นครศรีธรรมราช – ลูกหลานชาวถ้ำได้ให้สัญญากับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ผู้ปกปักรักษา พระบรรทม พระพุทธรูปปางไสยาสน์ในถ้ำพรรณรา ว่า ทุกปีในวัน ขึ้นค่ำหนึ่ง เดือนสิบเอ็ด (ถัดจากวันส่งตายายในเทศกาลบุญสารทเดือนสิบ 1 วัน) จะมารวมตัวกันทำบุญ อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้ ที่วัดถ้ำทองพรรณรา ด้วยการ “แห่จาด”…
ถ้าพูดเรื่อง “แห่จาด” ต้องยกให้ชาวนอกเขา คำว่า “นอกเขา” เป็นชื่อที่มีมาแต่โบราณสำหรับเรียกผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ทางทิศตะวันตกของเทือกเขาหลวง ได้แก่ อำเภอช้างกลาง ฉวาง ทุ่งสง ทุ่งใหญ่ บางขัน นาบอน พิปูน และถ้ำพรรณรา จังหวัดนครศรีธรรมราช การแห่จาดเป็นวัฒนธรรมร่วมอย่างหนึ่งของชาวนอกเขาที่น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ประเพณีแห่จาดขึ้นถ้ำ” ของชาวนอกเขาที่วัดถ้ำทองพรรณรา อำเภอถ้ำพรรณรา
ในวัน ขึ้น 15 ค่ำ เดือนสิบ บรรยากาศส่งท้ายของบุญเดือนสิบที่หลากหลายท้องที่คงอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่เปตชนผู้ล่วงลับกันไปเสร็จสิ้นแล้วนั้น ในฟากฝั่งพื้นที่ อำเภอถ้ำพรรณรา และละแวกใกล้เคียงคงตื่นเต้นและตั้งตารอกับประเพณีแห่จาดขึ้นถ้ำที่ใกล้เข้ามา ตามที่ลูกหลานชาวถ้ำได้ให้สัญญากับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ผู้ปกปักรักษา พระบรรทม พระพุทธรูปปางไสยาสน์ในถ้ำพรรณรา ว่า ทุกปีในวัน ขึ้นค่ำหนึ่ง เดือนสิบเอ็ด (ถัดจากวันส่งตายายในเทศกาลบุญสารทเดือนสิบ 1 วัน) จะมารวมตัวกันทำบุญ อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้ ที่วัดถ้ำทองพรรณรา ด้วยการ “แห่จาด”
“จาด” คือภาชนะสำหรับใส่ข้าวของเครื่องใช้ในการทำบุญ มีลักษณะเป็นทรงมณฑปบ้าง บ้างเป็นทรงปราสาทจตุรมุข ขึ้นโครงจากไม้ระกำหรือไม้อื่น ๆ ที่น้ำหนักเบา ประดับประดาด้วยกระดาษสี หรือกระดาษทองเกรียบฉลุลายไทยต่าง ๆ ที่เล่นสีสันดันลายกันอย่างสวยสดงดงาม บ้างมีการผสมผสานความคิดสร้างสรรค์ยุคสมัยใหม่ ด้วยลวดลายทันสมัยต่าง ๆ หรือวัสดุที่ใช้ เช่น ติดกระจก ก็เพิ่มความวิบวับแวววาวไม่น้อย ใช้ก้านไม้ขีดไฟเรียงเป็นหลังคาจตุรมุข สะท้อนความเพียรพยายามของผู้ทำ ใช้หลอดยาดมที่หมดแล้ว มาทำเป็นชั้นฐาน หรือการสานกระดาษสีด้วยลวดลายเหมือนกับสานเสื่อกระจูด ลายขัด ลายสอง ลายสาม
“จาด” แบ่งเป็น 3 ส่วนใหญ่ ๆ คือ ชั้นฐาน ชั้นเรือนธาตุ ชั้นเรือนยอด สามารถถอดประกอบได้ด้วยเดือยไม้ เพื่อง่ายต่อการเคลื่อนย้าย ในแต่ละชั้นก็จะมีลักษณะแตกต่างกันออกไป
ในชั้นแรก “ชั้นฐาน” จะอยู่ล่างสุด ขึ้นโครงขึ้นด้วยไม้ ประกบด้วยคานหาม 2 ลำคาน มัดด้วยผ้าขาวม้าเพื่อง่ายต่อการคล้องคอขณะแห่ ประกอบขึ้นเป็นลักษณะคล้ายพาน คอดเอว 4 มุม ประดับด้วยกระดาษสีฉลุลายไทย ติดป้ายชื่อองค์กร หมู่บ้าน ชื่อเจ้าของจาด
ชั้นถัดมาคือ “ชั้นเรือนธาตุ” ต่างใส่ขนมเดือนสิบ เป็นถุงย่อย ๆ จากการร่วมบุญของชาวบ้าน แต่พิเศษด้วยการมัดแต่ละถุงเข้าด้วยกันด้วย ด้วยเทปใส ซึ่งคงจะเป็นการตระเตรียมสำหรับการแห่ที่สนุกสนานเพื่อมิให้ขนมหล่นลงมา ปิดด้วยริ้วกระดาษสี 3 สี เพื่อปกคลุมสิ่งของด้านใน มีจาดหนึ่งทำชั้นเรือนธาตุนี้เป็นซุ้มประตูจตุรมุขเป็นลายเทริดโนรา สวยงามไปอีกแบบ
ส่วนสุดท้ายคือ “ชั้นเรือนยอด” ลดหลั่นกัน 3 ชั้นบ้าง 5 ชั้นบ้าง ประดับด้วยดอกไม้ไหว ปลายยอดเป็นดอกไม้ ร้อยลูกปัดระย้าลงมา แกว่งไกวสวยงามเมื่อเคลื่อนไหวในขบวนแห่ หากเป็นยอดจตุรมุข ก็มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ครบครัน ในส่วนช่อฟ้า บ้างเป็นรูปหงส์ บ้างเป็นรูปมังกร บ้างเป็นพญานาค และปลายสุดเป็นยอดแหลมทรงดอกบัว
นอกจากจะมีจาดแล้ว ในเรื่องของขบวนแห่ ทั้งขบวนหุ่นเปรตนับสิบที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็ก ๆ วัยรุ่นทำและแห่กันมา โครงไม้ไผ่และสแลนสีดำเป็นวัสดุที่นิยมนำมาใช้ทำ ทั้งนางรำ มาด้วยเสื้อสีขาวสวมผ้าถุงสีสด 3 ทีม สังเกตได้จากสีผ้าถุง มีทั้งทีมสีฟ้า ทีมสีขมพูและทีมสีม่วง แต่ทีมสีฟ้านำโดยท่านนายอำเภอถ้ำพรรณรา สังเกตได้เพราะมีป้ายประจำอำเภอนำขบวน พร้อมด้วยผู้หลักผู้ใหญ่ในพื้นที่ ทุกทีมนางรำซึ่งต่างซักซ้อมท่ารำกันมาเป็นอย่างดี รวมถึงมีเพลงสำหรับรำร่วมกันอีก 1 เพลง ที่จะมาแสดงให้ผู้ร่วมงานได้รับชมในพิธีเปิด
ในด้านเครื่องดนตรีเครื่องเสียง มีทั้งทับยาวหลากหลายทีม และมีทั้งรถเครื่องเสียง รถแห่ ที่ตอบโจทย์กลุ่มวัยรุ่นเป็นอย่างดี นับ ๆ คร่าว ๆ ไม่ต่ำกว่า 10 คัน ทั้งหมดทั้งมวลต่างตระเตรียมไว้เพื่อประกอบในการแห่จาดในวันนี้
เบื้องหน้าพระบรรทมวันนี้แตกต่างไปจากวันอื่น ๆ ทั่วบริเวณต่างประดับประดาอย่างสวยงาม ธงริ้วธรรมจักรผูกโยงจากต้นไม้หลาย ๆ ต้น รวบเข้าหาปากถ้ำ เสมือนกำลังสื่อสารว่าบุญกุศลที่ได้กระทำกันในวันนี้จากหลากหลายกิจกรรมได้รวมกันเป็นหนึ่งเพื่ออุทิศให้บรรพชนผู้ล่วงลับ ฟากหนึ่งได้จัดโต๊ะขนาดใหญ่รองรับขนมเดือนสิบที่มาร่วมทำบุญ แต่ละถุงจัดไว้เป็นชุด ๆ ครบครันทั้ง พอง ลา บ้า ดีซำ ไข่ปลา แถมด้วย ฉาวหาย กรุบ ก็มีให้เห็น แต่ถึงแม้โต๊ะที่วางจะจัดเตรียมไว้ให้ใหญ่ขนาดไหนก็ไม่เพียงพอกับแรงศรัทธาของชาวถ้ำพรรณรา บางส่วนยังตั้งเลยออกไปตามขอบปากถ้ำ ขอบแนวทางเดินพร้อมร่องรอยของการบูชา กลิ่นธูปและแสงสว่างจากเทียนระคนกัน หวังให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในบริเวณนี้นั้นมารับของเซ่นสรวงบูชานี้ไป
อีกฟากหนึ่ง เป็นบริเวณขนาดใหญ่ ตั้งรั้วราชวัตร ฉัตร ธง ล้อมด้ายสายมงคล 3 ชั้น ตามแนวรั้ว วางต้นอ้อย หน่อกล้วย ผลกล้วยทั้งเครือ ขนุน หน่อมะพร้าว มะพร้าวอ่อนและมะพร้าวสีทองทั้งทะลาย เป็นอาณาเขตปะรำพิธี บริเวณกึ่งกลาง ตั้งโต๊ะลดหลั่นกัน 3 ชั้น สูงสุดเป็นพระพุทธรูปปางไสยาสน์ เสมือนตัวแทนพระบรรทม พร้อมบายศรีธรรมจักร และพระพุทธรูปขนาบซ้ายขวา ชั้นถัดลงมาเป็นชั้นเทพทางพราหมณ์ ทั้ง พระพิฆเนศ พระศิวะ พร้อมของบูชา ทั้งบายศรีเทพ กล้วย อ้อย ขนมนมเนย และชั้นล่างสุดเป็นพญานาค ขันน้ำมนต์ ของเซ่นไหว้ ขนม ผลไม้ พืชผัก ตั้งเทียนชัย และเทียนคู่ขนาบ พร้อมบายศรีต้น 3 ต้น พร้อมเครื่องบัตรพลี และข้างโต๊ะฝั่งขวา ยังมีจาด 1 ใบ และหมรับทรงยอดพระธาตุนครอีก 1 หมรับอีกด้วย
ผมไปถึงก็ราว 9 โมง ครึ่ง ขบวนรถที่มุ่งตรงไปยังวัดถ้ำทองพรรณรา ก็เริ่มหนาแน่น รถที่ขนจาดบางคันก็เพิ่งไปถึง มี อปพร. คอยดูแลการจราจร ให้รถที่นำจาดมาได้เข้าไปยังบริเวณงานก่อน ภายในงานบางส่วนเริ่มตั้งขบวน เมื่อได้ที่จอดรถดีแล้ว ก็รีบวิ่งไปดู ขบวนแห่ที่กำลังเข้ามายังวัด สีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส บรรยากาศสนุกครื้นเครง ต้อนรับแขกผู้มาเยือนได้เป็นอย่างดี ชาวบ้านต่างเต้นรำไปกับจังหวะทับยาว จังหวะดนตรีรถแห่ สนุกสนาน เวียนรอบอุโบสถ แต่เวียนได้เพียง 1 รอบ ก็ต้องเคลื่อนย้ายไปยังจุดวางจาดหน้าพระบรรทม เพราะขบวนมากมายเหลือเกิน หากจะเวียนกัน 3 รอบคงใช้เวลานาน ยิ่งขบวนของนายอำเภอ หัวขบวนเวียนได้รอบหนึ่งแล้ว แต่หางขบวนยังไม่ถึงอุโบสถ เรียกได้ว่ายิ่งใหญ่สมคำร่ำลือ จนต้องแบ่งกันทำประทักษิณเป็นรอบ ๆ รอบละเพียง 1 รอบ
ขณะแห่วัยรุ่นบางจาดเขย่าจาดให้ดอกไม้ไหว ริ้วกระดาษ แกว่งไปมาระยิบระยับ แต่บางทีมเขย่ารุนแรงจนยอดหักโค่นก็มี “ปีนี้ทำมาได้ ปีหน้าค่อยทำใหม่เอาหลาว” เสียงสะท้อนจากเด็ก ๆ สวนขึ้นมาท่ามกลางฝูงชนที่เป็นห่วงว่าจาดจะเสียหาย ก็ดูน่ารักดี ว่าเด็กกลุ่มนี้ก็จะสืบสานประเพณีและถือโอกาสนี้รังสรรค์แสดงฝีมือในจาดใบใหม่กันต่อไป
เมื่อแห่มาจาดมารวมกันเสร็จ เจ้าของจาดก็ต่างไปลงทะเบียนพร้อมแจ้งและรวบรวมเงินทำบุญ แล้วรับกระดาษใบสีเขียวมา มีหมายเลขลำดับการลงทะเบียน ผมเดินไปเดินมาด้วยความอยากรู้ว่าจะมีจาดทั้งหมดกี่ใบ เท่าที่ตาเห็น หมายเลขสูงสุดบนกระดาษสีเขียวนั้นคือ 48 ทั้งหมดวางเรียงกันเป็นแถว ซ้อนกัน 4 แถว ละลานตา เรียกให้ช่างภาพ กล้องโทรศัพท์ มาเก็บภาพได้เป็นอย่างดี
ขณะที่ภาคบันเทิงกำลังเปิดงานด้วยการรำประกอบเพลง ฟากฝั่งพิธีกรรม โนราว่าบทครูสอน เชื้อครูหมอประทับทรง ร่างทรงนับสิบ ลุกขึ้นมาด้วยอาการท่าทางที่แตกต่างกัน บ้างชูมือชูไม้เป็นท่างู บ้างเป็นคนแก่ที่ต้องมีคนคอยประคอง บ้างคลานออกมาจนเสื้อผ้าชุดขาวกลายเป็นคราบดินคราบตะใคร่น้ำตามพื้น พร้อมด้วยโนรา ร่วมกันประกอบพิธีตัดเหมรย เมื่อร่างทรงต่าง ๆ อันเป็นตัวแทนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ผู้ปกปักรักษาพระบรรทมและถ้ำพรรณราแห่งนี้ได้มารับเอาเครื่องเซ่นสังเวยแล้ว โนราคว้าเอาหมากพลูเทียนแล้วใช้พระขรรค์ตัดเอาให้ขาดออกจากกัน แล้วโยนไปด้านหลัง อันเป็นสัญญาณบอกว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ได้มารับเอาส่วนบุญที่ลูกหลานได้กระทำในวันนี้ตามคำมั่นสัญญาเรียบร้อยแล้ว ให้สินบนนี้ขาดกันในวันนี้ แล้วว่าบทส่งครู ให้ออกจากร่างทรงกลับภพภูมิสถาน เป็นอันเสร็จพิธี
ในระหว่างที่แต่ละทีมกำลังทยอยเคลื่อนเอาจาดกลับ ผมก็แอบไปหาเก้าอี้นั่งพักสักหน่อย “มาจากไหนลูก” เสียงคุณป้าท่านหนึ่งที่นั่งติดกันทักทายอย่างเป็นมิตรด้วยสำเนียงภาษากลาง เผื่อว่าผมจะเป็นคนต่างถิ่นต่างที่ จึงตอบกลับให้แกได้รู้ว่า “มาแต่คอนแม่เหอ มากับย่า อา กับน้องสาวนิ แต่ย่ากับอานั้นคนบ้านส้อง เขานิพันธ์ พามาเที่ยวแล แกไม่เคยมา” แกก็ยิ้มใหญ่ พลางเล่าเรื่องราวประเพณีแห่จาดของที่นี่ ถามกันไปถามกันมา เป็น
ญาติของคนที่ย่าผมรู้จัก เลยพูดคุยกันถูกปากถูกคอ แกเล่าให้ฟังว่า ผัวแกก่อนตายได้สั่งเสียลูก ๆ ไว้ว่า ให้ทำจาดมาร่วมประเพณีคนละ 3 ปี แล้วผลัดเปลี่ยนกันไปยังลูกคนถัดไป เลยถามกลับไปว่า “แล้วยังลูกกี่คน” แกตอบ “11” “โอะ ยังได้ลุยก่อนเหลย” เสียงจากย่าผมสวนกลับทันที แกบอก ใน 11 ตายเสียแล้วคนหนึ่ง นี่ก็ถึงคราวลูกสาวแกคนนี้ทำเป็นปีแรก สักพัก ลูกสาวแกที่แกกล่าวถึงก็นำพัดลม 1 ตัว พร้อมขนมปี๊บ 1 ปี๊บ มาตั้งไว้ข้างแก ข้างลังพัดลมมีติดชื่อผู้สนับสนุน พอสอบถามก็เลยทราบว่า ถ้าเอาจาดมาร่วมในพิธี จะได้รับของสนับสนุน ไม่ได้มีการประกวดอะไร ทุกจาดได้เหมือนกัน 1 ชุด
รู้สึกอยากขอบคุณผู้สนับสนุนต่าง ๆ ที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสืบสานประเพณี สร้างขวัญและกำลังใจให้ทีมงานทำจาดได้เป็นอย่างดี ทิ้งท้ายบทสนทนาด้วย “ปีหน้าค่อยจวนกันหลาวนะ” แล้วก็แยกย้ายกันกลับบ้าน ด้วยความเบิกบานใจที่ได้ร่วมบุญกันในประเพณีแห่จาดขึ้นถ้ำ ในปีนี้
แห่จาดขึ้นถ้ำ:
“จาด” ของชาวนอกเขา
เรื่องเล่าจากถ้ำพรรณรา
.
ธนิสรณ์ พุทธกาล นักเขียน
วันพระ สืบสกุลจินดา บรรณาธิการ
ฐนิต ชิตร ช่างภาพ
พชร ทองนอก ศิลปกรรมรูปแบบ
.
#สารนครศรีธรรมราช #หนังสือคู่เมืองนคร
#องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช #พิมพ์แจกจ่ายฟรีประชาชน
ขอบคุณข้อมูล : สารนครศรีธรรมราช
สายลุยเตรียมพร้อมก่อนไป “เดินป่า” อ่านจบรู้เรื่อง