เปิดให้ชมก่อนกลบ “หลุมขุดค้น” พระบรมธาตุนครฯ ลึก 2 เมตร นักโบราณคดีเผยพบหลักฐานสำคัญ เตรียมส่งกำหนดอายุ-ดันมรดกโลก
เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช เตรียมเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าเยี่ยมชมหลุมขุดค้นทางโบราณคดีพระบรมธาตุ (ภายในวิหารทับเกษตร) ระหว่างวันศุกร์ที่ 28 ตุลาคม เวลา 09.30 – 15.30 น. และวันเสาร์ที่ 29 ตุลาคม เวลา 13.30 – 15.30 น. ก่อนจะดำเนินการกลบหลุมดังกล่าวในวันอาทิตย์ที่ 30 ตุลาคม หลังจากเก็บรวบรวมข้อมูลที่ได้จากการขุดค้นดังกล่าวอย่างละเอียดเพื่อนำไปกำหนดอายุสมัยทางวิทยาศาสตร์ และศึกษาวิเคราะห์ต่อไป
นายภาณุวัฒน์ เอื้อสามาลย์ นักโบราณคดีชำนาญการ ประจำสำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช ผู้ควบคุมหลุมขุดค้น กล่าวว่า ตนและคณะทำงานได้ทำการขุดค้นพื้นที่บริเวณพระบรมธาตุ ตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยเปิดหลุมขุดค้นจำนวน 8 หลุม หลุมที่สำคัญที่สุดคือหลุมภายในวิหารทับเกษตร ซึ่งพบหลักฐานสำคัญ โดยในขณะนี้ดำเนินการขุดค้นเสร็จสิ้นแล้ว ในขั้นตอนต่อไปจะต้องมีการกลบหลุมดังกล่าว ทางผอ.สำนักฯ คือ คุณอาณัติ บำรุงวงศ์ จึงมีความคิดว่าอยากเปิดให้ประชาชนที่สนใจเข้าเยี่ยมชมภายหลุมดังกล่าว เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการศึกษา
ฐานรากของพระบรมธาตุ เป็นอิฐขนาดใหญ่ ก่อเรียงเป็นระเบียบ (ที่ผนังด้านในสุดของภาพ)
ฐานรากของพระบรมธาตุ เป็นอิฐขนาดใหญ่ ก่อเรียงเป็นระเบียบ (ที่ผนังด้านในสุดของภาพ)
“หลุมขุดค้นนี้ มีความลึกประมาณ 2 เมตร พบอิฐที่เรียงตัวกันเป็นฐานรากของพระบรมธาตุ นอกจากนี้ ยังมีการฝังภาชนะดินเผาบรรจุกระดูกรอบฐานพระบรมธาตุ โดยมีทั้งเครื่องถ้วยจีน สมัยราชวงศ์หยวน และสมัยสุโขทัยในยุคต้นๆ ซึ่งนักวิชาการบางกลุ่มเรียกว่า เตาเชลียง มีลักษณะเป็นภาชนะเคลือบสีน้ำตาล อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 18-19 หลักฐานต่างๆที่พบในครั้งนี้ จะถูกส่งไปกำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้ได้ข้อมูลทางวิชาการชัดเจน สำหรับเป็นข้อมูลซึ่งจะใช้สำหรับส่งมรดกโลกด้วย” นายภาณุวัฒน์ กล่าว
นายอาณัติ บำรุงวงศ์ ผอ.สำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช (สวมชุดข้าราชการ) ขณะตรวจสอบหลุมขุดค้นภายในวิหารทับเกษตร
นายอาณัติ บำรุงวงศ์ ผอ.สำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช (สวมชุดข้าราชการ) ขณะตรวจสอบหลุมขุดค้นภายในวิหารทับเกษตร
นายภาณุวัฒน์ ยังกล่าวอีกว่า เครื่องถ้วยบรรจุกระดูกที่พบนี้ ถูกฝังหลังจากการสร้างพระบรมธาตุแล้ว ดังนั้น พระบรมธาตุย่อมมีความเก่าแก่กว่าอายุของเครื่องถ้วยซึ่งร่วมสมัยสุโขทัย แต่จะเก่าแก่เพียงใด ต้องรอผลการกำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนก่อน จึงจะเปิดเผยให้ทราบอีกครั้ง
ทั้งนี้ การเยี่ยมชมหลุมขุดค้น อนุญาตให้เข้าชมครั้งละไม่เกิน 5 คน เนื่องจากเหตุผลด้านความปลอดภัย โดยจะมีเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวก รวมถึงให้ข้อมูลทางวิชาการอีกด้วย
สภาพภายในหลุมขุดค้น ซึ่งมีความลึกราว 2 เมตร
นักโบราณคดี ขณะทำการศึกษาข้อมูลภายในหลุมขุดค้น
ที่มา – มติชน
สายลุยเตรียมพร้อมก่อนไป “เดินป่า” อ่านจบรู้เรื่อง