เปิดตำนานแห่งความศรัทธา!! “หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด” วัดพะโคะ ต.ชุมพล อ.สทิงพระ จ.สงขลา ต้นกำเนิด หลวงพ่อทวด เหยียบน้ำทะเลจืด สมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อว่า “วัดหลวง” ปัจจุบันชื่อ “วัดราชประดิษฐาน” ตั้งอยู่ที่บริเวณเขาพัทธสิงค์ หมู่ ๖ ต.ชุมพล อ.สทิงพระ จ.สงขลา
เมื่อระหว่าง พ.ศ.๑๙๑๙-๒๐๓๙ สมัยอยุธยาตอนต้น ชาวเผ่าอินโดนีเซีย จากปลายคาบสมุทรมลายู บริเวณหมู่เกาะ ซึ่งเป็นกลุ่มชนที่เจริญ นับถือศาสนาอิสลาม มีการติดต่อกับชาวอาหรับเปอร์เซีย ตั้งแต่ตอนกลางพุทธศตวรรษที่๑๙ ได้ส่งกองโจรสลัดมาทางมหาสมุทร เพื่อปล้นสะดมชุมชนต่างๆ ทางตอนกลางคาบสมุทรมลายู มีหลักฐานบันทึกในหนังสือเรื่อง “กัลปนาวัด” ในสมัยอยุธยา กล่าวถึงโจรสลัดยกทัพยกกำลังเข้าปล้นตีเมืองพะโคะ แถบคาบสมุทรสทิงพระ หลายครั้ง
ต่อมาพ.ศ.๒๐๕๗ สมัย สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ได้สร้าง “วัดพะโคะ” (เดิมชื่อ วัดหลวง) บนเขาพะโคะ ปัจจุบันชื่อ “เขาพัทธสิงค์”
พ.ศ.๒๐๙๑-๒๑๑๑ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ได้พระราชทานที่กัลปนาวัด เรียกว่า “วัดราชประดิษฐาน”
พ.ศ.๒๑๔๘-๒๑๕๘ สมเด็จพระเอกาทศรถ ได้บูรณะพระมาลิกเจดีย์สูง ๑ เส้น ๕ วา และได้พระราชทานยอดพระเจดีย์ เนื้อเบญจโลหะ ยาว ๓ วา ๓ คืบ
ความสำคัญของวัดโคะ คือ ใช้เป็นสถานที่กระทำพิธีดื่มน้ำพระพิพัฒน์สัตยา, ประดิษฐานพระมาลิกเจดีย์, พระพุทธไสยาสน์ หรือพระโคตมะ
พระมาลิกเจดีย์ เป็นสถาปัตยกรรมภาคใต้ แบบลังกาสมัยอยุธยา บรรจุพระบรมธาตุ, พระพุทธบาทข้างซ้าย เหยียบประทับเป็นรอยอยู่บนหิน ความยาว ๑๗ นิ้ว (ขอขอบคุณ ข้อมูลจาก วิกิพีเดีย)
อีกตำนานหนึ่งจากเอกสารการท่องเที่ยวของ ททท. (การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย) บันทึกว่า วัดพะโคะ เป็นวัดจำพรรษาของสมเด็จพะโคะ หรือหลวงพ่อทวด เหยียบน้ำทะเลจืด อันเป็นที่เคารพนับถือของประชาชนทางภาคใต้มีประวัติเล่าว่า
วันหนึ่ง มีโจรสลัดแล่นเรือเลียบมาตามฝั่ง เห็นสมเด็จพะโคะ (หลวงพ่อทวด) เดินอยู่ มีลักษณะแปลกกว่าคนทั้งหลาย จึงใคร่จะลองดี โจรสลัดจอดเรือ แล้วจับสมเด็จพะโคะ (หลวงพ่อทวด) ไป เมื่อเรือแล่นมาได้สักครู่ เกิดเหตุเรือแล่นต่อไปไม่ได้ ต้องจอดอยู่หลายวัน จนในที่สุด “น้ำจืด” หมดลง โจรสลัดเดือดร้อน สมเด็จพะโคะ (หลวงพ่อทวด) สงสาร จึงเอาเท้าซ้ายแช่ลงไปในน้ำทะเล เกิดเป็นประกายโชติช่วง น้ำทะเลกลายเป็น “น้ำจืด”
โจรสลัดเกิดความเลื่อมใสศรัทธา กราบไหว้ขอขมา แล้วนำ สมเด็จพะโคะ (หลวงพ่อทวด) ขึ้นฝั่งตั้งแต่นั้นมาประชาชนจึงพากันไปกราบไหว้บูชากันเป็นจำนวนมาก
การเดินทางจากหาดใหญ่ ใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๔๐๗ ไปทางสะพานติณสูลานนท์ แล้วเข้าสู่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๔๐๘๓ ซึ่งเป็นทางเลียบชายฝั่งทะเลด้านตะวันออก ช่วงสงขลา-สทิงพระ ถึงหลัก กม.ที่ ๑๑๐ ทางซ้ายมือ จะมีป้ายบอกทางเข้าวัดพะโคะ รวมระยะทางจากตัวเมืองสงขลา ถึง วัดพะโคะ ประมาณ ๔๘ กม.
อีกตำนานหนึ่ง กล่าวว่า หลวงพ่อทวด ได้ขออาศัยเรือสำเภาของพ่อค้า ที่ทำการค้ากับกรุงศรีอยุธยา เพื่อจะไปศึกษาเล่าเรียนที่กรุงศรีอยุธยา ในระหว่างทาง ได้เกิดพายุ ต้องเข้าอาศัยบนเกาะแห่งหนึ่ง หลายวัน จน “น้ำจืด” ที่เตรียมไว้บนเรือเกิดหมด ลูกเรือได้รับความเดือดร้อนมาก ซึ่งเหตุการณ์เช่นนี้ ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่กลับมาเกิดขึ้นในครั้งนี้ อาจจะเป็นเพราะการรับพระสงฆ์รูปนี้มาก็ได้ จึงวางแผนที่จะปล่อยตัว หลวงพ่อทวด ไว้บนเกาะแห่งนั้น
หลวงพ่อทวด จึงได้แสดงอภินิหาร โดยเอาเท้าซ้ายจุ่มลงในน้ำทะเล ซึ่งมีรสเค็มจัด พร้อมกับบอกให้คนเรือตักขึ้นมาชิมดู ปรากฏว่า “น้ำทะเลจืดสนิท” เจ้าของเรือสำเภา เห็นเป็นปาฏิหาริย์ แสดงว่า หลวงพ่อทวดต้องเป็นพระที่ศักดิ์สิทธิ์แน่นอน จึงรับตัวท่านขึ้นเรือสำเภา กราบขอขมาท่าน แล้วเดินทางต่อไปยังกรุงศรีอยุธยา เมื่อคลื่นลมสงบลงแล้ว
เหตุการณ์ครั้งนั้นจึงเป็นที่มาของคำว่า “หลวงพ่อทวด เหยียบน้ำทะเลจืด” โด่งดังมาจนถึงทุกวันนี้
(มีบางตำนานกล่าวว่า เจ้าของเรือสำเภา จับตัวหลวงพ่อทวด ให้ลงเรือลำเล็กๆ ปล่อยให้ลอยไปในทะเล แต่ที่ตรงกันทุกตำนาน คือ หลวงพ่อทวด ได้เอา “เท้าซ้าย” แช่ลงไปในน้ำทะเล เพื่อให้น้ำทะเลจืด)
ที่มา – komchadluek.net, travel.gimyong.com
สายลุยเตรียมพร้อมก่อนไป “เดินป่า” อ่านจบรู้เรื่อง