พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมคณะลงพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อตรวจราชการ ติดตามผลการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล รวมถึงข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ประเด็นการแก้ไขปัญหาพื้นที่ประสบอุทกภัยซ้ำซากและการบริหารจัดการในน้ำ
วันนี้ (20 กุมภาพันธ์ 2566 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วย นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี .และคณะ ลงพื้นที่เพื่อตรวจติดตามผลการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล และข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ประเด็นการแก้ไขปัญหาพื้นที่ประสบอุทกภัยซ้ำซากและการบริหารจัดการในน้ำในพื้นที่ โดยจุดแรกที่ หอประชุมที่ว่าการอำเภอจุฬาภรณ์ อำเภอจุฬาภรณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ตรวจติดตามแนวทางการพัฒนา อ.จุฬาภรณ์ โดยมีนายอภินันท์ เผือกผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช หัวหน้าส่วนราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำท้องถิ่น ท้องที่ ประชาชนในพื้นที่ร่วมให้การต้อนรับ
นายประสงค์ จันทร์หยู นายอำเภอจุฬาภรณ์ ได้บรรยายสรุปข้อมูลและการบริหารราชการในพื้นที่ ระบุอำเภอจุฬาภรณ์ แบ่งการปกครองออกเป็น 6 ตำบล 30 หมู่บ้าน มี องค์การบริหารส่วนตำบลในพื้นที่ 5 แห่ง ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวนยางพารา นาข้าว สวนปาล์มน้ำมัน และเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น โดยมีเนื้อที่ปลูกยางพาราประมาณ 37,360.26 ไร่ ปลูกข้าวประมาณ 6,026.82 ไร่ ปาล์มน้ำมัน ประมาณ 5,846.16 ไร่ และเลี้ยงสัตว์ 4,848 ราย
สำหรับปัญหาของอำเภอจุฬาภรณ์ คือ ปัญหาเรื่องการบริหารจัดการน้ำ โดยมีคลองสายหลักจำนวน 4 สาย ได้แก่ คลองวังฆ้อง คลองเขต คลองนาหมอบุญ คลองแร่ ไหลมาจากทิศตะวันตก ผ่านตำบลนาหมอบุญ ตำบลสามตำบล ตำบลทุ่งโพธิ์ ไปทางทิศตะวันออก ผ่านตำบลบ้านชะอวด ตำบลควนหนองคว้า ตำบลบ้านควนมุด ฤดูน้ำหลากน้ำจะท่วมบริเวณตำบลทุ่งโพธิ์ ตำบลนาหมอบุญ และตำบลบ้านชะอวดเป็นพื้นที่รับน้ำต่อจากตำบลนาหมอบุญ ฤดูแล้งจะขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคและการเกษตร แม้มีประปาหมู่บ้านเกือบทุกหมู่บ้านแต่ไม่เพียงพอในฤดูแล้งเนื่องจากยังไม่มีอ่างเก็บน้ำหรือที่เก็บน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่, ปัญหาเรื่องการท่องเที่ยว อำเภอจุฬาภรณ์ มีถนนเส้นหลักคือถนนสายเอเชีย 41 ระยะทางที่ผ่านประมาณ 16 กิโลเมตร ซึ่งถนนเส้นนี้มีนักเดินทางเป็นจำนวนมาก ทั้งขาขึ้นและขาล่อง แต่ยังไม่มีสถานที่ท่องเที่ยวหรือแลนด์มาร์ค,จุดน่าแวะที่สำคัญของอำเภอ
ส่วนจุดเด่น อำเภอจุฬาภรณ์มีจุดเด่นทางประวัติศาสตร์และเรื่องอาหารการกิน ประกอบด้วย
ศิลาจารึกหุบเขาช่องคอย ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 ตำบลทุ่งโพธิ์เป็นศิลาจารึกที่ทำขึ้นโดยแผ่นหินธรรมชาติขนาดใหญ่เหมือนเรือ กว้าง 160 เซนติเมตร หนา 120 เซนติเมตร เป็นอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 11 หรือราว พ.ศ.1001-1100 โดยมีใจความสำคัญแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “ถ้าคนดีอยู่ในหมู่บ้านของชนเหล่าใด ความสุขแหละผลจักเกิดแก่ชนเหล่านั้น”
อนุสรณ์สถานอ่าวศรีเมือง ตั้งอยู่ที่หมู่ 5 ตำบลนาหมอบุญ เป็นสัญลักษณ์ทางการต่อสู่ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และค่ายบางระจัน 2 ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 5 บ้านอายเลา เป็นสัญลักษณ์การต่อสู้ที่ชาวบ้านรวมตัวกันต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเพื่อปกป้องหมู่บ้านของตนเอง ตำบลทุ่งโพธิ์
นอกจากนี้ ยังมีจุดเด่นเรื่องอาหารโดยอำเภอจุฬาภรณ์มีคั่วกลิ้งที่ขึ้นชื่อว่าอร่อยที่สุดของจังหวัดนครศรีธรรมราช ขณะที่ปัญหาเรื่องการศึกษา ได้รับการสะท้อนมาจากผู้นำชุมชนและเจ้าคณะอำเภอจุฬาภรณ์ ว่าอำเภอจุฬาภรณ์ยังไม่มาสถานศึกษาเกี่ยวกับอาชีพเด็กต้องเดินทางไปศึกษาที่ในเมืองหรือจังหวัดพัทลุงอยากให้มีการสร้างสถานศึกษาเกี่ยวกับอาชีพ ถ้าได้สร้างนอกจากจะรองรับเด็กในอำเภอจุฬาภรณ์แล้วยังรองรับเด็กจากอำเภอใกล้เคียง อำเภอชะอวดและอำเภอร่อนพิบูลย์ได้
ก่อนที่ นายกรัฐมนตรี จะได้ไปพบปะประชาชนในพื้นที่ อ.จุฬาภรณ์ และพื้นที่ใกล้เคียง
ข้อมูล/ภาพ ► ประชาสัมพันธ์จังหวัดนครศรีธรรมราช
สายลุยเตรียมพร้อมก่อนไป “เดินป่า” อ่านจบรู้เรื่อง