ปภ.เตือน 16 จังหวัดภาคใต้รวมเพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์ เตรียมรับมืออุทกภัย ดินถล่ม คลื่นลมแรง ช่วงกลาง ต.ค.-ธ.ค.นี้
วันนี้( 11 ต..ค61) นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะรองผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บก.ปภ.ช.) เปิดเผยว่า กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติได้ติดตามสถานการณ์ร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ช่วงกลางเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม 2561 บริเวณภาคใต้จะได้รับอิทธิพลมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมภาคใต้และอ่าวไทย ส่งผลให้มีฝนตกชุกหนาแน่น และอาจมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนเข้ามาใกล้หรือเข้าสู่ประเทศไทยบริเวณภาคใต้
บก.ปภ.ช.จึงได้สั่งการให้จังหวัดเสี่ยงภัยในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ กระบี่ ชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี พังงา พัทลุง ภูเก็ต ยะลา ระนอง สงขลา สตูล และสุราษฎร์ธานี รวมถึงเพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ เตรียมพร้อมรับมืออุทกภัย ดินถล่ม และคลื่นลมแรง
โดยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามสภาพอากาศ เพิ่มความถี่ ในการตรวจวัดปริมาณฝน สังเกตการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำ รวมถึงจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยเฉพาะพื้นที่ชุมชน พื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจ โบราณสถาน และศาสนสถาน หากเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยไม่เพียงพอให้ขอรับการสนับสนุนจากศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต และหน่วยทหารในพื้นที่ทันที
พร้อมทั้งแจ้งเตือนประชาชนให้ระมัดระวังอันตรายจากสถานการณ์ภัยในช่วงฝนตกหนักผ่านทุกช่องทาง อาทิ วิทยุกระจายเสียง เสียงตามสาย หอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน เครือข่ายวิทยุสมัครเล่น สถานีโทรทัศน์ เคเบิ้ลทีวี และสื่อสังคมออนไลน์ รวมถึงให้จังหวัดประสานการปฏิบัติกับหน่วยทหารในพื้นที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานและเครือข่ายอาสาสมัครทุกภาคส่วนอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เข้าถึงพื้นที่เกิดเหตุและให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ทันท่วงทีตลอด 24 ชม. หากสถานการณ์รุนแรงเกินศักยภาพที่จังหวัดสามารถรับมือสถานการณ์ภัยได้ให้แจ้งกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เพื่อประสานให้การช่วยเหลือประชาชนโดยด่วน
สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยฝนตกหนัก ขอให้ติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ สามารถติดต่อแจ้งเหตุและติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสาขาในพื้นที่ หรือสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป
– ภาพประกอบข่าว
สายลุยเตรียมพร้อมก่อนไป “เดินป่า” อ่านจบรู้เรื่อง