ประเพณีกวนข้าวมธุปายาส (ยาคู) พิธีกรรมทางศาสนาที่สำคัญของภาคใต้

1651
views
ประเพณีกวนข้าวยาคู

ข้าวมธุปายาส (ยาคู ยาโค ข้าวทิพย์ ข้าวกระยาทิพย์) เป็นชื่ออาหารชนิด. หนึ่ง ชาวภาคใต้นิยมเรียกสั้นๆ ว่า “ข้าวยาคู” ประเพณีกวนข้าวยาคู’ ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งพิธีกรรมทางศาสนาพุทธที่สามารถหาดูได้แค่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราชเท่านั้น พิธีกวนข้าวยาคู บางแห่งจะมีหมอไสยศาสตร์ ๑ คน สำหรับร่ายเวทย์มนตร์คาถา พระสงฆ์ ๙ รูป สวดชัยมงคลคาถา ๓ จบ และผู้กวนข้าวยาคูอีก ๔ คน เป็นชาย ๒ คน หญิง ๒ คน อายุ ๑๕-๒๐ ปี แต่งตัวนุ่งขาวแบบนักบวช ผู้ที่กวนข้าวยาคูจะต้องเป็นคนที่ไม่เคยเสียความบริสุทธิ์มาก่อน ปัจจุบัน การกวนข้าวยาคู ยังคงทำต่อเนื่องมาทุกปี

#พิธีกวนข้าวยาคู เป็นการแสดงออกถึงความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา และเพื่อความเป็นสิริมงคล ซึ่งเป็นความเชื่อเกี่ยวเนื่องกับพุทธประวัติ ตอนนางสุชาดา ถวายข้าวมธุปายาสยาคู เมื่อพระพุทธเจ้าเสวยแล้วก็ทรงบรรลุอภิสัมโพธิญาณ พุทธศาสนิกชนจึงมีความเชื่อว่า ข้าวยาคูเป็นอาหารทิพย์ ผู้ที่ได้รับประทานจะมีสมองดีเกิดปัญญา มีอายุยืนยาว มีพลานามัยสมบูรณ์ ผิวพรรณผ่องใสและเป็นยาขนานเอกที่สามารถขจัดโรคร้ายได้ทุกชนิด ทั้งยังบันดาลความสำเร็จสมความปรารถนาด้วย

สำหรับช่วงเวลาที่ชาวบ้านจะนิยมกวนข้าวยาคูนั้นจะอยู่ในช่วงขึ้น ๑๓ และ ๑๔ ค่ำเดือน ๓ ซึ่งถือเป็นระยะเวลาที่ข้าวในนากำลังออกรวงสวย เมล็ดข้าวยังไม่แก่ เหมาะแก่การนำมาเป็นน้ำนมข้าวสำหรับการกวน โดยพิธีกรรมนี้จะใช้วัดซึ่งเป็นศูนย์รวมใจของประชาชนเป็นสถานที่ในการประกอบพิธี

โดยการเตรียมการนั้นจะมีเครื่องปรุงที่ใช้มากกว่า ๕๐ ชนิด ที่จะประกอบไปด้วยน้ำนมข้าว ,ผลไม้ต่าง ๆ ,พืชผัก ,น้ำผึ้ง ,เครื่องดื่มประเภทนม ,สมุนไพร ,แป้ง และมะพร้าว จากนั้นชาวบ้านจะเอาเครื่องปรุงทั้งหมดในสัดส่วนที่เท่ากันมาผสมจนเป็นเนื้อเดียว แล้วนำไปใส่ในภาชนะพักไว้ และการกวนข้าวจะต้องใช้ความร้อนในการกวนสูง ชาวบ้านจึงนิยมใช้เป็นเตาดินที่สามารถเก็บความลมได้ดี และจะใช้เตาที่ขุดลงในพื้นดินที่มีช่องสำหรับใส่ฟืนและมีช่องรูระบาย หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า รูพังเหย นั่นเอง

สำหรับขั้นตอนในการประกอบพิธีกรรมมีดังนี้

๑. การเตรียมบุคลากรที่สำคัญ
๑.๑ สาวพรหมจารี นุ่งขาวห่มขาว ต้องรับสมาทานเบญจศีลก่อนเข้าพิธีกวน เพื่อความบริสุทธิ์ และความเป็นสิริมงคล
๑.๒ พระสงฆ์ สำหรับสวดชัยมงคลคาถา เตรียมด้ายสายสิญจน์โยงจากพระสงฆ์ผูกไว้ที่ไม้กวน (ไม้พาย)
๒. พิธีกวน สาวพรหมจารีจับไม้กวน มีการลั่นฆ้องชัยตั้งอีโหย้ (โห่สามลา) พระสงฆ์จะสวดชยันโตตั้งแต่เริ่มกวน จนสวดจบถือว่าเสร็จพิธี ซึ่งต่อไปชาวบ้านใครจะกวนก็ได้
๓. วิธีกวน ข้าวยาคูจะกวนประมาณ ๘-๙ ชั่วโมง จึงแล้วเสร็จ และจะต้องกวนอยู่ตลอดเวลา เมื่อเริ่มเหนียวจะใช้น้ำมันมะพร้าวที่เคี่ยวไว้เติมลงในกระทะ ข้าวยาคูจะเปลี่ยนเป็นสีคล้ำเมื่อกวนเสร็จ และมีกลิ่นหอมเครื่องเทศ

ประเพณีกวนข้าวยาคู นอกจากจะเป็นประเพณีที่ปฏิบัติกันมาตามความเชื่อของศาสนาแล้ว ยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสามัคคี ความร่วมแรงร่วมใจ และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาวบ้านได้เป็นอย่างดีอีกด้วย เพราะกว่าจะเสร็จพิธีนั้นก็ถือว่าใช้เวลานานพอสมควร หากชาวบ้านไม่มีความสามัคคีกันพิธีนี้คงจะไม่สืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้อย่างแน่นอน

เรียบเรียง/ภาพจาก : phototechthailand, wu.ac.th

 
ถมนคร : คุณค่าที่คู่ควร ถมนคร เครื่องถมเมืองนครศรีธรรมราช
 
SHARE