3 ขุนเขาแห่งแดนใต้ นครศรีธรรมราช ที่รอท้าทายหัวใจนักเดินทาง ให้มาค้นหาอ้อมกอดแห่งป่าดึกดำบรรพ์ สวรรค์ลึกลับแห่งแดนใต้

4625
views

‘เทือกเขานครศรีธรรมราช หรือ ในภาษาปากที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “เขาหลวง” ซึ่งหมายความถึงยอดเขาที่สูงที่สุดของเทือกเขานครนครศรีธรรมราช และทิวเขาที่ทอดยาวจากทิศเหนือลงมาทิศใต้ มีสภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน มีสภาพเป็นป่าดิบชื้นมีความอุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทยและของโลก เทือกเขานครศรีธรรมราช มีป่าดิบชื้นที่อุดมสมบูรณ์ได้รับการขนานนามจากนักเดินป่าว่าเป็นป่าดึกดำบรรพ์ ให้ความรู้สึกเหมือนดั่งหลุดเข้าไปในดินแดนโบราณเพราะเต็มไปด้วยไม้สูงใหญ่ น้ำตกที่งดงามมากมายและมีผืนป่าอันบริสุทธิ์ที่ถูกปกป้องจากเขาอันสูงชันยากแก่การพิชิต และเป็นที่อยู่ของสัตว์ป่าหายาก เช่น สมเสร็จ เลียงผา เสือดาว เสือโคร่ง เทือกเขานครศรีธรรมราชเป็นแหล่งกำเนิดของสายน้ำสำคัญหลายสายที่คอยหล่อเลี้ยงสรรพชีวิตต่าง ๆ จากลมที่พัดพาหอบเอาความชื้นจากอ่าวไทยกลายเป็นลมฝนที่ควบแน่นเหนือขุนเขานครศรีธรรมราช กลายเป็นฝนพรำไหลลงสู่ห้วยกลางป่าดิบจากห้วยไหลผ่านความสูงชันมารวมกันกลายเป็นน้ำตกและไหลลงสู่ที่ราบกลายเป็นคลองคอยหล่อเลี้ยงสวนผลไม้ไร่นาชีวิตผู้คนมากมายและกลับลงสู่ท้องทะเล’

1. ยอดเขาหลวง นครศรีธรรมราช

หากจะเอ่ยถึงป่าที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของ ประเทศไทยแล้วล่ะก็ คนสายป่าทั้งหลาย คงจะเคยได้ยินชื่อ “เขาหลวง เมืองคร” ผ่านหูมาบ้างแน่นอนทีเดียว ความพิเศษของสถานที่แห่งนี้ นอกจากจะมีภูเขา น้ำตก หรืออะไรต่อมิอะไรที่ป่าควรจะมีแล้ว

ความอุดมสมบูรณ์ของเขาหลวงนั้น เกินระดับ”ธรรมดา” ไปค่อนข้างมาก จะพูดยังไงดีล่ะคะ มันอุดมสมบูรณ์ม๊ากกกก มากจนเฟิร์นดึกดำบรรพ์ ต้นสูงชะลูด เท่าตึกสามชั้น แบบเดียวกับที่คุณเคยเห็นในฉากหนัง จูราสสิค เวิร์ล ที่ตัวทีเรกซ์เอาก้นไปถูเล่นนั้นแหละ

อุทยานแห่งชาติเขาหลวง ครอบคลุมพื้นที่ของอำเภอเมือง อำเภอพิปูน อำเภอพรหมคีรี อำเภอลานสกา อำเภอฉวาง กิ่งอำเภอช้างกลาง และกิ่งอำเภอนบพิตำ มีเนื้อที่ประมาณ 570 ตารางกิโลเมตร ประกาศเป็น อุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2517 ประกอบด้วยเทือกเขาที่สลับซับซ้อน มียอดเขาหลวงเป็นยอดเขา สูงสุด ประมาณ 1,835 เมตรจากระดับน้ำทะเลซึ่งสูงที่สุดในภาคใต้เป็นแหล่งของต้นน้ำลำธารและคลองต่างๆ กว่า15สายมีสภาพเป็นป่าดงดิบชื้นและป่าดิบเขาเส้นทางการเดินในอุทยานเป็นวงรอบมีธรรมชาติที่สวยงามและมี ความหลากหลายทางชีวภาพมีพืชและสัตว์ที่หายากอยู่มากมาย อุทยานแห่งนี้ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม ประจำปี 2541รางวัลยอดเยี่ยมประเภท แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ

อุทยานแห่งชาติเขาหลวง ซึ่งยังคงความอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะป่าเฟินโบราณและกล้วยไม้หายาก นานาชนิดของโลก ป่าผืนนี้ยังเป็นต้นน้ำของเขาหลวงยอดเขาที่สูงที่สุด ในภาคใต้ของไทย.ใจกลางป่าดิบชื้น อันรกทึบของเขาหลวงนี้เอง ที่ได้ให้กำเนิดเฟินโบราณหลายชนิด ซึ่งเหลือรอดมาจนถึงยุคปัจจุบัน เช่น มหาสดำ หรือเฟินต้นที่มี ลักษณะของลำต้น ที่สูงใหญ่ กว่า 15-20 เมตร และมีแผ่นใบสีเขียวสดรูปขนนก ขนาดใหญ่แผ่ ออกจากปลายยอดชวน ให้จินตนาการถึงบรรยากาศยุคจูแรสสิกซึ่งไดโนเสาร์ยังครองโลกอยู่ ป่าเขาหลวงมี เฟินชนิดนี้อยู่อย่าหนาแน่นจนได้รับการขนานนามว่าหุบผามหาสดำอันแสนอัศจรรย์ นอกจากนี้บนป่าดงดิบที่ สูงเฉลี่ยเกิน 1000 เมตร ยังพบเฟินโบราณที่วิวัฒนาการมานานกว่า 180-200 ล้านปี อย่างบัวแฉกและบัวแฉก ใบมน เฟินที่มีรูปทรงของใบแตกเป็นแฉกสวยงามอย่างน่าประหลาด และพบขึ้นเป็นดงหนาแน่น ตามลาดไหล่เขา ชันที่ชุ่มชื้นใกล้ยอดเขาสูง

ยิ่งกว่านั้น ป่าเขาหลวงยังเป็นแดนสวรรค์ของกล้วยไม้เมืองไทย เพราะที่นี่ถือเป็น “สุดยอดแห่งกล้วยไม้เมืองใต้” เนื่องจากสามารถพบกล้วยไม้ป่าดงดิบของภูมิภาคอินโด-มลายันแทบทุกสกุล รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 300 ชนิด โดยเฉพาะกล้วยไม้ถิ่นชนิดใหม่ของโลกและกล้วยไม้ชนิดหายาก เช่น สิงโตอาจารย์เต็ม เอื้องคีรีวง และสิงโต ใบพัด เขาหลวง เป็นต้น กล้วยไม้เหล่านี้ล้วนเป็นชนิดพันธุ์ที่ไม่พบในที่อื่นใดในโลกอีก นอกจากผืนป่าเขาหลวง เท่านั้น จึงเป็นผืนป่าดงดิบที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ และควรหาโอกาสเดินทางไปศึกษาเพื่อเพิ่ม พูนความรู้ให้ งอกเงยต่อไป ช่วงเวลาที่เหมาะในการเดินทางมาท่องเที่ยว คือเดือนมกราคม-เดือนกรกฎาคม

(หินสองเกลอ จุดชมวิว / ภาพ เดินป่าหน้าเป๊ะ)

จุดชมวิวยอดเขาหลวง

เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดของภาคใต้คือสูงประมาณ 1,835 เมตร อยู่ในท้องที่บ้านคีรีวง ตำบลกำโลน อำเภอลานสกา ห่างจากตัวเมืองนครศรีธรรมราช (ไปเส้นทางเดียวกับน้ำตกกระโรมแต่ถึงก่อน) ประมาณ 20 กิโลเมตร มีแยก ขวามือเข้าหมู่บ้านคีรีวงระยะทางประมาณ 9 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินขึ้นถึงยอดเขาไปกลับ 3 วัน กับ 2 คืน เหมาะสำหรับเฉพาะผู้สนใจศึกษาสภาพป่าดึกดำบรรพ์และศึกษาวิจัยพันธุ์ไม้ยอดเขาหลวงมีความหลากหลาย ทางชีวภาพค่อนข้างสูงและจัดเป็นที่เปราะบางโดยสภาพทางชีวภาพและกายภาพแล้ว ยอดเขาหลวงไม่เหมาะ สำหรับนักท่องเที่ยวทั่วไป
แต่ท้าทายสำหรับนักเดินป่า

ที่เขาหลวงความอุดมสมบูรณ์หล่อเลี้ยงเฟิร์นดึกดำบรรพ์ชนิดนั้น ให้หลงเหลืออยู่รอดมาตั้งแต่สมัยจูแรสสิค จนถึงทุกวันนี้ เฟิร์นชนิดนี้ไม่ใช่ เฟิร์นธรรมดาที่ขึ้นตามที่ไหนก็ได้นะจ๊ะ “เฟิร์นมหาสดำ” นางเลือกขึ้นเฉพาะป่าดิบชื้นที่อุดมสมบูรณ์เท่านั้น!!!! ย้ำว่าเท่านั้น!!! หลายสำนักเลยยกให้ เฟิร์นชนิดนี้ เป็น UNSEEN THAILAND  ประจำจังหวัด นครศรีธรรมราช เลยทีเดียว ที่นักชมธรรมชาติตัวจริงต้องห้ามพลาด ว้าวไหม

2. ยอดเขาเหมน “เขาพระสุเมรุ”

ยอดเขาลูกหนึ่งที่สูงเด่นแลเห็นได้แต่ไกล มีเมฆปกคลุมยอดเขาเกือบตลอดทั้งปี เป็นภาพที่สวยงามยิ่งนัก ซึ่งชาวบ้านเรียกชื่อกันว่า “ยอดเขาเหมน” ( น่าจะมาจาก “เขาพระสุเมรุ” )

ตำนาน/ความเชื่อ

เขาเหมนในตำนานเล่าขานตั้งแต่โบราณ เรียกว่า เขาพระสุเมรุ เมืองนครศรีธรรมราชในสมัยนั้นถือเป็นหนึ่งในเมืองสำคัญของเมือง 12 นักษัตรที่มีความรุ่งเรืองของศาสนาพุทธ พราหมณ์ และฮินดู ชาวฮินดูและพราหมณ์นับถือพระศิวะ จึงเชื่อกันว่าเขาพระสุเมรุซึ่งมีเอกลักษณ์รูปทรงและมีความสูงแตกต่างจากภูเขาอื่น ๆ เป็นที่อยู่ของพระศิวะ แต่ชาวใต้มักนิยมเรียกชื่อสั้น ๆ จึงกลายเป็นเขาเมรุ หรือเขาเมนในปัจจุบัน ในอดีตพื้นที่แถบนี้มีข้างป่าอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก จนมีการตั้งกรมช้างซ้าย กรมช้างขวา และกรมช้างกลางขึ้นมา เพื่อรวบรวมช้างป่าส่งไปให้สุโขทัยและอยุธยา กรมช้างกลางในอดีต วันนี้ก็คือพื้นที่อำเภอช้างกลาง

เขาเหมน ตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติน้ำตกโยง หมู่ที่ 4 ตำบลนาบอน อำเภอนาบอน จังหวัดนครศรีธรรมราช

การเดินทางจากอำเภอทุ่งสงไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 41 ขาขึ้นกรุงเทพ ระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร แยกเข้าอำเภอนาบอนระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร ถึงบ้านคลองจัง จะพบทางแยกเข้าไปน้ำตก ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร ซึ่งมีหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ตย.1 (คลองจัง) ตั้งอยู่ เป็นที่ติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อขออนุญาตขึ้นเขาเหมน

ยอดเขาเหมนสูงประมาณ 1,307 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง อากาศหนาวเย็น ลมพัดแรงและมีเมฆปกคลุมเกือบทั้งปี จุดชมทิวทัศน์บนยอดเขาเหมนจะสามารถมองเห็นทิวทัศน์ได้โดยรอบ สามารถมองเห็นพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก จะมองเห็นที่ตั้งของชุมชน อำเภอนาบอน อำเภอทุ่งสง อำเภอช้างกลาง และอำเภอลานสกาได้อย่างชัดเจน

สภาพป่าโดยทั่วไป เป็นป่าดงดิบเขา ต้นไม้ในป่ามีลักษณะเตี้ย ชั้นเรือนยอดส่วนใหญ่ค่อนข้างอยู่ในระดับเดียวกัน ความสูงประมาณ 3 -5 เมตร บริเวณกิ่งก้านและลำต้นมี มอส เฟิร์น รวมทั้งพืชอิงอาศัยหลายชนิดขึ้นอย่างหนาแน่นส่วนใหญ่เป็นพืชวงศ์ก่อ แดงเขา ทะโล้ โกงกางเขา โคลงเคลง บิโกเนีย และที่สำคัญคือ บัวแฉกใหญ่ และพืชในตระกูล ขิง – ข่า นอกจากนี้ยังมีกล้วยไม้ป่าชนิดต่าง ๆ โดยเฉพาะกล้วยไม้รองเท้านารีพันธุ์คางกบใต้ ซึ่งเป็นกล้วยไม้ประจำถิ่นด้วย

ทางเดินขึ้นยอดเขาจะผ่านป่าซึ่งเรียกกันว่าป่าโบราณ ซึ่งลักษณะต้นไม้เปียกชุ่มเพราะละอองหมอก บริเวณกิ่งก้านและลำต้นมี มอส เฟิร์น รวมทั้งพืชอิงอาศัยหลายชนิดขึ้นอย่างหนาแน่น และมีสายหมอกปกคลุมตลอดทาง

3. ยอดเขานัน หรือ ยอดหกพู ในเขต อุทยานแห่งชาติเขานัน บนเทือกเขาหลวงของนครศรีธรรมราช

อันมีความหมายถึงยอดสูง 1,410 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง มีจุดเริ่มต้นเดิน 2 ทาง คือ เส้นหนึ่งเริ่มเดินจากหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติฯ คลองกัน เป็นเส้นทางชันดิกตั้งแต่แรก แล้วไต่ขึ้น ๆ ตลอด ส่วนอีกเส้นทางคือเริ่มเดินจากบริเวณเหมืองแร่เฟลด์สปา

ในปี 2531 ได้เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในภาคใต้สร้างความสูญเสียแก่ชีวิตและทรัพย์สินของชาวบ้านในพื้นที่บ้านกระทูน อ.พิปูน จ.นครศรีธรรมราชเป็นบริเวณกว้าง กรมป่าไม้จึงได้ให้ทำการสำรวจพื้นที่ป่าสมบูรณ์เพื่อพิจารณาจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยในการสำรวจเบื้องต้นพบว่าพื้นที่ในบริเวณนี้อยู่ในป่าสงวนแห่งชาติป่ากรุงชิง ป่าเขานัน และป่าคลองเผียน ซึ่งเป็นผืนป่าที่ติดกับอุทยานแห่งชาติเขาหลวงและอุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น จึงได้ออกคำสั่งให้นายลือสัก สักพันธุ์ เจ้าพนักงานป่าไม้ 4 กองอุทยานแห่งชาติ ไปสำรวจรายละเอียดเพิ่มเติม จากการสำรวจพบว่าพื้นที่ดังกล่าวมีการบุกรุก แผ้วถางป่า และทำไม้เป็นบางส่วน แต่ในขณะนั้นกำลังเจ้าหน้าที่และงบประมาณไม่เพียงพอต่อการป้องกันและปราบปราม จึงไม่สามารถจัดทำแผนที่แสดงแนวเขตฯ เพื่อจะประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติได้แล้วเสร็จ

เขานัน ได้รับการประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ ลำดับที่ 113 ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2552 หลังจากคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติได้ลงมติเห็นชอบ ให้จัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติมาตั้งแต่ พ.ศ. 2535

พื้นที่อุทยานแห่งชาติเขานันครอบคลุมเขตอำเภอนบพิตำ อำเภอท่าศาลา และอำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมียอดเขาสูงสุดคือเขานัน สูง 1,438 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง เป็นไฮไลต์สำหรับนักเดินป่า และมีแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ เช่น เส้นทางศึกษาธรรมชาติ บัวแฉกใหญ่ ซึ่งอยู่ใกล้กับที่ทำการอุทยานฯ เส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าเปลี่ยนสี “ป่าประ” ที่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ต้นประจะแตกใบอ่อนเป็นสีแดง งดงามทั้งขุนเขา น้ำตกสุนันทา ซึ่งเป็นน้ำตกงดงาม ถ้ำหงส์ ซึ่งมีน้ำตกตั้งอยู่ภายใน ฯลฯ

( ข้อมูลเบื้องต้นจาก: สำนักอุทยานแห่งชาติ ศูนย์ข้อมูลสารสนเทศอุทยานแห่งชาติ)

 
ถมนคร : คุณค่าที่คู่ควร ถมนคร เครื่องถมเมืองนครศรีธรรมราช
 
SHARE