เชิดชูวีระบุรุษแห่งราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช “จันทรภาณุ” ผู้ “ตั้งดินตั้งฟ้า” สถาปนา “กรุงศรีธรรมโศก” ศูนย์กลางแห่ง อาณาจักรศรีวิชัย

6597
views
พระเจ้าจันทรภาณุ

พระเจ้าจันทรภาณุ (อังกฤษ: King Chandra Banu) หรือ พระเจ้าศรีธรรมโศกราชที่ 2 ของราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช(นครศรีธรรมราช) แห่งอาณาจักรตามพรลิงก์[ เป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงเผยแผ่พระอานุภาพขจรไปยังแคว้นไกลที่สุด นั่นคือสามารถแผ่ไปถึงเกาะลังกา โดยการยกทัพไปตีถึง 2 ครั้งที่ยกทัพเรือเข้าโจมตีเกาะลังกา คือประเทศศรีลังกา ในปัจจุบัน พระองค์ทรงยึดครองภาคเหนือของเกาะนี้ได้ (ค.ศ. 1235-1275)

พระเจ้าจันทรภาณุ

พระราชประวัติ พระเจ้าจันทรภาณุ มีพระนามเต็มว่า พระเจ้าจันทรภาณุศรีธรรมาโศกราช ตามประวัติจากหลักฐานตำนานเมืองและตำนานพระธาตุทราบว่า พระเจ้าจันทรภาณุ เป็นพระอนุชาของพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช พระองค์แรก ผู้เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ศรีธรรมโศกราช หรือราชวงศ์ปทุมวงศ์ มีใจความว่า “ท้าวศรีธรรมาโศกราชก็ตั้งอารามก่อพระเจดีย์ ปลูกพระศรีมหาโพธิรายทางมาจนถึงเมืองนคร ตั้งแต่นั้นทั้งสองภาราได้แต่งบรรณาการตอบแทนกันมิได้ขาดปี เมื่อพระยานครศรีธรรมาโศกราชถึงแก่กรรม เมื่อศักราช 1200 ปี พระยาจันทรภาณุ เป็นเจ้าเมือง พระยาพงษาสุระเป็นพระอุปราช ตั้งฝ่ายทักษิณพระมหาธาตุเป็นเมืองพระเวียง” พระเจ้าจันทรภาณุ นับเป็นพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่งในราชวงค์ศรีธรรมาโศกราช มีข้อความปรากฏอยู่ในศิลาจารึกตอนหนึ่งว่า “ศรีสวัสดิ พระเจ้าผู้ปกครองกรุงตามพรลิงก์ เป็นผู้อุปถัมภ์ตระกูลปทุมวงค์ พระหัตถ์ของพระองค์มีฤทธิ์มีอำนาจ ด้วยอนุภาพแห่งบุญกุศล ซึ่งพระองค์ได้กระทำแก่มนุษย์ทั้งปวง ทรงเดชานุภาพดุจพระอาทิตย์พระจันทร์และมีเกียรติอันเลื่องลือ ทรงพระนามจันทรภาณุศิริธรรมราช เมื่อกลียุค 4332” ศิลาจากรึกนี้ตรงกับ พ.ศ 1773

อาณาจักรศรีวิชัย

ครั้งที่ 1.ยกไปตีลังกาในราวปี พ.ศ. 1750 ในสมัยของพระเจ้าปรักกรมพาหุ กษัตริย์แห่งลังกา ในการรบครั้งนี้ได้รับชัยชนะ เป็นเหตุให้แสนยานุภาพของพระองค์แผ่ไปตลอดแหลมมลายู และเกิดมีอาณานิคมของตามพรลิงก์อยู่ในลังกา และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ลังกาต้องมอบพระพุทธสิหิงค์ให้ในโอกาสต่อมา ประวัติศาสตร์ลังกา เรียกพระเจ้าจันทรภาณุว่าเป็นกษัตริย์เชื้อสายมาเลย์แห่งนครศรีธรรมราช (Chandra Bhanu, the Malay King of Nakhon Sri Dhammarat)

ครั้งที่ 2 ยกทัพไปตีลังกาครั้งนี้อยู่ในระหว่าง พ.ศ. 1801 – พ.ศ. 1803 หรือในราว พ.ศ. 1795 นักประวัติศาสตร์บางท่านมีความเห็นว่า ในการรบครั้งนี้พระองค์มิได้กรีฑาทัพไปโดยพระองค์เอง แต่มอบหมายให้ราชโอรสพร้อมด้วยนายพลคนสำคัญไปรบแทน

การไปรบลังกาในครั้งหลังนี้พระเจ้าจันทนภาณุ ได้รับความช่วยเหลือจากทหารชาวทมิฬโจฬะ และพวกปาณฑย์ ซึ่งเป็นศัตรูกับชาวลังกามาแต่โบราณ และได้ยกพลขึ้นบกที่มหาติตถะ ทางฝ่ายนครศรีธรรมราช มีเจ้าชายวีรพาหุเป็นแม่ทัพในระยะแรกฝ่ายพระเจ้าจันทรภาณุมีชัยชนะในการรบ แต่ระยะหลังกองทัพของพวกปาณฑ์เกิดกลับใจไปร่วมรบกับพวกลังกาตีพวกโจฬะแตกพ่าย ทำให้ทัพของพระเจ้าจันทรภาณุถูกล้อม มีนักประวัติศาสตร์บางท่านกล่าวว่าพระองค์สิ้นพระชนม์ในสนามรบ แต่บางท่านบอกว่าพระองค์เสด็จกลับมาได้และอยู่ต่อมาอีกหลายปีจึงสิ้นพระชนม์

อาณาจักรศรีวิชัย

ประเทศศรีลังกา ก็จะพบร่องรอยของกษัตริย์นักรบจากนครศรีธรรมราช ปรากฏอยู่ทั่วไปในฐานะกษัตริย์นักรบที่ข้ามน้ำข้ามทะเล บุกเข้าโจมตีอาณาจักรสิงหล

การสร้างวัดวาอาราม อาจารย์มานิต วัลลิโภดมได้สืบสาวเรื่องราวเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ความว่า ในระหว่าง พ.ศ. 1776 – พ.ศ. 1823 นครศรีธรรมราชว่างจากราชการสงครามมีเวลาว่าง จึงได้สร้างวัดขึ้นหลายวัดเช่น วัดพระเดิม วัดหว้าทยานหรือวัดหว้าอุทยาน และได้มีการปลูกต้นพระศรีมหาโพธิไว้ทุกวัดด้วย

พระพุทธสิหิงค์

ลัทธิลังกาวงศ์ขึ้นที่นครศรีธรรมราช ในช่วงที่พระเจ้าจันทรภาณุได้ส่งทูตไปเมืองลังกา เพื่อขออัญเชิญพระพุทธสิหิงค์นั่นเอง ก็ได้ส่งพระภิกษุชาวนครศรีธรรมราชไปศึกษาพระธรรมวินัยแบบหินยานของลังกา และตอนขากลับก็ได้เชิญพระภิกษุชาวลังกาพร้อมชนชาวลังกามาด้วย มาตั้งคณะสงฆ์ขึ้นใหม่ที่นครศรีธรรมราชเรียกว่า “พระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์” แทนลัทธิเดิมซึ่งพระพุทธศาสนาแบบมหายานตามอย่างศรีวิชัย ต่อมาลัทธิลังกาวงศ์ก็แผ่ไปสู่สุโขทัย ตั้งเป็นปึกแผ่นอย่างมั่นคงมาจนปัจจุบันนี้

รูปเก่าหลังวัดพระบรมธาตุ


( รูปเก่าหลังวัดพระบรมธาตุ – เมืองคอน.com )

สร้างพระบรมธาตุเจดีย์ให้เป็นแบบทรงลังกา ด้วยในระยะพระบรมธาตุเดิมเป็นแบบศรีวิชัยและชำรุดทรุดโทรมมาก พระภิกษุและชนชาวลังกาที่มาอยู่ที่นครศรีธรรมราช รวมทั้งชาวนครฯเองด้วย ลงความเห็นกันว่าเห็นควรบูรณะซ่อมแซมองค์พระบรมธาตุเสียใหม่ให้แข็งแรง โดยให้สร้างใหม่หมดทั้งองค์ตามแบบทรงลังกา และให้คร่อมทับพระเจดีย์องค์เดิมไว้โดยสร้างเป็นพระสถูปทรงโอคว่ำ พระเจดีย์องค์เดิมได้ค้นพบเมื่อคราวบูรณะปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุเจดีย์ในสมัย รัชกาลที่ 5 และมีหลักฐานยืนยันว่าชนชาวลังกาได้มาอยู่ที่นครฯจริง ด้วยในปี พ.ศ. 2475 ได้ขุดพบพระพุทธรูปลังกาทำด้วยหินสีเขียวคล้ายมรกต 1 องค์ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าเป็นฝีมือของชาวลังการุ่นเก่า โดยขุดพบที่บริเวณพระพุทธบาทจำลองในวัดพระมหาธาตุฯ ปัจจุบันพระพุทธรูปองค์นี้ได้เก็บรักษาไว้ที่ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช

ญาดา ร้อยเรียง / ขอบคุณเจ้าของภาพ

 
ถมนคร : คุณค่าที่คู่ควร ถมนคร เครื่องถมเมืองนครศรีธรรมราช
 
SHARE