เสียงแตรที่ดังไม่ว่างเว้น จากรถที่ขับผ่านสะพานข้ามคลองกลาย อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช แทนความรู้สึกเคารพและแรงศรัทธา ที่มีต่อ ”ทวดกลาย” หรือ โต๊ะกลาย รูปปั้นชาย นั่งขัดสมาส มือทั้งสองข้างวางไว้บนเข่า ห่มสไบเฉียงและโพกหัวด้วยผ้าสีขาว ตั้งวางอยู่ในศาลาเชิงสะพานฝั่งตำบลสระแก้ว จุดสถิตจิตวิญญาณบรรพชน ที่คนในพื้นที่เชื่อกันว่ามีฤทธิ์ดั่งเทวดาอารักษ์
“บางคนที่ไม่รู้เรื่องเดินทางผ่านตรงนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยก่อนนั้น ถ้าเดินทางผ่านตรงนี้แล้วไม่ได้แวะบอกเล่าบอกกล่าวกับท่าน บางทีก็เช่น เป็นหนังตะลุงเดินทางผ่านมาจะไปแสดงที่อื่น แต่ผ่านมาจุดนี้ไม่ได้แวะบอกเล่าบอกกล่าว ก็จะเกิดอาการปวดท้อง หรือคล้ายๆกับป่วย เจ็บป่วยทางสมองอะไรประมาณนี้ สุดท้ายก็ต้องมาบอกมากล่าวมาขอขมา”
ทุกครั้งที่ขับรถผ่านไปทางสิชลก่อนข้ามสะพาน กลาย ทางด้านซ้ายมือ จะมองเห็น “ศาลทวดกลาย” สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของพี่น้องแถบนี้ ความศรัทธาในการบนบาน บอกกล่าว เห็นได้จากเสียงบีบแตรรถ ไก่ชน เสียงปะทัด แผ่นทองคำเปลวที่ถูกปิดจนเหลืองอร่ามไปทั่วรูปปั้น ผ้าสีขาว รูปปั้นไก่ และการทรงเจ้าเข้าทรงในทุกๆปีแทนคำบ่งบอกถึงความศักดิ์สิทธิ์ หลังคำตั้งจิตอฐิษฐาน สัมฤทธิ์ผล โดยเฉพาะขอให้หายเจ็บป่วย ขอให้สอบเข้าเรียนหรือทำงานได้ตามต้องการ รวมไปถึงความเชื่อที่ว่า “คนสองฝั่งคลองไม่กล้าทำความสกปรกลงในคลองสายนี้ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับหมู เพราะเชื่อว่า ทวดกลายเป็นมุสลิม”
วันดีคืนดีที่ผ่านมา ทวดกลายจะปรากฏให้เห็น ในรูปของจระเข้ตัวใหญ่ เพื่อย้ำเตือนสติลูกหลานให้มุ่งคิดดี ทำดี อย่าทำลายทรัพยากร สายน้ำกลายจึงมีเรื่องเล่า ตำนานทวดกลายอยู่มากโข
ตำนานทวดกลาย
เชื่อกันว่าทวดกลาย คือ ลูกหลานสามสี่พีน้องที่คุ้มครองเมืองนคร และในสมัยนั้นเมืองนครศรีธรรมราชเป็นเมืองประเทศราชของอยุธยา เมืองไทรบุรีก็เป็นเมืองขึ้นของอยุธยาด้วย ตามจารีตประเพณีของอยุธยา จะนำเอาลูกเจ้าเมืองทั้งหมดของแต่ละหัวเมืองที่เป็นเมืองขึ้นไปอยู่ที่อยุธยา และการนำลูกเจ้าเมืองเมืองขึ้นต่างๆในอยุธยา ก็ได้มีการประสิทธิ์ ประสาทวิชาทางการทหาร วิชาทางไสยเวชให้ทุกคน ซึ่งเป็นประเพณีปฏิบัติสืบทอดกันมาแต่โบราญ
เพราะทางอยุธยาถือว่า นครศรีธรรมราชมีอาณาจักรกว้างขวางถึงมลายู ถือว่าเป็นที่ที่มีชาวอิสลามอยู่มากมาย การได้เชื้อสายของชาวอิสลามเองจะทำให้ปกครองกันง่าย และเจ้าเมืองที่มีเชื้อสายเจ้าเมืองไทรบุรีที่ทางอยุธยาส่งลงมาครองอยู่ที่นครศรีธรรมราชนั้นมีชื่อว่า “พระยารามราชเดโช” (หวาน) หรือที่เรียกกันว่า “นายเมือหวาน”
ซึ่ง “พระยารามราชเดโช” (หวานเมื่อมาครองเมืองนครศรีธรรมราชแล้ว ก็มีลูกทั้งหมดสามคนที่นับว่าเป็นเชื้อสายตรงคือ 1. ทวดหน้าศพ 2. ทวดกลาย 3. เจ้านายนอกหน้า ซึ่งคนนี้เป็นผู้หญิง
จากนั้นมีการสู้รบกับทัพกรุงศรีอยุธยา เนื่องจากให้ที่พักพิงกบฏ มีการล้อมเมืองนครศรีธรรมราชอยู่ ๕ จนหมดเสบียง “พระยารามราชเดโช” (หวาน) ก็จำเป็นต้องตีออก และสายสกุลบางส่วนหนีไปอยู่ “กรุงชิง” คือลูกสามคน ทวดหน้าศพ ทวดกลาย และเจ้านายนอกหน้า นำคนไปด้วยจำนวนมาก โดยไปตั้งรกรากเป็นชาวบ้านธรรมดา
แต่ทางกรุงศรีอยุธยาเห็นว่ายังมีเชื้อสายอยู่ก็เลยไม่ไว้ใจ ทางกรุงศรีอยุธยาเขาก็ตั้งเจ้าเมืองใหม่มาครองเมืองนครศรีธรรมราชแทน ติดต่อกลับไปที่เชื้อสายที่ “กรุงชิง” เพื่อสัมพันธไมตรีกับทาง “กรุงชิง” และได้ไปขอ “เจ้านายนอกหน้า” ที่เป็นหญิงมาเป็นชายาเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชคนใหม่ หลังจากนั้น “เจ้านายนอกหน้า” ท่านได้ตั้งท้องท่านก็ยังไม่วางเรื่องความแค้น ท่านก็ได้ไปขอคลอดใกล้ๆ พี่ชาย แต่ในใจของท่านนั้นคิดว่าไม่เอาชาติพันธ์ที่มาจากรุงศรีอยุธยาไว้ พอท่านไปถึง “กรุงนาง” ท่านก็ไปกลั้นใจตาย
ส่วนฝ่ายพี่ทั้งสองคนคือ “ทวดหน้าศพ” และ “ทวดกลาย” เข้าใจว่าทางเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชคนใหม่ขับไล่ไสส่ง ก็เลยโกรธยกทัพมาตีกันอีกครั้ง รบกันเป็นเวลานาน ๕ วัน ๕ คืน “ทวดหน้าศพ” กับ “ทวดกลาย” ก็เสียชีวิต โดยไม่มีบาดแผลใดๆ จึงคิดว่าท่านน่าจะเหนื่อยจากการต่อสู่ และเป็นลมเสียชีวิต
ข้อมูลจากขุนพันธรักษ์ราชเดช หนึ่งในผู้มีวิชาอาคมแห่งเมืองนครฯ ยืนยันกันว่า ทวดกลาย เดิมชื่อ ต่วนกูกลาย เป็นบุตรของพระรามราชเดโช เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช เชื้อสายมุสลิมจากไทรบุรี ในช่วงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ก่อนที่ถูกข้อหาให้ที่พักพิงแก่กบฏ ต้องทำศึกกับกรุงศรีอยุธยา
อยู่หลายปี จนต้องหนีออกไปตั้งรกรากที่อื่น
เมื่อเจ้าเมืองนครฯ องค์ใหม่ทราบว่ายังมีชีวิตอยู่ จึงสั่งคนเข้าปราบอีก 2 ครั้งก็ไม่สำเร็จ เพราะทวดกลายเป็นคนมีวิชาอาคม แต่เมื่อถึงคราวเคราะห์ดาบคู่ใจหลุดจากมือ เสียทีระหว่างระหว่างรบ จนมีผู้พบศพลอยมาทางปากน้ำกลาย ในสภาพไม่เน่าเปื่อย
…..อัศจรรย์แห่งเรื่องเล่า ยิ่งตอกย้ำความเลื่อมใสของผู้คน ความแตกต่างในทางศาสนาไม่อาจบดบังแรงศรัทธา ความเชื่อในบารมีของคนมีอาคมจะปกปักรักษานำมาสู่การตั้งศาลเคารพบูชา
“ท่านเป็นนักรบ ที่ต่อสู้กันแล้วมีวิชาคาถาอาคมอะไรอยู่มากมาย รวมทั้งมีความเมตตาต่อชาวบ้าน และก็เลยเป็นที่เคารพนับถือของคนในละแวกสายน้ำนี้ คือสายน้ำกลายตั้งแต่นบพิตำ กรุงชิง ลงมาไล่มาแล้วมาออกทะเลที่นี่ พื้นที่ตรงนี้จึงเป็นพื้นที่เคารพนับถือพ่อท่านกลาย”
มาวันนี้ ลูกหลานรุ่นหลังแทบจะจดจำเรื่องทวดกลายไม่ได้ ลืมไปว่าก่อนหน้านี้ไม่นาน ทวดกลาย คือ สิ่งยึดเหนี่ยวของคนแถบนี้ทั้งพี่น้องพุทธ มุสลิม โดยมีศรัทธาเป็นตัวตั้งมากกว่าการสร้างรูปเคารพที่ผิดหลักศาสนา วันนี้ทวดกลายเป็นที่พึ่งหนักไปในเรื่องอันควร เห็นได้จากรูปไก่ชนรายรอบ แต่ผู้คนส่วนใหญ่ยังเชื่อว่า ทวดกลายยังคงเฝ้ามอง และปกป้องคนแถบนี้ เสมือนว่าท่านยังมีชีวิตอยู่
ทวดกลาย ศรัทธาและความศักดิ์สิทธิ์ คงไม่เป็นตำนานและรอยศรัทธาที่ผ่าน วันเวลา เป็นแน่แท้ หากลูกหลานทวดกลาย รักษาทรัพยากรและความดีงาม รวมทั้งปากน้ำกลายให้เป็นดังเดิม
แม้ทวดกลายจะสิ้นลมหายใจไปกว่า 200 ปีแล้ว แต่ความเคารพนับถือหาได้เลือนหายไปตามวันเวลา..ทุกวันนี้เรื่องเล่าในอภินิหารเหนือธรรมชาติยังถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น
ข้อมูลอ้างอิง ศูนย์ข่าวพลเมืองฅนคอน และเพจพลังจิต
ญาดา/ร้อยเรียง
สายลุยเตรียมพร้อมก่อนไป “เดินป่า” อ่านจบรู้เรื่อง