นครศรีธรรมราช 31 ก.ค.2566 กรมศิลป์ส่งนักโบราณคดีตรวจสอบโครงกระดูกมนุษย์ ที่สนามกีฬาเมืองนครฯ เจ้าหน้าที่สันนิษฐานว่า เป็นหลุมฝังศพที่จงใจฝังตามพิธีกรรมในศาสนา แต่เนื่องจากไม่พบโบราณวัตถุที่สามารถบ่งชี้อายุสมัยได้ในบริเวณจุดที่พบโครงกระดูกจึงระบุได้เบื้องต้นตามลักษณะการฝัง และประวัติพื้นที่ว่าโครงกระดูกที่พบคงมีอายุอยู่ในสมัยรัตนโกสินทร์
(31 ก.ค.2566) นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากมีการขุดพบกระดูกมนุษย์ บริเวณพื้นที่ก่อสร้างโดยรอบสนามฟุตบอล 2 สนามกีฬาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช (ชาติตระการโกศล) อ.เมืองนครศรีธรรมราช จ.นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 28 ก.ค.2566 สำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช จึงส่งนักโบราณคดีเข้าตรวจสอบบริเวณดังกล่าว พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช และผู้รับเหมาก่อสร้าง
จากการตรวจสอบพบว่า มีการขุดดินเป็นแนวยาวบริเวณพื้นที่ด้านตะวันตกของสนามฟุตบอล 2 เป็นระยะทางประมาณ 150 เมตร กว้างประมาณ 1.80 เมตร ลึกประมาณ 1.20 เมตร จำนวน 2 แนว เพื่อก่อสร้างรางระบายน้ำ ซึ่งการสอบถามกลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้าง และสำรวจบริเวณที่ขุดพบชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์จำนวน 7 จุด (เคลื่อนย้ายหลักฐานออกไปก่อนการเข้าตรวจสอบจำนวน 3 จุด) และร่องรอยสิ่งก่อสร้างก่อด้วยอิฐ จำนวน 8 จุด
จุดที่พบชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์ทั้ง 7 จุด มีระยะห่างกันตั้งแต่ 12-30 เมตร ส่วนใหญ่มีร่องรอยขุดตัดจากการขุดแนวท่อระบายน้ำ หลักฐานที่คงเหลืออยู่ส่วนใหญ่เป็นชิ้นส่วนกระดูกรยางค์ ได้แก่ กระดูกปลายแขนด้านใน (Ulna) กระดูกปลายแขนด้านนอก (Radius) กระดูกนิ้วมือ (Phalanges) กระดูกต้นขา (Femur) กระดูกหน้าแข้ง (Tibia) กระดูกน่อง (Fibula) และกระดูกแกนกลาง ได้แก่ กระดูกสันหลังส่วนเอว (Lumbar vertebrae) กระดูกกระเบนเหน็บ (Sacrum)
สภาพกระดูกค่อนข้างเปื่อยจากความชื้นภายในดิน ชิ้นส่วนกระดูกวางเรียงตัวในระเบียบทางกายวิภาค บริเวณโดยรอบโครงกระดูกหลายจุดพบว่า มีแนววัสดุคล้ายปูน ความหนาประมาณ 2-5 เซนติเมตร ล้อมเป็นกรอบรอบโครงกระดูก สันนิษฐานว่าเป็นหลุมฝังศพที่จงใจฝังตามพิธีกรรมในศาสนา แต่เนื่องจากไม่พบโบราณวัตถุที่สามารถบ่งชี้อายุสมัยได้ในบริเวณจุดที่พบโครงกระดูก จึงระบุได้เบื้องต้นตามลักษณะการฝัง และประวัติพื้นที่ว่าโครงกระดูกที่พบคงมีอายุอยู่ในสมัยรัตนโกสินทร์
สำหรับจุดที่พบแนวอิฐก่อ จำนวน 8 จุด มีทั้งแนวอิฐที่เรียงตัวกับเป็นผืนในแนวระนาบ ลึกจากผิวดินประมาณ 50 เซนติเมตร บางแห่งพบใกล้กับหลุมฝังศพ และแนวอิฐก่อในแนวดิ่ง มีความสูงประมาณ 50 เซนติเมตร หนาประมาณ 50 เซนติเมตร
จากการสัมภาษณ์พบว่า มีการอ้างถึงพื้นที่ฝังศพของชาวไทย ชาวจีน ชาวมุสลิม และชาวคริสต์ในพื้นที่ใกล้เคียงในอดีต จึงยังไม่สามารถระบุแน่ชัดได้ว่าบริเวณนี้เป็นพื้นที่ฝังศพในศาสนาใดแน่
อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า ได้สั่งการให้นักโบราณคดีของสำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช วิเคราะห์หลักฐานเพิ่มเติม และแจ้งเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช และผู้รับเหมาก่อสร้างว่า หากพบหลักฐานเพิ่มเติม ขอให้ระงับการดำเนินการไว้ชั่วคราว และแจ้งให้สำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช เข้าตรวจสอบพื้นที่
ขอบคุณข้อมูล : thaipbs
สายลุยเตรียมพร้อมก่อนไป “เดินป่า” อ่านจบรู้เรื่อง