นับตั้งแต่ในไทยมีการแพร่ระบาดไวรัสโควิด เกิดขึ้นมาเกือบครึ่งปี ที่ยังสามารถเฝ้าระวังป้องกันได้ดี จนทำให้มียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ กลายเป็นศูนย์มาต่อเนื่อง แต่ตราบใดที่การพัฒนาวัคซีนป้องกันยังไม่สำเร็จ ก็ย่อมมีความเสี่ยง และโอกาสกลับมาระบาดใหม่ได้เสมอ…
สาเหตุมาจาก “ทั่วโลก” ยังคงเผชิญกับเชื้อไวรัสนี้ที่มีการแพร่ระบาดเพิ่มสูง จนยอดผู้ติดเชื้อสะสมทะลุกว่า 10 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตพุ่งขึ้นรวดเร็ว แม้ในบางประเทศควบคุมการระบาดโควิด ได้แล้ว แต่กลับมาระบาดซ้ำอีก เพราะเกิดจากการผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศกลับมาขับเคลื่อนได้
เช่นเดียวกับ “ประเทศไทย” ที่มีการผ่อนปรนกิจกรรม และกิจการ ในบางประเภทมีความเสี่ยงต่อการระบาดสูง ทำให้รัฐบาลเตรียมพร้อมหลายด้าน ทั้งยา เวชภัณฑ์ เครื่องช่วยหายใจ เตียงผู้ป่วยไอซียู และห้องแยกผู้ป่วยหนัก และผู้ป่วยทั่วไป
ในอีกมุม…หลายประเทศก็หันมาพัฒนา “วัคซีน” และ “ยารักษาโรค” ให้ได้โดยเร็วที่สุด ซึ่งเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ “ประเทศไทย” ก็มีความคืบหน้าในการทดลองวัคซีน และยารักษาโควิด-19 ที่เตรียมมีการทดสอบในคนได้เร็วๆนี้ นับว่าประสบความสำเร็จไปได้ดีไม่ใช่น้อย…
การทดลองวัคซีน และยารักษาโควิด-19 นี้ ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หน.ศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ ศูนย์จีโนมิกส์ศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล บอกว่า ในไทยไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เกิดขึ้นต่อเนื่องกันมากว่า 1 เดือน ถ้ามีการติดเชื้อก็อาจเป็นคนไม่แสดงอาการ ทำให้ไม่มีตัวเลขแน่ชัด
แต่หากนับตั้งแต่วันที่ไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ มาจนถึงวันนี้อาจเป็นไปได้ยาก ที่จะมีเชื้อหลงเหลือให้กลับมาแพร่กระจายต่อคนอื่นได้ เพราะโควิด-19 สามารถอยู่ในคนมีร่างกายแข็งแรงไม่เกิน 2-3 สัปดาห์ และสุดท้ายร่างกายจะปรับตัวตามกลไก ทำให้การติดเชื้อโรคหายดีเป็นปกติ จนเชื้อถูกขับออกไปหมดสิ้น
ทำให้เชื่อได้ว่า “ในไทย” ไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ ยกเว้นมีการ “เปิดประเทศ” ลักษณะแบบไม่มีระบบกักกันที่ดี หรือ “การเปิดแบบเสรี” ที่อาจเป็นโอกาสให้ “คนนำพาเชื้อ” เข้ามาในประเทศได้อย่างเสรีเช่นกัน
แม้ว่า…มีระบบทราเวลบับเบิล ในการจับคู่ท่องเที่ยวระหว่างประเทศ แต่ก็ยังมีความเสี่ยงของการนำเชื้อโควิด-19 เข้ามาประเทศเช่นเดิม เช่น มีการเจรจาตกลงกับประเทศจีน ที่มีความเสี่ยงต่ำของผู้ติดเชื้อทั่วประเทศหลัก 10 คน แต่ไม่ได้แปลว่า “ไม่มีผู้ติดเชื้อเลย” อาจส่งผลให้คนกลุ่มนี้นำเชื้อเข้ามาก็ได้
นั่นหมายความว่า…ตราบใดยังรับคนจากประเทศที่มีการติดเชื้ออยู่ ก็ย่อมมีความเสี่ยงเกิดการระบาดใหม่ได้เสมอ…ทำให้ต้องคำนึงถึง “ความสมดุล” ระหว่างเศรษฐกิจและความปลอดภัยควบคู่กันด้วย
ดังนั้น…“การผ่อนปรนกิจกรรม หรือการเปิดประเทศ” ต้องให้เป็นระบบขั้นตอน เริ่มจากการทดลองเปิดประเทศที่มีการกักตัว 10–14 วัน อย่างเช่นที่ทำกันอยู่ตอนนี้…“สเตต ควอรันธีน” ที่รัฐต้องกักตัวผู้เดินทาง จากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อออกไปใน วงกว้าง
เมื่อดำเนินการไปแล้ว ปรากฏว่า ไม่มีผู้ติดเชื้อก็ลดลงเหลือ 5-7 วัน ในระหว่างกักตัวนี้ต้องตรวจคัดกรองไปด้วย แต่หากไม่มีการกักตัว หรือคัดกรองเลยคงเป็นไปไม่ได้ เพราะเสี่ยงต่อการระบาดเกิดขึ้นในประเทศสูง
จริงๆ แล้ว…ในหลายประเทศก็มีมาตรการคัดกรองคนออกนอกประเทศอยู่แล้ว หากไม่มีการติดเชื้อโควิด-19 ก็จะอนุญาตให้ออกนอกประเทศได้ แต่ถ้า “ติดเชื้อ” ต้องถูกกักตัวเข้าสู่กระบวนการรักษาให้หายเป็นปกติ
สิ่งสำคัญ…แม้ว่ามีกระบวนการตรวจคัดกรองจากประเทศต้นทางอย่างดีแล้วก็ตาม ในระหว่างขึ้นเครื่องบินเดินทางเข้ามาถึงยังในไทย ก็ยังพบว่า มีผู้ติดเชื้ออยู่ตลอดเสมอ ทำให้มีความจำเป็นที่ต้อง “คงมาตรการกักตัวให้เป็นด่านสอง” ในการสแกนบุคคลหลุดรอดมาจากด่านแรก เพื่อให้ประเทศไทย มีความปลอดภัยมากที่สุด
เพราะอย่างน้อย…หากในไทย ไม่มีการติดเชื้อขึ้นเลย ก็ยังสามารถผ่อนปรนกิจกรรมและกิจการ ให้เศรษฐกิจในประเทศเกิดการหมุนเวียนกันเองได้
ประเด็น…“ยารักษาโควิด–19” ในปัจจุบันยัง “ไม่มียารักษาตรง” เพราะโควิด-19 เป็นไวรัสชนิดใหม่ ทำให้ไม่สามารถพัฒนาหายาจำเพาะได้สำเร็จ ที่ต้องอาจใช้เวลาวิจัยระยะหนึ่ง ส่วนการรักษากันอยู่ตอนนี้คือ “การใช้ยาเก่าที่รักษาไวรัสชนิดอื่น” นำมาทดลองใช้กับผู้ป่วยโควิด-19 ที่ได้ผลดี จึงถูกนำมารักษากันจนมาถึงทุกวันนี้…
ย้ำว่า “ประเทศไทย” มีการนำยามารักษาผู้ป่วยอยู่ 2 ชนิดคือ…“ฟาวิพิราเวียร์” (favipiravir) ที่มีเก็บสต๊อกไว้ที่กระทรวงสาธารณสุข พร้อมใช้กับผู้ป่วยหลักพันคน ซึ่งยาชนิดนี้ค้นพบโดยใน “กลุ่มบริษัทฟูจิฟิล์ม” ในประเทศญี่ปุ่น ที่เคยใช้รักษาโรคไวรัสไข้หวัดใหญ่ และมีฤทธิ์ต้านโควิด-19 มีประสิทธิภาพและความปลอดภัย
ยาชนิดที่สอง…“เรมเดสซิเวียร์” (remdesivir) ผลิตในสหรัฐอเมริกา เพื่อทดลองรักษาผู้ป่วยติดเชื้ออีโบลาที่เป็นยาฉีด เมื่อทดลองใช้ในผู้ป่วยอีโบลากลับไม่สำเร็จ แต่นำมาใช้ในผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 กลับได้ผลดี
ส่วนการพัฒนา “ยารักษาโควิด-19 ใหม่”…นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยทั่วโลก มีการศึกษายาสร้างขึ้นใหม่ และเป็นยาที่ได้จากการสกัดของสมุนไพรหลายชนิด แต่ยังไม่ปรากฏว่า…ยาชนิดใดได้ผลเป็นที่น่าพอใจ
ในจำนวนนี้ก็มี “ประเทศไทย” มีความพยายาม “สกัดยา” ที่ได้จากสมุนไพรไทยเช่นกัน ตามข้อมูลงานวิจัยชัดเจนที่สุดคือ “การวิจัยสมุนไพรกระชายขาว” เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตโควิด-19 ได้ผลถึงร้อยเปอร์เซ็นต์
สาระสำคัญนี้มีอยู่ในตัวกระชายขาว 2 ตัวคือ แพนดูราทินเอ (Panduratin A) และพิโนสโตรบิน (Pinostrobin) เป็นตัวหลักทำหน้าที่ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัสต้นเหตุของโควิด-19 ได้ ในการลดจำนวนเซลล์ที่ติดเชื้อร้อยเปอร์เซ็นต์ให้ได้เป็น 0% และยังยับยั้งเซลล์ในการผลิตไวรัสได้อีกด้วย
ความสำเร็จนี้เป็นผลงานของ “คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล” ที่ยังอยู่ในขั้นห้องปฏิบัติการ และกำลังนำมาทดสอบความปลอดภัยในสัตว์ทดลอง และมนุษย์ คาดว่าจะใช้เวลา 1 ปี เพื่อประสิทธิภาพและความปลอดภัยต่อผู้บริโภคในอนาคต นับว่าเป็นข่าวดีของนักวิจัยไทยสามารถวิจัยสมุนไพรที่หาได้ง่ายในประเทศเอง
ย้อนไปก่อนหน้านี้…ในช่วงต้นการระบาดโควิด-19 ที่มีองค์กรต่างๆ ทำการทดลองยาหลากหลายชนิด เมื่อการระบาดผ่านไปราว 5-6 เดือน ทำให้ข้อมูลเชื้อไวรัสชัดเจน ส่งผลให้ “ยา” ที่เคยทดลองก่อนนี้กลับใช้ไม่ได้ผลในการต้านไวรัส ดังนั้นงานวิจัยในไทย “สมุนไพรกระชายขาว” ถือว่า มีความคืบหน้าที่สุดในการยับยั้งโควิด-19
ส่วนต่างประเทศ…ก็มีการ “ทดลองยา” เช่นกัน แต่เป็นการใช้เทคโนโลยีเข้ามาพัฒนา “ดีไซน์ยา” ด้วยการถอดรหัสเชื้อไวรัสโควิด-19 และนำไป “ดีไซน์ยา” ที่ได้จากการสกัดจาก “สารเคมี” ออกมาใช้ยับยั้งเชื้อไวรัสนี้
ยกตัวอย่าง “ประเทศจีน” มีการทดลองพัฒนา “ยาต้านเอนไซม์” ที่เรียกว่า “โปรตีเอสไวรัสโควิด-19” มีอยู่ 2 ชนิดคือ ชนิดแรก…“N3” ที่เป็นรหัสชื่อตามทางเคมี และ ชนิดที่สอง…“11A” ซึ่งยา 2 ชนิดนี้ในห้องปฏิบัติการสามารถยับยั้งเชื้อไวรัสได้ดี และกำลังทดลองในสัตว์ เพื่อสังเกต “ความเป็นพิษ” อาจใช้เวลาราว 2-3 เดือน
ทว่า…การพัฒนา “ยา” มีกรรมวิธีผลิตต่างจาก “วัคซีน” เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมียาต้านตระกูลโคโรนาไวรัส หรือโควิด-19 เกิดขึ้นมาก่อน ทำให้ต้องเริ่มต้นคิดค้นพัฒนาขึ้นใหม่ ส่วน “วัคซีน” เคยมีการผลิตมาตั้งแต่ “วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า” มาจนถึง “วัคซีนโควิด-19” ที่มีวิธีการพัฒนา และเทคนิคการผลิตไม่ต่างกันมาก
ทำให้การ “พัฒนาวัคซีน” มีความคืบหน้าไปได้เร็ว เพราะ “ทั่วโลก” ต่างมีความหวังที่ไม่ต้องการให้คนไม่เคยติดเชื้อโควิด-19 ต้องกลายเป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ขึ้น จึงต่างมุ่งมั่นในการ “ผลิตวัคซีน” เพื่อป้องกันเป็นหลัก ส่วน “การผลิตยารักษา” แม้ว่าจะมีความจำเป็นก็ตาม แต่ก็ยังเป็นเรื่องของปัญหาปลายเหตุ
เพราะหากมี “วัคซีน” ที่นำไปสู่การป้องกันที่ดี ก็ย่อมไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ เมื่อไม่มีผู้ติดเชื้อก็ไม่จำเป็นต้องใช้ยาในการรักษาผู้ป่วยตามมา…
นี่คือ…ความหวังของ “คนทั้งโลก” ต่างรอเวลาได้ใช้ “วัคซีนและ ยารักษาโควิด-19” ที่จะเป็นหลักประกันของความปลอดภัยสูงสุด…
คืนนี้ตี 2 รอชมปรากฏการณ์ “ฝนดาวตกควอดรานติดส์” จนถึงรุ่งสางของวันที่ 4 มกราคม