รมว.ยุติธรรม ลุยเมืองคอน ร่วมกิจกรรม “วันปลดล็อคพืชกระท่อม” เพื่อประโยชน์ของประชาชน

874
views

รมว.ยุติธรรม ลงพื้นที่นครศรีธรรมราช สร้างการรับรู้เรื่องพืชกระท่อม หลังกฎหมายปลดล็อกพืชกระท่อม จะมีผลบังคับใช้ในวันพรุ่งนี้ (24 สิงหาคม 2564) ระบุปลดล็อคครั้งนี้เพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง

วันนี้ (23 ส.ค.64) ที่ วัดมหิสสราราม หมู่ที่ 10 ตำบลคลองกระบือ อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานเปิดการประชุมสร้างการรับรู้วันปลดล็อกพืชกระท่อมในพื้นที่ภาคใต้ โดยมีนายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (เลขาธิการ ป.ป.ส.) นายไกรศร วิศิษฏ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมด้วยผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนจากพื้นที่นำร่องปลูกพืชกระท่อมเข้าร่วมกิจกรรม

โอกาสนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้มอบใบประมาศเกียรติคุณผู้สนับสนุนพื้นที่นำร่องในการควบคุมพืชกระท่อม โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน จำนวน 42 คน พร้อมมอบนโยบายเกี่ยวกับการปลดล็อกพืชกระท่อม โดยกล่าวว่า “การประชุมในครั้งนี้ เป็นการเดินหน้าส่งเสริมให้ปลูกพืชกระท่อมอย่างต่อเนื่อง และต้องการสร้างการรับรู้ความเข้าใจให้กับพี่น้องประซาชนเกี่ยวกับผลของกฎหมาย หลังจากปลดล็อกพืชกระท่อม ในวันที่ 24 สิงหาคมนี้ โดยเฉพาะพี่น้องชาวใต้ ที่มีการใช้พืชกระท่อมตามวิถีชาวบ้านกันเป็นส่วนใหญ่ และมีพื้นที่นำร่อง 135 หมู่บ้าน/ชุมชน ที่มีการใช้พืชกระท่อมตามวิถีชาวบ้าน และมีส่วนร่วมในการผลักดันให้เกิดการแก้ไขกฎหมายจนมีการปลดล็อกพืชกระท่อมได้สำเร็จในที่สุด

และครั้งนี้ได้เดินทางมาเพื่อสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนได้มีความรู้ความเข้าใจถึงแนวทางการใช้พืชกระท่อม หลังจากที่กฎหมายมีผลบังคับใช้อย่างถูกต้อง และพัฒนาเป็นพืชเศรษฐกิจบนฐานชุมชนต่อไป พร้อมทั้งได้ต่อข้อถามถึงการต่อยอดสู่การจดลิขสิทธิ์พืชกระท่อม โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกล่าวว่าจะขั้นตอนต่อไปที่จะต้องดำเนินการ

ขณะที่ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวในช่วงหนึ่งว่า ก่อนที่มีการแก้ไขกฎหมาย พืชกระท่อมเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2502 ประชาชนกลุ่มผู้ใช้แรงงานและเกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งมักใช้พืชกระท่อมเพื่อช่วยในการทำงาน ใช้เป็นยารักษาโรค ใช้ในพิธีกรรมความเชื่อของแต่ละบุคคล พืชกระท่อมจึงกลายเป็นวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่อยู่คู่กับชาวใต้มาอย่างยาวนาน

แต่การใช้พืชกระท่อมดังกล่าวมีความผิดในทางกฎหมาย ทำให้เกิดความขัดแย้งกันระหว่างการใช้พืชกระท่อมในวิถีชาวบ้าน กับการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ และมีการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนารูปแบบการควบคุมพืชกระท่อมโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งมีพื้นที่นำร่องของจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาวิจัย จนส่งผลนำไปสู่การแก้ไข

กฎหมายพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 8 พ.ศ. 2564) ถอดพืชกระท่อมออกจากการเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2564 มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ซึ่งจะตรงกับวันที่ 24 สิงหาคม 2564 ประชาชนสามารถนำพืชกระท่อมมาใช้ตามวิถีชาวบ้าน หรือใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย

เครดิตแหล่งข้อมูล : ประชาสัมพันธ์จังหวัดนครศรีธรรมราช

 
ถมนคร : คุณค่าที่คู่ควร ถมนคร เครื่องถมเมืองนครศรีธรรมราช
 
SHARE