นิ้วล็อก – ผู้สูงอายุหลายคนที่เล่นโทรศัพท์เป็นประจำคงเคยรู้สึกเจ็บทรมานที่บริเวณนิ้วมือกันไม่มากก็น้อย ทั้งน้ำหนักของโทรศัพท์ การใช้งานอย่างยาวนาน และสภาพร่างกายที่เสื่อมถอยลง ล้วนเป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการนิ้วล็อค หรือที่เรียกกันว่า ‘โรคนิ้วล็อค’
โรคนี้เกิดจากความผิดปกติของนิ้วมือ ที่ไม่สามารถงอหรือเหยียดได้อย่างปกติ อาจเป็นนิ้วเดียวหรือหลายนิ้ว โดยสาเหตุเกิดจากการเปลี่ยนแปลงที่ปลอกเอ็นบริเวณข้อโคนนิ้วหนาขึ้น เอ็นบวม ทำให้ปลอกรัดเอ็นมากขึ้นอาการมีหลายระยะ ในระยะแรกอาจเพียงแค่ปวดตึง กดเจ็บบริเวณข้อโคนนิ้ว ระยะที่ 2 งอนิ้วสะดุด นิ้วติด เหยียดไม่ออก ต้องใช้วิธีง้างออก ระยะที่ 3 งอนิ้วไม่ได้ หรืองอได้ แล้วนิ้วติด เหยียดไม่ออกต้องช่วยง้างออก จนไปถึงระยะที่ 4 นิ้วติดอยู่นาน ข้อนิ้วยึดติด
โรคนิ้วล็อคถือเป็นโรคที่ทันยุคทันสมัย ยิ่งในวันที่โทรศัพท์คล้ายจะเป็นอวัยวะที่ 33 ของเราทุกคน จะทำอย่างไรให้ผู้สูงวัยสามารถใช้งานได้อย่างสบายกายสบายใจ วันนี้ยังแฮปปี้จึงขอชวนมาทำท่าบริหารมือเบื้องต้น จะมีท่าอะไรบ้าง ไปดูกันเลย
ท่าที่ 1 ยกทีละนิ้ว
เริ่มต้นด้วยการวางฝ่ามือบนโต๊ะ หรือบนพื้นผิวเรียบๆ แล้วยกนิ้วมือขึ้นทีละนิ้ว โดยใช้แรงเท่าๆ กัน ค้างไว้ 2 – 3 วินาที ทำทั้งหมด 15 เซ็ต
ท่าที่ 2 ยืดนิ้วเป็นรูปตัววี
เริ่มต้นด้วยการทำนิ้วรูปตัววี หรือกรรไกรในข้างที่มีอาการบาดเจ็บ แล้วใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้ของมืออีกข้าง แยกนิ้วรูปตัววี โดยใช้แรงให้ยืดออกช้าๆ ทำซ้ำ 5 ครั้ง 3 เซ็ต
ท่าที่ 3 ทำนิ้วมือเป็นวงกลม
วางนิ้วที่ได้รับบาดเจ็บมาแตะกับนิ้วโป้ง ให้เป็นเป็นรูปวงกลม (คล้ายท่าโอเค) ทำค้างไว้ประมาณ 5 วินาที ทำซ้ำ 10 ครั้ง
ท่าที่ 4 ออกกำลังกายด้วยลูกเทนนิส
ท่านี้อาจจะต้องเตรียมอุปกรณ์สักเล็กน้อย ได้แก่ ลูกเทนนิส หรือลูกบอลขนาดเล็กที่ยืดหยุ่นได้ ถือลูกเทนนิสไว้ในฝ่ามือ แล้วบีบลูกบอล ค้างไว้ประมาณ 5 วินาที แล้วปล่อยออก ทำทุกวันๆ ละ 5-10 ครั้ง
วิธีที่ 5 กำมือแบมือ
แบบฝึกหัดนี้มีข้อดีตรงที่ช่วยฝึกกำลังนิ้วมือ ทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลายมากขึ้น วิธีการคือให้กำมือ ค้างไว้ 1-2 วินาที แล้วแบมือ ค้างไว้ 1-2 วินาที ทำซ้ำ 15 ครั้ง 3 เซ็ต
หากบริหารทั้ง 5 ท่านี้ได้เป็นประจำสม่ำเสมอ รับรองว่า อาการนิ้วล็อคจะไม่มาเยือนอย่างแน่นอน
ที่มา – สำนักงานสร้างเสริมสุขภาวะ (สสส.) ภาพ – younghappy
สายลุยเตรียมพร้อมก่อนไป “เดินป่า” อ่านจบรู้เรื่อง