สดร.เผยคืนวันที่ 17 – รุ่งเช้า 18 พ.ย.2566 เกิดปรากฏการณ์ฝนดาวตกลีโอนิดส์ (อัตราการตก 15 ดวงต่อชั่วโมง) ทางทิศตะวันออก ศูนย์กลางการกระจายอยู่บริเวณกลุ่มดาวสิงโต
ฝนดาวตกลีโอนิดส์ (Leonids) หรือ ฝนดาวตกกลุ่มดาวสิงโต (Leonids Meteor Shower) มีอัตราการตกสูงสุดเฉลี่ย 15 ดวงต่อชั่วโมง ศูนย์กลางการกระจายอยู่บริเวณกลุ่มดาวสิงโต ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ในปีนี้ สามารถสังเกตได้เวลาประมาณ 01.00 น. คืนวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป จนถึงรุ่งเช้า 18 พฤศจิกายน 2566 ทางทิศตะวันออก ศูนย์กลางการกระจายอยู่บริเวณกลุ่มดาวสิงโต สังเกตเห็นได้ทั่วประเทศ
ฝนดาวตกลีโอนิดส์ จะเกิดขึ้นในช่วงวันที่ 6 – 30 พฤศจิกายน ของทุกปี เกิดจากสายธารเศษฝุ่นของดาวหาง 55พี เทมเพล-ทัตเทิล (55P Tempel-Tuttle) ที่ยังหลงเหลืออยู่ในวงโคจรของดาวหางตัดผ่านวงโคจรของโลก ทำให้เศษฝุ่นของดาวหางเหล่านั้นเสียดสีกับชั้นบรรยากาศโลก เกิดการเผาไหม้จนเห็นเป็นแสงสว่างวาบคล้ายลูกไฟวิ่งพาดผ่านท้องฟ้า ทิศทางวงโคจรของฝนดาวตกลีโอนิดส์สวนทางกับทิศทางวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ทำให้ความเร็วของเม็ดฝุ่นที่เข้ามาเสียดสีกับบรรยากาศโลกมีความเร็วค่อนข้างมาก สูงถึง 71 กิโลเมตรต่อวินาที
ฝนดาวตกลีโอนิดส์ ถือเป็นฝนดาวตกที่มีความสว่างมากที่สุด จึงได้รับการขนานนามว่า “ราชาแห่งฝนดาวตก”
ฝนดาวตกลีโอนิดส์ ในเรื่องของความเชื่อ กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้วในเมืองนีเมียประเทศกรีซ มีสิงโตวิเศษตัวหนึ่งที่มีขนสีทองอร่าม ไม่ว่าอาวุธอะไรก็ไม่อาจทำอันตรายอะไรมันได้ กรงเล็บของมันแหลมคมกว่าดาบ สามารถตัดเกราะหรือโล่ได้ทุกชนิด อยู่มาวันหนึ่งสิงโตตัวนี้ได้ออกไปจับตัวหญิงสาวชาวเมืองมาไว้ในถ้ำเพื่อล่อให้คนมาช่วยและจะได้จับกินเป็นอาหาร และด้วยเหตุนี้เอง เฮราคลีส (Heracles) บุตรแห่งเทพเจ้าซูส (Zeus) จึงได้รับมอบหมายให้มาสังหารสิงโตตัวนี้ แต่ด้วยความร้ายกาจของสิงโต เทพเจ้าซูสจึงนำวิญญาณของมันไปอยู่บนท้องฟ้า เพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงเรื่องนี้
ประวัติ เคยเกิดพายุฝนดาวตกสิงโตเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน ค.ศ.1833 (พ.ศ. 2376) ประมาณว่ามีอัตราดาวตกมากกว่า 34,640 ดวงต่อชั่วโมง เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ผู้คนหันมาสนใจฝนดาวตก เมื่อปีพ.ศ.2541 มีข่าวเรื่องพายุฝนดาวตกสิงโตทำให้คนไทยเริ่มรู้จักฝนดาวตก พายุฝนดาวตกสิงโตจะเกิด ทุก 33 ปีโดยประมาณ ครั้งสุดท้ายปี ค.ศ. 1999 (พ.ศ.2542) และปี 2001 (พ.ศ.2544) มีดาวตกประมาณ 3,000 ดวงต่อชั่วโมง ล่าสุดปี ค.ศ.2016 (พ.ศ.2559) พบ ดาวตกเพียง 5 ดวงต่อชั่วโมง
#ข้อแนะนำในการชมฝนดาวตก ควรเลือกสถานที่ท้องฟ้ามืดสนิทไม่มีแสงไฟรบกวน สามารถมองเห็นได้รอบทิศทาง และควรใช้เวลาปรับสายตาในที่มืด ประมาณ 30 นาที เพื่อให้สายตาคุ้นเคยกับความมืด จากนั้นจึงดูด้วยตาเปล่าโดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์ใดๆ ช่วย เนื่องจากตาเปล่าสามารถมองเห็นดวงดาวได้ทั่วท้องฟ้า
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ NARIT
สายลุยเตรียมพร้อมก่อนไป “เดินป่า” อ่านจบรู้เรื่อง