สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สนับสนุนการพัฒนาและมอบรางวัลสิ่งประดิษฐ์คิดค้นแก่ผลงาน “แจกันหัตถศิลป์ลายทอง” งานศิลปหัตถกรรมที่รวบรวมทุกอัตลักษณ์นครศรีธรรมราช ทั้งงานแจกันกลึงไม้ งานสลักดุน งานฉลุ รวมไว้ในแจกันใบเดียว ใช้ประดับตกแต่งให้เป็นได้ทั้งลำโพง โคมไฟและแจกัน
เมื่อวันที่ 18 ม.ค. นายสมชาย น้อยทับทิม สาขาศิลปหัตถกรรมรูปพรรณเครื่องถมและเครื่องประดับ วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมนครศรีธรรมราช แนะนำ “แจกันหัตถศิลป์ลายทอง” งานศิลปหัตถกรรมที่ได้ร่วมพัฒนากับนักศึกษาและอาจารย์สาขาต่าง ๆ ของวิทยาลัย และเป็นผลงานที่รวบรวมทุกอัตลักษณ์ของจังหวัดนครศรีธรรมราช
ซึ่งผลงานดังกล่าวได้รับทุนส่วนหนึ่งจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) อีกทั้งยังได้รับรางวัล การประกวดสิ่งประดิษฐ์ระดับเยาวชน I-New Gen Award 2020 ระดับอาชีวศึกษา กลุ่มการท่องเที่ยว ในงานวันนักประดิษฐ์ 2563 เมื่อต้นปีที่ผ่านมา และล่าสุดยังได้รับรางวัลประกาศเกียรติคุณ ผลงานสิ่งประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2564 ด้วย
นายสมชาย พร้อมด้วยนางสมศรี สุวรรณวงศ์ สาขาวิจิตรศิลป์ วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมร่วมพัฒนาแจกันหัตถศิลป์ลายทองอธิบายว่า แจกันดังกล่าวประกอบด้วยงานกลึงไม้ งานสลักดุน งานฉลุและงานลงรักปิดทองรวมอยู่ในแจกันใบเดียว และประดับด้วยลวดลายเถาวัลย์ดอกพุดตาน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์งานหัตถศิลป์ของจังหวัดนครศรีธรรมราช แตกต่างจากแจกันทั่วไปที่เป็นดินเผาหรือเซรามิก
ทั้งนี้ได้ประยุกต์ใช้งานสลักดุน งานฉลุและงานแกะสลักเรื่องราวแบบนูนต่ำที่ปกติใช้ในงานเครื่องเงินและเครี่องทอง มาใช้กับแผ่นทองแดงที่ได้รับการออกแบบลวดลายและดอกลายแล้วฉลุลายลงรักปิดทอง จากนั้นประกอบแผ่นทองแดงเข้ากับแจกันกลึงไม้
“ภายในแจกันหัตถศิลป์ลายทองมีหลอดไฟที่สามารถปรับเปลี่ยนสีได้เพื่อประยุกต์ใช้งานเป็นโคมไฟ และยังมีลำโพงที่สั่งการผ่านบลูทูธเพื่อสร้างเสียงเพลงได้ และตัวแจกันสามารถถอดประกอบได้ นับว่าเป็นการรักษาภูมิปัญหาท้องถิ่นของนครศรีธรรมราชไว้ในแจกันใบเดียว” นายสมชายกล่าว และเผยว่ายังมีแนวคิดที่จะทำให้แจกันกระจายกลิ่นหอมๆ เพื่อสร้างบรรยากาศแสง สี เสียงและกลิ่นที่ผ่อนคลายแก่ผู้ใช้งาน
สำหรับลายของแจกันมีทั้งหมด 6 ลาย โดยเป็นลายที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้แก่ ลายหนังตลุง ลายกวนข้าวยาคู ลายพระพุทธศาสนา ลายประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ ลายหน้ายักษ์ผู้รักษาวัดพระมหาธาตุ และลายนกปรอดหรือนกกรงหัวจุกที่นิยมเลี้ยงในนครศรีธรรมราช
เครดิตแหล่งข้อมูล : siamrath
สายลุยเตรียมพร้อมก่อนไป “เดินป่า” อ่านจบรู้เรื่อง