ตามประวัติศาสตร์การปกครองได้จารึกไว้ว่า ราวปลายกรุงสุโขทัย ตำบลเขาพังไกรขณะนั้นนับเป็นเมืองที่เก่าแก่เมืองหนึ่ง ซึ่งมีความเจริญทางด้านการเกษตรกรรมและการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งถือเป็นอู่ข้าวอู่น้ำในสมัยนั้น แต่มิได้ระบุต้นกำเนินที่แน่นอน
เพียงแต่ระบุว่าได้มีเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ออกประพาสตามหัวเมืองต่างๆ พร้อมยกขบวนโยธา พรั่งพร้อมด้วย ขุนพล ทหารและ ข้าทาสบริวารในการประพาสครั้งนั้น ตามประวัติศาสตร์ได้จารึกไว้ว่า ขบวนได้ผ่านมาพักแรม ณ เชิงเขา (เขาพังไกรในปัจจุบัน)การประพาสครั้งนั้น ได้อาศัยช้างและม้าเป็นพาหนะ
ระหว่างการพักแรม ช้างที่ใช้ในการเดินทางเกิดล้มป่วยลง ๒ เชือกคือช้างพังไกร ซึ่งเป็นช้างเพศเมีย และช้างพลายดำ ซึ่งเป็นช้างเพศผู้ และช้างตัวเมียก็ได้เสียชีวิตลงสร้างความเสียพระทัยแก่เจ้าเมืองยิ่งนัก จึงพระราชทานนามหมู่บ้านแห่งนี้ว่า บ้านพังไกรตามชื่อช้างเพศเมียที่เสียชีวิต เพื่อสดุดีที่เคยใช้งาน และอยู่เคียงข้างพระวรกายมาช้านานส่วนช้างพลายดำถูกนำกลับไปรักษาตัว ณ สถานที่แห่งหนึ่งทางทิศเหนือ ของเมืองนครศรีธรรมราช (อ.สิชลในปัจจุบัน) และได้เสียชีวิตลงในเวลาต่อมา และได้ตั้งชื่อหมู่บ้านที่ได้นำช้างไปพักรักษาตัวว่า บ้านพลายดำ ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของ อ.สิชล และเรียกขานมาจนถึงปัจจุบัน
ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.๕) ได้มีการจัดตั้งกระทรวงมหาดไทยขึ้น บ้านพังไกรจึงถูกยกฐานะขึ้นเป็น กิ่ง อ.พังไกร และขึ้นตรงต่อเมืองปากพนัง จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๔๓ กิ่ง อ.พังไกรถูกย้ายไปที่ทำการแห่งใหม่ และเปลี่ยนชื่อตามที่ตั้งใหม่ คือ อ.หัวไทร และกิ่ง อ.พังไกร ถูกลดฐานะเป็นตำบล ตั้งชื่อใหม่ว่า ต.เขาพังไกร โดยยึดเอารูปสัญลักษณ์ ภูเขาขึ้นนำหน้าและอยู่ในเขตการปกครองของ อ.หัวไทร สืบมาจนปัจจุบัน
ภาพ – ลุ่มน้ำปากพนัง ผอ.ธวัช ทวีชนม์
สายลุยเตรียมพร้อมก่อนไป “เดินป่า” อ่านจบรู้เรื่อง