
1. พระมหาธาตุเจดีย์บางแก้ว วัดเขียนบางแก้ว พัทลุง
วัดพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว
วัดเขียนบางแก้ว วัดพัฒนาตัวอย่างปี พ.ศ. ๒๕๓๓ ตั้งอยู่เลขที่ ๔๒ บ้านบางแก้ว หมู่ที่ ๔ ตำบลจองถนน อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง ตามประวัติศาสตร์และพงศาวดารมีชื่อเรียกขานกันว่า “วัดเขียนบางแก้ว” ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของโคกเมืองมีคลองบางหลวง หรือคูเมืองกั้นกลาง ในบรรดาวัดเก่าแก่ในจังหวัดพัทลุงถือว่าวัดเขียนบางแก้วเป็นวัดเก่าแก่ที่สุดมีอายุกว่า ๑,๐๐๐ ปี สร้างขึ้นในสมัยอาณาจักรศรีวิชัย ตามตำนานได้กล่าวถึงวัดเขียนบางแก้วไว้ว่านางเลือดขาวเป็นผู้สร้างวัดนี้
โดยได้จารึกเรื่องราวการก่อสร้างลงบนแผ่นทองคำที่เรียกว่า เพลาวัดกล่าวไว้ว่าวัดเขียนบางแก้ว สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. ๑๔๙๒ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๑๔๙๓ เจ้าพระยากุมารกับนางเลือดขาวได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากเกาะลังกามาบรรจุไว้ในพระมหาธาตุเจดีย์ หรือตามตำนานการสร้างวัดเขียนบางแก้วของพระครูสังฆรักษ์ (เพิ่ม) กล่าวว่าพระยากรุงทอง เจ้าเมืองพัทลุงเป็นผู้สร้างวัดขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดีเดือน ๘ ขึ้น ๕ ค่ำ ปีกุนเอกศก พ.ศ. ๑๔๘๒ (จ.ศ. ๓๐๑) พร้อมกับสร้างพระมหาธาตุและก่อพระเชตุพนวิหาร ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาในปี พ.ศ. ๑๔๘๖
2. พระมาลิกเจดีย์ วัดพะโคะ (วัดราชประดิษฐาน) สงขลา
พระมาลิกเจดีย์ วัดพะโคะ
วัดแห่งนี้คือที่จำพรรษาของสมเด็จพะโคะ หรือหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเล พระเกจิอาจารย์ที่ประชาชนให้ความนับถือมากมาย ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนเป็นชื่อวัดราชประดิษฐาน แต่ชาวบ้านก็ยังคงนิยมเรียกกันติดปากว่าวัดพะโคะอยู่อย่างนั้น
3. พระบรมธาตุ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช
พระบรมธาตุ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร
วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร หรือที่ชาวนครศรีธรรมราชเรียกว่า “วัดพระธาตุ” เป็นโบราณสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เปรียบเสมือนศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย สัญลักษณ์ของจังหวัดนครศรีธรรมราชที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย คือ พระบรมธาตุเจดีย์ ซึ่งนิยมเรียกกันสั้นๆ ว่า “พระธาตุนคร” หรือ “พระบรมธาตุเมืองนคร” ซึ่งตั้งอยู่ภายในวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จากตำนานที่เล่าสืบต่อกันมาตั้งแต่อดีต หลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน เมืองต่างๆ ในแคว้นชมพูทวีปได้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุไปเก็บรักษาเพื่อเคารพบูชา โดยมีเมืองหนึ่งชื่อเมืองทนธบุรี ได้พระทันตธาตุมาเก็บรักษาไว้
ต่อมามีกษัตริย์จากเมืองอื่นยกทัพมาเพื่อขอแบ่งพระทันตธาตุ กษัตริย์สิงหราชเจ้าเมืองทนธบุรีเห็นว่าจะรักษาเมืองไว้มิได้ จึงให้พระนางเหมชาลา พระธิดาและพระโอรสอัญเชิญพระทันตธาตุ ลงเรือหนีไปยังลังกา ระหว่างเกิดพายุทำให้เรือกำปั่นแตก ทั้งสองพระองค์ได้มาขึ้นฝั่ง ณ หาดทรายแก้ว ได้ฝังพระทันตธาตุไว้ ทั้งสองพระองค์ได้กลับไปยังลังกา โดยมีพระทันตธาตุสวนหนึ่งยังฝังอยู่ที่หาดทรายแก้ว
ต่อมาพระเจ้าศรีธรรมโศกราชเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ได้มาพบพระทันตธาตุ และโปรดให้สร้างพระบรมธาตุเจดีย์เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและสร้างเมือง ณ หาดทรายแก้ว จนสำเร็จเมืองดังกล่าว คือ เมืองนครศรีธรรมราช ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ทรงเสด็จประพาสเมืองนคร ได้โปรดพระราชทานนามวัดว่า “วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร”
4. พระเจดีย์งาม วัดพระเจดีย์งาม สงขลา
พระเจดีย์งาม วัดเจดีย์งาม
วัดเจดีย์งามอยู่ริมถนนทางหลวงสงขลา – นครศรีธรรมราช ตั้งอยู่บ้านเจดีย์งาม หมู่ที่ ๒ ตำบลบ่อตรุ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา สันนิษฐานกันว่าสร้างขึ้นสมัยศรีวิชัย ในเผนที่ภาพกัลปนาวัดหัวเมืองพัทลุง ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเรียกชื่อวัดนี้ว่า “วัดพระใจดีงาม” ภายในวัดมีโบราณวัตถุที่เป็นหลักฐานให้เห็นคือเจดีย์พระมหาธาตุ เป็นเจดีย์ที่ก่อด้วยอิฐปะการังทั้งองค์ วิหารพระโพธิสัตว์ อยู่ทิศตะวันออกของเจดีย์ ฐานพระวิหารมีพระพุทธรูปปูนปั้นปางสมาธิทรงเครื่องแบบกษัตริย์องค์หนึ่งชาวบ้านเรียกว่า พระโพธิสัตว์ศรีอริยเมตไตรย อาคารเสนาสนะต่างๆมีอุโบสถทรงไทยโบราณสร้างขึ้นแทนหลังเก่าศาลาการเปรียญหอฉันภายในมีธรรมาสน์และธรรมจักรจำลองสลักหินสมัยพระเจ้าอโศก
5. พระเจดีย์ศรีรัตนมหาธาตุ วัดจะทิ้งพระ สงขลา
เจดีย์พระศรีรัตนมหาธาตุ
เจดีย์พระมหาธาตุหรือเจดีย์พระศรีรัตนมหาธาตุ วัดจะทิ้งพระ จังหวัดสงขลาเป็นเจดีย์ก่อด้วยอิฐดินและอิฐปะการังสอด้วยดินบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า เจดีย์เป็นรูประฆังคว่ำ หรือรูปโอ่งคว่ำแบบลังกามีปลียอดแหลมอย่างเช่น พระบรมธาตุเจดีย์ที่นครศรีธรรมราช แต่ต่างกันที่ไม่มีรัตนบัลลังก์ โดยประสมประสานสถาปัตยกรรมสมัยศรีวิชัยเข้ามา เช่น ทำเป็นมณฑปสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป ส่วนยอดทำเป็นสถูปมีเจดีย์บริวาร ๔ มุม ตามตำนานกล่าวว่าผู้สร้างเจดีย์คือพระเจ้ากรุงทองแห่งเมืองสทิงพระ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๑๕๔๒ ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ พ.ศ. ๒๔๗๗ เจดีย์พระมหาธาตุชำรุดทรุดโทรมมาก ได้มีการบูรณะองค์เจดีย์ขึ้นใหม่แต่ก็ยังคงลักษณะเดิมไว้ ในวันเพ็ญเดือน ๓ ของทุกปีจะมีประเพณีแห่ผ้าขึ้นห่มพระมหาธาตุเจดีย์
สงกรานต์เมืองนคร ช่วงเวลาแห่งการผลัดเปลี่ยนเจ้าเมือง