วันอัฏฐมีบูชา คือวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า (หลังเสด็จดับขันธปรินิพพานได้ ๘ วัน) ตรงกับวันแรม ๘ ค่ำ เดือนวิสาขะ (เดือน ๖ ของไทย) นับเป็นสิ่งที่ทำให้ชาวพุทธทุกคนได้ตระหนักถึงสัจธรรมและธรรมชาติของมนุษย์ ที่มีเกิด แก่ เจ็บ และตาย เป็นธรรมดา ไม่มีใครสามารถหนีพ้น
นอกจากนั้น วันนี้เป็นวันคล้ายวันที่พระนางสิริมหามายา องค์พระพุทธมารดาสวรรคต (หลังประสูติ) และเป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธองค์เสวยวิมุตติสุขตลอด ๗ วัน (หลังตรัสรู้) อีกด้วย
…ตามพุทธประวัติกล่าวว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน ณ ป่าสาละ เมืองกุสินารา ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ (วันวิสาขบูชา) แล้ว เจ้ามัลลกษัตริย์ ผู้ครองนครกุสินารา ได้ทำพิธีสักการบูชาพระบรมศพพระพุทธองค์หลังจากเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานเป็นเวลา ๗ วัน ครั้นถึงวันที่ ๘ ตรงกับวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ จึงได้อัญเชิญพระบรมศพไปถวายพระเพลิง ณ มกุฏพันธนเจดีย์ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมือง
หลังจากที่พระเพลิงเผาซึ่งเผาไหม้พระพุทธสรีระดับมอดลงแล้ว บรรดากษัตริย์มัลละทั้งหลายจึงได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุทั้งหมด ใส่ลงในหีบทองแล้วนำไปรักษาไว้ภายในนครกุสินารา ส่วนเครื่องบริขารต่างๆ ของพระพุทธเจ้าได้มีการอัญเชิญไปประดิษฐานตามที่ต่างๆ อาทิ ผ้าไตรจีวร อัญเชิญไปประดิษฐานที่แคว้นคันธาระ บาตรอัญเชิญไปประดิษฐานที่เมืองปาตลีบุตร เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้ เมื่อวันแรม ๘ ค่ำ แห่งเดือนวิสาขะ หรือวันอัฐมีบูชาเวียนมาถึง พุทธศาสนิกชนจึงพร้อมใจกันประกอบพิธีบูชาขึ้นเพื่อระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเป็นวันอันควรแสดงธรรมสังเวชและระลึกถึงพระพุทธคุณ โดยการประกอบพิธีอัฏฐมีบูชานั้น นิยมทำกันในตอนค่ำและปฏิบัติอย่างเดียวกันกับประกอบพิธีวิสาขบูชา ต่างแต่คำบูชาเท่านั้น
ส่วนการบำเพ็ญกุศลในวันนี้ ก็เหมือนกับวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาอื่นๆ มีการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา และมีการเวียนเทียนในตอนค่ำ บางวัดในบางจังหวัด ยังมีการนิยมบำเพ็ญกุศลเนื่องในวันอัฎฐมีบูชานี้อยู่บ้าง บางแห่งถึงกับจัดเป็นงานใหญ่ มีการจำลองเหตุการณ์วันถวายพระเพลิงพุทธสรีระ บ้างก็มีการทำบุญตักบาตร และเวียนเทียน นอกจากนั้นก็จะเป็นการเจริญสติเพื่อตระหนักถึงสังขารและความไม่เที่ยงของมนุษย์เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ครั้งพุทธกาลด้วย
สายลุยเตรียมพร้อมก่อนไป “เดินป่า” อ่านจบรู้เรื่อง