อธิบดีกรมอนามัย แนะอาหารสร้างภูมิสู้โควิด เลือกที่มีวิตามินซีมีมากในผักผลไม้ วิตามินอี ในน้ำมันดอกทานตะวัน-ดี-ซีลีเนียมในปลา สังกะสี ในเนื้อสัตว์ ให้เน้นเมนูที่มีใบกะเพรา และพริกขี้หนู
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากการคาดการณ์ของผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ คาดว่าจะยังต้องอยู่กับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) ไปจนกว่าจะมีวัคซีนป้องกันโรค ประชาชนจึงต้องปรับการใช้ชีวิตในวิถีใหม่ (New Normal)
นอกจากเว้นระยะห่างทางสังคม สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า กินร้อน ช้อนกลางส่วนตัว ล้างมือบ่อยๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ และสิ่งสำคัญคือการดูแลตนเองให้มีสุขภาพแข็งแรง ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารถูกหลักโภชนาการทุกกลุ่มวัย แนะนำให้มีความหลากหลาย มีผักผลไม้ทุกมื้อ ในเด็กให้กินนมจืดวันละ 1-2 แก้ว และเด็กทารกกินนมแม่
ทั้งนี้ ให้เลือกกินอาหารที่มีวิตามิน เกลือแร่สูง เพื่อเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ได้แก่ วิตามินซี ซึ่งร่างกายไม่สามารถสังเคราะห์ได้เอง ช่วยการทำงานของเม็ดเลือดขาว ขจัดเชื้อโรค ต้านภูมิแพ้ ลดการระคายเคืองเยื่อบุทางเดินหายใจ ลดการจาม น้ำมูกไหล มีมากในผักผลไม้ เช่น ฝรั่ง มะขามป้อม มะขามเทศ เงาะ พริกหวานแดง พริกหวานเขียว ผักคะน้า บรอกโคลี มะระขี้นก และวิตามินอี เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันกรดไขมันไม่อิ่มตัวและส่วนประกอบเยื่อหุ้มเซลล์ของอวัยวะในร่างกายถูกทำลาย มีมากน้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันปาล์ม น้ำมันรำข้าว ถั่วลิสง ไข่ไก่ รวมทั้งวิตามินดี ซึ่งจำเป็นต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน พบใน เห็ดหอม ปลาทับทิม ปลาตะเพียน ปลาแซลมอน ปลานิล ไข่แดง และในแสงแดด
สำหรับแร่ธาตุได้แก่ ซีลีเนียม ช่วยอนุมูลอิสระที่ทำอันตรายต่อเซลล์หรือเปลี่ยนแปลงเซลล์ปกติให้กลายเป็นเซลล์มะเร็ง และเสริมการทำงานของวิตามินซี และวิตามินอี ช่วยควบคุมระดับฮอร์โมนไทรอยด์ พบในปลาทูสด ไข่ ปลาจาระเม็ดสด เนื้อปูต้มสุก หากขาดซีลีเนียมจะติดเชื้อได้ง่าย และแร่ธาตุที่จำเป็นอีกชนิดหนึ่งคือ สังกะสี ช่วยควบคุมการทำงานของเอนไซม์ที่สร้างภูมิคุ้มกันโรคและการเจริญเติบโต พบมากในเนื้อสัตว์สันใน และเครื่องในสัตว์ หอยนางรม ไข่ นม ปลา
นอกจากนี้ แนะนำเมนูชูสุขภาพช่วยเสริมภูมิต้านทานที่มีใบกะเพราและพริกขี้หนูเป็นส่วนประกอบ เช่น ผัดกะเพราปลา ไข่เจียวกะเพรา ต้มยำปลาทู สปาเกตตีขี้เมาทะเล เป็นต้น โดยกะเพรามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ลดปวด ต้านเชื้อแบคทีเรีย ลดน้ำตาลในเลือด และลดความเสี่ยงเกิดมะเร็ง ส่วนพริก มีวิตามินซีสูง กระตุ้นความอยากอาหาร ลดระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด ช่วยการเผาผลาญพลังงาน และบำรุงสายตา
สายลุยเตรียมพร้อมก่อนไป “เดินป่า” อ่านจบรู้เรื่อง