“ ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช ประวัติศาสตร์ในสายหมอก ”
เมืองประวัติศาสตร์ พระธาตุทองคำ ชุ่มฉ่ำธรรมชาติ แร่ธาตุอุดม เครื่องถมสามกษัตริย์ มากวัดมากศิลป์ ครบสิ้นกุ้งปู
ชาวจังหวัดนครศรีธรรมราชส่วนใหญ่จะทราบดีว่า นี่คือคำขวัญเมืองนครศรีธรรมราช จากคำขวัญที่ว่าเมืองประวัติศาสตร์นั้น นครศรีธรรมราชมีอะไรบ้างที่แสดงถึงความเป็นเมืองประวัติศาสตร์ เรามีพระธาตุทองคำอยู่หนึ่งองค์ มีกำแพงเมืองเหลืออยู่นิดหนึ่ง นอกนั้นมีโบราณสถานและโบราณวัตถุกระจายอยู่ตามส่วนต่างๆของจังหวัด ซึ่งบางแห่งอยู่ไกลจากสายตาของแขกผู้มาเยือน ทำให้มองอดีตของนครศรีธรรมราชได้ไม่ชัดเจนนัก หลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรแทบจะไม่มีเหลืออยู่เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังพอที่จะค้นควาได้เลยขอแสดงความชื่นชมพี่น้องชาวจังหวัดสงขลาและจังหวัดพัทลุง ที่ยังมีจวนเจ้าเมืองไว้อวดแขกผู้มาเยือน ทั้งๆที่เมืองเหล่านี้คือเมืองที่อยู่ในความปกครองของเมืองนครศรีธรรมราช แต่นครศรีธรรมราชไม่มีสิ่งนี้ อาจจะเป็นเพราะชาวนครศรีธรรมราชเองได้ช่วยกันทำลายอดีตของตนเอง โดยร่วมมือกับผู้มีอำนาจบางคนเพราะความไม่รู้ตัวจึงเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ และเนื่องด้วยประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราชเป็นประวัติศาสตร์ท้องถิ่น จึงขาดผู้สนใจที่จะร่วมกันจัดทำ ไม่เหมือนกับประวัติศาสตร์ระดับชาติที่มีผู้สนใจ ร่วมกันจัดทำอย่างมากมายนครศรีธรรมราชเป็นเมืองเก่าแก่ (นานไปจะเป็นเมืองเก่าเก็บถ้าไม่มีการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม )ที่สุดเมืองหนึ่งในคาบสมุทรมลายู หลักฐานที่พอจะสืบค้นถึงอดีตของเมืองนี้ได้มาจาก ตำนาจาก จดหมายเหตุของชนต่างชาติ จากศิลาจารึก จากคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา และจากประวัติศาสตร์ของชาติไทยบางยุคบางสมัย จึงทำให้ประวัติศาสตร์ของนครศรีธรรมราช ขาดตอนเป็นห้วงๆตามหลักฐานที่ปรากฏ ไม่ต่อเนื่องเป็นโยงใยอย่างสายน้ำ เนื้อหาบางตอนจึงดูเหมือนกระโดดไปกระโดดมาชวนให้เกิดข้อกังขาไม่น้อย กษัตริย์ที่ครองนครศรีธรรมราชในตำนานนี้ก็หาได้เรียงลำดับอย่างถูกต้องแต่อย่างใดก็หาไม่ และกษัตริย์บางพระองค์ก็เหมือนกับมีชีวิตอยู่ในนิยาย และก็เช่นเดียวกันเกี่ยวกับศักราชและปี พ.ศ.ต่างๆที่ปรากฏในตำนานนี้ ขออย่าได้ถือเป็นสรณะ ขอเพียงแต่เป็นเค้าเงื่อนในการสืบค้นเท่านั้น สำหรับความจริงและความเชื่อถือเกี่ยวกับตำนานเล่มนี้ ผู้เรียบเรียงไม่รับรองเพราะเป็นการค้นคว้าอดีตของนครศรีธรรมราชมาเสนอเท่านั้น ส่วนท่านผู้อ่านจะคิดอย่างไร ขอให้อยู่ในดุลยพินิจของท่านเอง ผู้เรียบเรียงจึงตั้งชื่อหนังสือเล่มนี้ว่า “ ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช ประวัติศาสตร์ในสายหมอก “
ขอขอบคุณทุกท่านที่ได้อ่านประวัติศาสตร์ในสายหมอกเล่มนี่จนจบ หากท่านมีข้อท้วงติง เสนอแนะในทางสร้างสรรค์ ผู้เรียบเรียงขอน้อมรับไว้ด้วยความเคารพ และต้องขอขอบคุณต่อท่านผู้มีพระคุณทุกท่านที่ผู้เรียบเรียง ได้อ้างอิงเอาข้อคิดข้อเขียนของท่านมาเรียบเรียงเป็นหนังสือเล่มนี้ สำหรับจุดประสงค์ในการเรียบเรียงหนังสือเล่มนี้ขึ้นมิใช่เพื่องานทางวิชาการแต่อย่างใด แต่เพียงเพื่อแจกจ่ายในงานฌาปนกิจศพของข้าพเจ้าเท่านั้น หากท่านผู้อ่านมีข้อสงสัยที่จะถกเถียง ข้าพเจ้าขอบอกว่า ข้าพเจ้าไม่มีเวลาสำหรับเรื่องนี้ให้กับท่าน เพราะบัดนี้ข้าพเจ้าได้ลาโลกนี้ไปแล้ว
สุนทร ธานีรัตน์
ผู้เรียบเรียง มกราคม ๒๕๔๖
สุวรรณภูมิในอดีต ในสมัยกึ่งประวัติศาสตร์
นครศรีธรรมราชและสุวรรณภูมิได้มีชื่อปรากฏเป็นหลักฐานขึ้นในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๗–๑๐ เริ่มต้นจากปรากฏเนื้อความกล่าวพาดพิงถึงดินแดนแห่งนี้ ในเอกสารโบราณของอินเดียในคัมภีร์มหานิเทศ ชึ่งแต่งในราวพุทธศตวรรษที่๗ ได้กล่าวถึงเมืองชายทะเลที่สำคัญแห่งหนึ่งมีความตอนหนึ่งว่า “……เมื่อแสวงหาโภคทรัพย์ ย่อมแล่นเรือไปในมหาสมุทร ไปคุมพะ(ติคุมพะ) ไปตักโกละ ไปตักศิลา ไปกาลมุข ไปมรณปาระ ไปเวสุงคะ ไปเวรบถ ไปชวา ไปกะมะลิง ไปวังกะ (วังคะ) ไปเวฬวัททนะ (เวฬุพันธนะ) ไปสุวรรณกูฎ ไปสุวัณณภูมิ ไปตัมพปาณนิ ……”
ในบรรดาเมืองเหล่านี้ ปรากฏว่ามีชื่อเมืองที่เกี่ยวข้องในดินแดนสุวรรณภูมิอยู่ ๓ เมืองคือ
๑. เมืองตักโกละ (เมืองตะกั่วป่า) นับเป็นเมืองชายทะเลที่เปิดทำการค้าขายกับชนต่างชาติ มานานในอดีต ชาวโรมันในสมัยราชวงศ์ปโตเลมีแห่งอาณาจักรอเล็กชานเดรียในอิยิปต์ เคยแล่นเรือมาทำการค้าขายกับเมืองนี้ ได้เรียกชื่อเมืองนี้เพี้ยนไปเป็น ตักโกละ (Takola) ซึ่งในราวพุทธศตวรรษที่ ๘๐๐ ชาวโรมันได้เคยแล่นเรือมาทำการค้าขายในดินแดนแถบนี้ โดยได้พบซากหัวเรือ โลหะโบราณและตะเกียงชาวโรมันในลำน้ำสายหนึ่ง ซึ่งเชื่อมโยงมาจากเมืองตะกั่วป่า ทำให้พออนุมานได้ว่า เมืองตะกั่วป่าเป็นเมืองท่าที่สำคัญที่เปิดประตูไปสู่สุวรรณภูมิในอดีต
๒. กะมะลิง (ตะมะลิง) เป็นชื่ออีกชื่อหนึ่งที่ชาวอินเดียรู้จักในามของเมืองนครศรีธรรมราช ท่านศาสตราจารย์ ปรณะวิตานะ(Paranavitana) นักปราชญ์ชาวลังกามีความเห็นว่า คำว่า ตมะลิ(Tamali) บวกกับคำว่า คัม(Gam) เป็นคำว่า ตมลิงคัม(Tamalingam) หรือ ตมลิงคม(Tamlingama) ซึ่งเป็นคำในภาษาสิงหล ตรงกับคำว่า ตามพรลิงค์ในภาษาสันสกฤต อันเป็นชื่อของเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นเมืองท่าที่มีความสำคัญในอดีต
โดยเฉพาะเป็นการเรียกชื่อของชาวอินเดีย 3. สุวัณณภูมิ คำว่าสุวรรณภูมิเป็นชื่อดินแดนที่เป็นที่รู้จักดีของชาวอินเดียในอดีต ซึ่งเดินเรือมาทำการค้าขาย กล่าวกันว่าเป็นดินแดนแห่งทองคำ คงจะเป็นดินแดนที่มีความอุดมสมบูรณ์ ทำมาหากินคล่องหาทรัพย์สมบัติได้ง่าย เลยเรียกว่าสุวรรณภูมิ ในหนังสือชินกาลมาลินีซึ่งแต่งโดยพระรัตนปัญญาเถระชาวเชียงราย ได้กล่าวถึงเมืองสุวรรณภูมิซึ่งมีชาวอินเดียแล่นเรือมาแสวงหาทองคำเหมือนกัน
ในหนังสือทศชาติตอนพระมหาชนกได้กล่าวถึงเมืองสุวรรณภูมิใจความว่าได้นำเรือไปทำการค้าขายที่สุวรรณภูมิเช่นกัน แต่เรือได้อับปางกลางทะเลเสียก่อนมีพระมหาชนกองค์เดียวที่รอดชีวิต ซึ่งดินแดนสุวรรณภูมินี้ทำให้พอทราบเค้าเงื่อนได้ว่า ชนชาวอินเดียนิยมแล่นเรือมาทำการค้าขายแสวงหาโชคลาภมานานแล้วแห่งหนึ่งในหลายๆแห่ง เมื่อราว พ.ศ.๖๐๐ มาก่อนแล้วปัญหาต่อไปอยากทราบว่าชนชาวสุวรรณภูมิที่แท้จริงเป็นเจ้าของดินแดนแห่งนี้คือใคร ตามข้อสันนิษฐานทางประวัติศาสตร์หลายๆฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่า ชนชาวไทย (แต่ไม่ได้เรียกตนเองว่าไทยและได้ใช้ภาษาพูดอย่างที่พูดอยู่ในปัจจุบันนี้) และละว้าได้อาศัยอยู่ในดินแดนแถบนี้มานานแล้ว สมัยก่อนพุทธกาลร่วม ๕๐๐๐–๖๐๐๐ ปี โดยได้อาศัยกันอยู่เป็นเผ่าๆหลายๆเผ่าเป็นอิสระไม่ขึ้นต่อกัน
และใช้ภาษาพูดอย่างที่พูดกันในปัจจุบันนี้แหละเป็นภาษาที่ใช้พูดกัน และได้ตั้งอาณาจักรของตนเองขึ้น เช่นอาณาจักรแถน ตั้งอย่แถบทะเลสาปหนองแส อาณาจักรจุลนีในเขตประเทศเวียตนาม ต่อมามีอาณาจักรโยนก(เป็นที่ตั้งจังหวัดเชียงแสนปัจจุบัน) อยู่ต่อมามีคนไทยกลุ่มหนึ่งได้อพยบไปทำมาหากินทางเหนือจนถึงประเทศจีน ต่อมาถูกจีนรุกรานจนต้องถอยกลับมาอย่ที่เก่าเป็นสายไทยใหญ่และไทยน้อย ซึ่งชนชาวไทยยุคนั้นนับถือผีเป็นสรณะ ยุคต่อมาพระพุทธศาสนาได้อุบัติขึ้นในอินเดีย พระพุทธศาสนาได้แผ่ขยายตัวมายังดินแดนสุวรรณภูมิแห่งนี้ตั้งแต่ครั้งพุทธกาลโน้นแล้ว
และพระพุทธองค์เองได้เสด็จมายังสุวรรณภูมิหลายครั้งเพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนา ซึ่งมีอยู่ครั้งหนึ่งที่พระพุทธองค์ได้เสด็จมาโปรดฉัพพรรณฤาษีณสุวรรณบรรพตโดยเฉพาะ และก่อนที่พระพุทธองค์เสด็จกลับ ฉัพพรรณฤาษีได้ทูลขอสิ่งที่เป็นตัวแทนพระพุทธองค์เพี่อไว้เป็นที่สักการะ พระพุทธองค์จึงได้อธิษฐานรอยพระบาทไว้ที่ภูเขาลูกนั้น และในปัจจุบันนี้คิอรอยพระพุทธบาทที่จังหวัดสระบุรี แต่พระพุทธบาทองค์จริงรองรับอยู่ข้างล่าง ถูกพระพุทธบาทจำลองสร้างทับไว้ด้านบนเพี่อกันพระพุทธบาทองค์จริงถูกทำลาย พระภิกษุที่พระพุทธองค์ส่งมาเผยแพร่พระพุทธศาสนามายังสุวรรณภูมิในยุคนั้น ส่งมารวม ๕ สายด้วยกันดังนี้.
สายที่ ๑. เป็นสายที่พระมหากัสสปะเป็นหันหน้า คณะ ควบคุมการเผยแพร่พระศาสนาในเขตประเทศจีน และพระมหากัสสปะองค์นี้ได้เป็นประธานในการสร้างพระธาตุพนมในประเทศไทย ตามตำนานพื้นเมืองอีสานตอนหนึ่งกล่าวไว้ว่า “…..พระธาตุพนมซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดนครพนมนั้น พระมหากัสสปะเถระเจ้าพร้อมด้วยพระอรหันต์ ๕๐๐ รูป เป็นประธานได้สร้างขึ้นเมื่อวันเพ็ญเดือน ๑๒ พุทธศักราชล่วงไปได้ ๗ ปี ๗ เดือน….” และได้อัญเชิญพระอุรังคธาตุมาบรรจุที่ฐานพระเจดีย์ซึ่งกว้าง ๑๗ วา สูง ๒๕ วา ๒ ศอก ๘ นิ้ว ซึ่งจังหวัดนครพนมปัจจุบันในยุคนั้นคือ อาณาจักรโคตรบูรณ์ โดยมีนครเรณูเป็นราชธานี ยุคนั้นเป็นยุคที่ละว้า ต่อมาเมื่อพวกขอมเป็นใหญ่ เลยเปลี่ยนเป็นนครพนมมาจนทุกวันนี้
ในการสร้างพระธาตุพนมในครั้งนั้น มีพระราชา ๕ นครเป็นผู้อุปถัมภ์ในการสร้างคือ
๑. นครโคตรบูรณ์ หรืออำเภอเรณูในจังหวัดนครพนมในปัจจุบัน
๒. นครจุลนี นครนี้สร้างในราว พ.ศ. ๒๕๐ ต่อมาได้ถูกพวกเวียตนามทำลาย และได้ตั้งชื่อใหม่ว่า ตังเกี๋ยอันมีฮานอยเป็นเมืองหลวง
๓. นครสังขปุระ ต่อมาในราว พ.ศ. ๑๔๓๒ พระเจ้ายโสวรมันได้เปลี่ยนเป็นกัมพูปุระ หรือยโสธรปุระ ต่อมาในราว พ.ศ. ๑๔๘๗ พระเจ้าราเชนทร์วรมันที่ ๒ ได้เปลี่ยนชื่อเป็นนครทม ถัดมาในราว พ.ศ.๑๖๕๕–๑๗๐๕ ในสมัยของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ (พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์)นครวัดได้สร้างขึ้นในราว พ.ศ. ๑๖๒๘ หรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่านครอินทปัตถ์ ( ชื่อนี้พบในตำนานเมืองนครศรีธรรมราช )
๔. นครหนองหารหลวง คือจังหวัดสกลนครในปัจจุบัน
๕. นครหนองหารน้อย ปัจจุบันคือตำบลน้ำฆ้องในเขตอำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดร
ในครั้งที่พระมหากัสสปเถระ มาเป็นประธานในการสร้างพระธาตุนครพนมนั้น เป็นยุคของพวกละว้าและไทยเป็นใหญ่มาก่อนขอม และมีอาณาจักรใหญ่อยู่ ๔ อาณาจักรคือ
๑. อาณาจักรโคตรบูรณ์ คืออำเภอเรณูในปัจจุบัน
๒. อาณาจักรสยัมภูปุระ หรือสยามมีนครชะเลียงหรือสวรรคโลกเป็นราชธานี
๓. อาณาจักรทวาราวดี คือนครปฐมในปัจจุบัน
๔, อาณาจักรโยนก -เชียงแสน (ยางคปุระ)มีนครเงินยางหรือนครเชียงลาวเป็นราชธานี และอาณาจักรนี้เป็นต้นเค้าของอาณาจักรเชียงแสน
สายที่ ๒. เป็นสายที่มีพระโมคคัลลานเถระเป็นหัวหน้าคณะ ควบคุมการเผยแพร่พระศาสนาในเขตทางภาคเหนือของประเทศไทยไปจนจดเมืองเชียงตุง
สายที่ ๓. เป็นสายที่มีพระมหากัจจายนะกับพระอนุรุทธเถระเป็นหัวหน้าคณะ ควบคุมการเผยแพร่พระศาสนาตั้งแต่เขตสุพรรณบุรี มานครปฐม ราชบุรีมาจนถึงประจวบคีรีขันธ์
สายที่ ๔. เป็นสายที่มีพระโสณกัณณะเป็นหัวหน้าคณะ ควบคุมการเผยแพร่พระศาสนาตั้งแต่เขตชุมพรถึงสุราษฎรธานี
สายที่ ๕. เป็นสายที่อยู่ในความรับผิดชอบของพระลูกศิษย์ผู้เป็นหัวหน้าสายทั้ง ๔ สายที่ได้กล่าวมาแล้ว ควบคุมการเผยการเผยแพร่การแพร่พระศาสนาตั้งแต่เขตนครศรีธรรมราชไปถึงเขตมลายูส่วนการเผยแพร่พระพุทธศาสนาในสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช โดยทำตามคำเสนอแนะของพระโมคคัลลีบุตรเถระ ให้ส่งสมณะเป็นฑูตไปเผยแพร่พระศาสนายังประเทศต่างๆ โดยอาศัยพระบรมราชูปถัมภ์จากพระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งย่อมทำได้ง่ายและสะดวกด้วยอาศัยอนุภาพแห่งพระองค์
สำหรับสายสุวรรณภูมิซึ่งนำโดยพระอุตตระเถระและพระโสณะเถระนั้นทำได้ง่ายและสะดวก เพราะมีพระและมีวัดวาอารามอยู่เป็นปึกแผ่นแล้วก่อนหน้านี้ร่วม ๒๐๐ ปี ในการเผยแพร่ในครั้งนี้เป็นการนำเอาพระไตรปิฏกมายืนยันในหลักคำสอนของพระพุทธองค์ให้แก่ชาวพุทธในดินแดนแถบนี้ทราบ ทำให้เกิดศรัทธาแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และใช้เป็นหลักในการปฏิบัติที่เป็นแบบแผนที่ถูกต้องต่อไป
ต่อมามีชนชาวอินเดียได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานมากขึ้นเรื่อยๆมากันหลายครั้งหลายคราทำให้มีอิทธิพลเหนือชาวท้องถิ่นที่อาศัยอยู่เดิม จากศิลาจารึกและจากการสันนิษฐานจากศิลปวัตถุที่หลงเหลืออยู่ ทำให้สันนิษฐานได้ว่า ทั้งขอมและมอญโบราณแห่งอาณาจักรทวาราวดีเป็นชนชาติอินเดียเชื้อสายมิลักขะ(DRAVIDIAN) ซึ่งอพยพมามาจากทางตอนใต้ของอินเดีย ซึ่งในปัจจุบันนี้ยังมีชนชาตินี้เป็นเชื้อสายเดียวกันกับพวกขอมที่เหลืออยู่ในอินเดีย คือพวกโกลและพวกมูณฑ์ซึ่งใช้ภาษาเดียวกันคืออักษรมอญโบราณใช้อักษรคฤนถ์ ส่วยอักษรขอมโบราณใช้อักษรเทวนาครี
ทั้งสองภาษานี้มีรากเง่ามาจากภาษาเดียวกันนักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่า ชนชาติอินเดียพวกนี้ได้อพยพมาจากแคว้นกลิงคราษฎร์(โอริสสา)และแคว้นต่างๆในเบงกอล เข้ามาสู่สุวรรณภูมิด้วยกันหลายวาระ สำหรับวาระแรกน่าจะอพยพมาจากกลิงคราษฎร์ในราว พ.ศ.๒๐๐ – ๓๐๐ เมื่ออโศกมหาราชได้แผ่แสนยานุภาพไปทั่วอินเดีย และพวกนี้ได้ตั้งอาณาจักรขึ้นเป็นปึกแผ่นในราว พ.ศ.๖๔๐–๑๐๙๐ คืออาณาจักรฟูนันหรือฟูนาน อาณาจักรนี้มีอาณาเขตตั้งแต่บริเวณทางทิศใต้ของประเทศจีนไปจนจดเขตการปกครองของอาณาจักรศรีวิชัย
และทางทิศตะวันออกจากทะเลจีนไปจนจดมหาสมุทรอินเดีย อาณาจักรนี้มีราชวงศ์ขอมปกครองอยู่ถึง ๑๗ ราชวงศ์และมีกษัตริย์ขอมปกครองอยู่ไม่น้อยกว่า ๓๒ พระองค์เป็นระยะเวลานานถึงเกือบ ๑๐๐๐ ปี ซึ่งปรากฏในจดหมายเหตุของหลวงจีนอี้จิงซึ่งได้จาริกมาในราว พุทธศตวรรษที่ ๑๓ ว่า “ ……แต่ก่อนฟูนันรุ่งเรืองแต่เดี๋ยวนี้ถูกทำลายโดยพวกเจนละ……” ในราว พ.ศ. ๑๐๙๐–๑๑๐๐
ส่วนอาณาจักรอีกอาณาจักรหนึ่งคืออาณาจักรทวาราวดีก็เป็นการตั้งอาณาจักรของชนชาวอินเดียที่ได้อพยพมาในระยะแรกๆเช่นกันอาณาจักรรุ่งเรืองอยู่ที่นครปฐมในราว พ.ศ.๖๖๓–๑๒๐๐ อินเดียพวกนี้ได้ผสมเชื้อชาตกับชาวสุวรรณภูมิ จนทำให้ พบหลักฐานบางอย่างทำให้เข้าใจว่าอาณาจักรทวาราวดีเป็นของไทย ซึ่งชาวอินเดียแหล่งอื่นมักเรียกคนที่อยู่ในแถบนี้ว่าเป็นคนสุวรรณภูมิหรือพูดภาษาสุวรรณภูมิ ส่วนชาวอินเดียที่อพยพมาในระยะที่ ๒ นั้นมาจากแคว้นปัลละวะและได้ขึ้นฝั่งตั้งรกรากที่ตะกั่วป่าก่อนในราว พ.ศ.๑๑๐๐ ต่อมามีชาวอินเดียอพยพมาตั้งรกรากมากขึ้น จึงได้ขยายตัวไปตั้งถิ่นฐานใหม่ที่เมืองครหิ(ไชยา) และได้ขยายตัวเป็นอาณาจักรใหญ่โตเป็นอาณาจักรศรีวิชัย โดยมีพระเจ้าไศเลนทรเป็นกษัตริย์ต้นราชวงศ์ อาณาจักรนี้ต่อมาได้แผ่ขยายไปตลอดแหลมมลายูและเลยไปจนถึงชวา แม้นครศรีธรรมราชเองก็ตกอยู่ในอำนาจของอาณาจักรนี้ในนามของเมืองตามพรลิงค์ ในระยะแรกๆอาณาจักรนี้รุ่งเรืองมาก มีชนชาติต่างๆมาทำการติดต่อค้าขายมากมาย แม้นพวกอาหรับ เปอร์เซียก็มาทำการติดต่อค้าขาย และกล่าวกันว่ากลาสีซินแบดซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวเผชิญโชคทางทะเลก็เคยเข้าเฝ้ากษัตริย์ในราชวงศ์ไศเลนทรด้วยเช่นกัน
เป็นที่น่าเชื่อถือได้ว่าดินแดนในแถบนี้เป็นที่อยู่ของชนชาติไทยและละว้ามาก่อน มีอาณาจักรโบราณเป็นของตนเอง เช่นอาณาจักรแถน อาณาจักรจุลนีและต่อมามีอาณาจักรใหม่เกิดขึ้นตามมาอีก เช่นอาณาจักรโยนก อาณาจักรศรีสัชนาลัย-สุโขทัย อาณาจักรอโยธยา อาณาจักรล้านนา แต่อาณาจักรดังกล่าวนี้ถูกบดบังด้วยอนุภาพของขอม จึงไม่เด่นในหน้าประวัติศาสตร์ ชนชาติขอมนั้นมีอารยธรรมสูงเพราะอพยพมาจากอินเดีย จึงได้สร้างทั้งอาณาจักรและศาสนาจักร โดยอาศัยเอาศาสนาทั้งพราหมณ์-ฮินดูและพุทธมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง อ้างเอาความศรัทธาและความภักดีในศาสนา จึงสามารถโน้มน้าวจิตใจชาวพื้นเมืองได้ง่ายจนต้องอยู่ในอำนาจของขอม ในระหว่างที่ขอมมีอิทธิพลในช่วงนั้นได้บังคับคนไทยหลายอย่าง เช่นให้นุ่งผ้าโจงกระเบน และเป็นไปได้หรือไม่ว่าในการสร้างปราสาทหินต่างๆ ขอมได้บังคับเอาชนชาวพื้นเมืองไปเป็นแรงงานในการสร้าง
นั่นแสดงว่าปราสาทหินต่างๆที่ปรากฏอยู่ใขณะนี้ส่วนหนึ่งเป็นฝีมือการสร้างของคนไทยและละว้า ซึ่งเป็นเจ้าของถิ่นเดิมถูกบังคับให้ทำงานเยี่ยงทาษโดยมีขอมเป็นวิศวกรเมื่อถูกบังคับมากเข้าคนไทยเจ้าของถิ่นเดิมเริ่มคิดกู้อิสระภาพให้แก่ตนเอง ดังปรากฏในศิลาจารึกว่าขอมเคยถูกคนไทยได้ทำการยึดอำนาจหลายครั้งเช่นที่ลพบุรี ทำให้ขอมเริ่มเกรงกลัวคนไทยและประจบไทยมากขึ้นโดยการแต่งตั้งให้คนไทยดำรงตำแหน่งกมรเต็งอันผาเมือง ซึ่งเป็นตำแหน่งหนึ่งของขอมโดยตรง และยังยกพระธิดาให้เป็นคู่ครองให้แก่ผู้ที่ดำรงตำแหน่งนี้ด้วย ซึ่งนโยบายนี้ในตอนแรกทำให้คนไทยแตกแยกกันเอง คือมีทั้งพวกประจบสอพลอขอมและพวกไม่ยอมเป็นทาสขอม โดยเฉพาะคนไทยในแถบล้านนา แถบภาคกลางของสุวรรณภูมิไม่ยินดีกับสิ่งเหล่านี้ จึงได้รวมตัวกันกอบกู้เอกราชพร้อมกันทั้ง ๓ อาณาจักร คืออาณาจักรล้านนา อาณาจักรศรีสัชนาลัย-สุโขทัยและอาณาจักรอู่ทองเพราะทนต่อการกดขี่จากพวกขอมไม่ไหว ดังปรากฏความในหนังสือของเจียวต้ากวน ซึ่งได้ไปเที่ยวนครธมในปี พ.ศ.๑๘๔๐ ได้บรรยายสภาพของขอมที่แท้จริงว่า”…..ชนชั้นผู้ดีเช่นขุนนางและเศรษฐีนั้น มีข้าทาสใช้สอยเป็นเรือนร้อย ขนาดชนชั้นกลางยังมีทาสได้ตั้งแต่ ๑๐–๒๐ คนขึ้นไป ทาสเหล่านี้เป็นคนพื้นเมือง…..”
ชนพื้นเมืองเหล่านี้คือส่วนหนึ่งเป็นคนไทยในยุคนั้น และส่วนหนึ่งเป็นชาวป่าชาวเขาที่เคยอยู่กับคนไทย เช่นพวกเงาะสายนีกรอยซึ่งมีอยู่ทั่วไป พวกขอมได้จับเอามาทำทาสและบางพวกยังพูดภาษามนุษย์ไม่ได้เลยก็มี วีรกรรมกู้ชาติของไทยก็เริ่มขึ้นโดยพ่อขุนบางกลางหาวเป็นเจ้าเมืองบางยาง และพ่อขุนผาเมืองเป็นเจ้าเมืองราด ได้รวมกำลังกันเข้ายึดอำนาจขอมได้สำเร็จ โดยโขลญลำพงผู้กล้าหาญของขอมได้ต่อสู้จนเสียเมืองสุโขทัยและตายในที่รบ พ่อขุนผาเมืองยกทัพเข้าเมืองได้ก่อนแล้วมอบเมืองให้พ่อขุนบางกลางหาว แต่พ่อขุนบางกลางหาวไม่ยอมเข้าไปในเมือง แสดงว่าแม้ว่าร่วมใจกันกู้เอกราชก็จริงแต่เมื่อรบชนะแล้วยังไม่ไว้ใจกันเท่าไรนัก ต้องรอให้พ่อขุนผาเมืองยกทัพออกมานอกเมืองจนหมดสิ้นเสียก่อน พ่อขุนบางกลางหาวจึงยอมเข้าเมือง และได้รับ การแต่งตั้ง โดยสหายได้มอบตำแหน่ง” กมรเต็งอันผาเมือง “ เป็นตำแหน่งที่ขอมตั้งให้พร้อมมอบพระขรรค์ไชยศรี จากนั้นพ่อขุนผาเมืองก็ไปครองเมืองศรีสัชนาลัย ส่วนพ่อขุนบางกลางหาวก็ครองเมืองสุโขทัย อาณาจักรใหม่แห่งนี้จึงได้ชื่อว่าอาณาจักรศรีสัชนาลัย-สุโขทัย
จากการกู้อิสระภาพจากขอมจนได้ชัยชนะอย่างเด็ดขาดในราวพ.ศ.๑๘๐๐ในครั้งนี้ เป็นที่ชื่นชมยินดีแก่ชาวไทยโดยทั่วไป จนบางเมืองก็พยายามกอบกู้เอกราชขึ้นบ้าง แต่บางเมืองก็ไม่พอใจด้วยเกรงว่าเมืองที่มีเอกราชแล้วจะแผ่อำนาจไปรุกรานตนดังนั้นพ่อขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดซึ่งมีความระแวงต่อสุโขทัยว่าจะไปรุกรานตน จึงได้ยกทัพมาประชิดสุโขทัยจนทำให้เกิดสงครามยุทธหัตถีขึ้นที่จังหวัดตาก กองทัพของศรีสัชนาลัย-สุโขทัยชนะ ในการสงครามครั้งนี้ทำให้เกิดวีรบุรุษขึ้น คือพ่อขุนรามคำแหง หลังจากนั้นไม่นานพ่อขุนเม็งรายซึ่งครองเมืองเชียงแสนก็เอาใจออกห่างจากขอมด้วย โดยได้มาสร้างเมืองเชียงใหม่ขึ้นอีกเมืองหนึ่ง โดยได้เชิญพ่อขุนรามคำแหงและพ่อขุนผาเมืองมาร่วมกันวางผังเมืองโดยขอมทำอะไรไม่ได้เลย ส่วนอาณาจักรไทยทางตอนใต้ก็เริ่มสร้างเมืองขึ้นมาใหม่ โดยพระเจ้าอู่ทองได้แยกเมืองจากที่แห่งเดิมมาสร้างกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยาเมื่อปี พ.ศ. ๑๘๙๓ ทำให้ขอมอ่อนอำนาจลงทุกทีจนทำให้เกิดสงครามใหญ่ระหว่างไทยกับขอมเมื่อปี พ.ศ.๑๙๑๖ โดยขุนหลวงพะงั่วแห่งอาณาจักรทวาราวดีศรีอยุธยาเป็นผู้พิชิตจนขอมยอมขึ้นติ่อไทย แต่ต่อมาไม่นานนักขอมก็กู้อิสระภาพได้อีก เจ้าสามพระยากษัตริย์องค์ต่อมาก็ยกทัพไปปราบขอมอีกในปี พ.ศ.๑๙๗๔ ชนิดทำลายขอมจนสิ้นชาติ ได้กวาดต้อนชนชาติขอมออกจากกัมพูชาจนหมดสิ้น และได้มอบหมายให้คนไทยที่เคยรับราชการอยู่กับขอมให้ทำการปกครองแทน ส่วนทรัพย์สมบัติต่างๆของขอมได้ขนมาไว้ที่กรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยาจนหมดสิ้น สงครามครั้งนี้ทำให้ขอมสูญชาติพันธุ์ต่างหนีกระจัดกระจายเอาตัวรอดไม่สามารถรวมตัวกันเพื่อทำการกู้ชาติได้อีกเลย แม้ในปัจจุบัน พ.ศ.๒๕๔๖ ทีนครศรีธรรมราชยังสามารถสืบหาลูกหลานเผ่าพันธุ์ขอมที่หนีรอดตายมาได้ในครั้งนั้นได้อีกด้วย
ภูมิหลังของนครศรีธรรมราช
อาจารย์ประทุม ชุ่มเพ็งพันธ์ ได้เสนอความเห็นเกี่ยวกับเมีองนครศรีธรรมราช หรือเมืองตามพรลิงค์ในอดีตไว้ว่า นับถึงปัจจุบันยังมีเรื่องราวที่สับสนและไม่กระจ่างอยู่เป็นอันมาก ทั้งนี้อาจจะเป็นด้วยเหตุผล ๒ ประการคือ
๑. ข้อมูลอันเป็นหลักฐานที่สำคัญมีน้อย และนักวิชาการทางโบราณคดีที่สนใจที่จะค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องทางภาคใต้มีน้อยมาก
๒. นักวิชาการและนักโบราณคดีเองในหมู่นักวิชาการระดับชาติ ก็ยังเกิดความเข้าใจในบางเรื่องบางประการ ที่พากันคิดไปว่า เรื่องไดถ้าไม่ใช่เรื่องของสุโขทัย ศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงเทพฯแล้ว ถือเป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ท้องถิ่นหมด (ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ของชาติไทย) ซึ่งเป็นเรื่องที่แบ่งแยกที่ง่ายเกินไปอาจารย์ประทุม ชุ่มเพ็งพันธ์ ยังได้เสนอความเห็นเกี่ยวกับเมืองนครศรีธรรมราช หรืออดีตคือตามพรลิงค์ไว้ดังนี้
ที่ตั้งเมืองตามพรลิงค์
๑. เมืองหลวง เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการชาวไทยและชาวต่างประเทศว่า เมืองหลวงของอาณาจักรตามพรลิงค์ ตั้งอยู่ในบริเวณอันเป็นที่ตั้งของจังหวัดนครศรีธรรมราชปัจจุบันนี้ ตั้งอยู่ที่ เส้นลองติจูดที่ ๙๙ องศา ๕๘ ลิปดา ๑๗.๕ ฟิลิปดาตะวันออกและเส้นละติจูดที่ ๘ องศา ๒๕ ลิปดา ๑๒.๕ ฟิลิปดา เหนือ ตัวเมืองตั้งอยู่บนหาดทรายชายทะเลซึ่งเรียกว่าหาดทรายแก้ว และหาดทรายแก้วแห่งนี้มีลักษณะเป็นสันดอนทรายที่เกิดขึ้นทางฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย
เป็นแนวยาวขนานกันไปกับทะเลคล้ายเป็นกำแพงธรรมชาติ ซึ่งมีความยาวเท่าที่ปรากฏในปัจจุบันประมาณกว่า ๑๐๐ กิโลเมตรโดยเริ่มจากอำเภอสิชล ไล่มาทางอำเภอท่าศาลา อำเภอเมือง อำเภอเชียรใหญ่ และสันทรายนี้จะไปสิ้นสุดที่เกือบจะถึงคลองการะเกด ในเขตอำเภอเชียรใหญ่ บางตอนมีสันทรายแยกกันถึง ๒-๓ แนว มีลักณะคล้ายลูกคลื่นสันทราย เฉพาะบริเวณตำบลท่าเรือและสันทรายแนวหลังค่ายวชิราวุธ สันทรายมีขนาดใหญ่พอๆกันกับสันทรายอันเป็นที่ตั้งของเมืองนครศรีธรรมราชในปัจจุบัน
ที่ตั้งของตัวเมืองหลวงของอาณาจักรตามพรลิงค์ มีการโยกย้ายหลายครั้ง จากหลักฐานทางโบราณคดีแสดงให้เห็นลักษณะการตั้งเมืองดังนี้
๑.๑ เมืองบ้านท่าเรือ เป็นที่ตั้งเมืองในยุคแรก(ไม่นับในสมัยที่บ้านเมืองเดิมตั้งอยู่ที่สูงในเขตอำเภอลานสกา) เมืองบ้านท่าเรือตั้งอยู่ในทำเลที่เหมาะต่อการติดต่อค้าขายทางทะเล มีลำน้ำออกสู่ทะเลได้สะดวก เรือเดินทะเลขนาดเล็กสามารถเดินเข้ามาถึงตัวเมืองบ้านท่าเรือได้โดยสะดวก
๑.๒ เมืองพระเวียง เป็นเมืองหลวงยุคที่ ๒ มีขนาดใหญ่กว่าเมืองในยุคแรก ลักษณะของเมืองมีกำแพงใหญ่แข็งแรงล้อมรอบ มีที่ทำการเพาะปลูกมากกว่าเมืองในยุคแรกที่สำคัญคือ อยู่ในชัยภูมิที่สามารถป้องกันเมืองจากศัตรู หรือโจรสลัดทางทะเลได้ดีกว่าเมืองในยุคแรก โบราณวัตถุที่พบในเมืองพระเวียง มีอายุอยู่ในสมัยของอาณาจักรศรีวิชัยตอนกลางหรือตอนปลาย และมีโบราณวัตถุถัดต่อมาในสมัยอยุธยาตอนต้นด้วย
๑.๓ เมืองนครศรีธรรมราช เป็นที่ตั้งเมืองยุคที่ ๓ คือบริเวณศาลากลางจังหวัดในปัจจุบันนี้ เป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดมากกว่าเมืองในยุคแรกๆ คงสร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย หรืออยุธยาตอนต้นๆ เหตุที่ย้ายจากเมืองพระเวียงเพราะถูกพวกมลายูรุกรานเข้ามาทำลายเมือง อีกประการหนึ่งข้าศึกทางทะเลมารุกรานอยู่เสมอ และเส้นทางที่ออกทะเลของเมืองใหม่นี้ก็สะดวก โดยใช้คลองท่าซัก และยังสามารถติดต่อกับชุมชนที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเมือง
ซึ่งสะดวกต่อการปกครอง เช่นเมืองสิชล เมืองเทพราช โบราณวัตถุที่ขุดพบในเมืองนครยุคนี้มีอายุตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงสมัยอยุธยาชุมชนโบราณที่สำคัญมีอยู่หลายแห่ง เช่นชุมชนวัดเจดีย์หลวง วัดใน ในอำเภอขนอม และมีชุมชนวัดนาขอม วัดเบิก วัดท่าควาย วัดใหม่ ในเขตอำเภอสิชล โดยเฉพาะในอำเภอสิชลมีทรากเทวาลัยอยู่บนภูเขาในบ้านเขาคา
นับเป็นเทวาลัยแห่งเดียวที่พบในจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งอยู่ตลอดสันเขา บริเวณแห่งนี้นับเป็นชุมชนใหญ่และสำคัญในอดีต คงจะก่อสร้างในยุคแรกๆ หรืออาจะก่อนตั้งเมืองท่าเรือก็ได้ นอกจากนั้นยังมีชุมชนวัดนางตรา วัดโมคลานในท้องที่อำเภอท่าศาลาอีกด้วย
๒. เมืองรอง เมืองรองหรือเมืองลูกหลวงของตามพรลิงค์มี ๒ เมืองคือ
๒.๑. เมืองไชยา ในยุคต้นๆจากจดหมายเหตุของจีนพบว่า เมืองไชยากับตามพรลิงค์เป็นอิสระแก่กัน มีฐานะเป็นเมืองพี่เมืองน้อง ต่อมาในยุดหลังจากหลักฐานในศิลาจารึกพบว่า เมืองไชยาขึ้นกับตามพรลิงค์ในฐานะเมืองอุปราช เป็นหัวเมืองชั้นนอกในยุคกลางในสมัยที่อาณาจักรตามพรลิงค์อยู่ในอำนาจของอาณาจักรทะเลใต้
เมืองไชยาก็อาจจะเป็นศูนย์กลางอำนวยการในการปกครองของราชวงศ์ไศเลนทรก็เป็นได้ แต่อาณาจักรตามพรลิงค์ยังคงอยู่และพร้อมที่จะตั้งตนเป็นอิสระหลักฐานทางโบราณคดีแสดงให้เห็นว่า เมืองไชยาและตามพรลิงค์มีวัฒนธรรมอย่างเดียวกันมาแต่โบราณ ศิลปวัตถุโบราณบางอย่างที่ขุดพบในเมืองนครศรีธรรมราช มีอายุเก่าแก่กว่าที่ขุดพบในเมืองไชยา เช่น เทวรูปรุ่นเก่าอิทธิพลศิลปปัลลวะ มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๐–๑๑ เป็นต้น
๒.๒ เมืองสทิงพระ ชุมชนโบราณที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในภาคใต้แถบฝั่งทะเลตะวันออก คือบริเวณโดยรอบทะเลสาปสงขลา ซึ่งทุกวันนี้ได้แก่ท้องที่ของจังหวัดพัทลุง(วัดตะเขียนบางแก้วเป็นชุมชนสำคัญ) กับอำเภอระโนต(วัดเจดีย์งาม วัดสทิงพระเป็นชุมชนสำคัญ)
เดิมบริเวณนี้ทั้งหมดรวมเป็นเมืองเดียวกัน เมืองสทิงพระเดิมคือเมืองพัทลุงโบราณนั่นเองและตรงกับชื่อในจดหมายเหตุของจีน เรียกว่า Jih-Lo-Ting จึงนับว่าชุมชนแห่งนี้ได้ขยายตัวกลายเป็นเมืองสำคัญในที่สุด
๓. เมืองบริวาร ในบรรดาเมืองบริวารของนครศรีธรรมราช ซึ่งได้แก่เมือง ๑๒ นักษัตรตามที่ปรากฏในตำนานเมืองนครศรีธรรมราช เมืองทางด้านทิศเหนือได้แก่ เมืองกระ ชุมพร บางตะพาน เวียงสระ เมืองทางด้านทิศตะวันตกได้แก่ เมืองตะกั่วป่า เมืองถลาง ตรัง คลองท่อม เมืองทางด้านทิศใต้ได้แก่ ปะเหลียน สายบุรี สงขลา และยังมีเมืองบางเมือง ที่ไม่ทราบว่าเป็นเมืองอะไรในปัจจุบัน คือเมืองบันไทยสมอ เมืองญีหน
๔. เมืองขึ้น เมืองขึ้นของนครศรีธรรมราช ในอดีต ได้แก่หัวเมืองมลายู คือเมืองไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู ปลิศ ปัตตานี เป็นต้น ซึ่งหัวเมืองเหล่านี้ต้องส่งต้นไม้เงินต้นไม้ทองมาให้ เมืองนครศรีธรรมราชทุกปี นอกจากเมืองขึ้นดังกล่าวแล้วตามตำนานเมืองนครศรีธรรมราชกล่าวไว้ว่านครศรีธรรมราชยังได้แผ่อาณาเขตไปคลุมแหลมมลายูไว้เกือบทั้งหมด
๕. ชื่อเมืองนครศรีธรรมราชในอดีต ชื่อเมืองนครศรีธรรมราชในอดีตมีหลายชื่อดังนี้
๑. เมืองตามพรลิงค์ ชื่อนี้เป็นชื่อที่รู้จักกันเป็นอย่างดีในหมู่ชนต่างชาติในอดีต ไม่ว่าจะเป็นจีน อินเดีย และหมู่เกาะทะเลใต้ ซึ่งแล่นเรือมาทำการค้าขายกับตามพรลิงค์อยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะชาวอินเดีย ซึ่งเมื่อผ่านมาทางตามพรลิงค์แล้วจะเลยไปจีน ญี่ปุ่น เส้นทางนี้เรียกว่าเส้นทางเครื่องเทศมีหลักฐานในคัมภีร์มหานิเทศชื่อ “ ติสสเมตเตยยสูตร “ ได้เรียกเมืองตามพรลิงค์ว่า “ ตมพลิงคม “ เข้าใจว่าเป็นชื่อที่ชาวอินเดียใช้เรียกเมื่อประมาณราว พ.ศ. ๑๔๐๐–๑๕๐๐ มาแล้วเป็นผู้ตั้งตามความเชื่อถือของตนตามหลักในศาสนาพราหมณ์ ซึ่งชื่อนี้แปลว่า ลิงค์ทองแดง ชนชาวอินเดียพวกนี้คงอยู่ทางตอนใต้ในแคว้นกลิงคราษฎร์ อพยพมาขึ้นบกที่เมืองตะกั่วป่าไปตามแม่น้ำคีรีรัฐ ขึ้นไปตั้งเมืองตรงอ่าวไทยเรียกว่า เมืองครหิ(ไชยา) จนเป็นปึกแผ่น
และอีกพวกหนี่งย้อนลงมาทางใต้แยกไปตามลำน้ำหลวง(แม่น้ำตาปี) ไปตั้งเมืองที่หาดทรายแก้วและเรียกเมืองนี้ว่า ตามพรลิงค์ตามพรลิงค์ เป็นชื่อในภาษาสันสกฤตที่ใช้อยู่ในอินเดียโบราณ นอกจากนี้คำตามพรลิงค์ยังปรากฏอยู่ในศิลาจารึกกาลาสันในราว พ.ศ. ๑๓๓๒
ศิลาจารึกได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “….. อาณาจักร ศรีวิชัยมีประเทศราชตั้งอยู่บนฝั่งของแหลมมลายูหลายประเทศ คือปาหัง ตรังกานู กลันตัน ครหิ ตามพรลิงค์ ลังกาสุกะ เกดะ กราตักโกละ ปับผาละ…..” ซึ่งแสดงว่าชื่อตามพรลิงค์นี่เป็นที่รู้จักกันมานานแล้ว ในเอกสารของลังกาเรียกอาณาจักรนี้ว่า “ตามลิงคัม” ส่วนฉบับแปลครั้งแรกเมื่อพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ในรัชสมัยของพระเจ้าปรากรมพาหุที่ ๒ เรียกว่า ตามลิงโคม ท่านศาสตราจารย์เอสปรณริตานะผู้แต่งหนังสือลังกาอธิบายคำว่า “ตามพรรัฐ”น่าจะเป็นคำย่อของคำว่า “ตามพรลิงครัฐ” ท่านศาสตราจารย์ยอร์ชเซเดส์ลงความเห็นว่า เมืองหลวงของอาณาจักรตามพรลิงค์อยู่ที่นครศรีธรรมราช โดยอ้างศิลาจารึกวัดหัวเวียง อำเภอไชยามีความ ตอนหนึ่งวา”….พระเจ้าผู้ปกครองเมืองตามพรลิงค์เป็นหัวหน้าของราชวงศ์……ทรงพระนามศรีธรรมราช…”
เมืองตามพรลิงค์ตามที่ปรากฏในเอกสารของจีน เนื่องจากเมืองตามพรลิงค์เป็นเมืองท่าค้าขายที่สำคัญซึ่งพ่อค้าจีนผ่านไปมาอยู่เสมอ จึงเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่พ่อค้าทั้งหลาย แต่ทว่าได้มีชื่อเพี้ยนไปหลายชื่ออาทิ ในหนังสือ Chu-Fan-Chin เรียกเมืองนี้ว่า Teng-Liv-Mei ในงานของเจาจูกัว ใน พ.ศ. ๑๗๖๘เรียกว่า Tan-Ma-Ling หรือ Wang-Ta-Yuan ก็เรียกเหมือนกัน ในคราวที่เมืองตามพรลิงค์ส่งฑูตไปเมืองจีนเมื่อ พ.ศ. ๑๕๔๔ เรียกว่า Tan-Mei-Liv
ส่วนงานของ ม้าตอนหลิน เรียกว่าChou-Mei-Liv ซึ่งชื่อทั้งหมดนี้ ศาสตราจารย์วอลเตอร์ผู้เชี่ยวชาญในภาษาจีนได้ให้ความเห็นว่าชื่อที่ถูกต้องคือ Tan-Liv-Mei และเป็นชื่อเดียวกันกับ Tan-Ma-Ling ซึ่งศาสตราจารย์ยอร์ชเซเดส์ ลงความเห็นตรงกับคำว่า ตามพรลิงค์นั่นเอง ในหนังสือ Sung-Shin กล่าวว่าอาณาจักรตามพรลิงค์ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของกัมพูชา โดยมีเมืองละโว้(Lo-Hu) และเมืองกวางตุ้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และมีเมืองจันทรบูรณ์อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ตามบันทึกของ”เจาจูกัว” กล่าวว่าเมืองตามพรลิงค์เป็นประเทศเพื่อนบ้านของกัมพูชา เป็นเมืองท่าที่มีผลิตผลทีสำคัญที่สุด และมีผู้ปกครองของตนเอง
อย่างไรก็ตามเมืองตามพรลิงค์ตั้งตรงศูนย์กลางภูมิภาคที่ภายหลังเรียกกันว่า ลิกอร์มีเมืองหลวงตั้งอยู่บนฝั่งทะเลด้านตะวันออกระหว่างเมืองไชยาทางด้านทิศเหนือกับเมืองกับปัตตานีทางทิศใต้ ตามคัมภีร์มหานิเทศเรียกว่า ตามพลิงคัม ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอาณาจักรแห่งนี้มีอยู่เป็นที่เรียบร้อยแล้วตั้งแต่ศตวรรษที่ ๘ ก่อนที่อาณาจักรทะเลใต้จะแผ่อำนาจมาครอบครองแหลมมลายูและแหลมมลายูตอนบน(อาณาจักรตามพรลิงค์)ตกอยู่ในอิทธิพลของอาณาจักรฟูนัน แห่งลุ่มน้ำโขงอยู่ก่อนแล้ว ขณะเดียวกันภายหลังที่อิทธิพลฟูนันเสื่อมลง อิทธิพลของอาณาจักรทวาราวดีแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยาก็แผ่อิทธิพลลงมาด้วย
ตามบันทึกของจีนในหนังสือชื่อ Sung-Hiv-Ya-Kao กล่าวว่า ในปี พ.ศ.๑๕๑๔ เมืองตามพรลิงค์พร้อมด้วยเมืองศูนย์กลางทางการค้าที่สำคัญอื่นๆในเอเซียตะวันออเฉียงใต้ได้ติดต่อค้าขายกับจีน เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในทันทีภายหลังที่ราชวงศ์ซ้อง ได้ครอบครองเมืองท่ากวางตุ้ง และได้ควบคุมทางการค้าตามเมืองท่าโพ้นทะเลให้เข้าสู่สภาพเช่นเดิม รายการสินค้าที่รัฐต่างๆในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ได้นำไปค้าขายกับจีนที่สำคัญคือ งาช้าง ไม้ฝาง เป็นต้นในจดหมายเหตุของจีนได้กล่าวถึงเรื่องของอาณาจักรตามพรลิงค์ไว้ไม่มากนัก และบางแห่งได้ให้รายละเอียดแตกต่างกันไปบ้าง ตามบันทึกในหนังสือ Sung-Shin ได้กล่าวไว้ว่า ตามพรลิงค์เป็นเมืองที่มีผู้ปกครองเรียกว่า “เสียงกุง” ( Hsing-Kung )โดยรอบเมืองเต็มไปด้วยป่าไม้ตัวเมืองมีกำแพงเสาพะเนียดโดยรอบหนาประมาณ ๖-๗ ฟุต สูงกว่า ๒๐ ฟุต ใช้ในการรบพุ่งได้ ประชาชนชาวเมืองขี่ควาย เกล้าผมทำหมวดเป็นจุกไว้ข้างหลัง แต่งกายด้วยผ้าโสร่งฝ้ายสีดำ ใส่เสื้อสีขาว เวลาแต่งงานแต่งกายด้วยผ้าซาดิน ผ้าทอยกดอก บ้านของเจ้านายข้าราชการสร้างด้วยไม้ ในขณะที่บ้านของสามัญชนพื้นเมืองสร้างด้วยไม้ไผ่กั้นฝาด้วยไม้ไผ่เช่นกัน คนชาวพื้นเมืองต้มน้ำทะเลเพื่อเอาเกลือมาใช้ นับถือผีบรรพบุรุษ ผลผลิตพื้นเมืองมีหลายอย่าง เช่นขี้ผึ้ง ไม้ฝาง ไม้จันทน์ งาช้าง เขาสัตว์ หนังสัตว์เป็นต้น สินค้าที่ชาวต่างประเทศส่งมาขายในเมืองมีหลายอย่าง เช่น ร่ม ใหม เหล้า ข้าว เกลือ น้ำตาลภาชนะดินเผาต่างๆ ภาชนะเครื่องเคลือบ เครื่องลายคราม เครื่องถ้วยชาม รวมทั้งภาชนเงินและทองนำเข้ามาขายตามหลักฐานที่บันทึกไว้ในหนังสือ Sung-Shin ได้ระบุว่าเจ้าเมืองตามพรลิงค์ได้ส่งคณะฑูตไปเจริญทางพระราชไมตรีกับจีนพร้อมเครื่องราชบรรณาการ ซึ่งประกอบด้วย ไม้ฝางถึง ๑๐,๐๐๐ ชั่ง เมื่อปี พ.ศ.๑๕๔๔ ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนที่สูงมาก เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. ๑๕๓๕ ซึ่งคณะฑูตได้นำไม้ฝางไปเป็นเครื่องบรรณาการเพียง ๔,๔๒๓ ชั่ง คณะฑูตามพรลิงค์ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากจีน และในปีเดียวกันนี้ทางกัมพูชาโดยพระเจ้าสุริยวรมันที่๑ได้ส่งราชฑูตไปเชื่อมสัมพันธไมตรีกับพระเจ้ากรุงจีนด้วย ทั้ง ๒ เมืองได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี โดยเฉพาะทางตามพรลิงค์ได้รับพระราชสาส์นจากจีนมาถวายเจ้าผู้ครองนครตามตามพรลิงค์ด้วย (ฑูตของขอมและตามพรลิงค์คงไม่ไปพร้อมกัน)
อะไรเป็นเหตุให้อาณาจักรตามพรลิงค์ ส่งคณะฑูตไปเจริญทางพระราชไมตรีกับจีนในปี พ.ศ. ๑๕๔๔ ท่านศาสตราจารย์ยอร์ชเซเดส์ ได้ให้ความเห็นว่าเวลานั้นกำลังเกิดวิกฤติทางการเมือง คือตามพรลิงค์กำลังขยายอำนาจ และขณะนั้น(พ.ศ.๑๕๔๔)พระเจ้าอุทัยทิตย์วรมันที่ ๑ได้ครองกำพูชาอยู่และพระเจ้าสุริยวรมันที่๑กำลังต้องการความเป็นใหญ่ซึ่งในที่สุดพระเจ้าสุริยวรมันที่๑ก็สามารถแย่งราชสมบัติได้สมประสงค์และได้สถาปนาพระองค์เองขึ้นเป็นกษัตริย์ครองกัมพูชาได้สำเร็จในปีถัดไป ดังนั้นอาจจะวิเคราะห์ได้ว่า พระองค์กำลังต้องการความเป็นใหญ่ ซึ่งในที่สุดก็สามารถแย่งราชสมบัติได้ และได้สถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นกษัตริย์ครองกัมพูชาได้สำเร็จในปีถัดไป คณะฑูตจากตามพรลิงค์และฑูตจากพระเจ้าสุริยวรมันที๑จากกัมพูชา ส่งฑูตไปเจริญพระราชไมตรีกับจีนนั้น มีวัตถุประสงค์ดังนี้
๑. เป็นความพยายามที่หวังจะได้รับความพึงพอใจและได้รับการสนับสนุนจากจีน เพื่อพระองค์ครองกัมพูชาได้สมประสงค์และครองได้นานๆ และก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ช่วยอธิบายว่า ทำไมรัฐต่างๆในแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ จึงต้องส่งฑูตไปบรรณาการกับจีน
๒. อีกความเห็นหนึ่งจาก Dr.Bosch ได้กล่าวว่า ในช่วงที่พระเจ้าสุริยวรมันที่๑ กำลังขับไล่พระเจ้าอุทัยทิตย์ที่๑ ในพ.ศ.๑๕๔๔นั้นมีเรื่องทางชวาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยคือก่อนหน้านั้น พวกชวาได้ยกทัพมาตีกัมพูชา พระเจ้าสุริยวรมันที่๑จึงเห็นสมควรส่งฑูตไปจีนเป็นการล่วงหน้า ด้วยเกรงว่าชวากำลังมีอำนาจเหนือศรีวิชัยมากขึ้นทุกที จะทำการขัดขวางในการขึ้นครองราชย์ของพระองค์ในกัมพูชา เพราะฉะนั้นพระองค์จึงต้องการมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับตามพรลิงค์และศรีวิชัย โดยทั้ง ๓ อาณาจักรตกลงร่วมมือกันในการค้าทางทะเล ซึ่งกองทัพเรือของตามพรลิงค์จะมีบทบาทมากขึ้น จากศิลาจารึกที่ตันซอร์ได้กล่าวถึงตามพรลิงค์ว่า กองทัพเรือของตามพรลิงค์มีความเข้มแข็งและสามารถในการสงครามเป็นอย่างยิ่ง ฉะนั้นพวกโจฬะจึงถือว่า ศรีวิชัย ตามพรลิงค์ และกัมพูชาเป็นพวกเดียวกัน สัมพันธมิตรของโจฬะคงมีแต่ชวาตะวันออกเท่านั้น
๓. เมื่อเป็นเช่นนี้การส่งฑูตไปเมืองจีนของทั้งตามพรลิงค์และกัมพูชา ในปี พ.ศ.๑๕๔๔ ก็เพื่อจะไม่ต้องไม่กังวลว่าจะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นในระยะเวลาต่อมา และอาจจะพิจารณาได้ว่าเหตุการณ์ในช่วงปี พ.ศ.๑๕๕๙ ตามพรลิงค์ยังคงเป็นเอกราชอยู่(ภายใต้อิทธิพลของกัมพูชา) และอาจได้รับสิทธิพิเศษจากกัมพูชาให้ปกครองตนเองเทียบเท่ากษัตริย์ ต่อมาในปี พ.ศ.๑๕๖๘ อาณาจักรโจฬะโดยพระเจ้าราเชนทร์ที่๑ ได้ยกทัพมาตีตามพรลิงค์จนแตก ในขณะที่กัมพูชายังคุ้มครองตามพรลิงค์อยู่ ซึ่งสงครามในครั้งนี้พวกโจฬะต้องการทำลายศรีวิชัย แต่ทำไมต้องมาโจมตีตามพรลิงค์ด้วย เหตุผลนี่โจฬะต้องการทำลายเมืองท่าของคู่แข่งขันทางเศรษฐกิจทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นใคร เพื่อทำลายอิทธิพลของศรีวิชัยลงให้ได้ อีกประการหนีงตามพรลิงค์ก็เคยตกอยู่ในอิทธิพลของศรีวิชัยมาก่อน และอิทธิพลของศรีวิชัยก็ใช่ว่าจะหมดสิ้นไปเลยเสียทีเดียว
ดังนั้นการโจมตีของโจฬะจึงไม่ผิดเป้าหมายไปมากนัก และการยึดครองตามพรลิงค์ของโจฬะ ก็เป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น คือเมื่อตีแล้วก็ทิ้งจากไปเพราะไม่สามารถตั้งกองกำลังไว้ป้องกันตลอดไปได้ ดังนั้นตามพรลิงค์จึงกลับมีเอกราชดังเดิมได้อีก และตามปรากฏในหลักศิลาจารึกที่วัดเวียงหลักที่ ๒๔ พ.ศ. ๑๗๗๓ ได้แสดงให้เห็นว่า อาณาจักรตามพรลิงค์ได้เป็นเอกราชโดยสมบูรณ์ และก่อนหน้านี้เพียงเล็กน้อย ยังมีศิลาจารึกอีกหลักหนึ่งคือหลักที่ ๒๕ ที่ฐานพระพุทธรูปนาคปรก( พระพุทธรูปแห่งครหิ) ที่ แสดงให้เห็นว่า ตามพรลิงค์ก่อนหน้านี้อยู่ภายใต้อิทธิพลของอาณาจักรทะเลใต้ หรือภายใต้อำนาจของขอมอีกในระหว่าง พ.ศ.๑๗๒๖–๑๗๖๘ เกี่ยวกับเอกราชของตามพรลิงค์นี้ Briggs and Dupont กล่าวว่าอาณาจักร์ตามพรลิงค์เป็นอิสระจากการควบคุมของอาณาจักรทะเลใต้ ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ และยังมีบางท่านได้ให้ความเห็นว่า ชัยชนะของพระเจ้าสุชิต(จะกล่าวในโอกาสต่อไป)ที่ยกไปทำศึก ๓ เส้าและสามารถยึดเมืองละโว้ไว้ได้นั้น แสดงว่าตามพรลิงค์ได้เอกราชแล้วครึ่งหนึ่ง ก่อนที่จะเป็นเอกราชโดยสมบูรณ์ในเวลาต่อมา
อาณาจักรตามพรลิงค์ยุคสุดท้าย นับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๗ เป็นต้นมาหลักฐานต่างๆเกี่ยวกับตามพรลิงค์มีน้อยมาก เนื่องจากตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของกัมพูชา แต่ยังคงเป็นรัฐที่ทำการค้าขายเป็นสำคัญ เมื่อพวกโจฬะโจมตีแล้วจากไป ไม่ปรากฏว่าได้มีการส่งฑูตไปเมืองจีนอีกแต่อย่างใดจนกระทั่งถึง พ.ศ.๑๖๑๓ ในระหว่าง พ.ศ ๑๕๙๓ เป็นช่วงปีที่พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ สวรรคตและในปี พ.ศ.๑๖๐๙ อันเป็นปีที่โอรสของพระเจ้าอุทัยทิตย์วรมันที่ ๒ สวรรคต อาณาจักรกัมพูชาก็เกิดกบฎไม่มีความสงบ และก่อนหน้านี้ในพ.ศ.๑๖๐๘ ก็มีผู้แข็งเมืองก่อกบฏขึ้นทางตะวันตกเฉียงเหนือและทางทิศตะวันออกของอาณาจักรกัมพูชา อุปราชเมืองตามพรลิงค์ได้ตระหนักว่าถึงเวลาแล้วที่ควรจะตัดความสัมพันธ์กัมพูชาเสียทีความจริงข้อนี้เกี่ยวเนื่องกันว่า ทำไมใน พ.ศ.๑๖๑๓ จึงมีการส่งฑูตไปเมืองจีนก็เป็นได้ แต่ตามความเห็นของนักวิชาการส่วนมากเชื่อว่าอาณาจักรตามพรลิงค์กลับไปอยู่ภายใต้อำนาจของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ พ.ศ.๑๖๕๖–๑๖๙๓ แห่งกรุงกัมพูชาอีกครั้งหนึ่งนับจนถึงปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ บทบาททางการเมืองระหว่างจีนกับรัฐต่างๆในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มเปลี่ยนไป จดหมายเหตุจีนแทบไม่ได้กล่าวถึงตามพรลิงค์อีกเลย คณะฑูตที่ไปเยือนจีนยุคสุดท้ายก็ไปจากจัมปา และชวาในปี พ.ศ ๑๗๑๑ เหตุผลการสิ้นสูญการส่งฑูตไปยังเมืองจีนเป็นเรื่องที่น่าศึกษามาก เพราะไม่มีหลักฐานใดที่เหลืออยู่ในเอเซียอาคเณย์พอจะศึกษาได้อีกเลย
ประวัติศาสตร์ของตามพรลิงค์ในยุคสุดท้าย นอกจากจะได้จากเอกสารของจีนแล้ว ก็ได้จากหนังสือมหาวงศ์พงศาวดารลังกา จากศิลาจารึกของปัณฑยะในอินเดียตอนใต้และจากหนังสือชินกาลมาลินีปกรณ์ของไทยฝ่ายเหนือและตำนานอื่นๆ ซึ่งได้กล่าวไว้ในสมัยของพระเจ้าจันทรภาณุในหลักศิลาจารึกที่ ๒๔ซึ่งพบที่ไชยา ว่าพระองค์ทรงยกทัพไปรบลังกาถึง ๒ ครั้ง ถึงกับมีอาณานิคมของตามพรลิงค์เลยทีเดียว และในศิลาจารึกของพวกปัณฑยะแห่งอินเดียฝ่ายใต้เรียกพระนามของพระองค์ว่า “Savakan” ในขณะที่ทางลังกาเรียกพระนามของพระองค์ว่า “Javakas”อวสานของอาณาจักรตามพรลิงค์ไม่ค่อยกระจ่างนักแต่พอสรุปได้ว่า
อาณาจักรนี้อยู่ภายใต้อำนาจของอาณาจักรทะเลใต้อย่างหลวมๆ แม้แต่อาณาจักรกัมพูชาก็ไม่ได้ผูกพันธ์แน่นแฟ้นแต่อย่างใด คงมีสภาพเป็นเมืองประเทศราชเท่านั้น ด้วยเหตุนี้จึงง่ายต่อการประกาศเอกราชจากการปกครองในทันทีที่ประเทศที่เคยควบคุมอ่อนแอลงและเป็นเช่นนี้บ่อยๆ อีกประการหนึ่งอาณาจักรตามพรลิงค์มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอาณาจักรไทยทางฝ่ายเหนือในช่วงต่อมาอีกประมาณ ๒๐ ปีหลังจาก พ.ศ.๑๗๗๓ เนื่องจากเป็นอาณาจักรไทยด้วยกัน และประการสุดท้ายอาณาจักรสุโขทัยเรืองอำนาจและแผ่อิทธิพลไปตลอดแหลมมลายู ตามพรลิงค์จึงต้องรับในการปกครองนั้นด้วยและในที่สุดก็รวมตัวเป็นอาณาจักรเดียวกันกับอาณาจักรไทยดังกล่าว จนเป็นปึกแผ่นตั้งแต่นั้นมา .
๒. ตามพรลิงค์เกศวร ชื่อนี้ไม่เป็นที่คุ้นและรู้จักกันดี เข้าใจว่าคงขยายหรือเปลี่ยนรูปไปจากคำว่า”ตามพรลิงค์” ในประวัติศาสตร์ของชาวตะวันตกใช้คำว่า”Tambralinga” ซึ่งถอดไปจากคำว่าตามพรลิงค์อีกชั้นหนึ่ง ตามรูปศัพท์นี้แสดงให้เห็นอิทธิพลของภาษาสันสกฤตที่ชาวอินเดียใช้อยู่ในภูมิภาคนี้ได้เป็นอย่างดี
๓. ตั้งมาหลิ่ง เป็นชื่อที่ปรากฏในจดหมายเหตุของจีน เพี้ยนมาจากคำว่าตามพรลิงค์นั่นเองหลวงจีนหงีจิงหรืออีจิงซึ่งบันทึกเมื่อคราวเดินทางไปสืบพระศาสนาณประเทศอินเดีย ในราว พ.ศ.๑๒๑๔–๑๒๑๕ ครั้งหนึ่ง และในพ.ศ. ๑๒๒๘–๑๒๓๒ อีกครั้งหนึ่ง ในการเดินทางของหลวงจีนหงีจิงในครั้งนั้นได้ผ่านเมืองตั้งมาหลิ่งอันเป็นเมืองซึ่งอยู่ในอาณาจักรศรีวิชัย
๔. ลิกอร์ เป็นชื่อที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ฉบับภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะฉบับที่เขียนโดย ยอห์น ครอเฟิด โดยเรียกเมืองนี้ว่า “Ligor”ตามเสียงในภาษามลายูเขาได้กล่าวถึงเมืองนครศรีธรรมราชเมืองนี้ว่าลิกอร์ บอกว่าเป็นชื่อเมืองๆหนึ่งแต่ตามภาษาถิ่นเขาเรียกว่า ละคอนมีแม่น้ำสายหนึ่งคือแม่น้ำท่ายาง เป็นแม่น้ำเล็กและตื้นลึกไม่ถึงศอก แม่น้ำนี้ไหลไปสู่เมืองลิกอร์ซึ่งมีป้อมค่ายสร้างด้วยอิฐ และกล่าวว่าประชากรทั้งหมดมีประมาณ ๕,๐๐๐ คนมีชาวไทยอยู่มากที่สุด มีสำเภาจีนมาค้าขายเป็นประจำ ที่เมืองลิกอร์ สินค้าคือฝ้าย และสิ่งต่างๆซึ่งเป็นผลผลิตของชาวมลายูคือ ดีบุก พริกไทยดำ หวาย เป็นต้น
๕. ลีกู คำว่าลีกูคงจะเพี้ยนไปจากคำว่า ลิกอร์ ลีกูเป็นเสียงที่เรียกตามสำเนียงของชาวโปรตุเกส เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อมาร์โคโปโล นักสำรวจที่มีชื่อเสียงของโลก ได้เดินทางจากประเทศจีนเพื่อกลับยุโรปทางทะเลเมื่อประมาณ พ.ศ.๑๘๒๙ (ค.ศ.๑๒๘๐) มาร์โคโปโลได้เดินทางตามเส้นทางเครื่องเทศ และได้แวะเมืองท่าลีกูด้วย ดังนั้นเมืองลีกูจึงเป็นที่รู้จักของชาวยุโรปมานานพอสมควรแล้ว
๖. ละคร เป็นชื่อที่ชาวนครศรีธรรมราช เรียกชื่อเมืองของตนเองมานานแล้ว ในยุคที่เรียกว่าลิกอร์นั้น แสดงว่ามีการเล่นละครอยู่ก่อนแล้ว ในพงศาวดารไทยฉบับหลวงประเสริฐอัษรนิติมีหลายตอนที่เรียกเมืองนี้ว่าเมืองละคร
๗. คิวคูตอน เป็นชื่อที่ปรากฏในจดหมายเหตุของจีนในราชวงศ์เหลียง ในราวพ.ศ. ๑๐๔๕–๑๐๙๙ แต่ไม่เป็นที่แพร่หลายจึงมีผู้รู้จักชื่อนี้น้อยมาก
๘. ศรีธรรมราช เป็นชื่อที่ปรากฏในหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ด้านที่ ๒ บรรทัดที่๒๘–๓๑ ว่า “….พ่อขุนรามคำแหงกระทำโอยทานแก่มหาเถรสังฆปราชญ์เรียนจบปิฎกไตรหลวกกว่าปู่ครูในเมืองนี้ทุกคนลุกแต่เมืองศรีธรรมราชมา…”
คุณตรี อมาตยกุล สันนิษฐานถึงชื่อที่มาของคำว่า ”ศรีธรรมราช” ไว้ว่าชื่อนี้ปรากฏในหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชเป็นครั้งแรก มีเค้ามูลที่จะเชื่อถือได้ว่าเป็นอิสริยยศที่ถวายแก่กษัตริย์ผู้ครองแห่งนี้ว่า”ศรีธรรมราช” คงถือเป็นประเพณีที่สืบต่อกันมาต่อเนื่องกันหลายองค์ จึงเป็นเหตุให้ได้ขนานนามราชธานีนี้ตามชื่ออิสริยยศของผู้ครองนครแห่งนี้ว่า”นครศรีธรรมราช” ตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นต้นมา
๙. ศิริธัมมนคร เป็นชื่อที่ปรากฏในหนังสือชินกาลมาลินี มีข้อความตอนหนึ่งกล่าวไว้ว่า”ในพ.ศ.๑๗๙๙ มีเจ้าผู้ครองศิริธัมมนครทรงพระนามว่า”ศิริธัมมราช” พร้อมด้วยโรจราชได้ส่งฑูไปถึงเกาะลังกา เพื่อขอรับพระพุทธสิหิงค์ “
๑๐. ธัมมราชปุระ ในประวัติพระพุทธศาสนาในสมัยศรีวิชัยในราว พ.ศ.๓๐๐–๑๙๕๐ ตามพระคัมภีร์ของพระภิกษุชาวลังกา ศาสตราจารย์ ส.ปรนวิตนะ เขียนไว้ว่า จักรวรรดิสุวรรณปุระ ตั้งขึ้นโดยเจ้าชายสุมิตรแห่งเมารยวงศ์ เมื่อพระนางสังฆมิตา(ราชธิดาของพระเจ้าอโศก) นำกิ่งพระศรีมหาโพธิ์มาสู่ลังกา โดยมีเจ้าชายสุมิตรมาด้วย เจ้าชายสุมิตรได้นำกิ่งพระศรีมหาโพธิ์ไปประดิษฐไว้ที่สุวรรณปุระ และเจ้าชายสุมิตรนี้ก็เป็นปฐมกษัตริย์แห่งสุวรรณปุรวงศ์ เรื่องนี้มีปรากฏอยู่ในคัมภีร์ มหาโพธิวงศ์ฉบับของสมาคมบาลี(ภาษาอังกฤษ) และมีในตำนานสุวรรณปุรวงศ์ และคนโบราณเรียกคาบสมุทรมลายูว่า สุวรรณทวีป ซึ่งสุวรรณทวีปนี้ มีศูนย์ปกครองอยู่ ๓ ศูนย์คือ
๑. ศูนย์การปกครองสุวรรณปุระ ศูนย์นี้อยู่ที่ ไชยา สุราษฎร์ธานี
๒. ศูนย์การปกครองธัมมราชปุระ ศูนย์นี้อยู่ที่ นครศรีธรรมราช
๓. ศูนย์การปกครองปาเล็มปังปุระ ศูนย์นี้อยู่ที่ เกาะสุมาตรา
ทั้ง ๓ ศูนย์นี้พระพุทธศาสนารุ่งเรืองมาก มีต้นโพธิ์ปลูกไว้เป็นสัญญลักษณ์ แสดงว่าพระพุทธศาสนาได้เข้ามาสู่นครศรีธรรมราชมานานแล้ว และบางตำนานได้บันทึกว่า พระพุทธศาสนาได้เข้าสู่นครศรีธรรมราช ตั้งแต่สมัยพระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่โน้นแล้ว
พระมหินเถระซึ่งเป็นราชโอรสของพระเจ้าอโศกมหาราช ได้นำพระพุทธศาสนาไปเผยแพร่ที่เกาะลังกาพร้อมด้วยพระนางสังฆมิตาเถรีได้สอนชาวลังกาไว้ว่า ให้ครอบครัวทุกครอบครัวส่งบุตรหลานออกบวชเป็นญาติกับพระพุทธศาสนา อย่างน้อยครอบครัวละ ๑ คน ดังนั้นคนโบราณที่ไชยาและนครศรีธรรมราช จึงส่งบุตรหลานออกบวชในพระพุทธศาสนาจนเป็นประเพณีที่สืบต่อมาจนทุกวันนี้ และชาวเมืองได้ถวายพระนามกษัตริย์โบราณว่า “พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช” เพราะว่าพระองค์นำราษฎรเข้าสู่วัดอยู่อุโบสถ ( คือถือศีล ๘ชั่วเวลาวันหนึ่งคืนหนึ่ง) ตามแบบอย่างของพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งอินเดีย และยังนับเนื่องด้วยว่าพระองค์ยังเป็นผู้สืบสายสุวรรณปุระวงศ์ จากเจ้าชายสุมิตรแห่งเมารยวงศ์อีกด้วย
๑๑. ชื่อเมืองนครศรีธรรมราช นอกเหนือไปจากที่กล่าวมาแล้ว ยังมีอยู่อีกแต่ไม่เป็นที่แพร่หลายและคุ้นหูกันนัก ได้แก่ เมืองพระเวียง เมืองกระหม่อมโคก เมืองนครดอนพระ เมืองปาฎลีบุตร เมืองเซี๊ยะโห้ เมืองโฮลิงหรือโพลิง
รายนามกษัตริย์แห่งนครศรีธรรมราช ตามที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้ ขอเรียนให้ทราบว่า ได้เสนอตามหลักฐานที่ปราฎในจดหมายเหตุบ้าง จากตำนานบ้าง จากคัมภีร์ปกรณ์ทางพุทธศาสนาบ้าง รวมทั้งจากข้อคิดข้อเขียนของนักประวัติศาสตร์และนักโบรณคดีหลายท่าน และขอเรียนให้ทราบว่าพระนามของกษัตริย์ทั้งหมดนี้ ได้พยายามเรียงให้เป็นไปตามลำดับก่อนหลังแล้ว แต่ไม่รับรองว่าจะถูกต้องทั้งหมดทุกองค์หรือไม่ ทั้งนี้เพราะเสนอตามหลักฐานที่ปรากฎที่ขาดเป็นห้วงๆอย่างไม่ต่อเนื่อง จึงยากที่จะยืนยันว่ากษัตริย์องค์ใดอยู่ในลำดับที่เท่าไร และรายนามของกษัตริย์บางพระองค์ก็ไม่แน่ใจว่าจะมีตัวตนอยู่ในสมัยนั้นจริงหรือไม่และก็ไม่แน่ใจว่าพระนามของกษัตริย์ทั้งหมดที่ปรากฎในหนังสือเล่มนี้ จะถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่ ขอให้ผู้อ่านโปรดเข้าใจตามนี้ด้วย
อนึ่งกษัตริย์ที่ปกครองนครศรีธรรมราชนั้น ชาวบ้านมักจะไม่ค่อยทราบพระนามจริงของท่านทุกพระองค์ จึงมักเรียกพระนามเหมือนกันทุกพระองค์ว่า “พระยาศรีธรรมาโศกราชบ้างพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชบ้าง” ด้วยมีเค้ามูลที่ฟังสืบต่อกันมาว่า พระยาศรีธรรมาโศกราชนั้น ท่านได้นำราษฎรเข้าสู่วัดไปถืออุโบสถ (คือการถือศีล ๘ ในวันพระชั่วระยะเวลาวันหนึ่งกับคืนหนึ่ง) ตามแบบอย่างของพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งอินเดีย ชื่อนี้จึงเป็นอิสริยยศที่ชาวเมืองยอมรับและพร้อมใจกันมอบหมายให้เป็นชื่อของกษัตริย์ทุกองค์ที่มาครองนครศรีธรรมราช
เมื่อท่านได้อ่านสุวรรณภูมิในอดีตมาเป็นการปูพื้นฐานก่อนจะถึงจุดนี้ ท่านย่อมทราบดีว่าดินแดนแห่งนี้มีความสัมพันธ์และเกี่ยวข้องกับชาวอินเดียมากเพียงไร ดังนั้นกษัตริย์บางองค์จึงเป็นชาวอินเดียบ้างในช่วงแรก แต่ในลำดับหลังๆเป็นคนไทยเกือบทั้งหมด รายนามของกษัตริย์ทั้งหมดเท่าที่ค้นหาและสืบทราบมาตามหลักฐานที่ปรากฎ พอจะมีดังต่อไปนี้
๑. มหาราชาสมรวิชโยตตุงคะ มหาราชาองค์นี้เป็นชาวอินเดีย ที่ได้อพยพมาแสวงหาโชคลาภในแดนสุวรรณณภูมิคงจะได้อพยพมาในระยะแรกๆ และได้ตั้งหลักแหล่งทำมาหากินในบรรดาพวกอินเดียด้วยกันน่าจะรวมตัวกับชาวพื้นเมืองเป็นกลุ่มและคงจะเป็นหัวหน้ากลุ่มซึ่งน่าจะมีหลายๆกลุ่มในช่วงเวลานั้น ยังไม่น่าจะเป็นถึงกษัตริย์ คงปกครองให้กลุ่มอยู่ด้วยกันให้มีความสุข ซึ่งถ้าหากมีกลุ่มอื่นๆมารุกรานก็จะช่วยกันป้องกัน แต่ในยุคนั้นส่วนใหญ่ต่างกลุ่มต่างอยู่ไม่รุกรานซึ่งกันและกัน แต่แน่นอนคงจะต้องสั่งสมอิทธิพลไว้ป้องกันตนเองบ้างเมื่อถึงคราวจำเป็น
๒. มหาราชามาณาภรณ์ มหาราชาองค์นี้เป็นโอรสของมหาราชาองค์ก่อน คงยังปกครองเหมือนพ่อในชุมชนเล็กๆยังคงไม่ได้ตั้งตนเป็นกษัตริย์แต่อย่างใด แต่คงจะเริ่มมีอิทธิพลขึ้นมากกว่าในรุ่นพ่อเนื่องด้วยความจำเป็นต้องรักษาความปลอดภัยของคนในกลุ่มของตน และคงไม่ได้ขยายขอบเขตการปกครองไปมากกว่าเดิม และน่าจะได้รับการยอมรับจากชนชาวพื้นเมืองมากขึ้นกว่าเดิด้วยชาวพื้นเมิองก็นับถือศาสนาพุทธอยู่ก่อนแล้ว จึงไม่โหดเหี้ยมและเข้ากันได้ง่าย
๓. มหาราชาสธรรมปรัพตา มหาราชาองค์นี้ก็เป็นโอรสของมหาราชาองค์ก่อน และมหาราชาองค์นี้น่าจะมีอำนาจและอิทธิพลมากขึ้นกว่าองค์ก่อนๆเพราะได้สั่งสมบารมีและอิทธพลมาตั้งแต่สมัยปู่มาแล้ว และชาวพื้นเมืองก็น่าจะยอมรับมากขึ้นกว่าก่อนๆ ย่อมเป็นที่เกรงใจของชุมชนกลุ่มอื่นๆ ชุมชนที่อยู่เดิมของตนเองคงใหญ่ขึ้นและมีบารมีและอำนาจมากขึ้นอย่างแน่นอน และน่าจะขยายเขตการปกครองไปยังชุมชนอื่นด้วยก็ได้
๔. พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชองค์นี้เป็นโอรสของมหาราชาองค์ก่อน ซึ่งแน่นอนเมื่อได้สั่งสมบารมีมาและอิทธิพลมาเต็มที่แล้วและเชื่อมั่นในอิทธิพลของตนเองจึงได้ตั้งตนเป็นกษัตริย์ โดยใช้พระนามว่า”พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช”เลียนแบบตามพระนามของพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งอินเดีย นักประวัติศาสตร์บางท่านกล่าวว่ากษัตริย์องค์นี้เป็นพระเจ้าศีธรรมาโศกราชองค์ที่๑ และกล่าวต่อไปว่าเป็นกษัตริย์ในราชวงศ์ปัทมวงศ์หรือปทุมวงศ์ แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าครองนครศรีธรรมราชในปีใด พ.ศ.ใด และเมื่อสวรรคตแล้วก็ไม่ทราบว่ามีโอรสปกครองต่อหรือไม่ ประวัติศาสตร์ขาดตอนไปอย่างน่าเสียดาย.
๕. พระยาศรีธรรมโศกราช พระยาศรีธรรมาโศกราชองค์นี้เป็นชาวอินเดียแต่มิใช่เป็นโอรสของพระยาศรีธรรมาโศกราช องค์ก่อนเป็นชาวอินเดียอพยพเป็นกษัตริย์อง์ค์ใหม่อีกองค์หนึ่ง ซึ่งปรากฏในจดหมายเหตุฉบับหนึ่งซึ่งพระพิชัยเดชะได้มาจากเมืองเวียงสระ จดหมายเหตุฉบับนี้กล่าวว่า พระยาศรีธรรมโศกราชองค์นี้ ได้อพยพมาจากอินเดียในราว พ.ศ.๑๐๐๖ เนื่องจากพวกที่นับถือศาสนาอิสลามรุกราน ได้อพยพมาตั้งเมืองอยู่ที่ทุ่งตึก(เมืองตะกั่วป่า) มาตั้งอยู่ไม่นานก็ถูกพวกข้าศึกมารุกรานอีก จึงย้ายเมืองจากทุ่งตึกไปตั้งอยู่ที่บ้านน้ำรอบ(เมืองคีรีรัฐนิคม) ชื่อเมืองนั้นว่า”เมืองธาราวดี หมายความว่าเป็นเมืองที่มีน้ำล้อมรอบ ยุคต่อมาเกิดไข้ห่าจึงย้ายไปตั้งเมืองใหม่ที่”เขาชวาปราบ”(เขตอำเภอคลองท่อมจังหวัดกระบี่) เกิดโรคไข้ห่าขึ้นที่นั้นอีก จึงได้ย้ายไปตั้งเมืองใหม่ที่บ้านเวียงสระ จากนั้นเกิดไข้ห่าขึ้นอีก จึงได้ย้ายไปตั้งเมืองใหม่ที่ฝั่งตะวันออกของหาดทรายใหญ่ คือที่เมืองนครศรีธรรมราชในปัจจุบันนี้
จากเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกันนี้ มีผู้สันนิษฐานอีกคนหนึ่ง คือหลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ได้สันนิษฐานว่าพระยาศรีธรรมโศกราชองค์นี้ เป็นชาวอินเดียได้อพยพเข้ามาทางเรือเหตุเพราะถูกพวกอิสลามรุกราน มาขึ้นบกที่ตะกั่วป่าตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ทุ่งตึก เมื่อราว พ.ศ.๑๐๐๖ ต่อมาย้ายถิ่นฐานไปตั้งอยู่ที่บ้านน้ำรอบ ตั้งอยู่ชั่วระยะหนึ่ง ก็เกิดไข้ห่าต้องอพยพไปตั้งถิ่นฐานที่เขาปราบและเกิดโรคไข้ห่าอีก ได้ย้ายไปตั้งถิ่นฐานใหม่ที่เวียงสระ ต่อมาเกิดโรคห่าอีก ในที่สุดได้ย้ายไปตั้งถิ่นฐานใหม่ทางด้านทะเลฝั่งตะวันออกบนหาดทรายแห่งหนึ่ง คือหาดทรายแก้วอันเป็นเมืองนครศรีธรรมราชในปัจจุบันนี้อยู่ในราว พ.ศ.๑๐๑๖
จากข้อสันนิษฐานของบุคคลทั้งสองนี้ น่าจะกล่าวได้ว่าพระยาศรีธรรมโศกราชองค์นี้เป็นชนชาวอินเดียแน่ๆ และมีจดหมายเหตุตามตำนานเมืองสำนวนหนึ่งที่วัดเวียงสระ กับฉบับที่พบที่บ้านทุ่งตึก อำเภอกระบุรีจังหวัดพังงา เป็นจดมายเหตุตำนานเมืองนครศรีธรรมราช กล่าวตรงกันว่าพระยาศรีธรรมโศกราชเป็นพราหมณ์ชาวอินเดียเดิมชื่อพราหมณ์มาลี ได้อพยพพาพรรคพวกหนีตายจากการรุกรานของพวกอิสลามมาทางเรือหลายร้อยลำ มาขึ้นบกที่ทุ่งตึกฝั่งทะเลตะวันตกและสร้างเมืองขึ้นที่นั่น ได้อภิเษกพราหมณ์มาลีเป็นกษัตริย์ทรงพระนามว่า”พระยาศรีธรรมโศกราช” และให้น้องเป็นพระมหาอุปราช
ชาวอินเดียสร้างบ้านเมืองยังไม่ทันเสร็จเรียบร้อย พวกอิสลามก็ติดตามมารุกรานอีก จึงได้ทิ้งเมืองอพยพผู้คนไปตามลำน้ำตะกั่วป่าข้ามเขาศก ล่วงเลียบริมฝั่งแม่น้ำพุมดวง ไปทางืทิศตะวันตกเฉียงเหนือตั้งมั่นอยู่ที่บ้านน้ำรอบ ด้วยตั้งใจว่าจะตั้งเมืองอยู่กันที่นั่นแต่ภูมิประเทศไม่อำนวย จนชาวอินเดียที่อพยพมาเกิดผิดอากาศเกิดเป็นโรคห่าขึ้น จำเป็นต้องอพยพผู้คนไปตั้งถิ่นฐานใหม่ที่เขาชวาปราบที่ปลายคลองสินปุน(เขตอำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่) ได้ตั้งเมืองอยู่ได้ไม่นานเกิดโรคห่าขึ้นมาอีก จึงได้อพยพผู้คนไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านเวียงสระ แต่อยู่ได้ไม่นานก็เกิดโรคห่าอีก จึงได้ย้ายผู้คนไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ พบหาดทรายใหญ่อยู่ริมทะเลในชัยภูมิที่เหมาะ จึงได้สร้างเมืองขึ้นณหาดทรายแห่งนั้น คือหาดทรายแก้ว อันเป็นเมืองนครศรีธรรมราชในปัจจุบันนี้ ประมาณว่าอยู่ในราว พ.ศ.๑๐๑๖
พระยาศรีธรรมโศกราชองค์นี้ครองเมืองอยู่นานเท่าไรไม่ปรากฏหลักฐาน และเมื่อสิ้นพระชนม์แล้วก็ไม่ปรากฏว่ามีราชโอรสองค์ใดปกครองต่อไป สันนิษฐานว่าอาจจะเกิดโรคระบาดอีก ผู้คนล้มตายต้องทิ้งเมือง ทำให้เมืองกลายเป็นเมืองร้างขาดกษัตริย์ที่จะมาปกครองเพราะขาดผู้คนที่จะมาร่วมกันสร้างเมืองด้วย ซึ่งน่าจะเป็นไปได้เพราะตามตำนานเมืองมีโรคห่าเกิดขึ้นหลายครั้งหลายคราในเมืองนครศรีธรรมราชนี้
๖. พระเจ้าศิริธรรมราชา จากเอกสารหลายชิ้นมากมายของอาจารย์มานิต วัลลิโภดมพบว่าตัวเมืองนครศรีธรรมราชในอดีตนั้น ตั้งอยู่ที่เขาวัง(อำเภอลานสกาในปัจจุบัน) และห่างไปทางทิศตะวันออก มีลำน้ำใหญ่สายหนึ่งไหลไปลงทะเลที่อำเภอปากพนัง เรียกเมืองที่ตั้งอยู่ในขณะนั้นในราว พ.ศ.๖๙๒ว่า”เมืองมลราช” และในระยะเวลาหลายร้อยปีต่อมามีประชาชนมากขึ้น แม่น้ำใหญ่ก็ตื้นเขิน ไม่สะดวกต่อการคมนาคมและการเพาะปลูก จึงได้ย้ายไปตั้งเมืองใหม่ที่หาดทรายแก้ว แต่จะเป็นปี พ.ศ.ใดไม่ปรากฏ
กษัตริย์ที่ย้ายไปตั้งเมืองใหม่นี้คือ”พระเจ้าศิริธรรมราชา” และได้รับอิสริยยศตามความนิยมของชาวเมืองในพระนามใหม่ว่า”พระยาศรีธรรมาโศกราช” ซึ่งตามตำนานเมืองนครศรีธรรมราชตอนหนึ่งกล่าวว่า “…มีพญาองค์หนึ่งชื่อพญาศรีธรรมโศกราช” มาตั้งสถานณหาดทรายชายทะเลรอบนั้นเป็นเมืองใหญ่ ชื่อเมืองนครศรีธรรมราช…” และภารกิจของพระองค์คือการสร้างพระบรมธาตุเจดีย์แต่การสร้างในครั้งนั้นเป็นพระเจดีย์แบบศรีวิชัย และได้ประกาศชื่อเมืองใหม่นี้ตามพระนามของพระองค์ท่านว่า เมืองนครศรีธรรมราช และให้โอรสปกครองเมืองเดิมแทนในนามเมืองลูกหลวง ซึ่งน่าจะสันนิษฐานได้ว่าเมืองนครศรีธรรมราชเดิมนั้นเป็นเมืองร้างอยู่ก่อนเนื่องจากเกิดโรคห่า พอนานๆเข้าหลายๆปีโรคเกิดสงบไปชั่วขณะ พระราชาพระองค์นี้เกิดมาพบเมืองร้างแต่ทำเลเหมาะด้วยประการทั้งปวง เลยสร้างเมืองใหม่ครองแทนเมืองเดิม และให้โอรสครองเมืองเดิมแทน
๗. พระยาอนุรุธธรรมมิกราช พระยาอนุรุธธรรมมิกราช เป็นโอรสของพระเจ้าศิริธรรมราชา ซึ่งพระราชบิดาให้ครองเมืองมลราชในฐานะเมืองลูกหลวง คอยป้องกันเมืองแม่ทางด้านตะวันตกเมื่อพระบิดาสวรรคตก็มาครองนครศรีธรรมราชแทน ปรากฏหลักฐานว่ามาครองเมืองในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ หรืออ่อนกว่านั้นเล็กน้อย พระยาศรีธรรมโศกราชพระองค์นี้กล่าวได้ว่าเป็นกษัตริย์มหาราชพระองค์หนึ่งของนครศรีธรรมราชทีเดียว ซึ่งอาจารย์มานิต วัลลิโภคม ได้เสนอบทความตามตำนานเมืองหริภูชัยว่า พระยาอนุธธรรมมิกราชพระองค์นี้ได้ขยายอาณาเขตของพระองค์ไปถึงกรุงละโว้ และกินไปถึงแคว้นล้านนาด้วย และนักประวัติศาสตร์บางท่านยังมีความเชื่อว่า แม้พระสวามีของพระนางจามเทวี ซึ่งเป็นธิดาของกษัตริย์ละโว้ก็เป็นพระโอรสของพระยาอนุรุธธรรมมิกราช ที่ส่งไปปกครองละโว้ ด้วย แต่หลังจากการสวรรคตของกษัตริย์พระองค์นี้แล้ว ไม่มีหลักฐานใดที่บอกว่ามี พระโอรสองค์ใคมาครองนครศรีธรรมราชแทน ทำให้ประวัติศาสตร์หน้านี้ขาดตอนไปอีก ซึ่งต่อไปเมืองนี้อาจจะกลายเป็นเมืองร้างก็ได้ ประวัติของนครศรีธรรมราชขาดตอนอย่างนี้เป็นธรรมดา
๘. พระยาศรีธรรมาโศกราช พระยาศรีธรรมาโศกราชพระองค์นี้ เป็นกษัตริย์อีกองค์หนึ่ง ซึ่งปรากฏในตำนานทั้ง ๒ ตำนาน คือทั้งตำนานเมืองนครศรีธรรมราชและตำนานพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช มีข้อความที่คล้ายคลึงกันทั้ง ๒ ตำนานดังนี้ ตำนานเมืองนครศรีธรรมราชกล่าวว่า”…..เมื่อศักราชได้…ปีนั้นพระยาศรีธรรมาโศกราช สร้างสถานลหาดซายนั้นเป็นกรุงเมืองชื่อเมืองนครศรีธรรมราชมหานคร ผู้อัครมเหษีชื่อนางสังคเทวี จึงพญาศรีธรรมาโศกราชและพญาพงศากษัตริย์แลบาคูตริริด้วยมหาพุทธเพียรซึ่งทำอิฐปูนก่อพระมหาธาตุ……”
ตำนานพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราชกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า”….ยังมีพระยาศรีธรรมาโศกราช พระยาศรีธรรมาโศกราชก็มีน้ำใจศรัทธาในการกุศล ให้เกลี้ยกล่อมผู้คนซึ่งอยู่ดงป่าเข้ามาประชุมกันเป็นอันมาก แล้วพระยาศรีธรรมาโศกราช เจ้าพงษ์กษัตริย์แลพระพุทธคำเภียรบาคูทั้งสี่คนปรึกษากันจะตั้งเมืองหาดทรายแล้วจะก่อพระเจดีย์และพระพุทธรูปไว้ครั้นสนทนากันแล้วพอเกิดไข้ยุบลคนล้มตายเป็นอันมาก พระญากับพระพุทธคำเภียรบาคูทั้งสี่คน พาญาติวงษ์ช้างม้าหนีไปอยู่กะหม่อมโคกณหาดซายชเลรอบนั้นแลเมื่อศักราช ๑๐๙๘ ปี พระยาศรีธรรมาโศกราชก็สร้างการลงณหาดซายชะเลรอบเป็นเมืองนครศรีธรรมราชมหานคร แล้วสั่งให้ทำอิฐทำปูนก่อพระธาตุครั้งนั้น…..”จะเห็นว่าตำนานทั้งสองมีความสอดคล้องกัน แต่ตำนานหนึ่งปี พ.ศ.หายไป แต่อีกตำนานหนึ่งปรากฏปี พ.ศ.ชัดเจน คือสร้างเมืองนครศรีธรรมราชเมื่อ พ.ศ.๑๐๙๘
พระยาศรีธรรมาโศกราชองค์นี้นอกจากสร้างเมืองแล้วยังสร้างพระบรมธาตุด้วยเข้าใจว่าน่าจะเป็นการบูรณะมากกว่า นอกจากนั้นกษัตริย์ยังได้ขยายอาณาเขตจนมีเมืองขึ้นถึง ๑๒ เมือง ตามตำนานเมืองนครศรีธรรมราชตอนหนึ่งกล่าวว่า”…..จึงพญาศรีธรรมาโศกราชตริริกันแล้ว ก็ใสร้างเมืองขึ้นสิบสองนักษัตร ปีชวดเมืองสายถือตราหนู๑ ฉลูเมืองตานีถือตราวัว๑ ขาลเมืองกลันตันถือตราเสือ๑ เถาะเมืองปะหังถือตรากระต่าย๑ มะโรงเมืองไทรถือตรางูใหญ่๑ มะเส็งเมืองพัทลุงถือตรางูเล็ก๑ มะเมียเมืองตรังถือตราม้า๑ มะแมเมืองชุมพรถือตราแพะ๑ วอกเมืองบันไทยสมอถือตราวานร๑ ระกาเมืองสระอุเลาถือตราไก่๑ จอเมืองตะกั่วถลางถือตราสุนัข๑ กุนเมืองกระถือตราสุกร๑ เมือง๑๒นักษัตรหัวเมืองขึ้นแก่เมืองนครศรีธรรมราชมหานคร แลพญาก็ก่อพระมหาธาตุสืบไปไส ไข้ห่าลงทั่วทั้งเมืองคนตาย เจ้าไทยแลนักเทศบาคูคนหนึ่งก็ตาย คนทั้งหลายก็ลงเรือหนีไข้ไซร้จึงห่าก็ตามลงเรือพญา พญาแลลูกเมียแลคนก็พินาศพิราลัยกันหึงนาน……”
ในตำนานพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราชก็กล่าวไว้เช่นนี้เช่นกัน เห็นจะไม่ต้องอธิบายซ้ำว่ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นแก่เมืองนครศรีธรรมราช นับเป็นเรื่องที่ประหลาดมากที่เกิดไข้ห่าขึ้นจนทำให้เมืองเป็นเมืองร้าง ทำให้ประวัติของเมืองนครต้องขาดตอนเป็นห้วงๆ ด้วยเหตุที่ไข้ห่าเกิดขึ้น เป็นประจำเช่นนี้จนมีพระยาศรีธรรมาโศกราชองค์หนึ่ง คิดกำจัดไข้ห่าโดยการจัดทำเงินนอโมไปโปรยตามส่วนต่างๆของเมือง อาจจะเป็นเพราะเงินนอโมนี้เองในช่วงหลังๆจึงไม่ปรากฏว่ามีไข้ห่าอีกเลย .
๙. พระยาศรีไสยณรงค์ พระยาศรีธรรมาโศกราชองค์นี้ มีชื่อปรากฏทั้งในตำนานเมืองและตำนานพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ข้อความในตำนานเมืองนครฯ ตอนหนึ่งกล่าวว่า “…..เมื่อศักราช ๑๑๙๖ ขวบนั้นยังมีพญาองค์หนึ่งชื่อพญาศรีไสยณรงค์ แต่ตะวันตกมาเสวยเมืองนครศรีธรรมราช ผู้เป็นอัครมเหษีชื่อ….” และตามตำนานพระบรมธาตุเมืองนครฯตอนหนึ่งกล่าวว่า”…..เมื่อศักราชได้๑๑๙๖ปียังมีพระญาองค์หนึ่งชื่อพระญาศรีไสยณรงค์ มาแต่ฝ่ายตะวันตก นางอรรคมเหษีชื่อจันทาเทวี น้องชายคนหนึ่งชื่อธรรมกระษัตริย์ ได้เป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชแลพระสิหิงค์มาประทักษิณพระธาตุแล้วอยู่ ๗ วัน
ก็จากเมืองนครไปเชียงใหม่ พระยาศรีไสณรงค์ถึงแก่กรรม เจ้าธรรมกระษัตริย์ผู้น้องได้เป็นเจ้าเมืองเมื่อศักราช ๑๑๙๘ปี “ … พระยาศรีไสยณรงค์ครองเมืองนครศรีธรรมราชเมื่อ พ.ศ.๑๑๙๖ และอยู่ๆก็มีพระพุทธสิหิงค์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยหลังจากทำการฉลองนาน ๗ วันแล้วพระพุทธสิหิงค์ก็มีผู้นำไปอยู่ที่เชียงใหม่ ซึ่งฟังดูก็แปลกดี และถ้าเป็นไปตามตำนานนี้แสดงว่าพระพุทธสิหิงค์ที่จังหวัดเชียงใหม่ได้นำไปจากนครศรีธรรมราช
พระพุทธสิหิงค์ในเมืองไทยเท่าที่ทราบในขณะนี้มีอยู่ ๔ องค์ คือ อยู่ที่วัดพระสิงห์จังหวัดเชียงใหม่๑ องค์ อยู่ที่กรุงเทพมหานคร๑องค์ อยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช๒องค์ คือที่ศาลากลางจังหวัด๑องค์และที่วัดอินคีรีอำเภอพรหมคีรี๑ องค์ และต่างฝ่ายต่างมีความเชื่อว่าพระพุทธสิหิงค์ที่ตนมีอยู่ต่างเป็นองค์จริงทั้งนั้น เรื่องนี้เป็นจริงอย่างไรขอนักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีได้พิศูจน์ให้คนไทยได้ทราบโดยทั่วกันด้วย
๑๐. ท้าวธรรมกษัตริย์ ท้าวธรรมกษัตริย์ เป็นผู้ครองเมืองนครศรีธรรมราชเป็น พระยาศรีธรรมาโศกราชเมื่อพ.ศ.๑๑๙๘ ถ้าเป็นไปตามตำนานนี้แสดงว่า พระยาศรีไสณรงค์ผู้เป็นพระเชษฐาได้ครองเมืองเพียง ๒ ปีเท่านั้น พระยาศรีธรรมาโศกราชองค์นี้มีหลักฐานเพียงเท่านี้ ไม่ปรากฎว่าครองเมืองอยู่นานเท่าไรและทำประโยชน์อะไรให้แก่ชาวนครศรีธรรมราขในเรื่องงใดบ้าง
๑๑. พระยาวรราช พระยาศรีธรรมาโศกราชองค์นี้ ได้ชื่อว่าเป็นมหาราชองค์หนึ่งของนครศรีธรรมราช มีพระนามหลายพระนามเช่น ตามชินกาลมาลินีปกรณ์มีพระนามว่าชีวกราช ตามตามจามเทวีวงศ์มีพระนามว่าสุชิตราช ตามพงศาวดารโยนกและตำนานเมืองลำพูนมีพระนามว่าสุรชิตราชอาจารย์มานิต วัลลิโภดม ไดให้ความเห็นว่าในรัชสมัยนี้น่าจะเป็น พ.ศ. ๑๔๔๖ นายนิคม มูสิคามะ อดีตอธิบดีกรมศิลปากรได้เขียนไว้ในหนังสือแผ่นดินไทยในอดีตตอนหนึ่งว่า ในการทำศึก ๓ เส้าระหว่างพระยาพกราชแห่งหริภูญไชยกับพระยาอัจฉิตตจักรพรรดิแห่งละโว้ณชายแดนของละโว้ ซึ่งในขณะที่กษัตริย์ทั้งสองกำลังรบกันอยู่นั้น พระยาวรราชแห่งนครฯได้ฉวยโอกาสยกกองทัพเรือเข้ายึดเมืองละโว้ไว้ได้ แล้วพระยาวราชก็ยกกองทัพไปตีกษัตริย์ทั้งสององค์จนแตกพ่าย เมื่อเป็นเช่นนั้นกษัตริย์ทั้งสองจึงรีบไปแย่งเมืองหริภูญไชยที่เหลืออยู่ แต่ทัพของพระยาอัจฉิตตจักรพรรดิไปถึงก่อนเลยได้ครองหริภูญไชย ส่วยพระยาพกราชต้องหาเมืองใหม่ครองแทนแต่ไม่ได้บอกว่าเป็นเมืองอะไร
พระยาวรราชได้จัดการในการปกครองละโว้จนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงได้มอบหมายให้โอรสได้ปกครองละโว้ มีพระนามว่า “พระยาปนะโกศลกัมโพชราช” และด้วยพระนามของกษัตริย์องค์นี้เองทำให้ต้องเรียกแคว้นนี้ใหม่ว่า”แคว้นกำโพชนคร”ส่วนพระยาวรราชก็กลับนครศรีธรรมราช เชื้อสายของพระยาวรราชแห่งนครศรีธรรมราชได้ปกครองละโว้มาจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๖ มีเจ้าชายองค์หนึ่งของแคว้นกำโพชนครได้ไปครองกัมพูชา มีพระนามตามหลักศิลาจารึกลพบุรีที่ ๑๙ ว่า “พระบาทกำตวนอัญศรีสูรยวรมเทวะ” คำว่ากำตวนนี้แสดงว่าอยู่ในเชื้อสายของราชวงค์แห่งนครศรีธรรมราช และเจ้าชายองค์นี้มีพระมเหสีในเชื้อสายของราชวงศ์ไศเลนทร และพระมารดาของพระองค์ก็สืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าอินทรวรมันที่ ๑ ของขอมพระองค์ได้ไปจากกรุงละโว้ ไปทำสงครามแย่งชิงราชบัลลังก์จากอาณาจักรขอมโดยถือสิทธิ์ทางสายราชมารดาที่สุดได้ชัยชนะและได้ครองกัมพูชามีพระนามว่า” พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ ( พ.ศ.๑๕๕๓–๑๕๙๓) และพระองค์ได้แผ่อนุภาพมาปกครองแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยาอีกวาระหนึ่ง แต่ปกครองอยู่นานเท่าไรไม่ปรากฎ นับเป็นเชื้อสายกษัตริย์จากไทยและกลับมารุกรานไทยจนได้อีกวาระหนึ่ง
๑๒. ท้าวสุชัย ท้าวสุชัยเป็นโอรสของพระยาวรราช อยู่ซึ่งครองนครศรีธรรมราชต่อจากพระบิดา พระยาศรีธรรมาโศกราชองค์นี้ปรากฎพระนามในจดหมายเหตุของจีนชื่อ” Sung Shin” จดหมายเหตุนั้นกล่าวว่า “….เมืองตามพรลิงค์ได้ส่งฑูตไปในราว พ.ศ.๑๕๔๔ ตอนนั้นผู้ครองเมืองตามพรลิงค์ชื่อ “….To-Hsu-Chi…” คณะฑูตที่ไปมีด้วยกันทั้งหมด ๙ คน หัวหน้าคณะฑูตชื่อ “..Ta-Chi-Ma-Ta-La…” มีอะไรเป็นเหตุให้ตามพรลิงค์ต้องส่งฑูตไปจีนในครั้งนี้ ท่านศาสตราจารย์ ยอร์ชเซเดส์กล่าวว่าในขณะนั้นเกิดวิกฤติทางการเมือง คือตามพรลิงค์ต้องการขยายอำนาจ จึงตั้องการจีนเป็นตัวถ่วงดุลย์ทางการเมืองเพื่อให้ขอมเห็นว่าเมืองตามพรลิงค์ก็เป็นญาติดีกับจีน ทำให้พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้ครองกัมพูชาอยู่นั้นได้มีความเกรงใจตามพรลิงค์ด้วย
๑๓. พระพนมวัง ข้อความในตำนานเมืองนครศรีธรรมราชตอนหนึ่งกล่าวว่า”…พระเจ้าอยู่หัวก็ประทานให้พระพนมวังแลนางสะเดียงทองออกไปสร้างเมืองนครดอนพระแลท่านให้พล ๗๐๐ แขก ๕๐ ช้างม้า ๒ มาประทานให้แก่พระพนมวังแลนางสะเดียงทอง อยู่ในเมืองนครดอนพระนั้นจงขาดแลมีลูกหลานให้อยู่กินเมือง มีญาติกาหญิงชายไสให้ถวายเข้ามาเป็นข้าพระเจ้าอยู่หัว แลเมืองแห่งใดๆเป็นเมืองขึ้นไสพระพนมวังแลนางสะเดียงทอง แต่งแขกนั้นให้เป็นเจ้าเมืองนั้น อยู่จงทุกเมืองนั้นให้มาขึ้นในเมืองนครดอนพระเป็นส่วยทอง แลให้ใต้หล้าฟ้าเขียวณบ้านเมืองไกล พระพนมวังแลนางสะเดียงทองไส เป็นธุระสำเร็จสร้างบ้านเมืองและพระมหาธาตุจงลุสำเร็จ แลให้เจ้าศรีราชาผู้ลูกพระพนมวังแลนางสะเดียงทองเข้ามาเอาแก้วสำหรับยอดพระเจ้านั้นแลทองออกไป แลพระเจ้าอยู่หัวสั่งให้ไหสร้างป่าให้เป็นนาจงทุกตำบล ให้ป่าแก่คนอันอยู่ณเขาให้ออกมาทำไร่นาแลอยู่เป็นถิ่นฐาน บ้านที่อยู่ให้มีชื่อมีตำบล แลให้พระพนมวังกฏหมายไว้ให้เจ้าศรีราชาเอามาไว้ พระเจ้าอยู่หัวจงซับทราบแลพระเจ้าอยู่หัวสั่งเท่านั้นและพระพนมวังแลนางสะเดียงทองและศรีราชา กราบลาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสั่งเท่านี้ และให้มีศักราชตั้งไว้ศักราช ๑๕๘๘ ปีมะแมศกนักษัตร์…”
พระเจ้าอยู่หัวได้แต่งตั้งให้พระพนมวังมาเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชโดยมอบอำนาจแบบเบ็ดเสร็จให้ทำการได้ทุกอย่างแม้กระทั่งการออกกฎหมายและแต่งตั้งเจ้าเมืองที่เป็นเมืองขึ้นทั้งหมดได้ พระเจ้าอยู่หัวองค์นี้ไม่ทราบว่าเป็นใคร คาดว่าขณะนั้นเมืองนครฯอาจจะเป็นเมืองร้างอยู่ก็ได้ ในราว พ.ศ.๑๕๘๘ นั้น เป็นยุคที่ศรีวิชัยกำลังเรืองอำนาจซึ่งแผ่ไปถึงมลายูและสุมาตรา ดังนั้นผู้สั่งแต่งตั้งเจ้าเมืองนครฯในครั้งนี้น่าจะเป็นกษัตริย์องค์ใดองค์หนึ่งของราชวงศ์ไศเลนทรแห่งอาณาจักรศรีวิชัยก็ได้ ซึ่งในขณะนั้นตามพระลิงค์คงอยู่ในอำนาจของศรีวิชัยด้วย
๑๔. เจ้าศรีราชา เจ้าศรีราชาเป็นพระยาศรีธรรมาโศกราชอีกองค์หนึ่งของนครศรีธรรมราช เนื่องจากเจ้าศรีราชาเป็นอุปราชจึงเป็นเจ้าเมืององค์ต่อไป ข้อความตอนหนึ่งในตำนานเมืองนครศรีธรรมราชกล่าวว่า”….แลคนในเมืองนครดอนพระนั้นน้อยนักหนาแล้ว เจ้าศรีราชากราบทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า พระพนมวังตายแล้ว แลพระเจ้าอยู่หัวมีความกรุณาปราณีพระพนมวัง พระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์มีความกรุณาแก่เจ้าศรีราชาประทานชื่อให้เป็น” พระยาศรีธรรมาโศกราช สุรินทรราชาสุรวงศ์ธิบดี ศิรยุธิษเถียรอภัยพิริปรากรมพาหุ เจ้าพระยานครศรีธรรมราชมหานคร “ นางสนไส้พระราชทานให้ชื่อนางจันทรเทวีศรี
รัตนฉายา นางเมืองนครศรีธรรมราช พระเจ้าอยู่หัวมีพระราชทานให้เงินแก่พญาศรีธรรมาโศกราชมหานครนั้นพันตำลึง….”
จะเห็นได้ว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงมีความกรุณาต่อเจ้าศรีราชามาก จึงได้แต่งตั้งให้เป็นเจ้เมืองพร้อมพระราชทานยศชื่อใหม่พร้อมพระราชทานเงินให้ด้วย พระเจ้าอยู่หัวองค์นี้น่าจะเป็นองค์เดียวกันที่แต่งตั้งพระพนมวังบิดาของเจ้าศรีราชานั่นเอง เพราะเหตุการณ์ต่อเนื่องกัน นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นอย่างสูงต่อเจ้าศรีราชา
๑๕. นายอู นายอยู่ ข้อความในตำนานเมืองนครศรีธรรมราชตอนหนึ่งกล่าวว่า “…..นายอยู่น้องพญาศรีธรรมาโศกราช เมียชื่อนางแก้ว นายกู นายอู นี้เป็นหลานพญาศรีธรรมาโศกราช นายกูมีเมียชื่อนางคำ นายอูมีเมียชื่อนางคำเพขร…..พญาศรีธรรมาโศกราชถึงแก่กรรม พระเจ้าอยู่หัวให้นายอู นายกู นายอยู่ เข้ามากราบพระเจ้าอยู่หัว ขอผูกส่วยเงินตำลึงบาทสลึงภูกันขึ้นพระคลังหลวงแล…..พระเจ้าอยู่หัวมีพระกรุณาให้ผูกส่วยเงินบาทสลึงภูกันนั้นขึ้นพระคลังหลวง ให้ขุนคลังกฎหมายไว้ว่าแต่นี้ไปเมื่อหน้าให้ผูกส่วยอย่าให้ขาดอย่าชำรุด และปรำมูลชาวส่วย ๑๐๐ คน อย่าให้แตกฉาน นายอู นายอยู่ให้ครองเมืองนครศรีธรรมราช ผูกส่วยขึ้นพระคลังหลวงทุกปี…..”
ตามตำนานนี้น่าจะดูเป็นข้อสังเกตได้ว่า ทำไมจึงแต่งตั้งให้บุคคล ๒ คนมาครองเมืองในขณะเดียวกันพร้อมกันทั้ง ๒ คน น่าจะสันนิษฐานได้ว่าเพราะทั้ง ๒ คนนั้นเป็นญาติสนิทกันก็เป็นได้ ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วย่อมเป็นไปไม่ได้เลย และน่าจะเป็นที่แน่ใจว่านายอยู่น่าจะเป็นเจ้าเมืองนครฯ เพราะเป็นน้องของพระยาศรีธรรมาโศกราช ส่วนนายอูน่าจะอยู่ในตำแหน่งอุปราชหรือปลัดเมืองหรือที่ปรึกษาของเจ้านคร เพราะเป็นหลานของพระยาศรีธรรมาโศกราช ซึ่งธรรมเนียมนี้ในครั้งโบราณน่าจะเป็นไปได้เพราะเป็นญาติสนิทกันไม่น่าจะมีปัญหาทางการปกครองแต่อย่างใด
๑๖. หมื่นศรีจอมรัด หมื่นศรีจอมรัดได้เป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชองค์ต่อมาความในตำนานเมืองนครศรีธรรมราชตอนหนึ่งกล่าวว่า”……ขุนพระคลังนำนายรามซึ่งเข้ามากราบพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทูลพระกรุณาว่า ข้าพระพุทธเจ้านายรามนี้ลูกนายอูข้าพระเจ้าอยู่หัว พระเจ้าอยู่หัวกรุณาประทานชื่อให้แก่นายรามชื่อ เหมิ่นศรีจอมรัดเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช แลเหมิ่นศรีจอมรัดเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช แลเหมิ่นสุดใจแมน เหมิ่นแสนใจซื่อ กราบพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถวายบังคมลาออกมาเมืองนครศรีธรรมราช…….เหมิ่นศรีจอมรัดเอานางบุญกองหลานนายกูเป็นเมีย อยู่นานมาเกิดลูกหญิงผู้หนึ่งชื่อนางเอือย แลพระหลานเป็นพระยาแลซึ่งอยู่เมืองลานสกามาขอเอานางเอือยเป็นเมีย เกิดลูก ๗ คน …….”
จะเห็นได้ว่าในช่วงนี้ผู้ที่จะมาเป็นเจ้าเมืองนครฯนั้นดูจะเป็นเชื้อสายหรือพระญาติของพระยาศรีธรรมาโศกราชองค์ก่อน ซึ่งนายรามนั้นเป็นลูกนายอู และนายรามเอานางบุญกองซึ่งเป็นหลานนายกูมาเป็นเมีย ทั้งนายกูและนายอูต่างเป็นหลานของพระยาศรีธรรมาโศกราชองค์ก่อน ต่อมานายรามมีลูกเป็นผู้หญิงชื่อนางเอือย ต่อมานางเอือยได้เป็นเมียของขุนอินทาราเจ้าเมืองลานสกา ก่อนที่นายรามจะมาครองนครฯนั้นได้รับการแต่งตั้งจากพระเจ้าอยู่หัวให้เป็นหมื่นศรีจอมรัด และมีผู้ช่วยในการครองเมือง๒คนคือ หมื่นสุดใจแมนและหมื่นแสนใจซื่อเป็นที่ปรึกษาในการครองเมืองในครั้งนี้ด้วย
๑๗. พระศรีมหาราชา ( พระศรีมหาราชาองค์ที่ ๑ ) พระยาศรีธรรมาโศกราชองค์นี้ตำนานได้กล่าวพาดพิงไว้น้อยมาก ดังความตอนหนึ่งในตำนานพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราชกล่าวว่า “…..พระศรีมหาราชาก่อชุกชีแลวิหารแล้ว พระศรีมหาราชาถึงแก่กรรม ขุนอินทาราผู้เป็นลูกกินเมืองลานตกาอยู่เมียขุนอินทาราชื่อนางเอือย ……” จากความในตำนานดังกล่าวพอจะทราบว่าพระศรีมหาราชาคงเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชและมีลูกชื่อขุนอินทาราได้ครองเมืองลานสกาอยู่ในขณะนั้น ตำนานบอกว่าพระศรีมหาราชาก่อฐานพระและสร้างพระวิหารแล้วก็ได้ถึงแก่กรรม แสดงว่าพระศรีมหาราขาเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชแน่ๆ
๑๘. นายศรีทูน ( พระศรีมหาราชาองค์ที่ ๒ ) นายศรีทูนมาเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชเมื่อ พ.ศ. ๑๘๑๕ ตามตำนานพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราชกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “…..พระศรีมหาราชาก่อชุกชีแลวิหารแล้วพระศรีมหาราชาถึงแก่กรรม ขุนอินทาราผู้เป็นลูกกินเมืองลานตกาอยู่ เมียขุนอินทาราชื่อนางเอือย ลูกชายชื่อนายศรี ลูกหญิงชื่อนางราม มีพระราชโองการออกมาว่าให้ขุนอินทาราแต่งลูกหมอช้างเข้าไปแทน หมอช้างก็ตามลูกเข้าไปด้วย หมอช้างให้ความทูลว่าขุนอินทาราเอาลูกสาวเข้ามาถวายไม่ โปรดให้ข้าหลวงออกมาสืบสมตามถ้อยคำหมอช้างกราบทูล จึงให้เอาขุนอินทาราไปตีเสียที่ประตูท่าชี แล้วเอาลูกเมียผู้คนเข้าไปเป็นข้าหลวง นายศรีลูกขุนอินทารานั้นโปรดให้เป็นนายศรีทูน ตั้งแต่นั้นมาเมืองนครศรีธรรมราชก็อันตรธานเป็นช้านาน หาผู้กินเมืองมิได้ เมื่อศักราช ๑๘๑๕ปี มีพระราชโองการให้นายศรีทูนออกมาครองนครศรีธรรมราช……..”
ความตอนนี้พอทราบว่า เจ้าเมืองลานสกานั้นชื่อขุนอินทาราเป็นลูกของพระศรีมหาราชา มีเมียชื่อนางเอือย มีลูกชายชื่อศรี มีลูกสาวชื่อนางราม พระเจ้าอยู่หัวสั่งขุนอินทาราส่งตัวลูกสาวเข้าไปถวายตัว แต่ขุนอินทาราได้ส่งลูกสาวหมอช้างเข้าไปแทน เมื่อความจริงปรากฎจึงนำขุนอินทาราไปฆ่าเสียที่ประตูท่าชี และให้นำลูกเมียไปเป็นข้าของหลวง ตั้งแต่นั้นมาเมืองนครฯก็ไม่มีใครมาครองเป็นเวลาช้านาน แต่ต่อมาในปี พ.ศ.๑๘๑๕ มีพระราชโองการให้นายศรีทูนมาครองเมืองนครศรีธรรมราช แต่ได้แต่งตั้งให้เป็นขุนอินทาราเหมือนพ่อก่อนที่จะให้มาครองเมือง ซึ่งในปี พ.ศ.๑๘๑๕ นั้นอาณาจักรศรีวิชัยได้หมดอำนาจลงแล้วโดยสมบูรณ์ อโยธยาเลยเข้ามาปกครองนครฯ
ในเวลาต่อมา กษัตริย์แห่งอโยธยาในยุคนี้คือพระเจ้าชัยเสน พระเจ้าชัยเสนได้สั่งให้ขุนอินทาราบูรณพระบรมธาตุโดยการปิดทอง และทำระเบียงล้อมรอบพระบรมธาตุทั้งสี่ด้าน ทำห้องพระพุทธรูปได้ ๑๖๕ ห้อง และสร้างพระพุทธรูปได้ครบทั้ง ๑๖๕ ห้อง จึงรายงานไปให้พระเจ้าชัยเสนทราบ เป็นที่พอใจของพระเจ้าชัยเสนมาก ได้รับการแต่งตั้งจากพระเจ้าชันเสนให้เป็น “พระศรีมหาราชา “ ในเวลาต่อมา
๑๙. พระศรีมหาราชา ( พระศรีมหาราชาองค์ที่ ๓ ) ตำนานพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราชตอนหนึ่งกล่าวว่า “…….อยู่มาพระศรีมหาราชาถึงแก่กรรม ศักราชได้ ๑๘๖๑ ปี โปรดให้ข้าหลวงออกมาเป็นพระศรีมหาราชา แต่งพระธรรมศาลา ทำระเบียงล้อมพระธาตุ และก่อพระเจดีย์วัศสภ มีพระบัณฑูรให้พระศรีมหาราชาไปรับเมืองลานสกา ศรีมหาราชาถึงแก่กรรม เอาศพมาไว้วัศสภ แล้วเอามาก่อเจดีย์ไว้ในพระเดิม ๙ ยอด ….”
พระศรีมหาราชาองค์นี้ไม่ปรากฎชื่อ เพียงแต่เป็นข้าหลวงที่ส่งออกมาครองนครศรีธรรมราชแทนพระศรีมหาราชาองค์ก่อน แสดงว่าตอนนี้ทางอโยธยาไม่ค่อยไว้วางใจทางนครฯเหมือนครั้งก่อน จึงได้แต่งตั้งคนของตนเองมาครองนครฯแทนที่จะแต่งตั้งคนของเมืองนครฯมาปกครองกันเอง ผู้แต่งตั้งให้พระศรีมหาราชามาครองนครศรีธรรมราช น่าจะเป็นพระสุวรรณราชา ราชนัดดาของพระเจ้าชัยเสน ทั้งนี้เพราะพระศรีมหาราชามาครองนครศรีธรรมราชในปี พ.ศ.๑๘๖๑ ซึ่งตรงกับสมัยของพระสุวรรณราชาแห่งอโยธยา และเมื่อพระศรีมหาราชาองค์นี้ถึงแก่กรรม ก็นำพระศพมาไว้ที่วัดศพในพระเดิมโดยก่อพระเจดีย์ไว้พระศพถึง ๙ ยอด
๒๐. ขุนรัตนากร ตำนานพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราชกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “…..จึงมีพระบรรทูลตรัสให้ขุนรัตนากร คุมคน ๓๐๐ มารั้งเมืองนครศรธรรมราช…….” ผู้แต่งตั้งขุนรัตนากรไม่แน่ชัดว่าเป็นใคร และมาครองนครฯใน พ.ศ.ใดไม่ปรากฎ สันนิษฐานว่าน่าจะหลัง พ.ศ.๑๘๖๑ ไปแล้ว ในยุคขุนรัตนากรได้มีการบูรณะระเบียงพระมหาธาตุและได้จัดหาที่ดินเป็นที่ภูมิสีสัดไว้เป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นที่กัลปนาและนาจังหัน ให้วัดมีรายได้เป็นทุนสำรองในการบำรุงรักษาวัด โดยไม่ต้องรบกวนชาวบ้านมากนัก
เป็นที่น่าสังเกตว่าในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ประเทศไทยมีเมืองหลวง ๒ เมืองคือสุโขทัยและอโยธยา ในช่วงแรกๆอโยธยาเป็นเมืองขึ้นของสุโขทัย ภายหลังในราว พ.ศ.๑๘๙๓–๑๙๒๐ เมืองหลวงทั้งสองเป็นอิสระแก่กันซึ่งในปี พ.ศ.๑๘๓๗ พ่อขุนรามคำแหงมหาราชแห่งสุโขทัยได้แผ่อำนาจไปตลอดแหลมมลายู นครศรีธรรมราชก็เลยตกอยู่ในอำนาจของสุโขทัยด้วย และในช่วงปี พ.ศ.๑๙๒๐ ในสมัยของพระเจ้าไสยลือไทยสุโขทัยก็ตกเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยาโดยสมบูรณ์ในสมัยของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑(ขุนหลวงพะงั่ว) เพียงใช้ลิ้นทางการฑูตไม่ต้องรบให้เสียเลือดเนื้อแต่อย่างใด
แต่อย่างไรก็ตามในช่วงปี พ.ศ.๑๘๖๑ นั้นนครศรีธรรมราชยังเป็นเมืองขึ้นของสุโขทัยอยู่ แต่ทางสุโขทัยเกรงใจทางอยุธยาอยู่ ปล่อยให้อยุธยาปกครองนครฯไปพลางก่อน จนถึง พ.ศ. ๑๙๒นครศรีธรรมราชจึงเป็นเมืองขึ้นของอยุธยาโดยสมบูรณ์ตั้งแต่นั้นมา
๒๑. ขุนอินทรา ตำนานเมืองนครศรีธรรมราชกล่าวไว้ตอนหนี่งว่า ขุนอินทราเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช บอกไว้เดิมไส้นางกฤษณาและนางทองมุกแลลูกหลานหญิงชาย …….” ตำนานบอกไว้เพียงเท่านี้และไม่รู้ว่าใครเป็นคนแต่งตั้ง
- ขอบคุณเจ้าของ ภาพประกอบ
สายลุยเตรียมพร้อมก่อนไป “เดินป่า” อ่านจบรู้เรื่อง