ในยุคโลกาภิวัฒน์หลายคนต้องใช้เวลาอย่างเร่งรีบจนเคยชิน แม้กระทั่งเวลารับประทานอาหาร เคี้ยวอาหาร ก็ยังต้องทำเวลา จึงอาจทำให้รู้สึกหงุดหงิดเวลาเจอคนรู้จัก ที่รับประทานอาหารช้า เคี้ยวอาหารช้า
แต่รู้หรือไม่ว่า การเคี้ยวอาหารนาน ๆ นั้น นอกจากจะช่วยให้ระบบย่อยอาหารและระบบอื่น ๆ ในร่างกายของเราทำงานได้ดีขึ้นแล้วนั้น ยังมีผลต่อการทำงานของสมองอีกด้วย
ลองเปลี่ยนนิสัยการรับประทานด้วยการเคี้ยวอาหารและให้ละเอียดขึ้น เช่น จากเดิมที่เคยเคี้ยว 10 ครั้งให้เปลี่ยนมาเป็น 20 ครั้ง จะช่วยให้ร่างกายได้รับเกลือแร่และสารอาหารที่มีประโยชน์จากอาหารที่เรารับประทานเข้าไปอย่างครบถ้วน นอกจากนี้การเคี้ยวอาหารให้นานขึ้น ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของฮอร์โมนเลปทิน ที่ทำให้ไม่อยากอาหารมากเกินไป ทั้งนี้การเคี้ยวอาหารยังช่วยกระตุ้นเซลล์ประสาทกล้ามเนื้อคางให้ส่งสัญญาณไปยังสมอง ทำให้รู้สึกอิ่มเร็วขึ้น
การเคี้ยวอาหารให้ละเอียดยังช่วยในเรื่องของการป้องกันโรคสมองเสื่อมและเป็นการกระตุ้นสมอง เนื่องจากกล้ามเนื้อที่ใช้ในการเคี้ยวจะเชื่อมต่อโดยจรงกับเส้นประสาทในสมอง เมื่อเคี้ยวนานขึ้นจะทำให้ความจำดีขึ้นและเลือดในสมองไหลเวียนดี จากงานวิจัยพบว่า ผู้สูงอายุที่เคี้ยวอาหารไม่ค่อยได้มักมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคสมองเสื่อม
และอย่างที่ทราบกันดีว่าเมื่อเรารับประทานอาหาร ร่างกายจะหลั่งน้ำลายออกมา ซึ่งหากยิ่งเคี้ยวอาหารให้มากขึ้นเท่าไหร่ น้ำลายก็จะออกมามากด้วยเช่นกัน ประโยชน์ของน้ำลายคือเป็นเอนไซน์ชั้นยอดและเป็นสารภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่งที่สุด น้ำลายช่วยกำจัดพิษและกำจัดอนุมูลอิสระได้ดี การกำจัดอนุมูลอิสระจะช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ต่างๆ คงความอ่อนเยาว์ และมีอายุที่ยืนยาวขึ้น
สุดท้าย หากคุณผู้อ่านยังไม่สามารถรับประทานอาหารให้ช้าลงได้ แนะนำให้ลองใช้ตะเกียบในการกิน การบังคับนิ้วมือในการคีบอาหารอาจทำให้เรารับประทานอาหารได้ช้าลงโดยอัตโนมัติ ทั้งนี้การใช้ตะเกียบยังเป็นการออกกำลังกายกล้ามเนื้อนิ้วมือ เป็นการบริหารสมองที่ช่วยกระตุ้นเปลือกสมองหรือสมองส่วนนอกอีกด้วย
เพียงรับประทานอาหารให้ช้าลง ให้เวลากับการเคี้ยวอาหารให้ละเอียดก็จะช่วยทำให้ร่างกายแข็งแรง ชะลอวัยได้อย่างที่คุณต้องการ เริ่มต้นง่ายๆ จากการเพิ่มเวลาในการกินอาหารให้นานขึ้น 10 นาที
ต้นฉบับ > : พลัง 10 นาทีช่วยให้เราไม่แก่
สายลุยเตรียมพร้อมก่อนไป “เดินป่า” อ่านจบรู้เรื่อง