“นครศรีธรรมราช” เป็นอีกหนึ่งจังหวัด ที่มีแหล่งท่องเที่ยวและประวัติความเป็นมาที่ยาวนั้น รวมไปถึงชื่อเสียงของพระธาตุไร้เงา ที่พุทธศาสนิกชนต่างเคารพศรัทธา เนื่องด้วยเป็นเมืองซ้อนเมืองตามหลักฐาน ซากแห่งอารยธรรมบางชิ้นยังคงหลงเหลือ ควบคู่ไปกับเรื่องเล่าที่สืบทอดผ่านคนรุ่นต่อรุ่น เรื่องตำนานยอดเจดีย์หัก วัดพระเงิน หรือ เจดีย์ยักษ์ ที่คนพื้นถิ่นทราบกันดี ก็เป็นอีกหนึ่งส่วนที่ถูกศึกษา บันทึกไว้จากนักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดีรุ่นก่อน ๆ และมีการตั้งสมมติฐานในเรื่องของยอดเจดีย์ที่หักโค่นลงในหลายประเด็น
เฟซบุ๊กของผู้ใช้ชื่อว่า “ภูมิ จิระเดชวงศ์”ได้นำเรื่องราวนี้มาขมวดสรุปให้ทราบอย่างเข้าใจโดยมีเนื้อความว่า จากตำนานเมืองนครศรีธรรมราช ได้กล่าวถึง“พระเจ้าศรีธรรมโศกสุวรรณคูตา” ได้ทรงอุปถัมภ์ในการสร้างวัดเสมาเงินแก่เจ้าโพธิกุมาร และ วัดเสมาทองแก่พระมหาเครื่องที่เป็นพระนัดดา จึงเชื่อได้ว่า วัดเสมาเงิน (วัดพระเงิน ปัจจุบัน) ที่อยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ค้ำชูจากของผู้ปกครองเมืองนครศรีธรรมราชในขณะนั้น
สำหรับสาเหตุในการหักของยอดพระเจดีย์องค์ดังกล่าว ถูกขมวดสรุปไว้ได้ 4 แนวทางด้วยกันตามข้อมูลประกอบด้วย 1.ตำนานมุขปาฐะในเรื่องยักษ์ , 2.ภัยสงคราม , 3.เสื่อมตามธรรมชาติ และ 4.ถูกฟ้าผ่า
ซึ่งขอหยิบนำมา 2 ประเด็นที่น่าสนใจมาบอกต่อกัน เริ่มที่ “ตามตำนานมุขปาฐะในเรื่องยักษ์” โดยตำนานมุขปาฐะของชาวนครฯ เล่าสือต่อกันมาว่า ยุคหนึ่ง มียักษ์มาท้าพระเจ้าเมืองสร้างเจดีย์แข่งกับพวกตน ปรากฏว่าทางฝ่ายของพระเจ้าเมือง ได้ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างเจดีย์เสร็จก่อนพวกยักษ์ ทำให้เหล่ายักษ์แพ้ ยักษ์จึงถีบยอดเจดีย์จนหักและไปตกลงยังบริเวณทุ่งหยาม ที่ด้านทิศตะวันออกของเมืองแล้วทิ้งเจดีย์ไปที่อื่น
ถัดมาสันนิฐานว่า”ยอดพระเจดีย์หักลงโดยความเสื่อมตามธรรมชาติ” นั่นเพราะความเสื่อมของวัสดุที่ใช้ก่อสร้าง การทำปูนเพชร หรือสูตรปูนโบราณ นั้นเป็นวิธีเดียวที่นิยมกัน ซึ่งจะใช้เปลือกหอยมาเผา หรือ ใช้หินผามาเผาด้วยความร้อนสูงจนกลายเป็นสีขาว แล้วนำมาตำจนแหลก จากนั้นจึงนำมาผสมเข้ากับวัสดุที่เป็นสูตรผสมปูนเพชร ยอดเจดีย์สมัยก่อนจะใช้มีไม้เป็นแกน ซึ่งเมื่อผ่านกาลเวลานานๆไป ปูนที่ได้ผสมก็จะเสื่อมคุณภาพลง จึงทำให้โครงสร้างยอดเจดีย์เกิดความปริร้าว ก่อนที่จะปรักหักพังลงในที่สุด เทียบได้กับพระเจดีย์พระบรมธาตุ จ.นครศรีธรรมราช เคยหักลงมา ในปี พ.ศ.2190
เรื่องราวใน“วรรณกรรมพระยาตรัง” ที่แต่งโดย พระยาตรังคภูมาภิบาล หลานของเจ้าพระยานคร ( พัฒน์ ) เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นอีกหนึ่งหลักฐานที่เชื่อมโยงว่า “ยอดพระเจดีย์ หักลงเพราะถูกฟ้าผ่า”โดยพระยาตรังคภูมาภิบาล ได้กล่าวถึง “พระเจดีย์ยอดหัก” เอาไว้ในเพลงยาวของท่าน ความว่า
“ เห็นเจดีย์ขวานฟ้าผ่ายอดสะบั้น อัศจรรย์สุนีทำกรรมช้าหาย มิผิดหรือที่ฝากสองน้องแก่ทนาย แต่เทเวศยังไม่วายลำพองพาล ”
และการที่พระยาตรังคภูมาภิบาล ได้นำเรื่องราวที่เกิดขึ้นมาบันทึกไว้นั่นชี้ให้เห็นว่า ท่านต้องทราบเรื่องราวถึงเหตุการณ์ฟ้าผ่ายอดพระเจดีย์วัดพระเงิน ซึ่งหลังจากฟ้าผ่าพระเจดีย์ ก็ไม่ได้มีการบูรณะ เพราะวัดพระเงิน หรือ วัดเสมาเงินในยุคนั้นคงกลายเป็นวัดร้างไปแล้ว
“พระเจดีย์ วัดพระเงิน” หรือ“วัดเสมาเงิน”ในปัจุบันนั้น อยู่ติดกันกับสำนักงานเทศบาลนคร นครศรีธรรมราช เป็นเจดีย์ ที่ถูกบูรณะใหม่ และถูกทาด้วยสีขาว เป็นวัดสำคัญคู่กับวัดเสมาทอง ซึ่งในเวลาต่อมาวัดเสมาทอง ได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นวัดมเหยงค์ อยู่เยื้องกันคนละฝั่ง แม้ในปัจจุบันวัดพระเงินจะร้าง จนหลงเหลือเป็นสวนสาธารณะ แต่พระเจดีย์ยอดหัก และ หลวงพ่อพระเงิน ก็ยังเป็นที่พึ่งพาทางจิตใจของชาวนครศรีธรรมราชและผู้ที่เดินทางผ่านไปมาได้มาสักการะกราบไหว้ขอพร
ขอบคุณข้อมูล+ภาพจาก : ภูมิ จิระเดชวงศ์
ไขความลับ”ยอดเจดีย์หัก วัดพระเงิน”เมืองนครศรีธรรมราช
สายลุยเตรียมพร้อมก่อนไป “เดินป่า” อ่านจบรู้เรื่อง