ประเพณีให้ทานไฟของชาวนครศรีธธรรมราช เป็นการถวายอาหารร้อน ๆ แก่พระภิกษุสามเณรในฤดูหนาวหรือในช่วงอากาศเย็นของชาวนครศรีธรรมราช ประเพณีนี้เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านที่มีความเชื่อในพระพุทธศาสนา ต้องการทำบุญกับพระภิกษุสามเณร โดยการถวายอาหารบิณฑบาตภายในวัด เพราะเมื่ออากาศหนาวเย็น พระภิกษุสามเณรไม่สะดวกที่จะออกไปบิณฑบาตนอกวัด ให้ทานไฟ เป็นประเพณีเฉพาะของพุทธศาสนิกชนในจังหวัดนครศรีธรรมราชที่สืบเนื่องมาแต่โบราณ กระทำกันใน เดือนยี่ ของทุกๆ ปี ไม่กำหนดวันที่แน่นอน
ประเพณีการให้ทานไฟนี้ สันนิษฐานว่า มีเรื่องราวความเป็นมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล โดยมีความเห็นเป็น ๒ นัย ดังนี้
นัยที่ ๑ เรื่องโกสิยเศรษฐีผู้มีความตระหนี่ มีเรื่องเล่าว่า ในเมืองราชคฤห์ มีเศรษฐีคนหนึ่งชื่อ “โกสิยะ” มีทรัพย์สิน ๘๐ โกฏิ แต่เป็นคนตระหนี่ ไม่ให้ทาน ไม่บริจาค ไม่อำนวยประโยชน์แก่ผู้ใดเลย แม้แต่ภรรยาและบุตรของตน ต่อมา เศรษฐีต้องการกินขนมเบื้อง (ขนมกุมมาส) จึงให้ภรรยาไปแอบทำขนมบนปราสาท เพราะเกรงว่าผู้อื่นจะรู้เห็นแล้วจะมาขอแบ่งขนมกินด้วย ความนี้ ได้ทราบถึงพระพุทธเจ้า เพื่อจะโปรดเศรษฐีให้มีใจน้อมไปในการบริจาคทานจึงได้มอบหมายพระโมคคัลลานเถระ อัครสาวกเบื้องซ้ายไปโปรดโกสิยเศรษฐีผู้มีความตระหนี่คนนี้ เมื่อพระเถระรับพุทธบัญชาแล้วก็ไปแสดงอิทธิฤทธิ์ทรมานเศรษฐีด้วยวิธีการต่าง ๆ จนเศรษฐีคลายความพยศ ได้ถวายขนมเบื้องแก่พระเถระ เพราะกลัวไฟจะไหม้ปราสาทของตนด้วยอิทธิฤทธิ์ของพระเถระ
เมื่อเศรษฐีถวายขนมเบื้องแล้ว พระเถระได้แสดงพระธรรมโดยพรรณนาคุณพระรัตนตรัย และแสดงอานิสงส์การให้ทาน จนเศรษฐีมีจิตเลื่อมใส ได้นำขนมเบื้องและวัตถุทานอื่น ๆ มาถวายแก่พระพุทธเจ้า พร้อมด้วยพระภิกษุ ๕๐๐ รูป ณ วัดเชตวันมหาวิหาร ด้วยพุทธานุภาพขนมเบื้องที่เศรษฐีนำมาถวายพระ มีเหลือมากมาย แม้จะแจกจ่ายแก่ชาวบ้าน คนยากจนขอทาน ขนมก็ยังล้นเหลือ จนถึงกับนำไปเททิ้ง ที่ใกล้ซุ้มประตูวัดเชตวัน ปัจจุบันสถานที่เทขนมเบื้องทั้งนั้น เรียกว่า เงื้อมขนมเบื้อง กาลต่อมา โกสิยเศรษฐี กลายเป็นเศรษฐีใจบุญชอบให้ทาน และ ได้บริจาคทรัพย์จำนวนมากเพื่อบำรุงพระพุทธศาสนา ด้วยมูลเหตุดังกล่าวจึงเป็นที่มาของ ประเพณีการให้ทานไฟในปัจจุบัน
นัยที่ ๒ นายเจริญ ตันมหาพรหม ได้ให้ทัศนะความเป็นมาของประเพณีการให้ทานไฟไว้ว่า การให้ทานไฟนี้ ปรากฏอยู่ในครั้งพุทธกาล ณ เมืองสาวัตถี นครหลวงแห่งแคว้นโกศล ที่ปกครองโดยพระเจ้าปเสนทิโกศล ซึ่งเป็นกษัตริย์ที่เป็นพุทธมามกะ และเป็นศาสนูปถัมภก อีกทั้ง
เป็นเมืองที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับจำพรรษามากที่สุด คือรวมทั้งหมด ๒๕ พรรษา
ครั้งหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศลประทับอยู่บนปราสาทชั้นบนทอดพระเนตรไปทางถนนในพระนคร เห็นพระภิกษุจำนวนนับร้อยนับพันไปยังบ้านของท่านอนาถปัณฑิกเศรษฐีบ้าง บ้านของนางวิสาขาบ้าง และบ้านของคนอื่นๆ บ้าง เพื่อรับบิณฑบาตบ้าง เพื่อฉันภัตตาหารบ้าง พอเห็นดังนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงโปรดฯ ให้จัดภัตตาหารอันประณีตเพื่อพระภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป แต่ปรากฏว่าไม่มีพระมารับสักรูป คงมีแต่พระอานนท์เพียงรูปเดียวเท่านั้น พอพระอานนท์กลับไปแล้ว จึงตรัสถามมหาดเล็ก ได้รับคำกราบบังคมทูลว่าไม่มีพระมาคงมีแต่พระอานนท์รูปเดียว เท่านั้น
พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงกริ้วภิกษุทั้งหลาย จึงเสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้าและกราบทูลว่า ได้ให้ห้องเครื่องจัดภัตตาหาร ตั้งไว้ถวายพระประมาณ ๕๐๐ รูป ไม่ปรากฏมีพระมารับกันเลย ของที่จัดไว้เหลือเดนอยู่อย่างนั้น เหตุใดพระภิกษุไม่เห็นความสำคัญในพระราชวังเลย นี่เรื่องอะไรกันพระพุทธเจ้าได้ทรงฟังพระดำรัสดังนั้นก็เข้าพระทัยตลอด ไม่ตรัสตำหนิโทษพระภิกษุทั้งหลาย และถวายพระพรว่า “สาวกของอาตมภาพไม่มีความคุ้นเคยกับมหาบพิตร เพราะเหตุที่ไม่มีความคุ้นเคย
นั่นเองจึงไม่พากันไป” ต่อจากนั้น พระพุทธองค์ทรงประกาศเหตุที่ภิกษุไม่ควรเข้าไปในตระกูลประกอบด้วยองค์ ๙ คือ
๑ . ไม่ต้อนรับด้วยความเต็มใจ
๒ . ไม่ไหว้ด้วยความเต็มใจ
๓ . ไม่ให้อาสนะ (นิมนต์นั่ง) ด้วยความเต็มใจ
๔ . ซ่อนเร้นของที่มีอยู่
๕ . ของที่มีมากแบ่งให้นิดหน่อย
๖ . มีของประณีต แต่ให้ของเศร้าหมอง
๗ . ให้โดยไม่เคารพ ไม่ให้โดยเคารพ
๘ . ไม่นั่งฟังธรรม
๙ . ไม่สนใจต่อถ้อยคำของกันและกัน
องค์ประกอบที่กล่าวมาทั้ง ๙ ประการนี้ ถ้าภิกษุยังไม่เข้าไป ก็ไม่ควรเข้าไป เข้าไปแล้ว ก็ไม่ควรนั่งใกล้
เมื่อเรื่องนี้ผ่านไปแล้ว พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงครุ่นคิดอยู่ว่าพระพุทธองค์ตรัสแต่ว่า สาวกของพระองค์ไม่มีความคุ้นเคยในราชสำนัก ทรงดำริต่อไปว่า ถ้าภิกษุสามเณรมีความคุ้นเคย ในราชสำนักแล้ว ก็คงจะพากันเข้ามาวันละมากๆ รูป เหมือนพากันไปในบ้านของนางวิสาขาและ บ้านของอนาถปัณฑิกเศรษฐี ทรงคิดอยู่ว่า “ทำอย่างไรพระเณรจะมีความคุ้นเคยกับเราได้”
พระองค์ทรงพิจารณาถึงสภาพในฤดูหนาวในเมืองสาวัตถี พระภิกษุสามเณรคงหนาว เย็นกว่าฆราวาสผู้อยู่ครองเรือนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งยามออกบิณบาตในตอนเช้าตรู้ ความหนาว เย็นคงเป็นอุปสรรคมาก เพราะพระภิกษุสงฆ์เป็นผู้ครองผ้ากาสาวพัสตร์เพียง ๓ ผืน นอกจากนี้ ยังทำให้พระภิกษุที่ทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนา อยู่ตามวัดและสถานที่ต่าง ๆ บางรูปร่างกาย อ่อนแอถึงกับอาพาธได้ พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงเกิดความเวทนาและก่อไฟถวายพระให้ได้ผิงในยาม ใกล้รุ่ง
ต่อมา ชาวเมืองเห็นว่า การให้ทานไฟในตอนใกล้รุ่ง อีกไม่นานฟ้าก็จะสว่าง จึงได้ เสาะหาหัวเผือก หัวมันมาเผา และนำแป้งมาปรุงเป็นภัตตาหารถวายพระภิกษุสามเณร เป็นการ ทำบุญจะได้อานิสงส์มากขึ้น
เมื่อพระพุทธศาสนาเผยแผ่มาทางภาคใต้ของไทย โดยเฉพาะที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ประเพณีให้ทานไฟก็ตกทอดมาถึงพุทธศาสนิกชนชาวนครศรีธรรมราชด้วย
ถึงแม้ความเห็นทั้ง ๒ นัยนี้ จะไม่กล่าวถึงการให้ทานไฟโดยตรง แต่ก็มีเค้ามูลหรือสาเหตุ ให้สันนิษฐานได้ว่า ประเพณีการให้ทานไฟมีประวัติความเป็นมาดังที่กล่าวมาแล้ว แท้จริงการ ให้ทานในทางพระพุทธศาสนา มีเรื่องราวที่น่าสนใจและมีสาระธรรมจำนวนมากที่พุทธบริษัทจะนำ มาศึกษาเทียบเคียง เพื่อเสาะหาต้นตอหรือสาเหตุของประเพณีต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน
ประเพณีการให้ทานไฟด้วยการถวายขนมเบื้องในฤดูหนาวแก่พระภิกษุสงฆ์นี้ พระมหา กษัตริย์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายและกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นก็ทรงถือเป็นพระราชประเพณี
ที่จะต้องทรงบำเพ็ญทานบารมีเป็นประจำทุกปี มีหลักฐานปรากฏในพระราชนิพนธ์พระราชพิธี สิบสองเดือนในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ความว่า
“…..กำหนดเลี้ยงขนมเบื้องนี้ว่า เมื่อพระอาทิตย์ออกสุดทางให้ตกนิจเป็นวันหยุดจะกลับ ขึ้นเหนืออยู่ในองศา ๘ องศา ๙ ราศีธนู เป็นกำหนดเลี้ยงขนมเบื้องไม่กำหนดแน่ว่า กี่ค่ำ วันใด การเลี้ยงขนมเบื้องนี้ ไม่ได้มีการสวดมนต์ก่อนอย่างพระราชพิธีอันใด กำหนดพระสงฆ์ตั้งแต่เจ้า พระราชาคณะ ๘๐ รูป ฉันในพระที่นั่งอัมรินทร์วินิจฉัย ขนมเบื้องนั้น เกณฑ์พระบรมวงศานุวงศ์ ฝ่ายใน ท้าวนางเจ้าจอมมารดา เถ้าแก่ พนักงานคาดปะรำตั้งเตาละเลงข้างท้องพระโรง”
เวลา และสถานที่ให้ทานไฟ
ประเพณีการให้ทานไฟ นิยมประกอบพิธีกันในเดือนอ้าย หรือ เดือนยี่ของทุก ๆ ปี (ประมาณปลายเดือนธันวาคมถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์) ซึ่งเป็นช่วงหรือฤดูที่อากาศหนาวเย็นใน ภาคใต้ ปัจจุบันนิยมทำกันในวันเสาร์ที่ ๒ ของเดือนมกราคม เพราะตรงกับวันเด็กแห่งชาติ ทาง สถานศึกษาได้นำเด็ก ครู และผู้ปกครองมาประกอบพิธีให้ทานไฟในบริเวณวัดที่ใกล้โรงเรียน
นับเป็นกิจกรรมเสริมหลักสูตรของเด็กที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาด้วย ทั้งนี้ จะเตรียมอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อการนี้ตั้งแต่ตอนรุ่งหรือเช้าตรู้ประมาณเวลา ๐๕.๐๐ น. แต่โดยทั่วไปก็ไม่ได้กำหนดวันที่ แน่นอน สุดแต่ความสะดวกของชาวบ้านหรือโรงเรียนในละแวกวัดจะกำหนดขึ้นเอง
สำหรับสถานที่ประกอบพิธีหรือการถวายไฟนั้น จะกระทำกันในบริเวณวัดหรือใน ศาลาวัดก็ได้ ในปัจจุบัน ประเพณีการให้ทานไฟนี้จะทำกันเฉพาะบางวัดในเขตอำเภอเมืองนครศรีธรรมราชเท่านั้น เช่น วัดหัวอิฐ วัดมุมป้อม วัดศรีทวี วัดสระเรียง วัดหน่าพระบรมธาตุ วัดธาราวดี หรือบางจังหวัดที่ผู้คนชาวนครศรีธรรมราชไปอาศัยอยู่ เช่น จังหวัดพังงา จังหวัด สุราษฎร์ธานี ก็มีประเพณีการให้ทานไฟเช่นเดียวกัน แต่ก็มีจำนวนน้อยมาก นอกจากนี้ สถาบัน การศึกษาบางสถาบัน ได้ประกอบพิธีการให้ทานไฟภายในสถาบันของตน เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏ นครศรีธรรมราช วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี
จะสังเกตได้ว่า ประเพณีการให้ทานไฟนอกจากจะประกอบพิธีภายในวัดแล้ว ยังได้ขยาย ฐานประเพณีไปยังสถานศึกษาที่แสดงบทบาทในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาด้วย แต่ถ้าจะมอง กันอีกมุมหนึ่งจะเห็นได้ว่า วัดซึ่งเป็นศูนย์กลางของชุมชนเป็นสถานที่บำเพ็ญบุญกุศล หรือเป็น บุญเขตไม่อาจตอบสนองบทบาทตามฐานะของตนได้ เพราะในปัจจุบันเหลือวัดจำนวนน้อยมาก ที่จะอนุรักษ์หรือสืบสานประเพณีการให้ทานไฟนี้ไว้ได้
พิธีกรรม
ในตอนรุ่งหรือเช้าตรู้ในวันนัดหมายที่จะให้ทานไฟ ชาวบ้านพุทธศาสนิกชนในละแวก นั้นจะพร้อมใจมากันที่วัด โดยจัดแจงเตรียมอุปกรณ์ เช่น ถ่าน ไม้ฟืน เตาไฟ พร้อมด้วยเครื่อง ปรุงอาหารหรือเครื่องทำขนมไปด้วย เมื่อถึงบริเวณวัดก็ช่วยกันก่อกองไฟและปรุงอาหารทำขนมกันทันที กองไฟจะก่อกี่กองก็ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนของพระภิกษุสามเณรภายในวัดหรือที่นิมนต์มา จากวัดอื่น เมื่อก่อกองไฟเสร็จแล้วก็นิมนต์พระมาผิงไฟ เพื่อให้ร่างกายอบอุ่น อาหารและขนมที่ ปรุงสุกแล้วยังร้อน ๆ อยู่ ก็ถวายประเคนพระภิกษุสามเณรให้ฉันได้ทันที ไม่ต้องเจริญพระพุทธมนต์ หรือกล่าวคำถวายสังฆทานเหมือนกับพิธีทำบุญในโอกาสอื่น ขณะที่ทำขนมกันไปพระสงฆ์ ก็ฉันไปพร้อม ๆ กัน จะหยุดปรุงขนมก็ต่อเมื่อเครื่องปรุงที่เตรียมมาหมด ขณะเดียวกัน ชาวบ้าน จะจัดเตรียมถุงหรือภาชนะเพื่อให้พระภิกษุสามเณรบรรจุอาหารนำไปฉันในตอนเพล
เพราะตอน เช้าไม่ได้ออกรับบิณฑบาตตามปกติเหมือนทุกวัน เมื่อฉันเสร็จแล้ว อาจจะอาราธนาให้ประธาน สงฆ์หรือพระเณรที่ประธานมอบหมายกล่าวสัมโมทนียกถาก็ได้ เสร็จแล้วประธานสงฆ์จะให้พร อุบาสกอุบาสิกากรวดน้ำรับพร พระสงฆ์กลับวัดไปปฏิบัติศาสนกิจของสงฆ์ต่อไป ส่วนชาวบ้านที่ มาร่วมในพิธีก็จะรับประทานอาหารและขนมที่เหลือ และช่วยกันทำความสะอาดขนของกลับบ้าน เป็นอันเสร็จพิธีประเพณีการให้ทานไฟ
อาหารและขนมในพิธี
อาหารที่จะถวายพระภิกษุสามเณรส่วนใหญ่ จะเป็นอาหารที่ปรุงง่ายเป็นอาหารพื้นบ้าน ที่ยังรอนอยู่ เช่น ข้าวต้ม ข้าวผัด ข้าวหมกไก่ ข้าวยำ ข้าวเหนียวปิ้ง ข้าวเหนียวหลาม หมี่ผัด หรือ เป็นอาหารอื่น ๆ ก็ได้ที่สมควรแก่สมณบริโภค ในปัจจุบัน จะมีอาหารเช้าประเภทอาหารฝรั่ง เช่น หมูแฮม ไข่ดาว แซนด์วิช ไส้กรอก ลูกชิ้น ไก่ทอด หรือเป็นอาหารทางภาคอีสานก็มี เช่น ส้มตำ ลาบ
ส่วนขนมก็จะเป็นขนมทางถิ่นใต้ ขนมพื้นบ้านอะไรก็ได้ แต่ส่วนใหญ่จะนิยมขนมที่ สามารถปรุงเสร็จในเวลาอันรวดเร็ว ขนมส่วนมากจะปรุงโดยใช้ไฟแรง เช่น ขนมเบื้อง ขนมครก ขนมโค ขนมพิมพ์ ขนมจาก ขนมจู้จุน มีความเชื่อกันว่า ขนมเบื้องของโกสิยเศรษฐี ที่ทำถวาย แก่พระสงฆ์ ณ วัดเชตวันมหาวิหาร สืบทอดมาเป็น
“ขนมกรอก” ที่ชาวพุทธเมืองนครศรีธรรมราช ทำถวายพระสงฆ์ในประเพณีให้ทานไฟ ขนมกรอกมีส่วนผสมและวิธีทำง่าย ๆ คือ ใช้ข้าวสารเจ้าแช่น้ำ กรอกบดด้วยหินเครื่องโม่ที่ชาวนครศรีธรรมราช เรียกว่า “หินบด” หรือ “ครกบด” โดยบดอย่าให้ข้นหรือเหลวจนเกินไป แล้วคั้นกะทิติดไฟเคี่ยวให้แตกมันผสมลงไปในแป้งพร้อมน้ำตาล พอให้ออกรสหวาน ตอกไข่ใส่ตามส่วน ซอยหอมให้ละเอียดโรยแล้วตีไข่ให้เข้ากัน ต่อจากนั้นก็เอา กะทิตั้งไฟให้ร้อน ใช้น้ำมันพืชผสมไข่แดงเช็ดทากระทะให้เป็นมันลื่น เพื่อไม่ให้แป้งติดผิวกระทะ เมื่อหยอดแป้งละเลงให้เป็นแผ่น
ต้องระวังไม่ให้แผ่นขนมกรอกบางเหมือนขนมเบื้องทั่วไป เพราะ จะไม่นุ่มและขาดรสชาติ พอสุกก็ตลบพับตักรับประทานทั้งร้อน ๆ ปัจจุบันขนมกรอกดังกล่าวนี้ ไม่นิยมทำกัน แต่นิยมทำขนมพื้นเมืองอื่น ๆ เช่น ขนมครก ขนมผักบัว (เรียกตามภาษาพื้นเมือง ว่า ขนมจู้จุน)
นอกจากนี้ ดิเรก พรตตะเสน ได้ให้ข้อสังเกตว่า การทำขนมกรอก นอกจากอินเดีย ลังกาเจ้าตำรับเดิมแล้ว ในประเทศไทยยังเอาข้าวเหนียวนึ่งสุกแล้วปั้นเป็นก้อนขนาดผลมะตูม ใช้ น้ำตาลปึกเป็นไส้ในเสียมไม้คลุกไข่ แล้วย่างไฟจนสุกกรอบแล้วถึงถวายพระ
ประเพณีการให้ทานไฟ เป็นประเพณีที่แสดงออกถึงความศัทธาในพระรัตนตรัยของพุทธศาสนิกชนชาวนครศรีธรรมราช ที่มีความปรารถนาให้พระภิกษุสามเณรคลาย หนาว
MedeeTV “บุญปีใหม่ ให้ทานไฟ เมืองนครฯ 2563”
สายลุยเตรียมพร้อมก่อนไป “เดินป่า” อ่านจบรู้เรื่อง