โบราณสถานหอพระสูง หรือ พระวิหารสูง ตำบลคลัง อำเภอเมือง จ.นครศรีธรรมราช เรียกชื่อตามลักษณะของการก่อสร้างของพระวิหารซึ่งสร้างบนเนินดินที่สูงกว่าพื้นปกติถึง ๒.๑๐ เมตร
หอพระสูง หรือ พระวิหารสูง เป็นโบราณสถานสำคัญแห่งหนึ่งในเมืองนครศรีธรรมราช สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ตั้งอยู่ที่ตำบลคลัง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยตั้งอยู่บนเนินดินขนาดใหญ่ นอกกำแพงเมืองนครศรีธรรมราชด้านทิศเหนือ มีข้อสันนิษฐานหลายประการเกี่ยวกับประวัติการสร้างหอพระสูงและที่มาของเนินดิน เช่น เชื่อว่าเนินดินนี้เกิดจากชาวเมืองนครศรีธรรมราชช่วยกันขุดดินจากบริเวณคลองหน้าเมืองมาถมจนเป็นเนินใหญ่ เพื่อใช้ตั้งปืนใหญ่ในการสกัดกั้นทัพพม่าในคราวที่มีการยกทัพมาตีหัวเมืองภาคใต้ตั้งแต่มะริด ถลาง ไชยา เรื่อยมาจนถึงนครศรีธรรมราช เมื่อครั้งสงคราม ๙ ทัพใน พ.ศ. ๒๓๒๘
ภายหลังเนินดินแห่งนี้ได้กลายเป็นที่รกร้าง มีต้นไม้ขึ้นปกคลุมหนาแน่น ราว พ.ศ.๒๓๗๗ เจ้าพระยานคร (น้อย) เห็นว่าควรจะสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ชาวเมือง จึงให้สร้างพระพุทธรูปขนาดหน้าตักประมาณ ๕ ศอก สูงประมาณ ๘ ศอกขึ้นบนเนินนั้น และสร้างวิหารสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปด้วยหลังหนึ่ง เรียกว่า “หอพระสูง” และเรียกสถานที่แห่งนี้ว่าหอพระสูงมาตั้งแต่บัดนั้น
เมื่อคราวสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาพันธุวงศ์วรเดช เสด็จเมืองนครศรีธรรมราช ในปี พ.ศ. ๒๔๒๗ ก็ทรงเห็นว่ามีวิหารอยู่บนเนินแล้ว ปรากฏความในหนังสือชีวิวัฒน์ตอนหนึ่งว่า “…ระยะทาง ตั้งแต่ท่าวังมาประมาณ ๓๐ เส้น ถึงที่ปลูกพลับพลาหน้าเมือง มีพลับพลาหักพังทิ้งเก่าอยู่ ที่มุมค่ายทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มีโคกดินสูงขึ้นไปประมาณ ๗-๘ วา มีวิหารสูงบนโคกหลังหนึ่งเป็นวัดเก่า…”
สิ่งสำคัญ ภายในโบราณสถานหอพระสูง ปรากฏศาสนสถานและสิ่งสำคัญ ดังนี้
(๑) วิหาร ลักษณะเป็นอาคารทรงไทยรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่ออิฐถือปูน ขนาดกว้าง ๕.๙๐ เมตรยาว ๑๓.๒๐ เมตร สูง ๓.๕๐ เมตร หันหน้าไปทางทิศตะวันออก หลังคาเป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้องดินเผา ผนังด้านข้างเยื้องมาทางด้านหน้า ทั้งสองด้านเจาะเป็นกรอบหน้าต่าง ทำช่องรับแสงในกรอบเป็นรูปกากบาท ฐานชั้นล่างก่อด้วยอิฐเป็นตะพัก ๔ ชั้น ด้านหน้าทางขึ้นเป็นบันไดต่อจากเนินเข้าไปยังพระวิหาร ภายในวิหารมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง เขียนเป็นลายดอกไม้ร่วง กลีบดอกเขียนด้วยสีน้ำตาลจำนวน ๘ กลีบ ด้านดอกเขียนสีน้ำเงินหรือสีคราม ส่วนก้านเกสรเป็นลายไทย ใต้ฐานพระพุทธรูปเป็นลายจีน สันนิษฐานว่าคงเขียนขึ้นภายหลัง รูปแบบของจิตรกรรมฝาผนังคล้ายงานเขียนในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นที่มีอิทธิพลจีนเข้ามาปะปนผสมกับลวดลายไทย
(๒) พระพุทธรูปปูนปั้น ปางมารวิชัย ลงรักปิดทอง แกนพระพุทธรูปทำด้วยดินเหนียวโบกปูนปั้น องค์พระภายนอกขนาดหน้าตักกว้าง ๒.๔๐ เมตร สูง ๒.๘๐ เมตร ลักษณะอวบอ้วน พระพักตร์เป็นรูปสี่เหลี่ยม พระขนงโก่ง พระนาสิกงุ้ม พระโอษฐ์เป็นรูปคันศร พระศอเป็นริ้ว พระกรรณห้อยต่ำอยู่ใต้พระศก พระเกศาเกล้าเป็นมวย เม็ดพระศกเป็นขมวดปมเล็ก ยอดพระเกตุมาลาอาจหักหายไปครองผ้าสังฆาฏิเฉียงจากพระอังสาซ้ายมาจรดพระนาภี กำหนดอายุพุทธศตวรรษที่ ๒๓ – ๒๔ สมัยอยุธยาตอนปลาย ถึงสมัยัตนโกสินทร์ตอนต้น
(๓) พระพุทธรูปหินทรายแดงปางมารวิชัย ที่ฐานมีจารึกอักษรขอม ภาษาบาลี ความว่า “นิพฺพาณปจฺจโยโหตุ” หมายถึง ขอให้เหตุนี้ (ผลบุญที่ทำ) เป็นปัจจัยส่งให้ถึงนิพพาน (ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ในคลังโบราณวัตถุพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช)
(๔) พระพุทธรูปประทับยืน ทำจากหินปะการัง สภาพชำรุด พระเศียร พระหัตถ์ และพระบาททั้งสองหักหาย จำนวน ๒ องค์ (ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ในคลังโบราณวัตถุพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช)
(๕) เศียรพระพุทธรูป ทำจากหินปะการัง สภาพชำรุด (ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ในคลังโบราณวัตถุพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช)
#ประวัติการอนุรักษ์
● พ.ศ.๒๕๒๕ กรมศิลปากรบูรณะและปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์
● พ.ศ.๒๕๔๒ กรมศิลปากรบูรณะหอพระสูง โดยการเปลี่ยนกระเบื้องหลังคา เปลี่ยนโครงหลังคา ซ่อมฐานก่ออิฐโดยรอบ ซ่อมรั้วเหล็ก และซ่อมพื้นลานที่แตกร้าว
● พ.ศ.๒๕๕๐ สมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราช ขออนุญาตจำลองหอพระสูงขนาดเท่าจริง เพื่อดำเนินการก่อสร้างภายในโรงเรียนเบญจมราชูทิศนครศรีธรรมราช
บทความต้นฉบับ : สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช
สายลุยเตรียมพร้อมก่อนไป “เดินป่า” อ่านจบรู้เรื่อง