“ผ้ายก หมายถึงผ้าไหมที่ทอด้วยเทคนิคการยกลวดลาย ให้ปรากฏเด่นชัดขึ้น โดยผ้ายกของเมืองนครศรีธรรมราชนั้น มีชื่อเสียงมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาในฐานะที่เป็นผ้าราชสำนัก ซึ่งทอด้วยเส้นไหมเนื้อละเอียด แทรกลวดลายด้วยไหมเงิน ไหมทองที่บางเบา และทออย่างประณีต โครงสร้างของการวางลวดลาย อันประกอบด้วยท้องผ้าและกรวยเชิง มีลักษณะแบบราชสำนัก ที่ใช้สำหรับเจ้านายชั้นสูงในอดีต เป็นทั้งผ้านุ่งโจงและ นุ่งจีบ รวมทั้งใช้ห่อคัมภีร์ในพุทธศาสนาด้วย”
คำกล่าวของอาจารย์วีรธรรม ตระกูลเงินไทย ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ ให้กับการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ หรือ “โขนพระราชทาน” การแสดงอันวิจิตรตระการตาหนึ่งในความภาคภูมิใจของคนไทย ที่ได้รับการปลุกให้ฟื้นคืนและกลับมาเฉิดฉายอีกครั้งตามพระราชเสาวนีย์ของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงตั้งพระราชหฤทัยฟื้นฟูการแสดงโขนอย่างจริงจัง ทำให้นับตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา ชาวไทยและชาวต่างประเทศจึงได้มีโอกาสชมและซาบซึ้งในความงดงามของศิลปะไทยอีก ครั้ง
สำหรับการแสดงโขน หนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญเป็นลำดับต้นๆ ก็คือ “พัสตราภรณ์” หรือเครื่องแต่งกายสำหรับนักแสดงโขนทุกคน ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ ผู้ช่วยเลขาธิการมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ และประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดแสดง โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ กล่าวว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชเสาวนีย์ให้ฟื้นฟูการทอผ้ายกแบบราชสำนักของนครศรีธรรมราชในอดีต ที่มีการทอสืบทอดกันมาแต่โบราณ และได้สูญหายไปกว่า 100 ปี แต่ยังคงมีต้นแบบให้เห็นอยู่ในพิพิธภัณฑ์ และในพระบรมมหาราชวัง ให้กลับมาเป็นส่วนหนึ่งของพัสตราภรณ์สำหรับการแสดงโขน อีกครั้ง โดยการพัฒนาฝีมือการทอผ้าสมาชิกของศูนย์ศิลปาชีพเนินธัมมัง อ.วิเชียรใหญ่ และศูนย์ศิลปาชีพบ้านตรอกแค อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช รวมกว่า 40 ชีวิต ทำให้การแสดงโขน ในแต่ละปีมีผ้ายกจากฝีมือของชาวบ้านเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รับเป็นความภาคภูมิใจของมูลนิธิ เพราะนอกจากเป็นการฟื้นฟูและอนุรักษ์ผ้ายกแบบโบราณให้คงอยู่สืบไปแล้ว ยังเป็นการสร้างอาชีพให้กับชาวบ้านอีกด้วย”
ด้วยกรรมวิธีการทอที่ซับซ้อน ทำให้ผ้ายกนคร เกือบจะสูญหายไป การเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมราษฎรในจังหวัดต่างๆ ทางภาคใต้ของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้พระราชทานอาชีพเสริมแก่ราษฎร คือการทอผ้าฝ้าย ปักผ้า สานกระจูด และประดิษฐ์ดอกไม้ เกิดเป็นศูนย์ศิลปาชีพบ้านเนินธัมมัง ในปี 2537 และเมื่อทรงทราบว่าผ้ายกเมืองนครฯ ซึ่งมีชื่อเสียงมาแต่อดีตขาดผู้สืบทอด จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟู โดยนำกระบวนการทอผ้ายกแบบโบราณจากจังหวัดสุรินทร์ ไปฝึกสอนเป็นพื้นความรู้ในการทอ ปัจจุบันศูนย์ศิลปาชีพบ้านเนินธัมมังและบ้านตรอกแค ซึ่งเริ่มต้นจากการทอผ้าฝ้ายมาสู่การทอผ้าไหม ได้พัฒนาขึ้นจนสามารถทอผ้ายกทองเมืองนครฯ ได้อย่างงดงาม จึงนับเป็นการอนุรักษ์ พร้อมกับการสร้างรายได้ให้เกิดแก่สมาชิกมูลนิธิ ชาวนครศรีธรรมราช อันเป็นแหล่งทอผ้ายกของราชสำนักมาแต่โบราณ และสามารถนำผ้ายกที่ผลิตขึ้นใหม่นี้มาใช้เป็นเครื่องแต่งกายโขนพระราชทาน โดยในการแสดงโขน ปี 2557 ที่ผ่านมา ได้มีการใช้ผ้ายกทองจากศูนย์ศิลปาชีพทั้ง 2 แห่งจำนวนมากถึง 43 ผืน ทดแทนการสั่งผ้าเข้ามาจากต่างประเทศ จากในช่วงปีแรกๆ ของการผลิตโขนพระราชทานได้เป็นอย่างดี
สำหรับการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปา ชีพฯ ประจำปี 2558 ชุด “ศึกอินทรชิต ตอน พรหมาศ” กำหนดจัดแสดงระหว่างวันที่ 7 พฤศจิกายน – 6 ธันวาคม 2558 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.khonperformance.com
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3087 วันที่ 13-16 กันยายน พ.ศ. 2558
สายลุยเตรียมพร้อมก่อนไป “เดินป่า” อ่านจบรู้เรื่อง