พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์ นครศรีธรรมาราช – วันที่ ๑๔ มกราคม พ.ศ.๒๕๐๕ ตรงกับวันอาทิตย์ขึ้น ๙ ค่ำ เดือนยี่ ปีฉลู พ่อท่านคล้ายวางศิลาฤกษ์สร้างพระเจดีย์ “ธาตุน้อย” บนที่ดินของผู้ใหญ่กลับ งามพร้อม ซึ่งได้ถวายพ่อท่านคล้าย ตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๔๘๗ โดยพ่อท่านคล้าย เป็นประธานสงฆ์ประกอบพิธี, พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดชเป็นประธานฝ่ายฆราวาส, และหลวงพ่อครื้น เป็นผู้อำนวยการก่อสร้าง แนวคิดในการสร้างพระเจดีย์ธาตุน้อยนั้น พ่อท่านคล้ายได้กล่าวไว้ก่อนที่จะสร้างว่า
“ฉันจะสร้างเจดีย์องค์ใหญ่สักองค์ ให้เหมือนพระบรมธาตุ นครศรีธรรมราช แต่ไม่ให้ใหญ่กว่า เพราะพระบรมธาตุนั้นเจ้าเค้าสร้าง”
ในปีพ.ศ.๒๕๑๓ พระเจดีย์ธาตุน้อยได้สร้างเสร็จโดยพระเจดีย์ธาตุน้อยนี้พ่อท่านคล้ายได้เริ่มต้นวางศิลาฤกษ์มาตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๕๐๕ ส่วนเสนาสนะอื่นๆรอบๆพระเจดีย์ธาตุน้อยยังสร้างไม่เสร็จ โดยมีเรื่องเล่ากันว่าพ่อท่านคล้ายสร้างสิ่งใดจะสร้างไม่ให้เสร็จ หากสร้างสิ่งใดเสร็จ เทวดาจะมารับท่านไป หรือหากพ่อท่านคล้ายสร้างพระเจดีย์ธาตุน้อยเสร็จเมื่อใด พ่อท่านจะต้องดับขันธ์
โดยนายเฉลิม จิณาญาติ ได้เล่าให้ผู้เขียนและคณะฟังว่าเคยได้ยินพ่อท่านคล้ายพูดไว้ ก่อนที่พระเจดีย์ธาตุน้อยจะสร้างเสร็จสมบูรณ์ว่า “เทวดายื่นบันไดแก้วให้ขึ้นสวรรค์ พ่อท่านไม่ขึ้นต้องสร้างเจดีย์ให้เสร็จก่อน”
ครั้งหนึ่งมีผู้อาวุโสคนหนึ่งมาจากพัทลุงมาเยี่ยมพ่อท่านคล้าย และบอกกับพ่อท่านว่า “เจดีย์พ่อท่านเสร็จแล้ว สวยมาก” พ่อท่านได้ยินดังนั้นจึงเรียกให้ชาวบ้านและพระในวัดมานั่งล้อมรอบเพื่อทำพิธีฉลองพระเจดีย์ธาตุน้อย เมื่อทำพิธีเสร็จพ่อท่านคล้ายได้ถวายปัจจัยแก่พระทุกรูปรูปละ ๑ บาท
หลังจากนั้น ๒-๓ เดือน วันที่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๓ พ่อท่านคล้ายได้ออกรับกฐินซึ่งมาจากกรุงเทพฯ แต่ขณะจะให้ศีลให้พรแก่ญาติโยม พ่อท่านได้ให้ท่านพระครูอุดมศีลาจารย์ให้ศีลให้พรแทน
ครั้นถึงวันอาทิตย์ที่ ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๑๓ ตรงกับแรม ๙ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีจอ คุณศรัทธา นิ่มมาณพ หัวหน้าหน่วยสร้างสะพานรถไฟได้บันทึกว่า พ่อท่านคล้ายจะเดินทางไปจังหวัดสุรินทร์เนื่องในงานพุทธาภิเษกที่คณะพุทธบริษัทจังหวัดนั้นนิมนต์ไว้ ถึงเวลา ๑๖.๐๐ น. คุณศรัทธาพร้อมด้วยสารวัตรได้ไปที่พระเจดีย์ธาตุน้อยเพื่อรับพ่อท่านคล้ายขึ้นรถไฟ
แต่ปรากฏว่า พ่อท่านคล้ายอาพาธกะทันหัน จับตัวท่านดูรู้สึกว่าตัวท่านร้อนมาก จึงได้นิมนต์ท่านขึ้นรถด่วน พร้อมด้วยคณะศิษยานุศิษย์ทั้งพระและชาวบ้านคือ พระใบฎีกาครื้น, พระเจิม, โกหล่วน, คุณวิเชียร, คุณแจ้ง, คุณประดิษฐ์และคุณศรัทธา
รุ่งเช้าอีกวันถึงกรุงเทพฯ เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า วันนั้นหมอได้จัดให้อยู่ที่ตึกสุทธิสารรณกร ห้องเบอร์ที่ ๔ และย้ายมาอยู่ที่ห้องเบอร์ที่๕ ในตึกเดียวกัน ถึงวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๑๓ หวยออกเลข ๐๐๐ (ตองศูนย์) ตอนนั้นลุงหริ(นายสิริ พาณิชย์กุล)ตกใจมากที่หวยออกเลขนี้ และได้นึกถึงคำพูดของพ่อท่านที่เคยพูดว่า “วันใดเบอร์ออกศูนย์สามตัว เมื่อนั้นฉันสิ้นบุญ” และได้คิดในใจว่าสงสัยพ่อท่านจะต้องมรณภาพแล้ว
หมอได้พยายามรักษาอย่างเต็มความสามารถเป็นเวลา ๑๔ วัน อาการของพ่อท่านก็มีแต่ทรงกับทรุด และได้มรณภาพในคืนวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๓ เวลา ๒๓.๐๕ น. ด้วยโรคหอบของคนแก่ ต่อหน้าหมอที่รักษาและศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย สิริมายุได้ ๙๔ ปี ๙ เดือน ๘ วัน ๗๔ พรรษาและดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสวนขัน ๖๕ ปี
พระเจดีย์ธาตุน้อยและวัดธาตุน้อยได้เป็นอนุสรณ์สถานของพ่อท่านคล้าย วัดนี้ได้อนุญาตให้สร้างตามหนังสือของอธิบดีกรมศาสนา เมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๒๐ และได้รับอนุญาตให้ตั้งวัดได้เมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๒๐ โดยนายภิญโญ สาธร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการผู้รับสนองพระบรมราชโองการให้ชื่อวัดว่า “วัดธาตุน้อย” (รองมาจากพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช)
ในปีเดียวกันได้ขอพระราชทานวิสุงคามสีมาและได้รับพระบรมราชานุญาต เมื่อวันที่ ๖ กันยายน พ.ศ.๒๕๒๒ (ประกาศในพระราชกิจจานุเบกษาลงวันที่ ๖ กันยาน ๒๕๒๒) ต่อมาศิษยานุศิษย์ของพ่อท่านคล้ายได้อาราธนานิมนต์พระราชพุทธิรังสีสมัยเมื่อเป็นพระครูพิบูลนวเขต เจ้าคณะอำเภอฉวางได้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดธาตุน้อย
โดยท่านพระราชพุทธิรังสี พุทธศาสนิกชนและศิษยานุศิษย์ของพ่อท่านคล้าย ได้ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างเสนาสนะต่างๆที่ยังค้างคาอยู่จนสมบูรณ์ทุกประการดังเห็นในปัจจุบัน และมีที่อยู่ของวัดธาตุน้อยคือ วัดธาตุน้อย ๒๘๑ หมู่ที่๑ ต.หลักช้าง อ.ช้างกลาง จ.นครศรีธรรมราช ๘๐๒๕๐(สมัยก่อนจุดนี้เป็นหมู่เดียวกันกับบ้านโคกทือ สถานที่เกิดของพ่อท่านคล้าย)
– ขอขอบพระคุณท่านเจ้าของภาพ เจ้าของบทความ และที่มาเนื้อหาข้อมูลมา ณ ที่นี้
บารมีพ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์ : เพื่อเผยแผ่บารมีเป็นสังฆบูชา และเทิดทูนเกียรติคุณครูบาอาจารย์
สายลุยเตรียมพร้อมก่อนไป “เดินป่า” อ่านจบรู้เรื่อง