ประวัติอนุสาวรีย์วีรไทย
อนุสาวรีย์วีรไทย หรือที่ชาวเมืองนครฯ เรียกกันว่า พ่อจ่าดำ หรือ เจ้าพ่อดำ ตั้งอยู่ภายในใจกลางของค่ายวชิราวุธ กองทัพภาคที่ 4 นครศรีธรรมราช ห่างจากตัวเมืองนครศรีธรรมราช ไปตามถนนสายนครศรีธรรมราช-ท่าแพ ทางทิศเหนือประมาณ 6 กิโลเมตร อนุสาวรีย์ วีรไทย (พ่อจ่าดำ) เป็นรูปทหารถือดาบปลายปืนในท่าออกศึก ซึ่งออกแบบปั้นโดยนายสนั่น ศิลากรณ์ (2462-2529) ข้าราชการกรมศิลปากรในสมัยนั้น (ประติมากรเอกแห่งกรุงรัตนโกสิน) และได้ประดิษฐานในค่าย วชิราวุธเมื่อ พ.ศ. 2492
เพื่อเป็นการรำลึกถึงวีรกรรมของเหล่าบรรดาทหารหาญที่พลีชีพ ต่อสู้ข้าศึก เพื่อปกป้องมาตุภูมิ เหตุการณ์การสู้รบในวันนั้น กองทัพไทยต้องสูญเสียกำลังทหาร และยุวชนทหาร ช่วยรบในจังหวัดปัตตานี สงขลา สุราษฎร์ธานี ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ และนครศรีธรรมราช รวมกว่า 100 นาย ดังปรากฏนามจารึกไว้ที่ฐานอนุสาวรีย์ ทั้ง 6 ด้านอนุสาวรีย์จ่าดำ หรือ อนุสาวรีย์วีรไทย ยังคงยืนตระหง่านบนจุด ที่ได้สู้รบปกป้องปฐพีไทยสืบมา
เรื่องราวการต่อสู้ดังกล่าวนั้น มีดังนี้ คือ ใน พ.ศ. 2482 ได้เกิดวิกฤตการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ในทวีปยุโรป โดยมีเยอรมนี และอิตาลีซึ่งเรียกว่าฝ่ายอักษะฝ่ายหนึ่ง กับสัมพันธมิตรซึ่งประกอบด้วยสหราชอาณาจักร และฝรั่งเศสอีกฝ่ายหนึ่ง การสงครามได้ขยายตัวกว้างขวาง ครั้นถึง พ.ศ. 2484 ญี่ปุ่นเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะ สงครามได้ลุกลามเข้าสู่ทวีปเอเชีย โดยญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกพร้อมกันในประเทศสิงคโปร์ อินโดนีเซีย มลายู และไทย เมื่อเช้าตรู่วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484
ซึ่งเป็นเวลาเดียวกันกับที่โจมตี ฐานทัพเรือเพิร์ลฮาเบอร์ ของ สหรัฐอเมริกา ในประเทศไทย ญี่ปุ่น ยกพลขึ้นบกพร้อมกันที่ สมุทรปราการ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี สงขลา ปัตตานี นครศรีธรรมราช และ ปราจีนบุรี โดยที่ฝ่ายไทยไม่คาดคิด
อนุสาวรีย์วีรไทย ค่ายวชิราวุธ นครศรีธรรมราช
จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นที่ตั้งกองกำลังสำคัญของภาคใต้ คือมณฑลทหารบกที่ 6 ในเวลานั้น มี พลตรีหลวงเสนาณรงค์ เป็นผู้บัญชาการมณฑล เช้าวันเกิดเหตุ ได้รับแจ้งข่าวจากนายไปรษณีย์ นครศรีธรรมราชว่า ญี่ปุ่นได้ส่งเรือรบ ประมาณ 15 ลำ มาลอยลำในอ่าวสงขลา และได้ยกพลขึ้นบกที่เมืองสงขลา
พลตรีหลวงเสนาณรงค์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 6 จึงสั่งการรับศึก และสั่งให้เตรียมกำลังเคลื่อนย้ายไปสนับสนุนกองทัพสงขลา โดยด่วน ขณะเตรียมการอยู่นั้น ก็ได้รับแจ้งจากพลทหารว่า ญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกที่บ้านท่าแพ ตำบลปากพูน ผู้บัญชาการมณฑลจึงสั่งการให้ทุกคน ทำการต่อสู่เต็มกำลัง โดยความมุ่งหมายที่จะมิให้กองทหารญี่ปุ่น เข้ายึดโรงทหารได้เป็นอันขาด การสู้รบระหว่างทหารไทย ยุวชนทหาร กับทหารญี่ปุ่นเป็นไปในลักษณะประจัญหน้า พื้นที่บริเวณสู้รบอยู่ในแนวเขตทหารด้านเหนือ กับบริเวณตลาดท่าแพ มี ถนนราชดำเนิน ผ่านพื้นที่ในแนว เหนือ-ใต้
การรบทำได้ไม่สะดวกนัก เพราะ ตลอดเวลาตั้งแต่ 07.00-10.00 น. ฝนได้ตกลงมาอย่างหนัก การเตรียมรับมือข้าศึก ภายหลังที่ได้รับโทรเลขฉบับนั้น ผู้บังคับบัญชาการมณฑลทหารบกที่ 6 จึงสั่งการให้แตรเดี่ยว ณ กองทัพรักษาการณ์ประจำกองบัญชาการ เป็นสัญญาณเหตุสำคัญ และเรียกหัวหน้าหน่วยที่ขึ้นครงมาประชุมที่กองบัณชาการมณฑลเพื่อเตรียมรับ มือข้าศึกซึ่ง ผบ.มณฑล คาดว่าคงจะบุกขึ้นนครศรีธรรมราชด้วย
ในขณะที่ฝนตกลงมาอย่างหนัก ขณะที่ ผบ.มณ ได้สั่งการและมอบหมายหน้าที่รับข้าศึกอย่างรีบเร่งอยู่นั้น ก็ได้รับแจ้งข่าวจาก พลฯ จ้อน ใจชื่อ และ พลฯ เติม ลูกเสือ สังกัดหน่วยป.พัน 15 ซึ่งเป็นเวรตรวจเหตุการณ์ที่บ้านท่าแพ (ใกล้ค่ายวชิราวุธ) ว่าได้พบกองทหารญี่ปุ่นกำลังยกขึ้นจากเรือรบไม่ทราบจำนวนพลทหาร และลำเลียงกำลังด้วย เรือท้องแบนมาตามคลองท่าแพ จะขึ้นที่ท่าแพ ในขณะที่จะพยายามจะกลับมารายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบก็ถูกทหารญี่ปุ่นควบ คุมตัว แต่ พลฯ จ้อน ใจซื่อ พยายามหลบหนี มารายงานผู้บังคับบัญชาได้ในเวลา07.00 น.
และในเวลาเดียวกัน ส.ท.ประศาสน์ ลิทธิ์วิลัย ก็วิ่งกระหืดกระหอบมาแจ้งขาวนี้แก่ผู้บังคับการมณฑลด้วย ผบ.มณฑล ได้สั่งการให้เปิดคลังแสงและจ่ายอาวุธปืนเล็ก ปืนกล และปืนประสุนให้แก่ทุกคนที่ยังไม่มีอาวุธประจำกาย และประกาศให้ทุกคนทำการสู้อย่างเต็มสติกำลัง โดยความมุ่งหมายที่จะมิให้กองทหารญี่ปุ่นเข้ายึดโรงทหารได้เป็นอันขาด ผู้ที่ไม่มีผู้บังตับบัญชาแน่นอน
ก็ให้เข้าสมทบกับหน่วยใดหน่วยหนึ่งซึ่งประจำอยู่ตามแนวต่างๆ ในหน่วยร.17 พอคำสั่งด้วยวาจาไม่ว่าจะเป็นคำสั่งประกาศขาดคำลง ผู้รับคำสั่งทุกคนทุกหมู่ทุกเหล่าได้รีบลงมือปฏิบัติตามโดยทันที โดยมิได้มีการสะทกสะท้านหวาดกลัว หรือแสดงอาการตื่นเต้นลังเลแม้แต่น้อยทหารทุกหน่วยในมณฑลที่6 ได้เข้าประจำการในลักษณะและหน้าที่ ดังนี้
1.หน่วย ป.พัน 15 หน่วยนี้ได้ทำหน้าที่ดังนี้
– เติมน้ำมันแก่รถยนต์ทุกคันและสำรองไว้อีกคันละ 2 ปีบ ที่เหลือให้กองพลาธิการนำไปซุกซ่อนตามภูมิประเทศหลังโรงที่อยู่ของหมวด สภ.
– พลาธิการเตรีบมสัมภาระพร้อม เสบียงอาหาร เพื่อขนย้ายได้ทันท่วงที -ส่งทหารเข้ายึดแนวรั้วไร่กสิกรรม ของ ป.พัน 15 ร้อย 2 ด้านใต้ เพื่อยิงต้านทานและเมื่อมีกำลังมาเสริมก็ได้ต่อแนวไปทางทิศตะวันตก สักครู่ปรากฏว่ามีกระสุนของฝ่ายญี่ปุ่นยิงมาจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือของโรง อาหาร ผบ.ร้อย 1 จึงนำปืนใหญ่ 2 กระบอกไปตั้งยิงสวนไป
– กองร้อย 1 ใช้ปืน ปบค.105 จำนวน 4 กระบอก ปืน ป.63 จำนวน 2 กระบอก จากโรงเก็บออกมาตั้งยิงบริเวณหน้าและข้างโรงเก็บ ส่วนทหารในกองรักษาการณ์ภายในใช้ปืนเล็กทำการต่อสู้
– กองร้อย 2 ลากปืนใหญ่ ป.105 จำนวน 1 กระบอก ซึ่งไปนำคืนมาจากร้านงานฉลองรัฐธรรมนูญ ณ สนามหน้าเมือง ในตอนเช้าตรู่มาตั้งยิงใกล้คลังกระสุน แต่เนื่องจากกองร้อยนี้ต้องไปรักษาการณ์ภายนอก จึงมีทหารอยู่น้อยไม่พอที่จะทำหน้าที่พลประจำปืน ประกอบกับที่อยู่ของกองร้วยนี้อยู่ใกล้ไปทางท่าแพมาก พอฝ่ายญี่ปุ่นเริ่มเคลื่อนที่และยิงมา ก็ทำให้หมดความสามารถที่ทหารจะเข้าไปลากเอาปืนใหญ่มาตั้งยิงเสียแล้ว จึงต้องใช้ปืนเล็กยิงต่อสู้
2.หน่วย ร.พัน39 หน่วยนี้ได้ทำหน้าที่ดังนี้
– ร้อย 1 และหมวด ส. เป็นกองรบซึ่งยกไปต้านทานทหารญี่ปุ่นที่ตลาดท่าแพ โดยวางแนวรบเป็น 2 แนว แนวแรกคือ แนวบ้านพักนายทหาร ป.พัน 15 กับโรงที่อยู่ของทหาร ป.พัน15 ส่วนแนวที่ 2 คือ แนวตลาดท่าแพ – รอง ผบ.ร.พัน 39 นำกำลังบางส่วนคือ ทหารของ ร.17 ที่ฝากฝึกในหมวด สภ. นายสิบกองหนุนที่เข้ารับการอบรมกับ ปก.หนัก 1 หมวด ที่เหลือไปยึดภูมิประเทศทางทิศตะวันออกของที่ตั้ง ร.พัน 39 เพื่อป้องกันมิให้ฝ่ายญี่ปุ่นเข้ายึดโรงทหารจากทิศตะวันออกได้
– เข้าเสริมแนวรบโดยต่อแนวไปทางปีกขวาบ้าง ปีกซ้ายบ้าง ยึดภูมิประเทศข้างหลัง แนวรบเพื่อทำหน้าที่เป็นกองหนุนบ้าง และเมื่อฝ่ายญี่ปุ่นได้กำลังส่วนหนึ่งเข้าโอบทางปีกขวา หน่วยนี้ก็ได้ส่งกำลังเข้าปะทะต้านทานไว้
3.หน่วย พ.มณฑล 6 หน่วยนี้ได้ทำหน้าที่ดังนี้
เป็นผู้รับมอบหมายนำทหารขึ้นรถยนต์มายังหน้าที่ตั้งกองรักษาการณ์ของ ป.พัน 15 แล้วขยายแถวเข้ายึดแนวไร่กสิกรรมของ ป.พัน 15 ร้อย 2 โดยสมทบกับทหาร ป.พัน 15 และกองรักษาการณ์ภายนอกประจำ จว.ทบ.นศ. บ้าง และเข้าต่อแนวไปทางปีกขวาบ้าง ทหารหน่วยนี้แบ่งกำลังออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก เข้าประจำแนวยิงแรก อีกส่วนหนึ่งคงมียึดภูมิประเทศในแนวที่ 2 ซึ่งห่างจากแนวแรกประมาณ 100 เมตร แต่ยังมิได้ทำการยิง ก็ได้เวลาสงบศึกเสียก่อน
4. หน่วย ส.พัน 6 ได้ทำหน้าที่ดังนี้
จัดทหารถือปืนเล็กยึดภูมิประเทศบริเวณโรงที่อยู่ของทหาร ใน พ.มณฑล และโรงที่อยู่ของทหารใน ส.พัน 6 เพื่อไว้เป็นกำลังหนุนในโอกาสต่อไป แต่ยังมิได้ทำการยิง ก็พอดีการรบยุติลง
5 หน่วย สร.มณฑล 6 ได้ทำหน้าที่ดังนี้
จัดเปลออกไปรับคนเจ็บ ขนเวชภัณฑ์และสัมภาระมีค่า ออกมาจากแนวยิง นอกจากนี้ยังมียุวชนทหารจากหน่วยฝึกยุวชนที่ 55 จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวนประมาณ 30 คน มีปืนเล็กประจำกายมาสมทบ เมื่อเวลาประมาณ 09.00 น. และได้รับคำสั่งให้ยึดภูมิประเทศในแนวเดียวกับหน่วย ส.พัน 6 แต่ยังมิได้ทำการยิงก็พอดีการรบยุติลง เวลาประมาณ 11.00 น. เศษ
ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 6 ได้รับสำเนาโทรเลขคำสั่งให้ยุติการรบ การต่อสู้ระหว่างทหารไทยกับทหารญี่ปุ่นจึงสงบลง ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 6 สั่งให้นำกำลัง ยุวชนทหารกลับ และติดต่อให้ญี่ปุ่นส่งผู้แทนมาเจรจา เพื่อตกลงกันในรายละเอียด ผลการเจรจายุติการรบ โดยสรุป มีดังนี้
1. ญี่ปุ่นขอให้ถอนทหารไทยจากที่ตั้งปกติไปให้พ้นแนวคลองสะพานราเมศวร์ ให้เสร็จสิ้นภายในเวลา 3 ชั่วโมง เพราะญี่ปุ่นต้องการใช้สนามบินโดยด่วน
2.ในบริเวณตัวเมืองนครศรีธรรมราช โดยอาศัยตาม โรงเรียน วัด และบ้านพักข้าราชการเป็นต้น
3. ฝ่ายไทยขอขนอาวุธและสัมภาระติดตัวไปด้วย ยกเว้นอาวุธหนัก กระสุน และวัตถุระเบิด และน้ำมันเชื้อเพลิงบางส่วน ตลอดจนเครื่องบิน แต่ฝ่ายญี่ปุ่นไม่ยินยอม
4. ฝ่ายญี่ปุ่นแสดงความเสียใจที่ได้มีการสู้รบกัน มีความรู้สึกเห็นใจ และยกย่องชมเชยวีรกรรมของทหารไทย
ฝ่ายไทยสูญเสียชีวิต 38 คน เป็นนายทหารสัญญาบัตร 3 คน นายทหาร 3 คน พลทหาร 32 คน ฝ่ายญี่ปุ่นไม่ทราบจำนวน ภายหลังเสร็จสิ้นสงครามมหาเชียบูรพา ประชาชนและข้าราชการได้ร่วมใจกันสร้างอนุสาวรีย์ วีรไทย(พ่อจ่าดำ) เป็นรูปทหารถือดาบปลายปืนในท่าออกศึก ซึ่งออกแบบปั้นโดยนายสนั่น ศิลากรณ์ ข้าราชการกรมศิลปากรในสมัยนั้น และได้ประดิษฐานในค่าย วชิราวุธเมื่อ พ.ศ. 2492
cr : http://th.wikipedia.org
วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2484 แม่..เรียกวันนี้ว่า “วันญี่ปุ่นขึ้น” แม่คงจะพูดย่อ ๆ สั้น ๆ มาจากคำว่า “วันญี่ปุ่นยกพลขึ้นบก” นั่นเอง
สมัยที่ผมเป็นเด็ก เมื่อผมจะเดินทางเข้าตัวเมืองนครฯ จากตลาดท่าแพ ผมต้องใช้ถนนสายหลักผ่านค่ายวชิราวุธ
ผ่านวงเวียนอนุสาวรีย์พ่อจ่าดำทั้งเช้าทั้งเย็น ปัจจุบันมีถนนอ้อมค่ายทหารวชิราวุธ หลาย ๆ ท่านที่ผ่านไปบริเวณนั้น อาจจะไม่ได้เห็น”พ่อจ่าดำ”
วันนี้ผมนั่งนึกถึงนิทานที่แม่เคยเล่าให้ฟัง สมัยเป็นเด็ก เราตื่นเต้นกันมาก
แม่เล่าว่า : “จ่าดำ” เป็นทหารที่มีชีวิตจริง ๆ การสู้รบแบบประจันหน้ากับทหารญี่ปุ่นในเช้าวันนั้น
“จ่าดำ” ได้มอบกายถวายชีวิตเพื่อปกป้องรักษาประเทศ
“จ่าดำ” อมพระองค์หนึ่งไว้ในปาก ทำให้เกิดกำลังมากมายในการต่อสู้
“จ่าดำ” ฆ่าทหารญี่ปุ่นได้เป็นจำนวนมาก แต่ทหารญี่ปุ่น ก็ไม่กลัวตายดาหน้าเข้ามาเหมือนน้ำบ่า
“จ่าดำ” สู้แบบเลือดเข้าตา
ตอนหนึ่ง “จ่าดำ” ได้ตะโกนด่าทหารญี่ปุ่นด้วยความโกรธแค้น ทำให้พระหล่นออกไปจากปาก
“จ่าดำ” จึงถูกกระสุนสุนปืนของทหารญี่ปุ่นตาย แต่ด้วยความเป็นชายชาติทหาร
“จ่าดำ” ไม่ยอมล้ม ใช้ดาบปลายปืนค้ำยันตัวเองไว้และยืนตายเหมือนกับที่เห็นในรูปปั้น
เรื่องนี้เท็จจริงอย่างไรอยู่ที่ผู้เล่าขานเป็นตำนานสืบมา
cr : บางตอน Posted by มะอึก , www.oknation.net
สายลุยเตรียมพร้อมก่อนไป “เดินป่า” อ่านจบรู้เรื่อง