มาเมืองคอน เที่ยว “ท่าแพ” ล่องลำคลอง 32 คด พบความหมาย “เมืองสองธรรม”

7418
views

เรียบเรียงโดย ประไพพิมพ์ พานิชสมัย
ภาพ โดย Muse-Phuwapat

สวัสดีค่ะ นี่คงเป็นรีวิวแรก ที่อยากพาเพื่อนๆ ที่รักการท่องเที่ยว ถ่ายภาพ มาร่วมชมความงามของธรรมชาติและเรียนรู้เรื่องราวของวิถีชีวิตชุมชน สำหรับในครั้งนี้จะพาเพื่อนๆ ไปรู้จักชุมชนเล็กๆ ชุมชนหนึ่งในจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ชื่อว่า ชุมชนท่าแพ ซึ่งจะมีดีอย่างไรนั้น ขอชวนเพื่อนๆ มาร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับเราได้เลยค่ะ

หลายคนอาจคุ้นชินหรือได้ยินกับคำว่า “ท่าแพ” กันมาบ้าง แต่ทว่าอาจนึกถึงการแอ่วเหนือ หรือประตูเมืองเชียงใหม่เป็นซะส่วนใหญ่ หากสิ่งที่จะกล่าวต่อไปนี้อาจต้องลบภาพประตูเมืองเก่าทิ้งไป เพราะสิ่งที่จะนำมารีวิวกันวันนี้ จะพูดถึง “ชุมชนท่าแพ จังหวัดนครศรีธรรมราช” หนึ่งในชุมชนเล็กๆ ที่ยังคงมีกลิ่นไอวิิถีชีวิตพื้นบ้านและร่องรอยทางประวัติศาสตร์ที่แฝงอยู่ในสถานที่สำคัญต่างๆในชุมชน

ชุมชนตลาดท่าแพ

โดยชุมชนท่าแพนี้ ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองนครศรีธรรมราชไปทางทิศเหนือเพียง 9 กิโลเมตร มีชัยภูมิเป็นเมืองอกแตก เนื่องจากตัวชุมชนเป็นจุดที่คลอง 3 สาย ได้แก่ คลองคอน คลองสันหยู และคลองน้ำแคบ ไหลมาบรรจบกันเป็นคลองท่าแพซึ่งจะไหลคดเคี้ยวลงไปสู่อ่าวไทย

สภาพสังคมในปัจจุบัน เมื่อความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนเรามากขึ้น วิถึบางอย่างกลับค่อยๆ สูญหายไปอย่างน่าเสียดาย หากแต่ว่าชุมชนท่าแพแห่งนี้ ก็ยังคงความมีเสน่ห์แบบพื้นบ้านไว้ไม่เสื่อมคลาย ยังคงมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ที่ยังคงอยู่และรอการเปิดให้โลกได้รับรู้และเดินทางไปยังชุมชนแห่งนี้

ลาดท่าแพ

สำหรับการท่องเที่ยวชุมชนท่าแพ เราแนะนำให้ท่องเที่ยวแบบ one day trip
เริ่มต้นด้วยการตามมาชมแสงแรกของวันใหม่ ณ สะพานท่าแพ แนะนำช่วงเวลาที่เหมาะสมคือช่วงเวลาประมาณ 6-7 โมงเช้า

ชุมชนตลาดท่าแพ

หลังจากเราได้ชมพระอาทิตย์ขึ้นแล้ว ก็ถึงเวลาของมื้อเช้า เราก็จะมาก็ตามหาของอร่อย ทานยาก ที่ตลาดเก่าร้อยปี ณ ชุมชนตลาดท่าแพ ซึ่งถ้าหากตรงกับวันหยุดสุดสัปดาห์อย่างวันอาทิตย์ จะเห็นผู้คนที่มาจับจ่ายซื้อของเยอะกว่าทุกๆ วัน

ข้าวยำทรงเครื่อง
“ข้าวยำทรงเครื่อง”

ผัดหมี่


“ผัดหมี่”

ขนมฝักบัว
“ขนมฝักบัว”(จูจุน)

บางคนอาจเคยได้ลิ้มลองขนมสีเหลืองอล่าม อย่างขนมฝักบัว ขนมไทยโบราณเหนียวนุ่มหวานกรอบ เจ้าเก่าที่ตั้งอยู่หน้าทางเข้าตลาดท่าแพ

ขนมเบื้องยวน
“ขนมเบื้องยวน”

ขนมกรอก
“ขนมกรอก”

ขนมชื่อแปลก เจ้าเก่าแก่ ที่สืบทอดสูตรเด็ด เคล็ดลับกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ลักษณะเด่นที่ทำให้อร่อย ชวนลิ้มลอง น่าจะเป็นกลิ่นหอมๆ ของกระทิและใบเตย

ขนมขึ้น
“ขนมขึ้น” ขนมกวน ขนมปักษ์ใต้ที่น้อยคนนักจะได้เคยลิ้มลอง

น้ำพริกตะไคร้ และห่อหมก
“น้ำพริกตะไคร้ และห่อหมก” รสเด็ด รับประกันความเข้มข้น ถึงเครื่องของชาวใต้แท้ๆ

กุ้งฝอยทอดกรอบ
“กุ้งฝอยทอดกรอบ” ที่คนปักษ์ใต้ชอบนำไปทานคู่กับขนมจีน เพราะมีทั้งความหอม และความกรอบของสมุนไพรที่ชวนให้น้ำลายไหล

ลูกเนียงนก
“ลูกเนียงนก”

กุ้ง หอย ปู ปลา

กุ้ง หอย ปู ปลา

หากเดินจนมาถึงโซนของสด จะเห็นทั้ง กุ้ง หอย ปู ปลา ที่มีให้เลือกซื้อ เลือกหากันมากมาย ที่สำคัญคือของที่นี่สดใหม่ ขึ้นมาจากท่า ราคาจึงย่อมเยาว์ สบายกระเป๋า

มัสยิดการุ้ลมุสลิมีน

มัสยิดการุ้ลมุสลิมีน

หลังจากทานอาหารอิ่มแล้ว หากใครต้องการจะเดินต่อไปยังชุมชนมุสลิม ซึ่งห่างจากตัวตลาด ไม่เกิน 50 เมตร ก็จะเห็นความงดงามของมัสยิดการุ้ลมุสลิมีน ประจำชุมชนท่าแพได้อีกด้วย

อนุสรณ์วีรไทย

อนุสรณ์วีรไทย

สิ่งที่พลาดไม่ได้ของการมาชุมชนท่าแพเลยก็คือ การไปย้อนรอยตามประวัติศาสตร์ และเคารพอนุสรณ์วีรไทยหรือที่รู้จักกันในนามอนุสรณ์พ่อจ่าดำ โดยอนุสรณ์แห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงความกล้าหาญ ความสามัคคี และความเสียสละของวีรชนในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อกองกําลังทหารญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกตามจังหวัดต่างๆ รวม 7 จังหวัดที่ตั้งอยู่ตามแนวชายฝั่งอ่าวไทย ในช่วงรุ่งสางของวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2484 โดยฝั่งญี่ปุ่นให้เหตุผลว่ากองทัพญี่ปุ่น จะขอใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านเพื่อข้ามเข้าไปตีดินแดนมลายูและอินเดีย ซึ่งขณะนั้นเป็นอาณานิคมของอังกฤษ

ยกพลขึ้นบกที่จังหวัดนครศรีธรรมราช

สำหรับการยกพลขึ้นบกที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ครั้งนั้น กองกําลังประเทศญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกที่ตลาดท่าแพและได้ทำการต่อสู้กับกองกําลังทหารในบริเวณชุมชนท่าแพเกิดเป็นวีรบุรุษที่ชาวบ้านเคารพคือ พ่อจ่าดํา ซึ่งเป็นตัวแทนของทหารกล้าที่ยืนหยัดต่อสู้อย่ากล้าหาญเด็ดเดี่ยวกับกองทัพญี่ปุ่นอันเกรียงไกรถึงแม้ว่าทางฝ่ายไทยจะเป็นรองทั้งกำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์เป็นอย่างมากก็ตาม

วัดท่าแพ

สำหรับในช่วงบ่ายของวัน สถานที่ต่อไปที่เราจะพาไปเยี่ยมชมนั้นก็คือ ‘วัดท่าแพ’ วัดที่เป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวการอุปสมบทสามเณรปู หรือที่เรารู้จักกันในนามหลวงปู่ทวด เหยียบน้ำทะเลจืด ที่มีเรื่องราวของความเชื่อ ความเป็นมา ที่ใครไปใครมาก็ต้องมา
กราบสักการะหลวงปู่ท่าน เพราะขึ้นชื่อเรื่องของการเดินทางแคล้วคลาดปลอดภัย

คลองท่าแพ

ชุมชนท่าแพถือว่าเป็นชุมชนที่เก่าแก่ชุมชนนึง หากย้อนกลับไปในสมัยกรุงศรีอยุธยายังคงเป็นราชธานี จากตำนานการอุปสมบทของหลวงปู่ทวดหรือสมเด็จเจ้าพระโคะ ซึ่งเป็นตำนานที่อธิบายที่มาของคำว่า “ท่าแพ” ที่มีความเชื่อมโยงกับการอุปสมบทโดยการใช้เรือ 4 ลำ มาต่อเป็นแพที่เรียกว่า “อุทกสีมา” เพื่อบวชสมเด็จเจ้าพะโคะ ด้วยเหตุนี้จึงเรียกคลองท่าแพ เป็นต่อมา หากทว่าอีกความหมายของชุมชนท่าแพ ก็มีที่มาจากการค้าขายและคมนาคมทางน้ำ ทำให้เกิดเป็นจุดนัดพบของพ่อค้าแม่ขาย บริเวณระหว่างทางแยกปากแม่น้ำทั้ง 3 สายที่มาบรรจบกัน

คลองท่าแพ

หลังจากไหว้พระเป็นสิริมงคล ช่วงบ่ายแก่ ๆ เราก็เดินทางมาลงเรือเพื่อล่องลำน้ำคลองท่าแพที่ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นเส้นทางที่คดเคี้ยวถึง 32 โค้ง

คลองท่าแพ

ซึ่งตลอดสองข้างทางจะเห็นวิถีชีวิตที่แสนจะเรียบง่ายของคนในชุมชน ทุกครั้งที่มีเรือสัญจรสวนกัน เราจะยังสังเกตุเห็นรอยยิ้มเปื้อนหน้า แสดงความเป็นมิตรถามไถ่กันเสมอ

คลองท่าแพ

และเมื่อผ่านโค้งน้ำทั้งหมดเราก็จะไปถึงปากอ่าว ซึ่งจะเห็นปลายยอดของแหลมตะลุมพุกอีกฝากฝั่งเป็นเงาได้อีกด้วย ขากลับคนเรือใช้เส้นทางที่จะพาไปชมความสมบูรณ์ของธรรมชาติป่าโกงกาง ที่มีทั้งหอยนางรมที่เกาะตามรากไม้ กุ้งตัวเล็กๆ และปูลม

คลองท่าแพ

หากคุณเองก็เป็นคนนึงที่รักธรรมชาติ อยากสูดอากาศจากแหล่งกำเนิดธรรมชาติ และชมวิถีชีวิตชุมชนที่ไม่ปรุงแต่ง ยังคงจิตวิญญาณและเสน่ห์ที่หาชมได้ยาก

ขอเสริมอีกนิดนึงนะค่ะ เส้นทางทางน้ำที่เราได้ล่องชมความงามของวิถีชีวิตและธรรมชาติทั้งสองฝั่งน้ำนี้ ยังคงเป็นเส้นทางเดียวกับครั้งเมื่อสมัยที่เมื่อล้นเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เสด็จทางชลมารตโดยเรือพระที่นั่งมหาจักรี เพื่อเสด็จประพาสแหลมมลายูและพักผ่อนกริยาตามพระราชอัธยาศัยอีกด้วย

เจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เสด็จทางชลมารตโดยเรือพระที่นั่งมหาจักรี

(ภาพซ้าย) ครั้งเมื่อร.5เสด็จเข้ามาทางคลองท่าแพ จังหวัดนครศรีธรรมราช และ (ภาพขวา) เป็นภาพที่ร.5 ทรงถ่ายคหปตานีและราษฎรในเมืองนครศรีธรรมราช (อ้างอิงภาพจากหอจดหมายเหตุ)

การล่องเรือท่องเที่ยว

สำหรับผู้ที่ต้องการล่องเรือท่องเที่ยว สามารถติดต่อ (พี่เล๊าะ) คนนำเรือ โทร.061-1477728 แต่อาจต้องจองล่วงเป็นการสำรองเรือค่ะ เรือที่นั่งจะเป็นเรือหางยาว ค่าโดยสารท่องเที่ยวโดยประมาน คนละ 250 บาท โดยจุดเริ่มต้นขึ้นจากวัดท่าแพหรืออาจนัดแนะกับคนเรือได้แล้วแต่เราจะสะดวก

ถักอวน ถักแห

ถักอวน ถักแห

และเมื่อขึ้นจากเรือแล้ว หากยังมีแรงเหลือ พอมีเวลาก็สามารถเดินต่อไปชมวิถีของคนบนฝั่งที่ทุกๆ วันจะมานั่งถักอวน ถักแห และตากปลาแห้ง ซึ่งเป็นอาชีพเสริม หัตถกรรมพื้นบ้านของคนในชุมชนนี้ได้

ปลาตากแห้ง

ปลาตากแห้ง

ต้องบอกว่าราคาปลาตากแห้งที่นี้ ก็ไม่แพงอย่างที่คิด เพราะชาวบ้านที่นี่เขาทำเอง ขายเอง รับประกันความสดใหม่อย่างแน่นอน

ท่าแพ

สุดท้ายนี้หากใครที่กำลังมองหาแรงบันดาลหรือรู้สึกเหน็ดเหนื่อยกับการทำงานในเมืองหลวงชุมชนท่าแพจังหวัดนครศรีธรรมราช ก็เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ไม่เลว เพราะเป็นแหล่งของนครสองธรรม ที่มีทั้งธรรมชาติ และธรรมะให้พอได้หยุดคิดและใช้ชีวิตในแบบสโลไลฟ์

ขอบคุณสำหรับการติดตาม ไว้ทริปหน้าไปไหนจะตามมารีวิวค่ะ

เขียนโดย : Prapipim Panichsamai
ภาพ โดย Muse-Phuwapat
ที่มา : travel-thapair.blogspot.com

 
ถมนคร : คุณค่าที่คู่ควร ถมนคร เครื่องถมเมืองนครศรีธรรมราช
 
SHARE