ข้อมูลโดย นพ.อดิศักดิ์ กิตติสาเรศ อายุรกรรมสาขาประสาทวิทยา จากศูนย์ศรีพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เผยแพร่ความรู้สุขภาพเรื่อง 10 เรื่องต้องรู้ “โรคไมเกรน” ดังนี้
เรื่องที่ 1 ปวดศีรษะไม่ได้มีแค่ไมเกรน
การปวดศีรษะเป็น ระบบเตือนของร่างกายที่แสดงออกมา เพื่อให้เรารู้ว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นและจะได้ตรวจเพื่อหาสาเหตุ ไม่ใช่เพื่อให้รับยาแก้ปวดแล้วจบเรื่อง มีโรคที่ทำให้ปวดศีรษะได้จำนวนมาก มีหลายโรคที่มีลักษณะคล้ายการปวดของไมเกรน ดังนั้น หากท่านมีอาการปวดที่มากขึ้น ไม่แน่ใจในลักษณะอาการปวด ควรพบผู้เชี่ยว ชาญเพื่อยืนยันการวินิจฉัย
เรื่องที่ 2 ปวดศีรษะไมเกรนเป็นอย่างไร
การปวดศีรษะของไมเกรน เกิดจากความผิดปกติของระบบไฟฟ้าที่ผิวสมอง ทำให้สมองถูกกระตุ้นได้ง่ายและไวกว่าปกติ เมื่อมีการปวดแล้วจะมีการรับรู้ที่ระบบประสาทรับความรู้สึกที่เพิ่มมากกว่าปกติ ทำให้รู้สึกถึงการเต้นของหลอดเลือดเกิดอาการปวดขึ้น มักปวดบริเวณขมับร้าวไปกระบอกตา ลักษณะตุ๊บๆ เหมือนหลอดเลือดเต้น มักเป็นทีละข้างสลับไปมาได้ นอกจากนี้ยังไม่อยากได้กลิ่น ได้ยินเสียงหรือรับแสง โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะพักไปนอนเพื่อให้ได้หลีกเลี่ยงจากสิ่งกระตุ้นต่างๆ ก็จะดีขึ้น อาจมีอาการร่วมอื่นๆ ที่พบบ่อย คือ การเห็นแสงเป็นเส้นซิกแซกผิดปกติการคลื่นไส้อาเจียน เมื่อมีอาการเรื้อรังจะมีความถี่และความรุนแรงเพิ่มขึ้น อาจมีลักษณะอาการปวดเปลี่ยนลักษณะและอาการแสดงอื่นๆ ร่วมได้ เช่น เจ็บที่หนังศีรษะเวลาถูกสัมผัส นอกจากนี้ยังเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดสมองในผู้หญิงอีกด้วย
เรื่องที่ 3 ปวดศีรษะต้องเอ็กซเรย์สมองหรือไม่
หลายคนเข้าใจว่าการปวดศีรษะจำเป็นต้องมีอะไรในศีรษะและสมองทุกกรณี ซึ่งไม่ถูกต้อง อย่างไรก็ตามหากมีอาการผิดปกติอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น ลักษณะมีอาการปวดรุนแรงในทันที, มีอาการซึมลง, อ่อนแรงแขนขา, ชา, พูดไม่ชัด, อาการปวดที่รุนแรงและถี่มากขึ้น, อาการปวดศีรษะครั้งแรกในผู้สูงอายุ (>50 ปี) และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง อาจมีความจำเป็นในการตรวจเพิ่มเติมเพื่อแยกโรค โดยการเอ็กซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสมอง (MRI) แล้วแต่กรณี
เรื่องที่ 4 ทำอย่างไรไม่ให้ปวดศีรษะไมเกรน
โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักมีสิ่งกระตุ้นที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ที่พบบ่อย คือ แสงแดด อากาศร้อน หนาว กลิ่นเหม็นการใช้เหล้า บุหรี่ อาหารบางชนิด การอดหลับอดนอน ภาวะเครียด การมีประจำเดือน ควรสังเกตุและหลีกเลี่ยงเพื่อไม่ให้กระตุ้นการเกิดไมเกรน
เรื่องที่ 5 ยาแก้ปวดกินอย่างไรถึงได้ผลดี
ในระยะที่มีการปวดศีรษะต้องรับประทานทันทีที่เริ่มปวดศีรษะจึงจะได้ผลดี ยาที่ใช้ได้ คือ พาราเซตามอล,ยาลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs), ยากลุ่มทริปแทน (Triptan) และยาที่มีส่วนผสมของเออโกทามีน(Ergotamine) การใช้ยาแต่ละชนิดมีข้อควรระวังที่ต่างกัน ต้องอ่านฉลากก่อนใช้ยา ควรได้รับคำแนะนำจากผู้ เชี่ยวชาญเพื่อความปลอดภัย
เรื่องที่ 6 ถ้าปวดถี่มากขึ้นทำอย่างไรดี
เมื่อเป็นไมเกรนที่รุนแรงถี่มากขึ้นควรปรึกษาแพทย์ เพื่อพิจารณาการรับยาป้องกันการปวดศีรษะ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดผลข้างเคียงจากการใช้ยาแก้ปวดที่มากเกินไป และป้องกันการเกิดภาวะปวดศีรษะจากการใช้ยาแก้ปวด (MOH) ยาที่ใช้ในการป้องกันมีหลายชนิด เช่น Amitriptyline, Nortriptyline, Topiramate, Valproic acid, Propanolol, Flunarizine การเลือกใช้ขึ้นอยู่กับลักษณะของผู้ป่วยแต่ละราย ที่สำคัญ คือ ยากลุ่มนี้ต้องรับประทานทุกวันในขนาดที่เหมาะสม
เรื่องที่ 7 กินยาป้องกันทุกวันจะอันตรายไหม
โดยทั่วไปการรับประทานต่อเนื่องในระยะเวลาที่เหมาะสมมีความปลอดภัยกว่าการรับประทานยากลุ่มแก้ปวดอย่างต่อเนื่อง เมื่ออาการดีขึ้นแล้วเป็นระยะเวลาหนึ่งสามารถหยุดได้ ทำให้คนไข้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและหายจากอาการปวดศีรษะไมเกรนได้ ยาในกลุ่มป้องกันมีหลายชนิดมีข้อควรระวังที่แตกต่างกัน ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้พิจารณา
เรื่องที่ 8 รู้จักไหม “เออร์โกทิซึม”
ในผู้ที่ใช้ยาแก้ปวดกลุ่มที่มีส่วนผสมของเออร์โกทามีน (Ergotamine) ในขนาดสูง มีความเสี่ยงที่จะเกิดกลุ่มอาการนี้ จะมีอาการคือหลอดเลือดส่วนปลายหดตัวอย่างรุนแรง ปลายนิ้วมือนิ้วเท้าเขียวคล้ำ อาจขาดเลือดจนมีการตายของเนื้อเยื่อได้, เป็นตะคริว, ปวดเกร็งท้อง, ชัก ,ความรู้สึกตัวผิดปกติ มียาหลายกลุ่มที่เมื่อรับประทานคู่กับยากลุ่มนี้แล้วเกิดความเป็นพิษได้สูง เช่น ยาฆ่าเชื้อรายต้านไวรัสกลุ่ม Prptease inhibitor, ยาฆ่าเชื้อกลุ่มMacrolideควรพิจารณาใช้อย่างระมัดระวังและควรปรึกษาแพทย์
เรื่องที่ 9 รู้ไหมการออกกำลังกายช่วยให้หายไมเกรนได้
มีหลายการศึกษาที่บ่งชี้ถึงการออกกำลังกายแบบแอโรบิคในสถานที่ธรรมชาติที่มีสิ่งแวดล้อมสีเขียวและการผ่อนคลายความเครียด สามารถช่วยให้อาการปวดศีรษะไมเกรนหายได้เร็วยิ่งขึ้น จึงควรทำการออกกำลังกายเป็นประจำอย่างต่อเนื่องแล้วอาการจะดีขึ้นเกินคาด
เรื่องที่ 10 คาถารักษาไมเกรน
หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น ร้อนก็กางร่มใส่แว่นดำ หนาวก็หาผ้าไว้คลุมกาย เรื่องเครียดอดนอนเราไม่ทำ เริ่มปวดหัวแล้วรีบกินยาโดยฉับพลัน ปวดถี่เมื่อใดหาหมอหาเหตุรับยาป้องกันแล้วกินทุกวัน หมั่นขยันออกกำลังกาย
ขอขอบคุณ : ศูนย์ศรีพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
สายลุยเตรียมพร้อมก่อนไป “เดินป่า” อ่านจบรู้เรื่อง