก่าใหม่ผสมกัน โดยเฉพาะการซ่อมครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งมีการซ่อมแปลงซุ้มหน้าบันด้วยลายปูนปั้น และมีการเพิ่มลวดลายใหม่ ๆ เช่น รูปช้างสามเศียร นกยูง และรูปสิงห์ มีการศึกษาพบว่ารูปแบบแผนผังของพระบรมธาตุไชยาคล้ายคลึงกับเจดีย์หรือจันทิในศิลปะชวาภาคกลาง อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ – ๑๕ ซึ่งมีลักษณะโดยรวมคล้ายคลึงกับสถาปัตยกรรมแบบอินเดียใต้ และยังส่งอิทธิพลไปยังงานศิลปกรรมในระยะต่อมา เช่น เจดีย์วัดเขาพระอานนท์ อำเภอพุนพิน เจดีย์วัดถ้ำสิงขร อำเภอคีรีรัฐนิคม และเจดีย์บนเขาสายสมอ อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี

นอกเหนือจากองค์พระบรมธาตุเจดีย์ ภายในบริเวณวัดพระบรมธาตุไชยาฯ ยังมีการค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญอื่น ๆ เช่น พระพุทธรูปหินทรายสีแดงขนาดใหญ่ ๓ องค์ ศิลปะสมัยอยุธยา สกุลช่างไชยา (ชาวบ้านเรียกว่า “พระสามพี่น้อง”) พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ๘ กร สำริด ศิลปะศรีวิชัย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ๒ กร สำริด ศิลปะศรีวิชัย ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นประติมากรรมพระโพธิสัตว์ที่งดงามที่สุดชิ้นหนึ่งในภาคใต้

“พระมหาธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช”

พระมหาธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นศาสนสถานที่สำคัญของภาคใต้ มีตำนานระบุว่าสร้างขึ้นโดยพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ วัดพระมหาธาตุ เดิมเป็นวัดที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๕๘ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงสถาปนาวัดเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก พระราชทานนามว่า “วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร”

พระมหาธาตุเจดีย์ เป็นเจดีย์ทรงระฆังขนาดใหญ่ มีฐานประทักษิณสูง มีซุ้มช้างล้อม ๒๒ ซุ้ม สลับด้วยซุ้มพระพุทธรูปยืน ๒๕ องค์ พื้นที่ส่วนนี้มีระเบียงล้อมรอบเรียกว่า “วิหารทับเกษตร” ถัดขึ้นไปเป็นเจดีย์ทรงระฆังหรือทรงโอคว่ำ บัลลังก์ ก้านฉัตรซึ่งประดับรูปพระสงฆ์ประทักษิณจำนวน ๘ รูป เรียกว่า “พระเวียน” ถัดขึ้นไปเป็นปล้องไฉน และปลียอดซึ่งหุ้มด้วยทองคำแท้

ผลการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ศิลปะขององค์พระบรมธาตุเจดีย์ สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นครั้งแรกในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ โดยได้รับอิทธิพลด้านรูปแบบมาจากเจดีย์ในลังกา และมีการซ่อมแซมองค์พระบรมธาตุเจดีย์ครั้งสำคัญในสมัยอยุธยา นอกจากนี้ พระมหาธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช ยังส่งอิทธิพลด้านรูปแบบไปยังพระธาตุเจดีย์ในภาคใต้อีกหลายองค์ เช่น พระมหาธาตุเจดีย์วัดเขียนบางแก้ว จังหวัดพัทลุง พระธาตุเจดีย์วัดพะโคะ จังหวัดสงขลา และพระบรมธาตุสวี จังหวัดชุมพร

ในปี พ.ศ. ๒๕๕๙ กรมศิลปากรดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณส่วนฐานของพระมหาธาตุเจดีย์มีอิฐก่อเรียงเป็นระเบียบลึกลงไปเกือบ ๓ เมตร ผลการกำหนดอายุด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ได้ค่าอายุ ๑,๑๐๐ ปีมาแล้ว

นอกจากพระมหาธาตุเจดีย์แล้ว ภายในบริเวณวัดยังมีศาสนสถานที่สำคัญอีกหลายแห่ง เช่น วิหารพระทรงม้า วิหารเขียน วิหารโพธิ์ลังกา วิหารโพธิ์พระเดิม วิหารธรรมศาลา ระเบียงคต พระวิหารหลวง (หรือพระอุโบสถ) มณฑปพระพุทธบาท และเจดีย์รายนับร้อยองค์


“พระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว”

พระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว วัดเขียนบางแก้ว ปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว” ตำบลจองถนน อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง เป็นวัดโบราณ จากหลักฐานเอกสารตำนานพื้นเมืองระบุว่า เจ้าพระยากุมารกับนางเลือดขาวสร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ.๑๔๙๒ และได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากเกาะลังกามาบรรจุไว้ในพระมหาธาตุเจดีย์ แต่บางตำนานกล่าวว่า เจ้าพระยากรุงทองเจ้าเมืองสทิงพระพาราณสีเป็นผู้สร้างพระมหาธาตุเจดีย์ จึงเข้าใจว่าน่าจะสร้างวัดขึ้นพร้อมกันในคราวนั้น เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าครั้งที่ ๒ ในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ วัดเขียนบางแก้วกลายเป็นวัดร้าง กระทั่งมีการบูรณะขึ้นใหม่ในปลายสมัยรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จึงมีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่มาตราบจนปัจจุบัน

พระบรมธาตุเจดีย์ ลักษณะเป็นเจดีย์ก่ออิฐ ฐานแปดเหลี่ยม วัดโดยรอบยาว ๑๖.๕๐ เมตร สูง ๒๒ เมตร โดยได้รับอิทธิพลด้านรูปแบบมาจากพระมหาธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช รอบพระมหาธาตุบริเวณฐานมีซุ้มพระพุทธรูปโค้งมน ๓ ซุ้ม แต่ละซุ้มกว้าง ๑.๒๘ เมตร สูง ๑.๖๓ เมตร ภายในซุ้มมีพระพุทธรูปปูนปั้นปางสมาธิ รอบพระเศียรมีประภารัศมีรูปโค้ง ขนาดหน้าตักกว้าง ๐.๙๔ เมตร สูง ๑.๒๕ เมตร ระหว่างซุ้มพระมีเศียรช้างปูนปั้น เหนือพระเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยม อิทธิพลศิลปะจีน ด้านตะวันออกมีบันไดสู่ฐานทักษิณ เหนือบันไดทำเป็นซุ้มยอดอย่างจีน มุมบันไดทั้งสองข้างมีซุ้มลักษณะโค้งแหลม ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นนูนสูง ปางสมาธิ ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร ฐานทักษิณและฐานรองรับองค์ระฆังเป็นรูปแปดเหลี่ยม มีลวดลายปูนปั้นรูปดอกไม้ แต่เดิมเป็นรูปมารแบก เหนือฐานทักษิณมีเจดีย์ทิศตั้งอยู่ทั้งสี่มุม องค์ระฆังเป็นแบบโอคว่ำ

จากรูปแบบสถาปัตยกรรมขององค์พระธาตุ สันนิษฐานว่าคงสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา นอกจากนั้น ภายในบริเวณวัดพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้วยังมีศาสนสถานสำคัญอื่น ๆ เช่น อุโบสถ โบสถ์พราหมณ์ (โคกแขกชี) วิหารถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา (โคกวิหาร) พระแก้วคุลาศรีมหาโพธิ์ (โคกพระคุลา) พระพุทธรูปสองพี่น้อง โคกเมือง และพิพิธภัณฑ์สังฆรักษ์ (เพิ่ม)

ที่มาของข้อมูล : สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช https://www.facebook.com/327219807877607/posts/620366825229569/?d=n

 
ถมนคร : คุณค่าที่คู่ควร ถมนคร เครื่องถมเมืองนครศรีธรรมราช
 
SHARE