วิถีชาวพุทธ เป็นเรื่องปกติเมื่อทำบุญเสร็จ จะต้องกรวดน้ำให้กับผู้ที่เราตั้งใจทำบุญไปให้ ซึ่งการกรวดน้ำนั้น เป็นความเชื่ออีกหนึ่งอย่างที่ทำตามกันมานาน ด้วยอยากให้ผลบุญที่เราได้ทำในทุกครั้ง สามารถส่งถึงผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว และถ้าหากเราทำบุญเพียงอย่างเดียวและไม่ได้กรวดน้ำให้นั้น จะถือว่าบุญนั้นไม่ถึงผู้รับ ขั้นตอนการทำบุญจะไม่สมบูรณ์
การกรวดน้ำจะทำหลังจากที่เราไหว้พระ สวดมนต์ รับพร ถวายสังฆทาน หรือตักบาตรเสร็จแล้ว ด้วยการน้ำภาชนะที่บรรจุน้ำไว้ เทลงถ้วยหรือแก้ว ระหว่างเทนั้นพระจะทำการสวดบทกรวดน้ำหรือเราจะกล่าวเองก็ได้
” อิทัง เม ญาตินัง โหตุ สุขิตาโหนตุ ญาตะโย ” ขอส่วนบุญนี้ จงสำเร็จ แก่ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้า ขอให้ญาติทั้งหลาย จงมีความสุขภาย สุขใจเถิด
#กรวดน้ำ ทำไมต้องแตะมือ ตอบโดย พระครูธรรมรัต (ธนัญชัย เตชปัญโญ) วัดญาณเวศกวัน จ.นครปฐม
คุณเคยสงสัยไหมคะว่าทำไมเวลากรวดน้ำเราถึงต้องเอามือไปแตะตามตัว ตามแขนต่อกันไปเรื่อยๆ จนถึงคนหน้าสุดเสมอ
แล้วถ้าไม่แตะเราจะได้บุญหรือเปล่า วันนี้มีคำตอบจากพระอาจารย์ แบบนี้ค่ะ
เรื่องนี้ต้องกลับมาทำความเข้าใจการกรวดน้ำก่อน กรวดน้ำ เป็นเพียงวิธีการในการอุทิศกุศล
การอุทิศกุศลคือ เมื่อทำคุณงามความดีแล้วเกิดความสุข เกิดบุญกุศลขึ้นในชีวิตและจิตใจเรา เราก็น้อมระลึกนึกถึงบุคคลอันเป็นที่รักบ้าง บุคคลอันเป็นปัจจัยให้เราได้มาทำคุณงามความดีนี้บ้าง เรียกว่าขอน้อมเอาบุญกุศลที่เกิดขึ้นในชีวิตเรานี้ ให้ท่านได้ร่วมอนุโมทนาหรือส่งไปให้แก่ท่าน การส่งนี้คือส่งมาจากใจ เมื่อเรามีความอิ่มเอิบใจ มีความเบิกบาน มีความสุขที่เรียกว่าบุญกุศลแล้วเราก็แค่น้อมระลึกนึกถึงท่านๆ ก็จะได้รับพลังแห่งการระลึกนึกถึงนี้
เพราะฉะนั้น เรื่องของรูปแบบการส่งนั้นก็มีหลากหลาย บางคนอาจมีความเชื่อว่าการที่ไปแตะเนื้อต้องตัวของคนที่กำลังตั้งใจหยาดน้ำจากภาชนะหนึ่งสู่ภาชนะหนึ่งนั้น เราจะได้มีส่วนร่วมในการอุทิศด้วย แต่จริง ๆ แล้วอยู่ที่เจตนา ความตั้งใจของเราว่าเรานึกถึงใคร บุญกุศลที่เรามีอยู่ ก็จะถึงคนนั้นตามเหตุ ตามปัจจัยที่จะเกิดขึ้นได้
เพราะฉะนั้นจะแตะตัว หรือไม่แตะตัว ถ้าตั้งท่าทีถูกต้องว่า เราน้อมเอาคุณงามความดี ทำความสุข ความเบิกบานให้เกิดขึ้นในใจเราเป็นบุญเป็นกุศลแล้ว ระลึกนึกถึงคนที่เราอยากจะอุทิศให้ อันนี้ก็เป็นการอุทิศกุศล แม้ว่าจะไม่ต้องหยาดน้ำ
มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเล่าให้ฟังได้นิดหน่อยคือ การกรวดน้ำมีที่มาจากสมัยที่พระเจ้าพิมพิสาร ทำบุญอุทิศให้แก่พระญาติของพระองค์ โดยธรรมเนียมโบราณก็จะมีการหยาดน้ำลงบนฝ่ามือ จึงเป็นธรรมเนียมสืบเรื่อยมาที่เราใช้น้ำในการอุทิศกุศล พระพุทธเจ้าทรงทราบว่า วิธีการนี้เป็นวิธีการที่สืบทอดกันมาจึงไม่ทรงห้าม
อีกประการหนึ่งเรื่องการอุทิศกุศลในชีวิตประจำวัน เราสามารถทำคุณงามความดี เราทำงาน เรามีความสุข เรามีความขยันขันแข็ง เรามีความซื่อสัตย์สุจริต เราก็สามารถอุทิศคุณงามความดีนี้ให้แก่คนที่เราระลึกนึกถึงได้ เช่น เราระลึกนึกถึงคุณพ่อคุณแม่ที่ล่วงลับจากไป เราจึงตั้งใจทำงานขยันขันแข็ง ประกอบอาชีพสุจริต อย่างนี้ก็ขึ้นชื่อว่าทำคุณงามความดีอุทิศแก่ผู้ที่ล่วงลับจากไปแก่ผู้ที่เรารักได้เช่นเดียวกัน
ขออนุโมทนา
ต้นฉบับโดย : www.bia.or.th/dhamlife
คืนนี้ตี 2 รอชมปรากฏการณ์ “ฝนดาวตกควอดรานติดส์” จนถึงรุ่งสางของวันที่ 4 มกราคม