“พระบรมธาตุนครศรีธรรมราช” ขึ้นบัญชีมรดกโลกทัน 31 ม.ค.61

2607
views

เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.60 ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช มอบหมายให้นายจุมพต ตระกูลนุช วัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการในการนำเสนอวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช(พระบรมธาตุนครศรีธรรมราช) เพื่อขึ้นบัญชีเป็นมรดกโลก ประจำปี 2560 ครั้งที่ 3/2560 โดยมีคณะกรรมการ และผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วมประชุม

โดยที่ประชุมได้รับทราบผลการประชุมของคณะทำงานขับเคลื่อนวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารฯ (ด้านสิ่งแวดล้อม) ซึ่งมีพลตำรวจตรีวันไชย เอกพรพิชญ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานคณะทำงาน ที่มีมติให้ดำเนินการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในเขตพื้นที่คุ้มครองโบราณสถาน หรือ Core Zone จำนวน 13 รายการ ได้แก่ ศาลาหลังคาแดง อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ถังจุดประทัด แท่นคำอธิบายบริเวณลานหาดทรายแก้ว ให้ใช้ประตู 1 ในการเข้า-ออก และปิดประตู 2-3 ประตูหลังเปิด-ปิดเป็นเวลา ศูนย์จำหน่ายสินค้าที่ระลึก บริเวณที่หมอทำนายดวงชะตา ศาลาบริเวณด้านหลังวิหารหลวง กองดินหลังกุฏิที่ผุพังริมรั้ว ถังขยะริมรั้ว การปรับปรุงภูมิทัศน์ในส่วนของต้นไม้โดยรอบบริเวณวัด และห้ามรถทุกชนิดไม่ให้สัญจรในเขตพุทธาวาส นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้รับทราบผลการดำเนินงานของคณะกรรมการฝ่ายต่าง ๆ

ผศ.ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ ประธานกรรมการฝ่ายวิชาการ คณะกรรมการในการนำเสนอวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช(พระบรมธาตุนครศรีธรรมราช) เพื่อขึ้นบัญชีเป็นมรดกโลก กล่าวว่า การตรวจหาอายุจากก้อนอิฐจากการขุดค้นที่ฐานขององค์พระบรมธาตุเจดีย์ วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร ได้ผลยืนยันว่า มีอายุไม่น้อยกว่า 1,100 ปี หรือราว พ.ศ. 1400 สมัยอาณาจักรศรีวิชัย ส่วนที่เห็นพระบรมธาตุเจดีย์รูปทรงระฆังคว่ำในปัจจุบันนั้นมีการก่อสร้างครอบของเดิมไว้อีกชั้นหนึ่ง ราว พ.ศ. 1719 มีอายุ 840 ปี ซึ่งก่อสร้างในสมัยพระเจ้าศรีธรรมาโศก ราช อาณาจักรนครศรีธรรมราช ส่วนเจดีย์ราย จำนวน 149 องค์ เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 1719 จนถึง พ.ศ. 1919 สำหรับความคืบหน้าในการจัดทำร่างเอกสารฉบับสมบูรณ์ ฉบับภาษาไทยนั้น ขณะนี้ส่งให้ผู้ทรงคุณวุฒิตรวจสอบความถูกต้อง จะแล้วเสร็จกลางเดือนกรกฎาคม 2560 จากนั้นภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 ส่งให้ผู้เชี่ยวชาญแปลเป็นภาษาอังกฤษซึ่งใช้เวลาประมาณ 3 เดือน ต่อจากนั้นในเดือนพฤศจิกายน 2560 การนำเสนอของความเห็นชอบจากรัฐบาล จะนำเข้าสู่การพิจารณาให้ความเห็นชอบจากคณะกรรมการระดับชาติที่เกี่ยวข้องกับการนำเสนอเป็นมรดกโลก (ก่อนนำส่งยูเนสโก) รวม 3 คณะ คือ คณะกรรมการมรดกโลกทางวัฒนธรรม (ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธาน) คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก (ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน) และคณะรัฐมนตรี (ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน) โดยดำเนินการในช่วงเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2560 จากนั้นสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะนำส่งไปยังศูนย์มรดกโลก ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ก่อนวันที่ 31 มกราคม 2561 หลังจากนั้นคณะกรรมการอิโคโมส (ICOMOS) จะมีการลงพื้นที่จริงเพื่อดูสภาพความเป็นจิรง และเสนอให้คณะคณะกรรมการมรดกโลกจำนวน 21 คน ได้พิจารณาในลำดับต่อไป

พระบรมธาตุนครศรีธรรมราช

สำหรับความก้าวหน้าในการติดตั้งนั่งร้านเพื่อบูรณะองค์พระบรมธาตุ และปลียอดทองคำนั้น ขณะนี้ได้ติดตั้งถึงช่วงกลางของปล้องไฉน คาดว่าจะติดตั้งแล้วเสร็จประมาณกลางเดือนกรกฎาคม 2560 จากนั้นจะมีการติดตั้งตาข่ายกันวัสดุตกโดยรอบนั่งร้านอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งตามสัญญานั่งร้านดังกล่าวจะติดตั้งไว้ถึงวันที่ 20 กันยายน 2561 ส่วนช่างจากสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร จะสามารถขึ้นไปสำรวจปลียอดทองคำและบัวคว่ำบัวหงายได้ช่วงปลายเดือนตุลาคม 2560 หลังพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดช ส่วนจะมีการถอดทองคำที่หุ้มปลียอดลงมา หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของช่างสิบหมู่ โดยความเห็นชอบของอธิบดีกรมศิลปากร สำหรับการบูรณะเจดีย์ราย จำนวน 149 องค์ นั้น ขณะนี้ได้ดำเนินการแล้วเสร็จประมาณ 60-70 องค์ ซึ่งตามสัญญาจะแล้วเสร็จวันที่ 25 ตุลาคม 2560 ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้กำชับให้ผู้รับจ้างเพิ่มช่างฝีมือเพื่อให้การบูรณะแล้วเสร็จตามกำหนดสัญญาจ้าง นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้ให้เพิ่มช่องทางการประชาสัมพันธ์ความคืบหน้าในการเสนอวัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร เพื่อขึ้นบัญชีเป็นมรดกโลก ที่หลากหลายช่องทางมากยิ่งขึ้น รวมทั้งใช้ภาษาอังกฤษเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์และเฟซบุ๊คด้วย ในส่วนของการปรับปรุงระบบระบายน้ำบริเวณลานทรายนั้นได้ดำเนินการแล้วเสร็จเกือบ 100 % เหลือเพียงเฉพาะการเชื่อมต่อท่อระบายน้ำจากภายในวิหารคดออกมาสู่ภายนอก นอกจากนี้ต้องขอความร่วมมือจากประชาชนอย่าได้นำรูปปั้นไก่ไปวาง และอย่าจุดประทัดที่บริเวณอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชด้วย สำหรับพื้นที่ในเขต Buffer Zone ซึ่งกำหนดแนวเหนือ-ใต้ ตั้งแต่สะพานนครน้อย –สะพานคูพาย ส่วนแนวตะวันออกตลอดแนวถนนศรีธรรมโศก ถึงคลองคูพาย และแนวตะวันตกตลอดแนวถนนศรีธรรมราช ถึงคลองคูพาย ซึ่งต้องมีการกำหนดในการบริหารจัดการพื้นที่อย่างเป็นระบบต่อไปด้วย
ที่มา – ส.ปชส. นครศรีธรรมราช

 
ถมนคร : คุณค่าที่คู่ควร ถมนคร เครื่องถมเมืองนครศรีธรรมราช
 
SHARE