ลักษณะสามัญของสิ่งทั้งปวง (ไตรลักษณ์)
“สิ่งทั้งหลาย เป็น “อนิจจัง” ไม่เที่ยง ไม่คงที่ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา, เป็น “ทุกขัง” คงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ และเป็น “อนัตตา” ไม่เป็นตัวเป็นตนของใคร ที่จะไปสั่งบังคับให้เป็นไปตามปรารถนาได้ เราจะไปยึดถือครอบครองมันจริงไม่ได้ เพราะมันเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน หรือดำรงอยู่ตามสภาวะของมัน
สิ่งทั้งหลายที่เรายึดถือเป็น “ตัวตน” ในบัดนี้ ก็คือ ภาพปรากฏของ..เหตุ-ปัจจัย..ที่เป็นไปตามกระบวนการของมัน
เมื่อเหตุปัจจัยมาสัมพันธ์กันเป็นกระบวนการ ก็แสดงผลเป็นปรากฏการณ์ที่เราเรียก “เป็นตัว เป็นตน” แต่แท้จริงแล้วตัวตนอย่างนั้นไม่มี มีแต่เพียงภาพปรากฏชั่วคราว ส่วนตัวจริงที่อยู่เบื้องหลัง ก็คือ #กระบวนการแห่งความสัมพันธ์กันของสิ่งทั้งหลายที่คืบเคลื่อนไปเรื่อยๆ เมื่อเหตุปัจจัยเหล่านี้สัมพันธ์กัน แล้วคืบเคลื่อนต่อไป ภาพ “ตัวตน” ที่ปรากฏนั้นก็จะเปลี่ยนแปลงไป
ดังนั้น ตัวตนที่แท้ ที่ยั่งยืน ตายตัว ที่จะยึดถือครอบครองบังคับบัญชาอะไรๆได้จึงไม่มี (คำว่า “อัตตา” ก็คือ ตัวตนที่เที่ยงแท้ยั่งยืนตายตัวตลอดไป) มัน(อัตตา)ไม่มี เพราะมีแต่ภาพรวมของปรากฏการณ์ที่เกิดจากความสัมพันธ์ของสิ่งทั้งหลายในกระบวนการของมัน เรียกว่าเป็นเพียง “สภาวธรรม” ไม่เป็นตัวตนของใคร…
นี่คือ ความเป็นจริงของกฎธรรมชาติ ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงสอนเรื่อง “ไตรลักษณ์” ขึ้นไว้เป็นหลักที่เด่นว่า…สิ่งทั้งหลายนี้
“อนิจฺจํ” ไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วก็ดับหาย มีความเปลี่ยนแปลง
“ทุกฺขํ” คงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ อยู่ในภาวะขัดแย้ง ถ้าคนเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยความอยาก มันก็ฝืนความปรารถนา แล้วก็..
“อนตฺตา” ไม่เป็นตัวตนของใครได้ ใครจะยึดถือครอบครองสั่งบังคับไม่ได้ เพราะมันเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน หรือดำรงอยู่ตามสภาวะของมัน”
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต )
ที่มา : ธรรมนิพนธ์เรื่อง “แก่นแท้ของพระพุทธศาสนา” หัวข้อ “ความจริงมีอยู่ตามธรรมดา”
สายลุยเตรียมพร้อมก่อนไป “เดินป่า” อ่านจบรู้เรื่อง