
“วันส่งเจ้าเมืองเก่า วันว่าง และ วันรับเจ้าเมืองใหม่”
ประเพณีสงกรานต์ถือเป็นการเฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่ของไทย โดยเฉพาะที่ จ.นครศรีธรรมราช มีความเชื่อว่าเทศกาลสงกรานต์เป็นช่วงเวลาแห่งการผลัดเปลี่ยนเทวดาผู้รักษาดวงชะตาคุ้มครองบ้านเมือง หรือ “เจ้าเมือง” ที่จะแวะเวียนมาดูแลความเป็นไปในบ้านเมืองที่เกิดขึ้นแต่ละปี และถือเอาช่วงวันสงกรานต์เป็นเวลาที่มีการผลัดเปลี่ยนเจ้าเมืองเกิดขึ้น ทำให้วันที่ ๑๓-๑๕ เมษายน มีชื่อเรียกแตกต่างกันเป็น “วันส่งเจ้าเมืองเก่า”, “วันว่าง” และ “วันรับเจ้าเมืองใหม่” ตามลำดับ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
วันที่ ๑๓ เมษายน หรือ วันมหาสงกรานต์ ชาวใต้จึงเรียกว่า “วันเจ้าเมืองเก่า” หรือ “วันส่งเจ้าเมืองเก่า” โดยในวันนี้ชาวนครจึงพร้อมใจกันทำความสะอาดบ้านเรือน เครื่องใช้ไม้สอยเครื่องประดับ เครื่องแต่งกาย และทำการซ่อมแซมหากชำรุดเสียหาย คนโบราณยังมีการตัดผมหรือตัดเล็บมาทำพิธี “ลอยแพ” โดยใส่ลงหยวกกล้วยที่ตัดมาเป็นแพ ปักธูปเทียน ลอยไปตามแม่น้ำ โดยเชื่อว่าจะเป็นการลอยทุกข์ ลอยโศก และเคราะห์กรรมสิ่งไม่ดีต่างๆออกไป ดูเผิน ๆ ก็คล้ายการลอยกระทงอยู่เหมือนกัน เพียงแต่แพที่ลอยอาจไม่ได้สวยงามอย่างกระทง และก็ไม่ได้มีเจตนาบูชาหรือขอขมาพระแม่คงคา วันเดียวกันนี้ยังมีการอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปสำคัญประจำเมืองมาให้ประชาชนได้สรงน้ำกันด้วย
วันรุ่งขึ้นวันที่ ๑๔ เมษายน ถือเป็น “วันเนา” หรือที่ชาวใต้เรียกว่า “วันว่าง” ตามความเชื่อแต่เดิมวันนี้เป็นวันที่เทวดาจากเมืองต่าง ๆ ที่ไปตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน จะสถิตอยู่นบสวรรค์โดยพร้อมเพรียงกัน ในโลกมนุษย์จะไม่มีเทวดาเหลืออยู่เลย เลยเรียกว่าวันว่าง “วันว่าง” จะงดการทำพิธีกรรมต่างๆ นอกจากการไปทำบุญตักบาตรที่วัด และสรงน้ำพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ หลังจากนั้นก็นำอาหาร เครื่องใช้ ของฝาก ไปแสดงความเคารพผู้ใหญ่ และพระสงฆ์ที่ตนนับถือ และถือโอกาสรดน้ำขอพรจากผู้ใหญ่ เป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวที ในวันนี้จะมีการละเล่นทั่งเมืองนครเช่น มโนห์รา หนังตะลุง เพลงบอก มอญซ่อนผ้า อุบลูกไก่ ชักเย่อ สะบ้า เตย ปิดตาลักซ่อน วัวชน ชนไก่ การละเล่นต่าง ๆ นี้เรียกว่า ” เล่นวันว่าง ”
วันที่ ๑๕ เมษายน วันสุดท้ายของประเพณีสงกรานต์ เรียกว่า “วันรับเจ้าเมืองใหม่” หรือ วันตอนรับเจ้าเมืองใหม่ เพราะเชื่อกันว่าวันนี้เทวดาองค์ใหม่ได้ย้ายไปประจำดูแลรักษาบ้านเมือง และปกป้องคุ้มครองเมืองต่อไปอีกหนึ่งปี ซึ่งชาวนครก็จะเตรียมตัวต้อนรับเทวดาองค์ใหม่ด้วยการแต่งกายด้วยเสื้อผ้าเครื่องตกแต่งใหม่ๆ อย่างสวยงามกันตั้งแต่เช้าตรู่นำภัตตาหารไปทำบุญที่วัด พร้อมกับร่วมกันทำขวัญข้าว รดน้ำผู้หลักผู้ใหญ่ และพระสงฆ์ที่ยังตกค้างไม่ได้รดน้ำหากตระกูลใดมีญาติพี่น้องมาก ก็จะทำพิธีรดน้ำผู้ใหญ่ด้วยการประกอบพิธีใหญ่ ที่เรียกว่า “ขึ้นเบญจา” ในวันว่าง
และหากตระกูลใดมีญาติพี่น้องมาก ก็จะทำพิธีรดน้ำผู้ใหญ่ด้วยการประกอบพิธีใหญ่ ที่เรียกว่า “ขึ้นเบญจา” (โรงหรือพลับพลามีหลังคา 5 ยอด แบบจตุรมุข โดยนับยอดจั่วของพลับพลารวมกับยอดโดม) ที่ต่อมาเพี้ยนเป็น “ขึ้นบิญจา” ซึ่งเป็นประเพณีที่ทำติดต่อกันมานาน โดยลูกหลานจะนิมนต์พระสงฆ์มาสวดปริตร เพื่อทำน้ำพระพุทธมนต์ผสมกับน้ำธรรมดา เติมของหอม ผสมกันในโอ่ง จากนั้นให้ผู้ใหญ่นั่งในโรงเบญจา ลูกหลานจะรดน้ำ ขณะเดียวกันพระสงฆ์สวดขันโตให้พร เมื่อเสร็จลูกหลานจะเปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่ให้ ผู้ใหญ่ให้พร
ที่มา | TK Park อุทยานการเรียนรู้, tungsong.com, blog.wu.ac.th
เรื่องเล่าความเป็นมาของ”วันมหาสงกรานต์” ปีใหม่ไทย กับ นางสงกรานต์ประจำวันทั้ง 7