สำนักศิลปากรเร่งติดตั้งนั่งร้านบูรณะพระบรมธาตุ 1 ปี | เสนอ ศูนย์มรดกโลกได้ก่อนวันที่ 31 มกราคม ปีหน้า
วันนี้(29 พ.ค.60) ที่หอสมุดแห่งชาติ นครศรีธรรมราช นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดนครฯร่วมประชุมกงานบูรณะพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช ร่วมกับผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 14 และส่วนเกี่ยวข้อง
การบูรณะพระบรมธาตุฯ และองค์ประกอบ ต้องมีแผนงานที่ชัดเจน หากมีปัญหาอุปสรรคจะแก้อย่างไร เป็นงานระดับชาติ ยึดโยงกับสถาบันด้วย ต้องมีเหตุผลในการอธิบายได้ที่ชัดเจน เช่น การติดตั้งนั่งร้าน-การบูรณะใช้เวลากี่วัน มีการบูรณะส่วนใดบ้าง ต้องมีการติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์โครงการให้ประชาชนได้รับทราบด้วย ส่วนการเสนอวัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร เพื่อขึ้นบัญชีเป็นมรดกโลก ต้องช่วยกันทุกภาคส่วน ซึ่งต้องมีการปรับปรุงอีกหลายด้านทั้งสภาพแวดล้อมภายในวัดและภายนอกวัด
นายอาณัติ บำรุงวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 12 ระบุปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 กรมศิลปากร จัดสรรงบประมาณ จำนวน 20 ล้านบาท แบ่งเป็นงานติดตั้งนั่งร้านสำหรับปฏิบัติงานพร้อมติดตั้งตาข่ายป้องกันวัสดุตกหล่น งบประมาณ 2,715,000 บาทโดย หจก.บูรณาไท นั่งร้านมีความคืบหน้าแล้วประมาณ 50% แล้วเสร็จในวันที่ 30 มิถุนายน 2560 และงานบูรณะปลียอดองค์พระบรมธาตุ ดำเนินการโดยสำนักช่างสิบหมู่และสำนักศิลปากรที่ 12 งบประมาณ 17,249,000 บาท เริ่มดำเนินการหลังจากการติดตั้งนั่งร้านแล้วเสร็จ คาดต้องใช้เวลาในการบูรณะประมาณ 360 วัน แต่ขณะนี้ทางสำนักช่างสิบหมู่ ได้รับมอบหมายในการดำเนินงานศิลปกรรมประกอบงานพระเมรุมาศ ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดช ให้แล้วเสร็จ ซึ่งอาจทำให้ระยะเวลาในการบูรณะกลีบบัวทองคำคลาดเคลื่อนอย่างไรก็ตามในการบูรณะปลียอดองค์พระบรมธาตุครั้งนี้ อาจจะไม่มีการถอดทองคำที่หุ้มปลียอดลงมา เพราะหากถอดออกอาจจะทำให้เกิดการชำรุดเสียหายและจะต้องใช้ระยะเวลาในการบูรณะและงบประมาณเพิ่มมากขึ้น แต่จะมีการบูรณะกลีบบัวค่ำบัวหงายที่ชำรุดเสียหาย แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของอธิบดีกรมศิลปากร ทางสำนักช่างสิบหมู่ได้รายงานให้อธิบดีฯ ได้พิจารณาแล้ว
ด้านผศ.ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช ประธานฝ่ายวิชาการ การนำเสนอวัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อขึ้นบัญชีเป็นมรดกโลก ระบุเอกสารนำเสนอ(Nomination Dossier)ฉบับภาษาไทยเสร็จแล้ว ขณะนี้กำลังสอบความถูกต้องของต้นฉบับ ในปลายเดือนมิถุนายน 2560 ที่องค์การสปาฟา กรุงเทพฯ แปลเป็นภาษาอังกฤษ ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2560 และการจัดทำรูปเล่มฉบับสมบูรณ์ในช่วงเดือนตุลาคม 2560 นำเสนอขอความเห็นชอบจากรัฐบาลเพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาให้ความเห็นจากคณะกรรมการระดับชาติที่เกี่ยวข้องกับการนำเสนอเป็นมรดกโลก รวม 3 คณะ ซึ่งต้องดำเนินการในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2560 .
ที่มา – สำนักประชาสัมพันธ์จังหวัดนครฯ
สายลุยเตรียมพร้อมก่อนไป “เดินป่า” อ่านจบรู้เรื่อง