“พระนางเลือดขาว (วัดแม่เจ้าอยู่หัว) แห่งบ้านแม่เจ้าอยู่หัว อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช

37498
views
พระนางเลือดขาว วัดแม่เจ้าอยู่หัว อ.เชียรใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช

“พระนางเลือดขาว แห่งบ้านแม่เจ้าอยู่หัว อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช จากที่สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถได้เสด็จเยี่ยมศูนย์ศิลปาชีพบ้านเนินธัมมัง ตำบลแม่เจ้าอยู่หัว อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อ พ.ศ. 2537 ได้ตรัสถามราษฎรที่เข้าเฝ้าว่า “ตำบลแม่เจ้าอยู่หัว มีความเป็นมาอย่างไร ทำไมถึงได้ชื่อว่าแม่เจ้าอยู่หัว” ราษฎรไม่สามารถตอบได้ชัดเจนถึงประวัติของตำบล ด้วยเหตุนี้จึงได้มีราษฎรกลุ่มหนึ่งเกิดความคิดว่า “เราต้องค้นคว้าศึกษาประวัติความเป็นมาของตำบลแม่เจ้าอยู่หัวให้ชัดเจนเพื่อจะได้รู้ประวัติที่แท้จริง และได้ให้ลูกหลานได้ศึกษาอีกด้วย”

พระนางเลือดขาว

แม่เจ้าอยู่หัว (พระนางเลือดขาว) เป็นบุตรีคหบดี บิดาเป็นชาวจังวัดพัทลุง เชื้อสายลังกา (คุลา) มารดาเป็นชาวบ้านเก่าหรือบ้านฆ้อง (บริเวณวัดแม่เจ้าอยู่หัว หมู่ที่ 3 ตำบลแม่เจ้าอยู่หัว อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช ปัจจุบัน) บิดา มารดา มีอาชีพค้าขาย ณ ชุมชนสุดสายหาดทรายแก้ว นครศรีธรรมราช หรือสันทรายเชียรใหญ่ทางทิศใต้ คือบริเวณวัดแม่เจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นชุมชนท่าเรือในสมัยโบราณ สถานที่เกิดของนาง คือบ้านเก่า หรือบ้านฆ้อง ประมาณ พ.ศ. 1745

แม่เจ้าอยู่หัว (พระนางเลือดขาว) พระนามเดิมไม่ทราบแน่ชัด แต่ได้รับทราบจากคำบอกเล่า บางกระแสเรียกชื่อว่า “กังหรี” บางกระแสไม่ปรากฎพระนามเดิม แม่เจ้าอยู่หัว (พระนางเลือดขาว) มีพี้น้อง 3 คน คือ
– ทวดโปชี มีรูปปั้นประดิษฐาน ณ วัดพังยอม
– พ่อท่านขรัว มีรูปปั้นประดิษฐาน ณ วัดบ่อล้อ
– แม่เจ้าอยู่หัว มีรูปปั้นประดิษฐาน ณ วัดแม่เจ้าอยู่หัว

แม่เจ้าอยู่หัว (พระนางเลือดขาว)

แม่เจ้าอยู่หัว (พระนางเลือดขาว) มีนิสัย โอบอ้อมอารี เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา เป็นที่รักของบุคคลโดยทั่วไปตั้งแต่เยาว์วัย แม่เจ้าอยู่หัวงามด้วยเบญจกัลยาณี คือ ผมงาม เนื้องาม ฟันงาม ผิวงาม และวัยงาม
แม่เจ้าอยู่หัว (พระนางเลือดขาว) มีเลือดเป็นสีขาวมาตั้งแต่กำเนิด บิดา มารดาและผู้ใกล้ชิด ทราบเรื่องนี้มาก่อนแล้ว แต่เก็บไว้เป็นความลับเพราะเป็นเรื่องที่แปลกไม่เคยพบเห็นมาก่อน ไม่ทราบว่าจะเป็นเรื่องดีหรือเรื่องร้ายต่อ แม่เจ้าอยู่หัว

วันหนึ่งในหมู่บ้านของแม่เจ้าอยู่หัวมีงาน นางได้ไปช่วยงานและได้ทำหน้าที่เจียนหมาก พลู เป็นด้วยปุพเพกตปุญญตาบุญซึ่งได้สะสมมาดีแล้ว และด้วยบุพเพสันนิวาสที่แม่เจ้าอยู่หัวได้เกิดมามีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ จะได้เป็นเจ้าคนนายคนต่อไป ขณะที่แม่เจ้าอยู่หัวทำหน้าที่เจียนหมาก เจียนพลู กรรไกรได้หนีบนิ้วของแม่เจ้าอยู่หัว มีเลือดไหลออกมาปรากฎเป็นสีขาว ต่อหน้าประชาชนที่มาร่วมงานมากมาย ต่อมาคนจึงเรียกแม่เจ้าอยู่หัวว่า พระนางเลือดขาว

ข่าวแม่เจ้าอยู่หัว มีเลือดสีขาวร่ำลือ ออกไปอย่างรวดเร็วจากบ้านต่อบ้าน ตำบลสู่ตำบล เมืองสู่เมือง ในที่สุดข่าวนี้ก็เข้าพระกรรณพระเจ้าศรีธรรมโศกราชที่ 5 หรือพระเจ้าสีหราช กษัตริย์แห่งนครศรีธรรมราช (ตามพรลิงค์) เมืองนครศรีธรรมราชในขณะนั้นตั้งอยู่ที่เมืองพระเวียง

ในขณะเดียวกันพระเจ้าศรีธรรมโศกราชได้ทราบข่าวว่าเมืองทะรังหรือเมืองกันตัง (เมืองตรังปัจจุบัน) ได้แข็งข้อจะไม่ขึ้นต่อการปกครองของเมืองตามพรลิงค์ พระเจ้าศรีธรรมโศกราชจึงกรีฑาทัพเพื่อไปตีเมืองทะรังและในการเดินทางไปเมืองทะรังนั้นเจ้าเมืองทะรังรู้ล่วงหน้า จึงจัดทัพมาต่อสู้กันที่บ้านทุ่งชน และทำการชนช้างกันที่นั่น (ปัจจุบันอยู่ในอำเภอทุ่งสง) การต่อสู้ปรากฎว่าทัพของเจ้าเมืองทะรังพ่ายแพ้แก่พระเจ้าศรีธรรมโศกราชพระองค์จึงโปรดให้เจ้าเมืองทะรังจัดเครื่องบรรณาการมาถวายที่ทุ่งหญ้าริมเทือกเข้านครศรีธรรมราช ก่อนที่พระองค์จะเสด็จกลับเมืองนครศรีธรรมราช (เมืองพระเวียง)

เจ้าเมืองทะรังจึงนำเครื่องบรรณาการมาถวายที่ทุ่งกว้างริมเทือกเขาดังกล่าว ชาวบ้านจึงเรียกพื้นที่แห่งนั้นว่า ทุ่งสง คือที่ส่งเครื่องบรรณาการนั่นเอง (อำเภอทุ่งสงปัจจุบัน)

 วัดแม่เจ้าอยู่หัว อ.เชียรใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช

เมื่อพระเจ้าศรีธรรมโศกราช รับเครื่องบรรณาการจากเจ้าเมืองทะรังเสร็จแล้ว จึงเดินทัพกลับสู่เมืองนครศรีธรรมราชพร้อมกับชัยชนะ และเครื่องบรรณาการ ขณะเดินทัพเกิดค่ำระหว่างทาง ทรงหยุดขบวนทัพพักแรมที่ริมภูเขา พระองค์ทรงพระสุบิน เห็นสตรีมีลักษณะงดงามตามเบญจกัลยาณี มีใจกุศล ซึ่งเป็นคู่บุญบารมีของพระองค์ พำนักอยู่ทางทิศใต้ให้เสด็จไปตามเส้นทางหาดทรายแก้วและนางมีเลือดไม่เหมือนสตรีโดยทั่วไปคือมีเลือดสีขาว ประกอบกับ พระองค์ทรงทราบจากคำเล่าลือมาบ้างแล้ว

พระองค์เสด็จยาตราทัพเข้าเมืองนครศรีธรรมราช มนัสการพระบรมธาตุ เสร็จแล้วจึงจัดขบวนเสด็จค้นหาพระนางตามพระสุบินและคำเล่าลือ ไปทางทิศใต้ของเมือง โดยประทับช้างทรงชื่อ พลายไสยพร ผ่านบ้านท่าเรือ บ้านจังหูน บ้านหมน พักแรมไพร่พลที่บ้านชะเมา แล้วเดินทางต่อ ทรงแวะมนัสการพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ณ วัดใต้หล้า (สันนิฐานว่าเป็นพระพุทธรูปหินเขียวปัจจุบันเก็บไว้ที่วัดทางพูน) ตามธรรมเนียมของการเดินทาง

 วัดแม่เจ้าอยู่หัว อ.เชียรใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช

ขณะเดินทางช้างในขบวนเสด็จเกิดตกมันอย่างกะทันหันพยายามเกี้ยวพาราสีช้างพังตลอดเวลา พระองค์จึงหยุดพักที่ริมสระใหญ่แห่งหนึ่งเพื่อให้ช้างพลายได้มีโอกาสสมพาสช้างพัง แต่ช้างพังก็หายอมไม่ ต่อมาสระแห่งนี้เรียกว่า บ้านสระช้างใคร่ (ปัจจุบันเรียกบ้านสระไครตามภาษาท้องถิ่น อยู่ในพื้นที่ ตำบลเชียรเขา อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครศรีธรรมราช)

รุ่งเช้าเดินทางต่อตามพระสุบิน หลังจากเดินทางได้สักระยะหนึ่งช้างที่ตกมัน อยากจะสมพาสกับช้างพังอีก พระองค์จึงให้หยุดพักริมสระน้ำอีกครั้ง ชาวบ้านเรียกบ้านหนองหม้อ ปรากฎว่าครั้งนี้ช้างพังยอมให้ช้างพลายสมพาสด้วย ปัจจุบันสถานที่ดังกล่าวจึงเรียกว่า บ้านพังยอม ปัจจุบันอยู่ใน ตำบลสวนหลวง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครศรีธรรมราช อันเป็นที่ตั้งของวัดพังยอม ซึ่งมีรูปปั้นของทวดชีโป ซึ่งเป็นพี่ของพระนางเลือดขาวประดิษฐ์ฐานอยู่

หลังจากนั้นพระองค์จึงให้ไพร่พลตั้งค่ายพักแรม ใกล้เคียงกับบ้านพังยอม พระองค์ทรงเล่นทอดสกากับบรรดา แม่ทัพนายกองสถานที่ ที่พระองค์ทรงเล่นทอดสกา ปัจจุบันชาวบ้านเรียกสถานที่ดังกล่าวว่าบ้านสกา อยู่ในเขตตำบลสวนหลวง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครศรีธรรมราช

รุ่งเช้าวันใหม่ จึงเดินทางต่อตามพระสุบิน จนกระทั่งขบวนเสด็จ ถึงสำนักพ่อท่านขรัว พระเจ้าศรีธรรมโศกทรงเข้าไปนมัสการพ่อท่านขรัว และขอพักแรมที่สำนักพ่อท่านขรัวในระหว่างที่ทรงพักแรมอยู่นั้น น้องสาวของพ่อท่านขรัว คือพระนางเลือดขาวมารับเสด็จด้วย พระองค์ทอดพระเนตรเห็นพระนางมีความงดงามมาก ตามเบญจกัลยาณี เหมือนที่ทรงพระสุบินไว้ทำให้พระองค์เกิดความดีพระทัยยิ่งนัก

 วัดแม่เจ้าอยู่หัว อ.เชียรใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช

แต่ยังมีอีกอย่างหนึ่งที่พระองค์ทรงพระสุบิน แต่ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ คือเลือดขาว ด้วยบุญบารมี ที่พระองค์จะได้ทราบถึงเลือดสีขาว ขณะที่นางพอผ้า (ทอหูก) เพื่อถวายใหักับพระเจ้าศรีธรรมโศกราช ทำให้ตรน (อุปกรณ์ที่ทำด้วยไม่ไผ่มีความคมมาก) ได้บาดนิ้วของพระนาง พระองค์ทอดพระเนตรเห็นเลือดของนางออกมาเป็นสีขาว ทำให้พระองค์ทรงปลื้มพระทัยยิ่งนัก ที่พระนางมีลักษณะตรงตามพระสุบินทุกประการ

พระองค์จึงทรงเอ่ยพระโอษฐ์ขอพระนางต่อพ่อท่านขรัว ซึ่งเป็นพี่ชายของนาง เพื่อนำพระนางไปเป็นพระนางเมือง (พระสนม) ในวัง พ่อท่านขรัวมิอาจทัดทานได้ จึงให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ของพระเจ้าศรีธรรมโศกราช

เมื่อพระเจ้าศรีธรรมโศกราช เสด็จกลับสู่เมืองพระเวียงแล้วพระองค์จึงได้มีพระราชโองการให้พราหมณ์ปูโรหิตจัดขบวนหลวงไปสู่ขอพระนางตามประเพณี

พระนางเลือดขาว

ในระหว่างที่พระนางอยู่ในวังทำให้พระสนมอื่นไม่พอใจเพราะพระนางมีความสวยงามยิ่งกว่าหญิงอื่นใดในวัง พระนางถูกกลั่นแกล้งตลอดเวลา ถูกกล่าวหาต่างๆ นานา แต่พระนางใช้ความอดทน ทำแต่ความดีตลอดเวลาได้ปรนนิบัติรับใช้พระเจ้าศรีธรรมโศก ด้วยความจงรักภักดี ได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและได้ทำคุณประโยชน์ใหักับบ้านเมืองมากมาย เป็นที่รักใคร่ของไพร่ฟ้าประชาชนทั่วไป

พระเจ้าศรีธรรมโศกราชได้เห็นคุณความดีของพระนางจึงได้สถาปนาแม่เจ้าอยู่หัวหรือพระนางเลือดขาวเป็นอัครมเหสี ด้วยเหตุนี้จึงเรียกกันโดยทั่วไปว่า พระนางเลือดขาวแม่เจ้าอยู่หัว หรือแม่เจ้าอยู่หัวพระนางเลือดขาว หมายถึงผู้อยู่ในฐานะพระมเหสีเอกของพระเจ้าอยู่หัว แต่ปัจจุบันชาวบ้านนิยมเรียกว่า แม่เจ้าอยู่หัวพระนางเลือดขาว

ด้วยเหตุที่พระเจ้าศรีธรรมโศกได้สถาปนาพระนางเป็นอัครมเหสีหรือแม่เจ้าอยู่หัวพระนางเลือดขาวด้วยคุณความดีของแม่เจ้าอยู่หัว ทำให้พระนางโดดเด่นกว่าสตรีอื่นใดภายในวัง ยิ่งสร้างความไม่พอใจให้สนมกรมวังฝ่ายอื่นเป็นอย่างยิ่ง พระนางถูกกลั่นแกล้งตลอดเวลา แต่พระนางเอาชนะได้ด้วยหลักธรรมของพระพุทธองค์

ในระหว่างที่พระนางทรงเป็นพระมเหสีของพระเจ้าศรีธรรมโศกราชนั้น พระนางได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาโดยการสร้างและปฏิสังขรณ์วัดต่างๆ ไว้มากมาย ทั้งในเมืองนครศรีธรรมราช (เมืองตามพรลิงค์) และเมืองใกล้เคียง

 วัดแม่เจ้าอยู่หัว อ.เชียรใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช

วัดที่พระนางสร้างเป็นวัดแรกคือ วัดแม่เจ้าอยู่หัว ประมาณ พ.ศ. 1775 ขณะพระนางมีพระชนมายุ 30 พรรษา ซึ่งเป็นวัดบ้านเกิดของ พระนาง ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 1790 พระชนมายุ 45 พรรษา พระนางได้ปฏิบัติพระราชกรณีย์กิจแทนพระเจ้าศรีธรรมโศกราช โดยการเสด็จไปประเทศศรีลังกา เพื่อทรงรับพระพุทธสิหิงค์มายังนครศรีธรรมราช ปี พ.ศ. 1799 พระนางมีพระชนมายุ 55 พรรษา ได้เสด็จไปยังเมืองสุโขทัย เพื่อจัดระเบียบสงฆ์ฝ่ายฆราวาส ประทับอยู่ที่สุโขทัยนาน 5 ปี จึงเสด็จกลับเมืองนครศรีธรรมราช

แต่การเป็นคนดีของแม่เจ้าอยู่หัว หามีความราบรื่นไม่ จะถูกกลั่นแกล้งจากสนมกรมวังอื่นอยู่เป็นประจำ ซึ่งแม่เจ้าอยู่หัวทรงทราบในพระทัยดี แต่พระนางก็ยึดมั่นในคุณธรรมความดีมาตลอดและในการเข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิดทุกครั้ง สิ่งหนึ่งที่พระนางขอต่อพระเจ้าศรีธรรมโศกราชคือหากพระนางเป็นอะไรไปหรือสิ้นพระชนม์ลงเมื่อใด ขอให้พระเจ้าศรีธรรมโศกนำพระศพกลับบ้านเกิดของพระนาง คือสำนักพ่อท่านขรัว และพระเจ้าศรีธรรมโศกราชทรงรับพระโอษฐ์กับพระนางว่าหากนางมีอันเป็นไป จะสร้างอนุสรณ์สถานให้แก่พระนางที่บ้านเกิดอย่างยิ่งใหญ่สมพระเกียรติ

ต่อมาข่าวความเดือดร้อนที่พระนางถูกกลั่นแกล้งทราบถึงพ่อท่านขรัว ท่านจึงเดินทางไปยังเมืองนครศรีธรรมราชเพื่อขอบิณฑบาตรต่อพระเจ้าศรีธรรมราช ที่หน้าวัง แต่เมื่อนางสนมกรมวังมาตักบาตรพ่อท่านขรัวไม่เปิดบาตรรับ สร้างความสงสัยให้แก่สนมกรมวังเป็นอย่างมาก รุ่งเข้าท่านไปบิณฑบาตรอีกก็ไม่เปิดบาตรรับ

พระบรมธาตุเจดีย์ศรีธรรมาโศกราช

นางสนมกรมวังจึงกราบทูลต่อพระเจ้าศรีธรรมโศกราช พระองค์จึงเสด็จไปทรงบาตรด้วยพระองค์เอง พ่อท่านขรัวไม่รับบิณฑบาตรอีกเหมือนเช่นเคย พระองค์จึงตรัสถามพ่อท่านขรัวว่าพระคุณเจ้าประสงค์สิ่งใดจงบอกความต้องการ พ่อท่านขรัวถวายพระพรว่า อาตมาขอบิณฑบาตรรับแม่เจ้าอยู่หัวกลับไปอยู่บ้านเดิม

เพราะทราบว่าพระนางมีความเดือดร้อนถูกกลั่นแกล้งตลอด กอปรกับผู้คนแถบนั้นหวังพึ่งบุญบารมีของพระนาง หากพระองค์ไม่อนุญาตอาตมาก็ไม่ขัดข้อง จากนั้นพ่อขรัวก็ถอยหลังไปสามก้าวและเปิดบาตร พระเจ้าศรีธรรมโศกราชก็ทรงบาตรพร้องกับรับพระโอษฐ์ว่า ทรงอนุญาตแต่ขอเวลาจะต้องสร้างวังให้พระนางที่บ้านเกิดก่อน พระองค์จึงให้ช่างสร้างวังที่บ้านของพระนาง ณ ริมฝั่งแม่น้ำปากพนัง (บ้านในวัง หมู่ที่ 8 ตำบลแม่เจ้าอยู่หัว อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช ปัจจุบัน)

เพราะสะดวกในการเดินทางทางเรือ ขณะที่สร้างวังอยู่นั้น พระนางได้เสด็จไปมาระหว่างเมืองนครศรีธรรมราช กับวังที่สร้างใหม่อยู่เสมอ บางครั้งประทับที่วังชั่วคราวซึ่งกำลังสร้าง โดยมีทหารคือ ตาขุนทวน (มีขนทวนขึ้นบน) และตาขุนวัง เป็นองครักษ์ ในการสร้างวังให้แม่เจ้าอยู่หัวที่บ้านเดิม เป็นไปด้วยความล่าช้าเพราะพระเจ้าศรีธรรมโศกได้ประวิงเวลาไม่อยากให้พระนางกลับบ้านเดิม แต่ไม่อยากขัดต่อความประสงค์ขอพ่อท่านขรัว

 วัดแม่เจ้าอยู่หัว อ.เชียรใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช

วังใหม่ของพระนางสร้างด้วยไม้ทั้งหมด พระเจ้าศรีธรรมโศกราช ได้เสด็จมาดูความเรียบร้อยเสมอและได้เสด็จไปมนัสการพระพุทธบาท พระองค์ได้นำขบวนเสด็จข้ามแม่น้ำปากพนังที่บ้านท่าข้ามช้าง ปัจจุบันอยู่ หมู่ที่ 9 ตำบลแม่เจ้าอยู่หัว อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช หลังจากข้ามแม่น้ำปากพนังเรียบร้อยแล้ว ได้นำช้างไปอาบน้ำ ณ หนองน้ำขนาดใหญ่ ปัจจุบันชาวบ้านเรียกบ้านหนองช้างเล่น อยู่ในพื้นที่ ตำบลการะเกด อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช

ขณะช้างกำลังเล่นน้ำอยู่นั้น ได้เกิดเหตุการณ์โกลาหลขึ้น เมื่อช้างพลายไสยพรได้เกิดตกมันกระทันหัน สุดที่นายหอม ซึ่งเป็นควาญช้างสุดที่จะควบคุมได้ช้างพลายไสยพรได้ พลายไสยพรเตลิดเข้าป่า พระองค์สั่งให้ทหารติดตามอย่างกระชั้นชิดตามรอยช้างที่หนีเข้าป่า ใช้เวลาตามพอสมควรก็ได้พล ช้างไสยพรล้ม (ตาย) บนเนินสูงภายในป่า พระองค์สั่งให้ทหารฝังศพช้างพลายไสยพรในบริเวณดังกล่าว เลยเรียกบริเวณนั้นว่า บ้านดอนช้างตาย อยู่ในเขตตำบลท่าขนาน อำเภอเชียรใหญ่ ชื่อของพลายไสยพร เป็นที่มาของนามสกุลของชาวเชียรใหญ่ “แก้วไสยพร”

ส่วนนายหอมควาญช้าง เสียใจมากที่ช้างคู่บารมีล้มสำนึกในความผิดพร้อมรับอาญาและขอตายคู่กับช้างไสยพร แต่พระองค์ไม่ทรงลงโทษ นายหอมควาญช้างจึงขอเป็นผู้ทรงศีลบริเวณช้างล้ม พระองค์ไม่สามารถทัดทานได้ จึงยินยอมและได้สร้างวัดให้เป็นอนุสรณ์ต่อมาชาวบ้านเรียก “วัดพระหอม” เพื่อระลึกถึงนายหอมควาญช้างผู้ขอเป็นผู้ทรงศีล ณ ที่นั้น วัดพระหอมอยู่ในเขต ตำบลบ้านกลาง อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช ปัจจุบัน มีเหรียญพ่อท่านแสง วัดในเตามาออกเป็นที่ระลึก ณ วัดพระหอม ด้วย 1 รุ่น
หลังจากนั้นพระองค์ได้เสด็จไปนมัสการพระพุทธบาทบนเทือกเขาพระบาท ตามพระราชประสงค์จึงเสด็จกลับเมืองนครศรีธรรมราช (เมืองพระเวียง)

พระนางเลือดขาว วัดแม่เจ้าอยู่หัว อ.เชียรใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช

ขณะแม่เจ้าอยู่หัว (พระนางเลือดขาว) เสด็จไปปฏิบัติพระราชกรณีย์กิจแทนพระเจ้าศรีธรรมโศกราช ที่เมืองทะรัง (ตรัง) ระหว่างเดินทางพระนางได้ใช้กลดสำหรับประทับแรมปัจจุบันสถานที่แห่งนี้เรียกว่า “บ้านควนกลด” ต่อมาพระนางได้เดินทางต่อและสิ้นพระชนม์ลง ซึ่งตรงกับปี พ.ศ. 1814 พระนางมีพระชนมายุ 70 พรรษา สถานที่พระนางสิ้นพระชนม์และตั้งพระศพเรียกว่า “บ้านควนศพ” อยู่ในเขตอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราชปัจจุบัน ทำให้พระเจ้าศรีธรรมโศกราชเสียพระทัยมาก

จากนั้นได้อัญเชิญพระศพกลับสู่เมืองนครศรีธรรมราช (เมืองพระเวียง) ตั้งพระศพบำเพ็ญกุศลอยู่ระยะหนึ่ง ณ วัดท้าวโค ตร อันเป็นวัดที่ใกล้วังของพระนาง ด้วยเหตุที่พระองค์ได้รับพระโอษฐ์กับพระนางไว้ก่อนสิ้นพระชนม์ จึงโปรดให้จัดขบวนศพ ไปยังบ้านเกิดของพระนางโดยทางน้ำเพื่อความสะดวกในการเคลื่อนย้าย ตามเส้นทางคลองท่าเรือไปออกทะเลปากนคร

จากนั้น โปรดให้นำโกศพระศพขึ้นฝั่ง เพื่อจัดขบวนเรือเสียใหม่ให้สมพระเกียรติและเหมาะสมกับเส้นทาง พื้นที่ดังกล่าวเลยเรียกว่าบ้านหน้าโกศ อยู่ในเขตอำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ปัจจุบัน
โดยการจัดเตรียมเรือนาคราชขึ้น สองลำ เพื่อขนาบเรือพระศพ มีเรือชื่อแม่นางหงส์เป็นเรือลากแม่นางลายเป็นเรือตามขบวน สถานที่สร้างเรือนาคราชสำหรับขนาบเรือพระศพ เรียกว่า “บ้านขนาบนาค” ปัจจุบันอยู่อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช และคำว่า “ขนาบ” เป็นนามสกุลของหลายๆสายตระกูล เช่น ขนาบนาค,ขนาบศักดิ์,เรืองขนาบ เป็นต้น

ขบวนพระศพผ่านบ้านปากแพรก ได้ไม่นานนักขบวนเรือพระศพเกิดมหัศจรรย์ไม่ยอมเคลื่อน มีผู้รู้ได้แก้อาเพศขบวนเรือจึงเคลื่อนต่อไปได้ สถานที่แห่งนี้เรียกว่าบ้านสำเภาเคือง อยู่ในเขตอำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช ปัจจุบัน ขบวนเสด็จผ่านแม่น้ำปากพนังมาเรื่อย ๆ จนถึงสถานที่แห่งหนึ่ง ขบวนพระศพไม่สามารถเคลื่อนขบวนทางน้ำได้

จะต้องนำขบวนพระศพขึ้นทางบก จึงได้ให้ทหารนำพระศพขึ้นฝั่งอีกครั้ง และพระองค์จึงให้ไพล่พลตั้งค่ายพักแรมบริเวณฝั่งตรงข้ามของลำคลอง ที่ตั้งพระศพปัจจุบันเรียกบ้านท่าศพ ฝั่งตรงข้ามให้ทหารตั้งค่าย หุงข้าวด้วยกระทะ ใบใหญ่ เพราะไพล่พลมาก ชาวบ้านเรียกบ้านกระทะใหญ่หรือบ้านท่าใหญ่ (ภาษาใต้กระทะเรียกว่า ท่า) และได้แยกพื้นที่หุงแกงที่สระใหญ่อีกจุดหนึ่ง เรียกสระเกาะแกง ปัจจุบันอยู่ในอำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช

ในขณะที่พักแรมพระศพของแม่เจ้าอยู่หัว ได้มีชาวบ้านนำเครื่องประโคมมาบรรเลงพระศพอย่างสมเกียรติ ชาวบ้านจึงเรียกชุมชนดังกล่าวว่า “บ้านบรรเลง” ต่อมาได้เพี้ยนเป็น “บ้านบางเหลง” อยู่ในตำบลท้องลำเจียก อำเภอเชียรใหญ่ ปัจจุบัน ซึ่งวัดนี้มีรูปฤๅษี ที่ชาวบ้านเรียก “ตาเมือง” เป็นที่เคารพศรัทธาของชาวบ้านในปัจจุบัน พระเจ้าศรีธรรมโศกราชทรงพอพระทัยยิ่งนัก จึงขอรับวงบรรเลงพระศพไปยังสำนักพ่อท่านขรัวในการจัดงานบำเพ็ญกุศลพระศพอันยิ่งใหญ่อีกครั้ง

 วัดแม่เจ้าอยู่หัว อ.เชียรใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช

รุ่งเช้าจึงจัดขบวนพระศพเดินทางต่อทางบก โดยจัดเกวียน 47 เล่มเกวียน โดยมีพ่อท่านขรัวนำทางขบวนพระศพ เส้นทางที่ผ่านเรียกว่า “ทางขรัว” หรือ “ยนตาขรัว” ผ่านคลองขวาง หาดทรายแก้ว ถึงสำนักพ่อท่านขรัว รวมการเดินทางขบวนพระศพทั้งสิ้น 15 วัน

เมื่อขบวนพระศพแม่เจ้าอยู่หัวหรือพระนางเลือดขาวถึงสำนักพ่อท่านขรัว พรเจ้าศรีธรรมโศกราชจึงสั่งให้ไพร่พล จัดเตรียมสถานที่จัดงานบำเพ็ญกุศลพระศพแม่เจ้าอยู่หัวอันยิ่งใหญ่ ทหารจำเป็นจะต้องขุดบ่อน้ำ เพื่อใช้ในงาน ในการขุดบ่อน้ำเป็นไปด้วยความลำบากเพราะเป็นหาดทรายกลบฝังไม่สามารถใช้น้ำได้ พระเจ้าศรีธรรมโศกราชทรงปรึกษาพ่อท่านขรัว ในที่สุดโปรดให้ใช้ล้อเกวียนขบวนเสด็จซึ่งกลมกว้างและวงใหญ่ โดยถอดดุมล้อออก ซ้อนทับกันหลายชั้นในบ่อชุดสามารถกั้นทรายได้ดีและใช้น้ำได้ ต่อมาจึงเรียกบ่อดังกล่าวว่า “บ่อล้อ” หมายถึงบ่อทำด้วยล้อนั้นเอง ปัจจุบันอยู่บริเวณวัดบ่อล้อ ตำบลแม่เจ้าอยู่หัว อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งปัจจุบันประดิษฐ์ฐานรูปปั้นพ่อท่านขรัว ไว้ที่วัด

สถานที่ตั้งพระศพแม่เจ้าอยู่หัว (พระนางเลือดขาว) และถวายพระเพลิง คือสำนักพ่อท่านขรัว (วัดกุฏิ (ร้าง) ในโรงเรียนวัดบ่อล้อ ปัจจุบัน) ซึ่งเยื้องกับวัดบ่อล้อประมาณ 100 เมตร เดิมเป็นพื้นที่เดียวกัน ต่อมาถนนตัดผ่านและราษฎรบุกรุกจนเหลือเนื้อที่ไม่ติดต่อกัน

ก่อนหน้านี้น้องเภสัชผู้หญิงที่ทำงานที่โรงบาลบอกว่าสมัยที่เขาตีนเท่าฝาหอ ย (ตอนนี้อี้เท่าไหนแล้วอย่าไปข้องใจหมั้นเหลย) เคยเห็นต้นประดู่นี้ และเคยเห็นรูปเข้ตัวนี้ ตอนหลังแรกไม่กี่วันฝันว่ามีเข้ที่คลองฆ็อง มาเข้าฝันว่าอดอยาดมาหลายวันแล้วไม่มีไหรกิน น้องเขาเข้าไปที่วัดเพื่อทำบุญก็ไปเจอรูปเข้ที่แกะจากไม้ประดู่ที่เขาเคยเห็นตอนเด็กๆ ผุกองอยู่กับพื้นจนยากที่จะบูรณะ

พ่อท่านขรัวได้แนะนำให้พระเจ้าศรีธรรมโศกราช นำเอาพระอัฐิและพระอังคาร ไปประดิษฐานไว้ ณ วัดแม่เจ้าอยู่หัว ริมคลองฆ็องบ้านเก่า เป็นวัดที่พระนางสร้างเป็นวัดแรก พระองค์ทรงโปรดให้นำพระอัฐิและพระอังคารไปบรรจุไว้ในมณฑป ซึ่งสูง 12 วา มีเจดีย์บริวารโดยรอบ และทรงสร้างพระพุทธรูปทองคำ เงิน นาค สัมฤทธิ์ หลายขนาด เพื่อให้สมพระเกียรติ ของพระนางที่ทรงมีคุณความดีอันประเสริฐ และเป็นพุทธบูชาของพุทธศาสนิกชนสืบไป

ตอนหลังในยุคสมัยที่นิยมขุดพระกรุกัน ที่ซากเจดีย์เก่าก่อนที่จะมีการบูรณะใหม่มีการขูดกรุพระแม่เจ้าอยู่หัว เป็นพระพุทธนั่งลอยองค์ ศิลป์ออกไปทางสุโขทัย เพราะช่วงยุคการสร้างเป็นช่วงต่อการรุ่งเรืองของอาณาจักรสุโขทัย ซึ่ง ราชวงศ์ศรีธรรมโศก มีความสัมพันธ์กับอาณาจักรสุโขทัยสมัยนั้นแน่นแฟ้นยิ่ง

 วัดแม่เจ้าอยู่หัว อ.เชียรใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช

จากการบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ในเรื่องอภินิหาร หรือปาฏิหารย์จากบารมีของพระนาง ที่ประชาชนบนบานในเรื่องต่างๆ และประสบผลสำเร็จมาแล้ว คือ เรื่องความเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่ว่าจะเกิดกับเด็กหรือผู้ใหญ่ (สมัยนั้นยังไม่มีโรงพยาบาล หรือสถานีอนามัยอย่างปัจจุบันนี้) ต้องไปอาศัยหมอบ้าน ยาสมุนไพร หรือหมอผี ตามความเชื่อของแต่ละคน ถ้ายังไม่หายก็จะบนบานต่อแม่เจ้าอยู่หัว อาศัยบารมีเป็นที่พึ่ง ให้ช่วยขจัดปัดเป่าโรคภัย อาการเจ็บไข้ได้ป่วยหายไป โดยตั้งจิตระลึกถึง กล่าวคำอ้อนวอนยึดเอาบารมีเป็นที่ตั้งสักการะบูชาด้วยดอกไม้ ธูปเทียน เมื่อหายแล้วจะแก้บนตามสัญญาในลักษณะต่างๆ

เรื่องข้าวของเงินทอง หรือทรัพย์สมบัติต่างๆ เกิดสูญหาย จะเป็นด้วยถูกขโมย หลงลืม หรือตกหล่นอย่างหนึ่งอย่างใดก็ตามเจ้าของก็จะบนบานให้หาของนั้นพบ หรือได้สิ่งของนั้นคืนมาจะโดยวิธีใดก็แล้วแต่ จะแก้บนตามสัญญา

เรื่องการศึกษาเล่าเรียน จะเข้ารับราชการ การสอบแข่งขัน การประกอบอาชีพต่างๆ จะบนบานขอให้แม่เจ้าอยู่หัวช่วยให้เรียนจบ สมัครงานได้ สอบเข้ารับราชการได้ หรือประกอบอาชีพประสบผลสำเร็จตามความหวัง ตั้งใจ ก็จะแก้บนตามสัญญา

ครอบครัวใดที่มีบุตรชายเข้าเกณฑ์ทหาร ส่วนใหญ่พ่อแม่จะเป็นห่วงลูก กลัวลูกจะลำบากหากไปเข้าฝึกทหารไม่อยากให้ลูกติดเกณฑ์ บางคนต้องการให้ลูกทำงานบ้าน ทำไร่ ไถนา พ่อแม่ก็จะบนบานขอให้ลูกไม่ต้องติดทหาร บางครอบครัวที่ผู้ชายได้ภรรยาตั้งแต่วัยหนุ่มยังไม่ถึงเกณฑ์ทหาร เมื่ออยู่กินกันมาสักปีสองปีอายุเข้าเกณฑ์ จะมีบุตรหรือไม่มีก็ตาม ภรรยา พ่อตาแม่ยายก็จะบนบานไม่ให้สามี บุตรเขยต้องไปติดทหาร เพราะสงสารลูกหลานจะอยู่ห่างไกลพ่อ ขาดความอบอุ่น สารพัดอย่าง ถ้าไม่ติดเกณฑ์ทหารก็จะแก้บนตามสัญญา

เครดิต @ฅนบ้านเดียวกัน นครนิ

 
ถมนคร : คุณค่าที่คู่ควร ถมนคร เครื่องถมเมืองนครศรีธรรมราช
 
SHARE