ผศ.ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ ประธานกรรมการฝ่ายวิชาการ คณะกรรมการนำเสนอวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราช ขึ้นบัญชีเป็นมรดกโลก เปิดเผยว่า ตามที่กรมศิลปากรโดยสำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช ได้ว่าจ้าง ห.จ.ก.บูรณาไท เป็นผู้ดำเนินการบูรณะองค์พระบรมธาตุเจดีย์ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ด้วยงบประมาณแผ่นดิน ประจำปี 2559 ขณะนี้ได้บูรณะไปถึงงวดที่ 2 แล้วจากจำนวน 3 งวด ซึ่งคณะกรรมการได้ขอปรับแก้และเพิ่มเติมฉบับ Nomination Dossier ว่าด้วย “ความแท้” ขององค์พระบรมธาตุเจดีย์เข้าไปอีกส่วนหนึ่ง คือการเลือกใช้วัสดุ “ปูนหมักและปูนตำ” วัสดุสูตรโบราณที่กรมศิลปากรและ ห.จ.ก.บูรณาไท กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ โดยได้นำเสนอไว้ในเอกสารดังกล่าว เพราะถือได้ว่าเป็น “ข้อเด่น” ของการบูรณะองค์พระบรมธาตุเจดีย์องค์นี้ ที่ยังคงรักษาความเป็นขนานแท้ดั้งเดิมไว้จนปัจจุบัน
ผศ.ฉัตรชัย เปิดเผยว่า สำหรับปูนหมักและปูนตำเป็นวัสดุก่อสร้างปูชนียสถานที่มีมาแต่โบราณไม่ทราบแน่ชัดว่าช่างเมืองนครศรีธรรมราชได้รับความรู้การผลิตปูนดังกล่าวมาจากที่ใดระหว่างอินเดียกับจีน การบูรณะในครั้งนี้ใช้ปูนตำสำหรับฉาบผิวชั้นนอกสุดขององค์เจดีย์ เป็นปูนตำสูตรโบราณซึ่งใช้ปูนเหนียวชนิดละเอียดมาปั้นเป็นก้อนกลมตากให้พอแห้ง แล้วนำกระดาษสา หรือกระดาษฟางแช่น้ำให้เปื่อยยุ่ย เพื่อนำไปผสมกับปูนเหนียว กระดาษจะทำให้เนื้อปูนจับตัวกันได้ดีขึ้น จากนั้นจึงนำเยื่อกระดาษเปื่อยผสมเข้ากับเนื้อปูนสนิท เรียกว่า “ปูนตำ” จากนั้นจึงนำปูนตำมาใส่ถุงพลาสติกรัดให้แน่นเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 สัปดาห์ก่อนนำมาใช้ เรียกว่า “ปูนหมัก”
สำหรับผิวองค์พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชที่ชำรุดโป่งพอง และกะเทาะหลุดล่อน ช่างได้ซ่อมสกัดส่วนที่ชำรุดออก แล้วทำการฉาบตกแต่งด้วยปูนหมัก ขณะเดียวกันได้สกัดผิวปูนหมักองค์เจดีย์เป็นจุดๆ โดยตลอดพื้นผิว เพื่อให้ปูนหมักสามารถยึดเกาะได้อย่างมั่นคงแข็งแรง จากนั้นจึงขัดตกแต่งผิวด้วยปูนตำ ตามกรรมวิธีแบบโบราณ ทั้งนี้ จะมีการผสมผงสีฝุ่นเพื่อลดความขาวของปูนตำด้วย และทางฝ่ายวิชาการได้ทำบันทึกเรื่องนี้เพิ่มเติมเข้าไปในเอกสาร Nomination Dossier เพื่อแสดงถึง “ความแท้ของวัสดุ” ที่ช่างนครใช้ในการบูรณะพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช.
ที่มา – ไทยรัฐ
สายลุยเตรียมพร้อมก่อนไป “เดินป่า” อ่านจบรู้เรื่อง