แผนอนุรักษ์ฯวัดพระมหาธาตุเสนอขึ้นบัญชีมรดกโลก เห็นชอบแล้ว

1840
views
พระธาตุนคร

วันที่ 13 กันยายน 2559 ผศ.ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราชในฐานะ ประธานกรรมการฝ่ายวิชาการฯ เปิดเผยว่า การจัดทำเอกสารฉบับสมบูรณ์เพื่อนำเสนอวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช ขึ้นบัญชีเป็นมรดกโลก มีความคืบหน้าขึ้นอีกระดับหนึ่ง โดยเมื่อคณะกรรมการฝ่ายวิชาการได้นำเสนอความคิดเห็นชอบต่อที่ประชุมกรรมการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ และหัวหน้าหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในคราวประชุมประจำเดือนของจังหวัดนครศรีธรรมราชเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2559 ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานการประชุมที่ผ่านมา

แผนอนุรักษ์ฯวัดพระมหาธาตุเสนอขึ้นบัญชีมรดกโลก เห็นชอบแล้ว

ผศ.ฉัตรชัยกล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณาและให้ความเห็นชอบ “แผนการจัดการอนุรักษ์และคุ้มครองแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร” ซึ่งตนเองและ รศ.โรจน์ คุณอเนก แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำเสนอรายละเอียดของแผนการจัดการดังกล่าว โดยให้เพิ่มเติมกิจกรรมบางอย่าง ซึ่งทางจังหวัดนครศรีธรรมราชจะให้การสนับสนุนแผนการจัดการนี้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการสนับสนุนงบประมาณสำหรับดำเนินการตามแผน

“สำหรับแผนจัดการอนุรักษ์และคุ้มครองแหล่งมรดกวัฒนธรรมวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารที่นำเสนอสู่การพิจารณาให้ความเห็นชอบครั้งนี้ ประกอบด้วยแผนงานด้านต่างๆ 6 ด้าน ได้แก่ แผนจัดการด้านสิ่งแวดล้อม แผนงานด้านสังคม แผนงานด้านเศรษฐกิจและท่องเที่ยว แผนงานด้านการปกครอง แผนงานด้านสืบสานประเพณี และแผนงานด้านการศึกษาและถ่ายทอดคุณค่าทางมรดก แผนงานเหล่านี้มีโครงการที่จะใช้ในการขับเคลื่อนและอนุรักษ์รวม 58 โครงการ แต่ละโครงการจะเน้นการอนุรักษ์และดำรงความโดดเด่นของวัดทั้งสิ้น ซึ่งจะได้นำแผนดังกล่าวไปบรรจุไว้ในภาคผนวกของเอกสารฉบับสมบูรณ์การเสนอวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ขึ้นบัญชีเป็นมรดกโลกต่อไป” ผศ.ฉัตรชัยกล่าว

ผศ.ฉัตรชัยกล่าวอีกว่า วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นวัดซึ่งประดิษฐานสถูปเจดีย์ขนาดใหญ่ เรียกว่า “พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช” มีอายุไม่น้อยกว่า 1,000 ปี ปัจจุบันยังดำรงสถานะเป็นสถูปเจดีย์ที่ยังมีชีวิตชีวา จนอาจกล่าวได้ว่าพระบรมธาตุเจดีย์องค์นี้มีคุณลักษณะโดดเด่น 3 ประการ คือ เป็นสถูปใหญ่ในคาบสมุทรภาคใต้และคาบสมุทรมลายูที่รักษาความแท้และความสมบูรณ์ไว้ได้ดีที่สุด ประการที่สองเป็นสถูปใหญ่ที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมอันทางคุณค่าจากหลายภูมิภาคของเอเชีย จนทำให้สถูปเจดีย์องค์นี้กลายเป็นต้นแบบเจดีย์ในภาคใต้-สุโขทัย และประการที่ 3 เป็นสถูปที่ดำรงความเชื่อและศรัทธาของพระพุทธศาสนิกชนอย่างต่อเนื่องนับร้อยปีโดยเฉพาะประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ และประเพณีสารทเดือนสิบ เป็นต้น

ที่มา – มติชนออนไลน์

 
ถมนคร : คุณค่าที่คู่ควร ถมนคร, thomnskhon
 
SHARE