จังหวัดนครศรีธรรมราช – กรมโยธาธิการและผังเมือง เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 1 โครงการศึกษาเพื่อกำหนดแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ระยะที่ 3 พื้นที่ชายฝั่งแหลมตะลุมพุก จังหวัดนครศรีธรรมราช
กรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีพันธกิจในการป้องกัน ดูแล และบำรุงรักษาที่ดินริมชายฝั่งไม่ให้ถูกคลื่นกัดเซาะจมหายไปในทะเล ได้ตระหนักถึงปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และคำนึงถึงผลกระทบอันอาจเกิดจากการดำเนินมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่ผ่านมา
จึงได้ดำเนินการออกแบบและก่อสร้างโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ควบคู่ไปกับการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น เพื่อให้การดำเนินงานก่อให้เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม ชุมชน สังคม วัฒนธรรม อาชีพ ความปลอดภัย และวิถีชีวิตของประชาชนน้อยที่สุด โดยดำเนินการในพื้นที่ที่ประสบปัญหาการกัดเซาะและตามการร้องขอของประชาชนในพื้นที่ที่ประสบภัย และได้จัดทำโครงการศึกษาเพื่อกำหนดแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ระยะที่ 3 พื้นที่ชายฝั่งตั้งแต่ระบบหาดแหลมตะลุมพุก-แหลมสมิหลา โดยนำแนวคิดระบบกลุ่มหาดมาใช้เป็นแนวทางในการศึกษา
วันนี้ (2 ก.พ.66) กรมโยธาธิการและผังเมืองได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 1 โครงการศึกษาเพื่อกำหนดแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ระยะที่ 3 พื้นที่ชายฝั่งตั้งแต่ระบบหาดแหลมตะลุมพุก-แหลมสมิหลา (T6B151) ตำบลแหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ถึงระบบหาดสะกอม(T6B153) ตำบลสะกอม อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา
โดยมี นายไตรรัตน์ ไชยรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานเปิดการประชุม พร้อมนายจิรวัฒน์ สุวรรณลิขิต โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครศรีธรรมราช, ผู้แทนกรมโยธาธิการและผังเมือง ผู้แทนส่วนราชการ ตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เข้าร่วมการประชุม ณ โรงแรมเดอะทวิน โลตัส ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช
สำหรับการจัดประชุมครั้งนี้เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์โครงการ และชี้แจงสรุปผลการศึกษาร่างแผนหลักแนวทางและมาตรการการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งโดยใช้ระบบกลุ่มหาด พร้อมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อโครงการในพื้นที่ชายฝั่งแหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช จากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับการศึกษาและออกแบบรายละเอียดที่เหมาะสมต่อไป
สายลุยเตรียมพร้อมก่อนไป “เดินป่า” อ่านจบรู้เรื่อง