คำย่อ จังหวัดนครศรีธรรมราช “นครฯ” หรือ “นครศรีฯ”

6947
views
“นครฯ” หรือ “นครศรีฯ”

“…อาจารย์บุญเสริมคะ ช่วยอธิบายการใช้คำย่อ จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ถูกต้องให้หน่อยนะคะ เพราะมีหลายคนสงสัยค่ะ ขอบคุณมากนะคะ…” สุภาวดี หนูเจริญ /๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๕

อาจารย์เอื้อยครับ… ขอบคุณที่ให้เกียรติเป็นผู้ “อธิบาย” …เกินฐานะไปหรือเปล่า?
เอาเป็นว่า ขอแสดงความคิดเห็นตามที่รู้ที่เข้าใจ เป็นการแลกเปลี่ยนกันก็แล้วกันครับ…

ก่อนที่จะชี้ชัดเป็นคำตอบว่าควรเขียน “นครฯ” หรือ “นครศรีฯ” เป็นคำย่อของ “นครศรีธรรมราช” นั้น อยากจะชวนคุยถึงเอกสารหรือเรื่องราวเก่าๆที่มีการกล่าวถึงเมืองนครศรีธรรมราชที่เคยพบเห็น อย่างเช่น

อนุสาวรีย์พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช:

เมื่อท่านสุนทรภู่ รัตนกวีสี่แผ่นดิน เขียนในเพลงยาวถวายโอวาท นั้น ตอนหนึ่งว่า
…อย่างหม่อมฉันอันที่ดีแลชั่ว
ถึงลับตัวแต่ชื่อเขาลือฉาว
เป็นอาลักษณ์นักเลงทำเพลงยาว
เขมรลาวลือเลื่องถึงเมืองละคร…
” (ต่อมาปรับเปลี่ยนเป็น “เมืองนคร”)

สุนทรภู่

เมื่อท่านสุนทรภู่บอกว่า “ลือเลื่องถึงเมืองนคร” นั้น ไม่มีใครเลยที่จะนึกไปถึงเมืองนครสวรรค์ นครปฐม นครพนม นครนายก หรือนครราชสีมา แต่ทุกคนเข้าใจตรงกันว่า “ลือเลืองถึงเมืองนครศรีธรรมราช” เมืองเดียวเท่านั้น

ในเอกสาร “ทำเนียบข้าราชการเมืองนครศรีธรรมราช” ครั้งสมัยรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อกล่าวถึงเมืองนครศรีธรรมราช นอกจากกล่าวถึงโดยชื่อเต็มแล้ว ก็กล่าวถึงอย่างย่อว่า “นคร” เช่นว่า “…เจ้าพระยานครสูงอายุให้เลื่อนขึ้นเป็น เจ้าพระยาสุธรรมมนตรีศรีโศกราชวงศ์ เชษฐพงศ์ลือไชย อนุทัยธิบดี อภัยพิริยปรากรมพาหุ เป็นผู้ใหญ่อยู่ในเมืองนคร…”

ใน “จดหมายระยะทางไปตรวจราชการแหลมมลายู ร.ศ.๑๒๑” พระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เมื่อกล่าวถึงนครศรีธรรมราช ก็ทรงกล่าวถึงเพียงว่า “นคร” และ “เมืองนคร” เท่านั้น เช่นว่า “…ยังหาได้กล่าวไปถึงภูมิเมืองนคร เพราะวันมาสังเกตไม่ทัน จะเลยกล่าวบัดนี้ คือเมืองยาวตั้งบนเนินทราย…”
“…ระยะทางเดินแต่สงขลาไปนคร…” “…ระยะทางแต่นครไปแดนไชยา…”

พระบรมธาตุฯ นครศรีธรรมราช

ในหนังสือ “ชีวิวัฒน์” พระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ที่ทรงนิพนธ์รายงานการเสด็จตรวจราชการหัวเมืองปักษ์ใต้ฝั่งตะวันออก ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๗ เมื่อกล่าวถึงเมืองนครศรีธรรมราช ก็ทรงกล่าวถึงเพียงว่า “เมืองนคร” เท่านั้น เช่นว่า “…เรือสุริยมณฑลทอดสมอหน้าอ่าวเมืองนคร ด้านเหนือน้ำลึก ๑๑ ศอก ….ตัวเมืองนครนั้น ด้านหน้าอยู่ทิศเหนือ ด้านหลังอยู่ทิศใต้….สินค้าใหญ่ในเมืองนคร ข้าวเป็นใหญ่ และดีบุกและสิ่งของเบ็ดเตล็ดแทบจะทุกอย่าง….”

หรืออย่าง “จดหมายเหตุประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ ร.ศ.๑๒๘” ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร มีข้อความหลายตอนที่ทรงกล่าวถึงเมืองนครศรีธรรมราช โดยใช้ว่า “เมืองนคร” เช่นว่า “…การเสด็จเข้าเมืองนคร ผิดกันกับเมืองภูเก็จมาก คือดูเป็นแบบอย่างไทยเก่าอยู่มาก….ที่เมืองนครนี้มีถวายคำนับอยู่แต่ที่เป็นข้าราชการเป็นพื้น…”

เป็นการเขียนหรือกล่าวถึงเมืองนครศรีธรรมราช โดยใช้ว่า “เมืองนคร” และไม่ได้ใช้เครื่องหมายไปยาลน้อยกำกับเสียด้วยซ้ำ แต่เป็นที่เข้าใจตรงกันว่าคือ “เมืองนครศรีธรรมราช” แล้ว และใช้สืบต่อกันตลอดมา จนในระยะหลังเมื่อใช้เครื่องหมายไปยาลน้อยเข้ากำกับเป็นคำย่อ อย่างคำว่า “กรุงเทพฯ” แล้ว ก็ยังคงใช้ “นครฯ” อยู่

ส่วนคำว่า “นครศรีฯ” นั้น สันนิษฐานว่า น่าจะเริ่มจากในบทกลอน บทเพลง ที่ต้องการให้ลงจำนวนคำหรือเสียงสัมผัสหรือเสียงท้ายวรรคตามที่ฉันทลักษณ์กำหนด จึงใช้เป็น “นครศรีฯ” แล้วต่อมามีการนำไปใช้ผิดเพี้ยนไป ซึ่งมักจะพบเห็นหนาตาตรงป้ายรถโดยสารประจำทางสายต่างๆ เช่น นครศรีฯ-สุราษฎร์ฯ นครศรีฯ-พัทลุง นครศรีฯ-สงขลา เป็นต้น เป็นการนำมาใช้ด้วยความเข้าใจผิด ติดต่อกันมาจนเคยชิน จนเข้าใจว่าถูกต้อง ทั้งๆที่ถูกต้องและใช้กันมาแต่ก่อนนั้นคือ “นคร”(เฉยๆ) หรือ “นครฯ”(มีไปยาลน้อย) เท่านั้น

 นครฯ-หรือ-นครศรีฯ

อาจารย์เอื้อม อุบลพันธุ์ อดีตบรรณาธิการสารนครศรีธรรมราช ผู้เป็นนักกลอนนักภาษาอาวุโสคนสำคัญของเมืองนคร เคยปรารภเคยเขียนถึงเรื่องนี้ไว้ในทำนองเดียวกันว่า …ไม่จำเป็นต้องไปใช้ “นครศรีฯ” เพราะเขียนว่า “นครฯ” ก็ระบุชี้ชัดมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้วว่าคือ “นครศรีธรรมราช” เท่านั้น…

ลุงบุญเสริม กวีน้อยเมืองนคร

เอาเป็นว่า…ลุงแสดงความคิดเห็นตามความรู้ความเข้าใจเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันนะครับอาจารย์เอื้อย…

ลุง บุญเสริม / ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๕
ที่มา – ลุงบุญเสริม กวีน้อยเมืองนคร

 
ถมนคร : คุณค่าที่คู่ควร ถมนคร เครื่องถมเมืองนครศรีธรรมราช
 
SHARE